วันนี้ ขออนุญาตลอกบทความมาให้อ่านโดยตรงเลยนะครับ เป็นความคืบหน้าในการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรใหม่ เพื่อเสนอความเคลื่อนไหวในการยกร่าง ก่อนประกาศออกมาใช้จริงที่เพื่อนครูเราจะเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เตรียมตัวและติดตามช่องทางในการนำเสนอเพื่อการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไปครับ...

new curriculum 2

โดย พิทักษ์ โสตถยาคม

pitak photoเมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ผมได้ร่วมประชุมกับกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง การจัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่ของประเทศไทย ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นประธาน และมี ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล และ รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล กรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้บรรยายสรุปเกี่ยวกับกรอบหลักสูตรใหม่

รศ.วันชัย ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ การจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ จุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย โดยเริ่มจากยกข้อเสนอของ ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่มี ๕ ยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยเรื่องปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปครู เร่งสร้างความเข้มแข็ง ปฏิรูปโครงสร้าง และเพื่อการศึกษา แต่ตัดสินใจเลือกทำปฏิรูปหลักสูตรก่อนยุทธศาสตร์อื่นเพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษา

จากนั้นบอกถึงเหตุผลว่าทำไมต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร ๖ ประการ ทั้งเรื่องของความทันสมัย (หลักสูตรควรปรับทุก ๕-๑๐ ปี, หลักสูตรปัจจุบันปรับจากปี ๒๕๔๔ รวมใช้มาแล้ว ๑๒ ปี, โลกเปลี่ยนเร็วมาก) ความเหมาะสม (หลักสูตรเดิมสั้นย่นย่อเกินไป, ปลายเปิดมากไป, เวลาเรียนมากไป) โครงสร้างหลักสูตร (๘ กลุ่มสาระ) ขั้นตอนของหลักสูตร (การเรียนแบบหน้ากระดาน) แนวโน้มการศึกษาปัจจุบัน (สิงคโปร์ teach less learn more, learn how to learn, การเรียนอย่างยั่งยืน lifelong learning)สัมฤทธิผลของการศึกษา (การศึกษาไทยตกต่ำ, ทรัพยากรมนุษย์ของไทยอ่อนแอ) โดยยกผลการทดสอบ PISA ที่เด็กไทยทำคะแนนได้ต่ำมาประกอบ รวมทั้งนำเสนอตารางเปรียบเทียบกรอบหลักสูตรและเวลาเรียนของประเทศต่างๆ สุดท้ายนำเสนอ (ร่าง) โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ว่าประกอบด้วย ๔ ส่วน คือKnowledge, Skills, Values & Attitudes,และLearning Tools

ศ.สุมาลี ได้นำเสนอว่าหลักสูตรนี้มีลักษณะสำคัญ ๕ ประการ ดังนี้ (๑) เน้นสอนให้น้อย แต่ให้เรียนมากขึ้น โดย ๘๐๐-๑๐๐๐ ชั่วโมง จะรวม ๓ ส่วนนี้เข้าด้วยกัน ได้แก่  classroom + self-learning, field study, extra-curricular activities (๒) เน้นLearning Outcome-Based (๓) เน้นแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีความสอดคล้องกันของLearning Outcomes, Learning ActivitiesและAssessments (๔) เน้นบูรณาการรายวิชาและมีระดับความลึกซึ้งขึ้นของความรู้และทักษะในชั้นเรียนที่สูงขึ้น เช่น ป.๒ มีระดับความลึกซึ้งมากกว่า ป.๑ (๕) เน้นการประเมินตนเองทั้งของครูและนักเรียนในกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการประเมินระหว่างเรียนเป็นพิเศษ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานได้คำนึงถึงเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติด้วย เช่น เตรียมคิดระบบบริหารจัดการข้อมูลการประเมิน  หรือAssessment Data Management System (ASMS) เพื่อจะช่วยให้มีการเก็บข้อมูลความรู้ ทักษะ และค่านิยม/เจตคติ อย่างต่อเนื่อง เตรียมยกร่างบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน (ผู้บริหารและครู) เตรียมเสนอการพัฒนาครูจะให้มีIn-service DaysและProfessional Learning Community (PLC) โดยจะกำหนดว่าครูแต่ละคนจะพัฒนากี่วันต่อปี  เตรียมรวบรวมแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีมาไว้ในLesson Bankเพื่อให้ครูเลือกใช้ นอกจากนั้นยังจะเตรียมเสนอแนะกิจกรรม การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจให้ครูนำไปใช้ด้วย

