education revolution2

nopay noedลังจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของไทย ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากการวัดเปรียบเทียบกับ ประเทศเพื่อนบ้าน การสอบวัดระดับนานาชาติ และที่เป็นขี้ปากมาตลอดคือ การสอบวัดระดับชาติของไทยเองทั้ง NT, O-Net, GAT-PAT ในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ผลที่ออกมา... ก็สะท้านสะเทือนวงการศึกษา จนเกิดวงกระเพื่อมระลอกน้ำมโหฬาร

ชนิดที่ผู้บริหารการศึกษาในระดับกระทรวง ทบวง กรม ดาหน้าออกมาแจงถึงข้อผิดพลาดและสาเหตุแห่งปัญหา บ้างก็ฟาดงวงฟาดงาลงมาที่วงการครูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ชนิดที่ว่า กรูไม่ผิด พวกมึงนะผิดเต็มๆ เลยว้อย) จนมีการตั้งคณะกรรมการสารพัดเพื่อจัดการแก้ปัญหานี้ แน่นอนต้องแก้หลักสูตรการศึกษาใหม่ จัดลำดับความสำคัญแห่งการเรียนรู้ พัฒนาครูให้เข้มข้น จงเตรียมตนให้พร้อมเถิดเพื่อนเอ๋ย...

แต่อย่าลืมเรื่องกระบวนการ วิธีการจัดการการเรียนรู้นะครับ หลักสูตรจะดีเพียงใดก็ตาม ถ้ามันยังเป็นแค่คำพรรณาโวหารไม่บอกวิธีการปฏิบัติ ก็ยากที่จะสำเร็จได้ วิธีการก็ต้องหลากหลายเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของสยามประเทศนี้ด้วย ไม่ใช่วิธีการเดียวแล้วจะใช้ได้ผลกับทุกคนทุกพื้นที่ ต้องมีทางหนีทีไล่ การแก้ปัญหาฉับไวอยู่ในกระบวนการเหล่านั้นด้วย

thai std 02ผมเข้าไปในเว็บไซต์ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งกำลังระดมความคิดเห็นจากเพื่อนครู ที่อยู่ในวงการศึกษา จากผู้ปฏิบัติจริงในการจัดการเรียนการสอน (ไม่ได้นึกเอาบนหอคอยงาช้าง) แต่ก็มีผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรครูกว่าสองแสนคนทั่วประเทศ ได้โปรดเถิดครับ ขอให้เพื่อนครูได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อกรอบ การพัฒนาหลักสูตรแกนกลางให้สำเร็จ เพื่อที่พวกเราจะได้มีส่วนร่วมในการร่าง กำหนดทิศทางให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถปฏิบัติได้ในทุกพื้นที่ของประเทศนี้ อย่าคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ครับ เพราะถ้ามันออกมาไม่ตรงใจ ทำไม่ได้ก็คงต้องโทษพวกเรานี่แหละที่นิ่งดูดายกัน

หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนดสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ประการ คือ

  1. ความสามารถในการสื่อสาร
  2. ความสามารถในการคิด
  3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
  4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
  5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

ในเรื่องสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนนั้นใน ความเห็นของผมควรรวมข้อ 2 และ 3 เข้าด้วยกัน เพราะคิดเป็นแต่แก้ปัญหาไม่ได้มันไม่เกิดประโยชน์ และตัวชี้วัด วิธีการประเมินควรอยู่ในกรอบเดียวกัน ในข้อ 4 ทักษะชีวิตควรรวมถึงการมีคุณธรรมและจริยธรรมเข้าไปด้วย การกำหนดตัวชี้วัดและวิธีการประเมินผลให้เป็นกรอบมาตรฐานเพื่อให้ทุกคน เข้าใจตรงกัน วัดผลออกมาได้ค่ามาตรฐานเดียวกัน

หลักสูตรแกนกลางฯ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก โดยกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ข้อ คือ

  1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
  2. ซื่อสัตย์สุจริต
  3. มีวินัย
  4. ใฝ่เรียนรู้
  5. อยู่อย่างพอเพียง
  6. มุ่งมั่นในการทำงาน
  7. รักความเป็นไทย
  8. มีจิตสาธารณะ

ลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ข้อ เยอะเกินไปหรือเปล่า บางข้อมันรวบเข้าหากันได้ เป็นเรื่องเดียวกัน การวัดและประเมินจะชัดเจนกว่าแยกเป็นประเด็นให้สอดคล้องเพราะพริ้งแต่วัดยาก อย่างมีวินัย+ใฝ่เรียนรู้ รวมกันได้ อยู่อย่างพอเพียง+มุ่งมั่นในการทำงาน ก็หลอมรวมกันได้เพราะคำว่า "ทำงาน" ไม่ได้หมายถึงการทำอาชีพที่ต้องได้เงินอย่างเดียว จะรวมหมายถึงการจัดการบ้านเรือนที่พักอาศัยให้น่าอยู่ด้วย สิ่งสำคัญที่ในหลักสูตรคือต้องตีความให้ชัดเจนว่า ลักษณะอย่างนี้อยู่ในข่ายใด จะวัดด้วยเกณฑ์อะไร วิธีการอย่างไร เป็นต้น

