|
การศึกษาไทย "ยิ่งปฏิรูปยิ่งถอยหลัง" ถ้า... เรายังคิดจะยัดเยียดบรรดาสรรพสิ่งที่มีในโลก ลงไปในสมองอันน้อยนิดกับเด็ก เหมือนเรากำลังป้อนอาหารมากมาย หลากหลายรสชาติ ให้อิ่มหมีพีมันในวันเดียว ใยเราไม่บอกสูตรเด็ดให้เขาคิดปรุงเองในวันพรุ่งนี้ เมื่อมองลงไปในวิถีเด็กไทยตั้งแต่อนุบาล ประถม ยันมัธยมศึกษา เราพบว่า มีการยัดเยียดเนื้อหามากมาย เรียนพิเศษคร่ำเคร่งกันแต่วัยเยาว์ แบกกระเป๋าตำรา หนา หนัก ไปโรงเรียนทุกเช้า แล้วเรามีความก้าวหน้าไปมากมายขนาดไหนกัน
ยิ่งได้เห็นหลายท่านที่ปรารภว่า จะต้องเอาชื่อวิชา "ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง" กลับมาให้ปรากฏในหลักสูตร ก็มีเสียงบอกนักเรียนจะเพิ่มชั่วโมงเรียนมากเกินไป ครับจริงเช่นนั้น แค่นี้ก็เกินกว่า 1,200 ชั่วโมง/ปีไปมากมายนัก เรียนกันตั้งแต่รุ่งเช้ายันดึก จากโรงเรียนปกติและโรงเรียนกวดวิชา บ้างก็ว่าจะต้องเพิ่มหนังสืออ่านนอกเวลา ที่เน้นการปลูกฝังค่านิยมรักชาติ จะได้ประโยชน์อะไรครับ ในเมื่อการอ่านของประเทศเรานั้นต่ำเตี้ยระดับปีละ 8 บรรทัด และที่สำคัญอ่านไม่ออก จับใจความไม่ได้อีกมากมาย โดนถีบหัวส่งให้พ้นๆ ไปเพื่อเพิ่มตัวเลขผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ผ่านการประเมินระดับยอดเยี่ยมกระเทียมเจียว (ลองคลิกอ่านตรงนี้ซิครับ)
คนไทยเรามีความรู้สึกว่า ตนเองต่ำต้อยด้อยค่าทุกที เมื่อมีการรายงานผลการศึกษาว่า เราอยู่ในอันดับท้ายๆ ทั้งในการประเมินจากบางหน่วยงานของต่างประเทศ จากผลการสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) เป็นโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจว่า ระบบการศึกษาของประเทศได้เตรียมเยาวชนของชาติให้พร้อม สำหรับการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนวัย 15 ปี ที่จะใช้ความรู้และทักษะเพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริง มากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
แต่... ถ้าเรามองอีกมุม นักเรียนไทยของเราก็ประสบผลสำเร็จในเวทีโลกมากมายอยู่นะ ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิกวิชาการ การแข่งขันด้านทักษะความคิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อย่าง การแข่งขันหุ่นยนต์ การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ช่างฝีมืออุตสาหกรรม การทำอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย แต่นั่น มันเป็นกลุ่ม "หัวกระทิ" หรือเปล่า แล้วหางๆ กระทิล่ะจะทำอย่างไร?