new curriculum 3

ข้อสังเกตของผู้ทรงคุณวุฒิต่อการพัฒนาการศึกษาและการจัดทำหลักสูตรใหม่ ดังนี้

  • ไม่ควรประกาศใช้ถ้าไม่พร้อม หากจะประกาศใช้หลักสูตรบนความไม่พร้อมของบุคลากร หนังสือสื่อการเรียนรู้ คู่มือครู แผนการจัดการเรียนรู้ และเอกสารหลักฐานการวัดประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ก็ควรให้ใช้หลักสูตรเดิมไปก่อน เพราะดำเนินการบนความไม่พร้อมจะเกิดความสูญเปล่าและผลเสียต่อนักเรียน (ประเด็นนี้ อ.รัชนี อมาตยกุล นำเสนอไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผมได้ขออนุญาต อ.รัชนี นำวิดีโอที่บันทึกไว้ไปเปิดให้น้องพี่ได้ดูด้วยครับ) โปรดดูคลิปวิดีโอ
  • ข้อแย้งสมมติฐานการจัดทำหลักสูตรใหม่ ๒ ประการ ประการแรก หลักสูตรไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาเป็น System Dynamicsเป็นระบบที่เป็นพลวัตร หากแตะส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะมีผลกระทบกับองค์กระกอบส่วนอื่นๆ ทั้งหมด ประการที่สอง การอ้างผล PISA มาเป็นเหตุผลการเปลี่ยนหลักสูตรอาจไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะการนำข้อมูลนี้มาใช้ต้องเข้าใจปรัชญาของการทดสอบPISAเพราะเป็นการวัดผลสมรรถนะของกลุ่มชนชั้นกลางของกลุ่มประเทศ OECDซึ่งประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นสมาชิกOECDและประเทศเรามีเยาวชนที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางทั่วประเทศ เพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนั้น จะเห็นว่า ความมุ่งหวังของนักเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กต้องการเข้าโรงเรียนเพราะหวังว่าจะได้รับประทานอาหารกลางวัน ได้ดื่มนม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า เด็กๆ จะได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่า สภาพเด็กของเราโดยส่วนใหญ่ได้รับปัจจัยพื้นฐานของชีวิตยังไม่ดีพอ
  • ยกระดับคะแนนสอบ PISA แบบ UK การขยับผลคะแนน PISA ของเยาวชนวัย ๑๕ ปีให้สูงขึ้น ควรศึกษาแนวทางของประเทศอังกฤษ สมัย Margaret Thatcher ที่ได้มุ่งพัฒนาเยาวชนกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำว่า ๔๔๐ เป็นพิเศษ มุ่งสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนา และพัฒนาด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในที่สุดก็สามารถทำให้ผลคะแนนในการสอบครั้งต่อมาดีขึ้นได้
  • ระบบการบริหารจัดการบุคลากรมีปัญหา ความล้มเหลวของการศึกษาไทย อย่าพูดถึงการปฏิรูปครูเพียงอย่างเดียว ต้องปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการด้วย  จากข้อมูลจำนวนครูทั้งประเทศมีทั้งสิ้น ๕ แสนคน ปรากฏว่าเป็นครูผู้สอน ประมาณ ๔ แสนคน แต่เป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน ประมาณ ๔ หมื่นคน จะเห็นว่าอัตราส่วน ผอ.ต่อครู เป็น ๑:๑๐ ซึ่งต่ำมาก หากพิจารณาประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานของ ผอ./ รอง ผอ. จะพบว่า ทำงานได้ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่รัฐทุ่มเทให้ ดังจะเห็นปัญหาคุณภาพเด็ก คุณภาพครู คุณภาพการบริหารจัดการเป็นเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการคนของกระทรวงศึกษาธิการ
  • การศึกษาต้องชี้นำประเทศได้ หลักสูตรต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของเรา จะเห็นว่าการจัดทำหลักสูตรครั้งนี้ ยังไม่แสดงให้เห็นจุดดีและชี้นำในจุดเด่นของประเทศไทย จุดเด่นของประเทศไทยเป็นเรื่องของทรัพยากร รวมทั้งคนไทยส่วนใหญ่อยู่กับธรรมชาติอย่างแนบแน่น หากเราใช้ STEM เป็นตัวนำแล้ว น่าจะก่อให้เกิดความสับสน ไม่พร้อม และอาจเป็นความขัดแย้งของสภาพที่ควรจะเป็นกับสภาพความเป็นจริง 
  • การลงละเอียดของหลักสูตร เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีหลักสูตรแกนกลางที่มีรายละเอียดจำนวนมาก  หรือถ้ามี ก็ควรมีรายละเอียดให้น้อยที่สุด หรือควรมีเพียงหลักการก็เพียงพอ เช่น มาตรา ๖ ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
  • หลักยึดของหลักสูตร หลักการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๖ ควรยึดเป็นหลักในการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ด้วย  (สาระของมาตรา 6 "การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข")
  • ๙ ปีที่มีคุณภาพก็เพียงพอ การจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุม ๑๒ ปี (ป.๑-ม.๖) อยากให้เน้นที่การศึกษาภาคบังคับเพียง ๙ ปี (ป.๑-ม.๓) แต่ให้เป็นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพที่แท้จริง ส่วนการเลือกเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ควรเปิดให้เป็นทางเลือกเช่นเดียวกับการเลือกเรียนอาชีวศึกษา