โครงสร้างเวลาเรียนและเกณฑ์การจบการศึกษา

  • โครงสร้างเวลาเรียนที่หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนดเหมาะสมหรือไม่ 
    เข้าใจ ว่าเป็นการถามถึงหลักสูตรแกนกลางเดิม อยากจะตอบว่าเยอะเกินไป เพราะเน้นที่ตัวเนื้อหารายละเอียดยุบยับ ไกลตัวผู้เรียนมากๆ ดูเหมือนจะวางหลักสูตรเพื่อให้มุ่งไปสู่การเรียนต่อสายสามัญยันไปสู่ระดับ อุดมศึกษากันทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น จึงมีแต่การสร้างความเคร่งเครียดให้กับนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น
  • ถ้าปรับโครงสร้างเวลาเรียน ควรลดหรือเพิ่มเวลาเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด อย่างไร
    คง ต้องแยกระหว่างระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ออกให้ชัดเจน ในระดับประถมศึกษาเราควรเน้นการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การฝึกเขียน การอ่านให้แตกฉาน การคิดคำนวณเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การสื่อสารในภาษาต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง ไม่ควรแยกเป็นกลุ่มสาระ 8 กลุ่มสาระอย่างระดับมัธยมศึกษา

thai std 03

หลักสูตร แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกรอบและทิศทางในการจัดทำหลักสูตร สถานศึกษา และจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกคนซึ่งเป็นกำลังของชาติ ให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งร่างกาย ความรู้ คุณธรรม และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาความรู้ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้ หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ

  1. ภาษาไทย
  2. คณิตศาสตร์
  3. วิทยาศาสตร์
  4. สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
  5. สุขศึกษาและพลศึกษา
  6. ศิลปะ
  7. การงานอาชีพและเทคโนโลยี
  8. ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)

ประเด็นที่ขอความเห็น

ในชั้น ป.1 ป.2 และ ป.3 จำเป็นต้องเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้หรือไม่

  • ถ้าไม่ควรเรียนครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ควรเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด ไม่ควรเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด เพราะเหตุใด
  • ถ้าควรเรียนครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สถานศึกษาควรจัดรายวิชาอย่างไร เพราะเหตุใด

 ผมขอยกเครดิตให้กับ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ ที่ท่านได้แสดงความคิดเห็นไว้ดังนี้ เด็กไทย

  1. เมื่อจบ ป.3 ต้องอ่านคล่อง + เขียนคล่อง + มีวินัย + มีนิสัยรักการอ่าน การค้นคว้า + เป็นคนช่างสังเกต + มีทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน + มีทักษะชีวิตที่จำเป็นพื้นฐานในการดูแลตนเอง
  2. เมื่อจบ ป.6 เป็นยอดนักอ่าน + วินัยเป็นเลิศ + ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และเผชิญปัญหามีมากขึ้น สามารถทำโครงงานศึกษา ค้นคว้า วิจัยในปัญหาที่ไม่กว้างหรือลึกมากนัก
  3. เมื่อเริ่มเรียนมัธยม เน้นสาระมากขึ้น ฝึกทักษะวิชาการมากขึ้น ทำโครงงานศึกษา ค้นคว้า บูรณาการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น เริ่มทำงานหนักขึ้น เริ่มรับผิดชอบงานในครอบครัวมากขึ้น มีทักษะชีวิตในการดูแลตนเองแบบรอบด้าน
  4. เมื่อจบชั้น ม.6 มีค่านิยมในการทำงานหนัก สามารถทำโครงการ/โครงงานศึกษา ค้นคว้า วิจัยในลักษณะแก้ปัญหา เผชิญปัญหาในชุมชน ที่สำคัญๆ มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์เป็นเลิศ
  5. จบอุดมศึกษา.. สู้งาน สามารถเชิญปัญหาสำคัญๆ หรือทำโครงการที่ซับซ้อนได้ มีทักษะในการทำงานเป็นทีม สามารถสร้างสรรค์งานได้ด้วยตนเอง และชี้นำตนเองได้

ผมคิดว่า เราต้องร่วมกันออกแบบหลักสูตร/กระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่มุ่งให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและทักษะเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับชั้น "ถ้าฝึกให้เด็กไม่สู้งานตลอด 12 ปี" น่าจะเป็นอันตรายต่อทรัพยากรบุคคลของประเทศ ในอนาคต อย่างแน่นอน... หลังจากอายุ 17 ปี ทุกอย่าง น่าจะสายเกินแก้