เราได้รับทราบข่าวสาร การศึกษาของประเทศไทย ในทางที่แสดงถึงความตกต่ำ ไม่พัฒนามาโดยตลอดในช่วงนี้ แล้วทุกคนต่างก็ฟันธงลงไปว่า ต้นเหตุแห่งการไม่พัฒนามาจาก "ครู" กันทั้งนั้น ผมก็เคยเป็นครูมาด้วยระยะเวลายาวนานพอสมควร เกือบครึ่งชีวิต ผมไม่เห็นด้วย ในการที่จะกล่าวโทษครูแต่ฝ่ายเดียว เพราะบริบทในการจัดการศึกษานั้น มันมีปัจจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มากมาย ตั้งแต่เสนาบดีเจ้ากระทรวง อธิบดี (เลขาธิการ) ผู้อำนวยการเขต ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ทำไมทุกฝ่ายลอยตัวไปหมดโยนขี้ให้กับครูแต่ผู้เดียวเล่า
จริงๆ แล้วในระดับโรงเรียน ผู้ที่ควรจะเป็นหลัก เป็นผู้นำ ในการกำกับ ติดตาม นิเทศ เป็นแบบอย่าง คือ "ผู้อำนวยการโรงเรียน" ถ้าโรงเรียนใดได้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษา โรงเรียนนั้นจะประสบผลสำเร็จในทุกๆ ด้าน แต่หากโรงเรียนใดได้ผู้บริหารโรงเรียนที่ถนัดการเข้าประชุม ตามก้นนักการเมือง วันๆ ระเหเร่ร่อนอยู่ตามสำนักงานเขต สนามกอล์ฟ ห้องอาหาร มอบหมายให้รองผู้อำนวยการทำหน้าที่แทน (ไอ้ผู้ช่วยมันไม่ช่วย) คราวนี้ก็จบเห่กันไป ผมทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารมาหลายท่าน พบเจอมาทุกรูปแบบ ที่สามารถยกมือไหว้ด้วยความเคารพนับถือได้สนิทใจมีไม่กี่คน ส่วนมากถ้าไม่เผชิญหน้าจังๆ ก็ไม่อยากจะยกมือไหว้ เพราะส่วนใหญ่จะเก่งในการเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและพัสดุ มากกว่าบริหารการศึกษา (ถากถางทางมาด้วยเงินก็ต้องเอาทุนคืน)
วันนี้ได้อ่านจากหน้าเฟซบุ๊ค ของท่านอาจารย์สุทัศน์ เอกา กล่าวถึงผู้อำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่ง อ่านแล้วมีความรู้สึกดีๆ อยากเป็นกำลังใจให้ท่านที่อุทิศตนเพื่อการศึกษาไทย และจะได้เป็นแบบอย่างแก่ท่านอื่นๆ ในการมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป...
ตั้งใจจะเขียนเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในช่วงผลายภาคเรียนที่ ๒ หรือสิ้นกระบวนการเรียนรู้ปลายปีการศึกษา ๒๕๕๖ เมื่อหลายวันก่อน แต่มีอันต้องหยุดเขียนด้วยปัญหาสุขภาพเป็นไข้หวัด หัวหนักอึ้งลืมตาแทบไม่ขึ้น เลยพักไว้ก่อน วันนี้อาการดีขึ้นหน่อยต้องรีบมาบันทึกไว้กลัวจะลืมไปเสียก่อน ประเด็นที่อยากจะกล่าวคือ แก่นในการจัดการศึกษาของประเทศเราคืออะไร? ทำไปเราไม่ไปไหนสักที แถมยังมีเรื่องมาให้ปวดหัวได้ทุกวัน ตั้งแต่การบ่นว่า "หลักสูตรเก่าไปไม่ทันสมัยบ้างล่ะ? เราเรียนมากเกินไปบ้างล่ะ? เราบังคับขู่เข็ญให้เขาทำ (เรียน/สอน) มากเกินไปบ้างล่ะ? เราสร้างค่านิยมเรื่องใบประกาศนียบัตรจนลืมศีลธรรมจรรยาบ้างล่ะ?" ซึ่งในกรณีหลังนี่ถึงขั้นมีการประณามในโลกออนไลน์ในความไม่เหมาะสม ไม่มีกาลเทศะ เกือบจะกลายเป็นศึกสถาบันกันเข้าให้แล้ว
ตั้งแต่... เรากำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษา ของประเทศไทย ผ่านไปสิบกว่าปีมีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม แย่กว่าเดิม ผมคงไม่ต้องไปตอกย้ำกันตรงนั้นอีก เรารู้เห็นกันอยู่เต็มตาว่า เราเสียเวลาไปกับการคิด เขียน สั่งการ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นนโยบายรายภาคเรียน ที่ไม่เคยต่อเนื่องสัมพันธ์กันแม้สักเรื่องเดียว มีเสนาบดีใหม่มาทีหนึ่ง (ซึ่งก็ขยันเปลี่ยนกันจริง) ก็ออกแนวนโยบายใหม่มาเรื่อยๆ กลัวเขาจะว่าตัวเองไม่มีกึ๋นหรือไรไม่ทราบได้ แต่ละเรื่องก็จะให้เกิดผลทันตาชั่วข้ามคืน หน่วยไหนไม่ทำไม่ได้งบประมาณ ตัวผู้บริหารโดนเปลี่ยนตัว เราจึงได้เห็นการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก สร้างข้อมูลเทียมๆ เลอะเปรอะเปื้อนไปทั่วกระทรวงศึกษาธิการ กว่าจะสำนึกก็ตอนที่ผลสำรวจระดับนานาชาติมันออกมาโน่นแหละ อ้าวเต้นกันอีกแล้ว...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)