  • แรงจูงใจผู้เรียนอาชีวะ การส่งเสริมเพิ่มจำนวนนักเรียนที่เรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และมากกว่าจำนวนผู้เรียนสายวิชาการ (ม.๔-๖) แนวทางการแก้ไขหนึ่งคือ การกำหนดให้ค่าวิชาชีพของผู้จบอาชีวศึกษาให้มากกว่า เช่น จบสายวิชาชีพ ให้เงินเดือน ๑๘,๐๐๐ บาท ส่วนผู้จบสายวิชาการให้เพียง ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นต้น
  • เน้นพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรทุ่มพัฒนาเด็กเล็กให้มากขึ้น โดยงบประมาณที่มีให้ทุ่มเทที่กลุ่มเด็กปฐมวัย (๐-๖ ปี) เพราะช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีการเรียนรู้สูงมาก ควรพัฒนาให้คิดเป็น ซึ่งถือเป็นการลงทุนเตรียมคนของประเทศที่คุ้มค่ามาก
  • เนื้อหาหลักสูตรยังขาดเรื่องสำคัญ เป็นเนื้อหาที่ถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้แล้วจะมีผลกระทบสูงต่อชีวิต ได้แก่ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการฝึกจิต/สมาธิ เรื่องความเข้าใจในตนเอง (เรียนรู้ว่าเราคือใคร-เราคือพุทธะ-ผู้รู้ผู้ตื่นผู้แสวงหาความรู้ความจริง?) เรื่องโภชนาการ-กินเป็น-ไม่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพตนเอง
  • จุดยืนและทิศทางการพัฒนาคนไทยคืออะไร ในการพัฒนาเรามักอ้างอิงถึงความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ เช่น Teach Less Learn Moreแต่สิงคโปร์ตอนนี้มีปัญหาเรื่องความเครียดและขาดความสุข สิงคโปร์ได้เชิญ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ไปสอนเรื่อง "ความสุขในชีวิต" "การรู้จักตนเอง" และในเรื่องเดียวกันนี้ยังมีประเทศอินโดนีเซีย ภูฏาน ได้เชิญให้อาจารย์ไปพัฒนาครูในประเทศเหล่านี้หลายแสนคน  รวมทั้งประเทศเหล่านี้ได้ส่งครูให้มาศึกษาดูงานที่โรงเรียนสัตยาไสย และโรงเรียนรุ่งอรุณด้วย จะเห็นได้ว่า การศึกษาไทยยังมีส่วนที่ดี เป็นการจัดการศึกษาที่ปลูกฝังความดีงามและความสุข ดังนั้น การศึกษาและหลักสูตรใหม่ของประเทศไทย จะไม่เป็นหลักสูตรทีทำตามกระแสประเทศอื่น แต่มีจุดยืนของเราเอง เป็นคนที่สามารถปรับตัวเรียนรู้ได้และไม่ตกยุค
  • นำ ICT มาขยายครูสอนดีและแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน ควรส่งเสริมให้ครูดี ครูเก่ง ได้นำการสอน-การอธิบายของครูไปไว้ในITเช่นเดียวกับKhan Academy
  • การลดเวลาเรียน ในการลดเวลาเรียนลง เช่น ลดจาก ๑,๐๐๐ ชั่วโมง เหลือ ๘๐๐ ชั่วโมง ควรดูบริบทของประเทศไทย และหาวิธีการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำงานและไม่สามารถดูแลลูกเมื่อกลับจากโรงเรียนเร็วได้
  • Checkpoint ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นระยะ ควรมีการตรวจสอบผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นระยะๆ หรือมีการCheckpointเป็นขั้นๆ ของแต่ละวิชา หากนักเรียนสามารถผ่านเกณฑ์จริงๆ แล้ว จึงจะให้ผ่านหรือเลื่อนระดับชั้นสูงขึ้นไปได้ ถ้ายังไม่ผ่านจะไม่สามารถเลื่อนระดับได้
  • การคัดเลือกคนเก่งเป็นครูและพัฒนาครูต่อเนื่อง ควรเน้นที่การพัฒนาครู เพื่อให้ครูมีคุณภาพ เพราะพบว่าครูที่ไม่มีคุณภาพจะมีความรู้ในเนื้อหาสาระที่สอนต่ำ ครูไม่ได้ conceptและมักพบว่าครูเหล่านี้จะบอกว่าไม่มีเวลาในการพัฒนาตนเอง ไม่อยากพัฒนา ไม่กระตือรือร้น และขาดความทะเยอทะยาน รวมทั้งครูมีหนี้สิน ซึ่งสะท้อนว่าครูใช้ชีวิตไม่เป็น จากข้อมูลนี้ อาจต้องคัดเลือกคนเรียนดีมาเป็นครู เพราะไม่สามารถมาเสริมความเก่งทีหลังได้ง่ายนัก รวมทั้งการส่งเสริมครูให้มีฐานะทางการเงินที่ดี และพัฒนาให้ครูคิดเป็นด้วย
  • การบริหารจัดการคุณภาพโรงเรียนระดับจังหวัด ในการปฏิรูปการศึกษาอาจจะทำเรื่องหลักสูตรเป็นเรื่องสุดท้ายก็ได้ แต่เรื่องสำคัญน่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการโรงเรียน อยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน เพราะครูจะทำตามผู้บริหารโรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งควรให้การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนในการเสนอนโยบายด้านการศึกษาและผลักดันการ พัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในจังหวัด
  • การต่อยอดจากหลักสูตรเดิมสู่หลักสูตรใหม่ การจัดทำหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ควรตอบคำถาม ๓ คำถาม ได้แก่ (๑) ของเดิมมีอะไรดีอยู่แล้ว (๒) ของเดิมมีอะไรเกือบจะดี และ(๓) ของเดิมมีอะไรที่แย่และควรเปลี่ยน