thai education 01

ย้ำครั้งที่ 100 รากของปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย

ทุกครั้งที่มีคนบอกว่า เด็กไทยเรียนอ่อนวิชาต่างๆ ในระดับมัธยมศึกษา (เป็นภาวะทุกข์) ...ผมก็เรียนแบบย้ำรากปัญหาเดิมว่า รากของปัญหา (สมุห์ทัย) อยู่ที่เด็กจบป.6 อ่านหนังสือไม่ออก-ไม่คล่องร่วม 30 % ซึ่งการฝึกให้เด็กอ่านออก เขียนได้ ต้องเน้นให้สำเร็จที่ ป.3 จนถึง ป.6 ต้องอ่านคล่อง เขียนคล่อง.... หลังจาก ป.3 แล้ว ฝึกยากมากครับ โอกาสความสำเร็จน้อยมาก... สิงค์โปร์ตัดสินใจมอบให้เอกชน จัดการศึกษาปฐมวัยแบบ 100 % ประถมศึกษา ประมาณร้อยละ 80 อยู่ในมือเอกชน เพราะจัดได้มีคุณภาพมากกว่า (เด็กอ่านออก เขียนได้ เขียนคล่อง และรักการอ่าน)  ประเทศเราไม่ให้ความสำคัญกับปฐมวัย และประถมศึกษาเท่าที่ควร ปัญหาจึงเกิดขึ้นในวันนี้ และไม่มีทางแก้ได้ หากไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาระดับปฐมวัย และประถมศึกษา เราต้องดูแลการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ให้ได้ผลอย่างยอดเยี่ยม.. แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

ทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศไทย..?

1) ผลการประเมินพบว่า เด็กไทย ไม่มีวินัย... > ตัดสินใจ "ให้ไว้ผมยาวได้"
2) พบว่า เรียนหนักแต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ... > ตัดสินใจ "ให้ลดการบ้านลง"
3) พบว่า เด็ก คิด-วิเคราะห์ ไม่เก่ง คะแนน PISA ต่ำ.. > ตัดสินใจ "ให้ยกเลิกข้อสอบแบบเลือกตอบ"


..... กลัวอย่างยิ่ง คือ เห็นว่า จัดการศึกษาแล้ว ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร.. > ตัดสินใจ "ให้ยกเลิก การศึกษาในระบบ ให้เหลือแต่ การศึกษาตามอัธยาศัย" ... 555 ...

thai std 04

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ ดร.สุพักตร์ อย่างยิ่งครับ ปัญหาที่เกิดนี้จะแก้ได้ก็ต้องแก้ที่ตัวระบบด้วย ต้องนำการสอบตกแล้วเรียนซ้ำชั้นกลับมา เลิกบัญชาให้นักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน เพื่อประโยชน์แห่งตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้บริหาร ครูสอนแล้วนักเรียนตกซ้ำชั้นต้องพิจารณาผู้บริหารด้วยว่า ไร้ความสามารถ การที่คุณผลักเขากระเด็นออกมาให้ไปเสี่ยงตายเอาข้างหน้า เหมือนกับว่าพวกคุณ(ครูและผู้บริหารโรงเรียน)กำลังส่งกองโจรออกไปทำร้าย สังคม ที่เราต้องแก้ไขด้วยงบประมาณมหาศาลเพียงใด ตอนนี้มันเหมือนการโยนบาปไปให้กันเป็นทอดๆ สุดท้ายก็เป็นปัญหาที่เราต้องแก้เหมือนลิงติดแหอยู่อย่างนี้

นิทานตัวอย่างเรื่องโรงเรียนแห่งหนึ่งมี นักเรียนแค่ 54 คน มีครูชำนาญการพิเศษและผู้อำนวยการระดับ 8 รวม 7 คน ประเมิน สมศ. รอบสามผ่านระดับดีเยี่ยม แต่อนิจจาลูก ป.6 ไปสมัครเข้าเรียน ม.1 กรอกใบสมัครไม่ได้ เขียนชื่อตัวเองและนามสกุลไม่ถูก นี่คือผลิตผลที่เราต้องตระหนักและต้องแก้ไขโดยด่วนครับ อยากให้ไปอ่านเรื่อง "..ตัวการ.." ที่ทำให้การจัดการศึกษาไทยล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ กันอีกสักรอบ สองรอบครับ...

thai-farmer-1

ที่ต้องรีบเร่งแก้ไขอีกข้อคือ การรักการทำงาน กตัญญูรู้คุณ เพราะหลายสิบปีมานี้ผมเห็นว่า เด็กนักเรียนร้อยละ 90 มีนิสัยหยิบโหย่ง ไม่ช่วยเหลือหน้าที่การงานกับทางบ้าน ทำอะไรไม่เป็น แม้แต่การดูแลตนเอง เช่น ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดที่พัก จัดการเรื่องอาหารการกิน ภาพข้างบนนี้เป็นตัวอย่างที่ลูกหลานชาวนา มาเรียนหนังสือในเมือง แล้วลืมสิ้นอาชีพรากเหง้าบรรพบุรุษ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้าวในจานที่รับประทานทุกวันมาจากไหนกัน เราส่งเสริมสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่ถูก แต่ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ใช่เรียกร้องแต่สิทธิโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ของตนเองอย่างสิ้นเชิง ต้องสอนครับอย่าทิ้ง ผู้ปกครองก็เช่นเดียวกัน การทำงานเรียนรู้การดำรงชีวิตของบุตรหลานเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่สิ่งลำบากลำบนอะไร อย่าให้เหมือนกับนิทานเรื่อง "พ่อแม่รังแกฉัน" เลย...