 thai education 01

สุดท้าย ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล และ รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล กรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับข้อสังเกตของผู้ทรงคุณวุฒิไปพิจารณา และขอโอกาสให้กลุ่มที่ไม่ใช่นักการศึกษา ที่เป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เช่นอาจารย์ทั้งสอง ได้ดำเนินการให้สำเร็จ และอาจสามารถทำได้ดีเช่นเดียวกับบางประเทศ ที่ดำเนินการจัดทำหลักสูตรการศึกษาชาติโดยนักวิทยาศาสตร์เช่นกัน

จะเห็นว่าการตั้งวงพูดคุยกันครั้งนี้ ได้เห็นถึงการร่วมคิด ร่วมให้ข้อสังเกตอย่างตรงไปตรงมา และการรับฟังอย่างเปิดใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาที่ดี เพราะจะทำให้ได้ข้อคิด ข้อพึงระวังในการดำเนินการให้รอบคอบมากขึ้น และเห็นว่าทุกคนได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ทั้งกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต้องทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาให้ลุล่วง และผู้ทรงคุณวุฒิที่สะท้อนความคิดความห่วงใยต่อความเป็นไปของประเทศชาติ และอนาคตที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้

แน่นอนว่า เราคงไม่ไปต่อต้าน หรือปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนา แต่เราก็คาดหวัง และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่อยู่บนฐานของการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม รวมทั้งจำเป็นต้องคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งทุกส่วน ทุกองค์ประกอบ ทุกคนในฟากฝั่งการศึกษา และคนทั้งสังคม เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันไปทั้งหมดสิ้น จึงควรเร่งทำความเข้าใจ และพิจารณาองค์ประกอบอื่นของการปฏิรูปการศึกษา ให้พัฒนาควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบบริหารจัดการ การประเมินผล ครุศึกษาและการพัฒนาครู หลักสูตร การสอน และสื่อการเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งต้องการพลังและการมีส่วนร่วมอย่างมากจากทุกภาคส่วน แต่ทั้งหมดนั้น เป้าหมายปลายทางสุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้ ก็ยิ่งมีความจำเป็นต้องทำให้เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ให้มากที่สุด เพื่อทุกคนจะได้ร่วมแรงร่วมใจไปให้ถึงได้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน.

ที่มา : http://ajpitak.blogspot.com/2013/08/blog-post.html