waking up

Wake-Up-Callตั้งใจจะเขียนเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในช่วงผลายภาคเรียนที่ ๒ หรือสิ้นกระบวนการเรียนรู้ปลายปีการศึกษา ๒๕๕๖ เมื่อหลายวันก่อน แต่มีอันต้องหยุดเขียนด้วยปัญหาสุขภาพเป็นไข้หวัด หัวหนักอึ้งลืมตาแทบไม่ขึ้น เลยพักไว้ก่อน วันนี้อาการดีขึ้นหน่อยต้องรีบมาบันทึกไว้กลัวจะลืมไปเสียก่อน ประเด็นที่อยากจะกล่าวคือ แก่นในการจัดการศึกษาของประเทศเราคืออะไร? ทำไปเราไม่ไปไหนสักที แถมยังมีเรื่องมาให้ปวดหัวได้ทุกวัน ตั้งแต่การบ่นว่า "หลักสูตรเก่าไปไม่ทันสมัยบ้างล่ะ? เราเรียนมากเกินไปบ้างล่ะ? เราบังคับขู่เข็ญให้เขาทำ (เรียน/สอน) มากเกินไปบ้างล่ะ? เราสร้างค่านิยมเรื่องใบประกาศนียบัตรจนลืมศีลธรรมจรรยาบ้างล่ะ?" ซึ่งในกรณีหลังนี่ถึงขั้นมีการประณามในโลกออนไลน์ในความไม่เหมาะสม ไม่มีกาลเทศะ เกือบจะกลายเป็นศึกสถาบันกันเข้าให้แล้ว

waking up 07ตั้งแต่... เรากำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษา ของประเทศไทย ผ่านไปสิบกว่าปีมีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม แย่กว่าเดิม ผมคงไม่ต้องไปตอกย้ำกันตรงนั้นอีก เรารู้เห็นกันอยู่เต็มตาว่า เราเสียเวลาไปกับการคิด เขียน สั่งการ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นนโยบายรายภาคเรียน ที่ไม่เคยต่อเนื่องสัมพันธ์กันแม้สักเรื่องเดียว มีเสนาบดีใหม่มาทีหนึ่ง (ซึ่งก็ขยันเปลี่ยนกันจริง) ก็ออกแนวนโยบายใหม่มาเรื่อยๆ กลัวเขาจะว่าตัวเองไม่มีกึ๋นหรือไรไม่ทราบได้ แต่ละเรื่องก็จะให้เกิดผลทันตาชั่วข้ามคืน หน่วยไหนไม่ทำไม่ได้งบประมาณ ตัวผู้บริหารโดนเปลี่ยนตัว เราจึงได้เห็นการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก สร้างข้อมูลเทียมๆ เลอะเปรอะเปื้อนไปทั่วกระทรวงศึกษาธิการ กว่าจะสำนึกก็ตอนที่ผลสำรวจระดับนานาชาติมันออกมาโน่นแหละ อ้าวเต้นกันอีกแล้ว...

หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง?

ปัญหามันอยู่ตรงไหน? ทำไมมันแก้ไม่ตกเสียที ไม่รู้จริงๆ หรือครับ...

เรามาดูกันเป็นเรื่องๆ ไปดีกว่า นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมที่ไม่ได้จบด็อกต้งด็อกเตอร์ที่ไหนกะเขาหรอก แค่คนเคยเป็นครูน้อยคนหนึ่งอายุราชการ ๓๕ ปี ผ่านการสอนมาตั้งแต่โรงเรียนบ้านนอกเล็กๆ ที่ต้องฝึกการนับเลขจากหินกรวด ใบไม้ใกล้ตัว ผักริมรั้ว และศึกษาชีวิตจากของจริงในห้วยหนองข้างโรงเรียน (กับการหาหอยขมและปลาซิว ไข่มดแดงในป่า เห็ดและหน่อไม้ตามฤดูกาล) มาสู่โรงเรียนในตัวอำเภอ และท้ายสุดที่โรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ก่อนจะอำลาราชการเพราะเบื่อๆ กับการพายเรือในอ่าง เริ่มกันที่

หลักสูตร

เราเปลี่ยนกันมาเยอะนะในระยะ ๓๕ ปีของการรับราชการครูของผมตั้งแต่การเปลี่ยนใหญ่ เปลี่ยนชื่อ ใส่เลข พ.ศ. ต่อท้าย แล้วปรับเล็กใส่เลข พ.ศ. ในวงเล็บ เป็นการยำใหญ่ใส่โน่น นี่ นั่น ย้ายจัดหมวดหมู่ตั้งชื่อโก้หรูกันไป แต่ไส่ในตัวหลักสูตรก็ยังคงเดิมๆ (หรือไม่จริง?) มีการเพิ่มเรื่องใหม่ๆ จัดกลุ่มเนื้อหาใหม่เท่านั้นเอง พอได้ตัวหลักสูตรก็มีการนำร่องในโรงเรียน จัดอบรมกันอย่างเข้มข้นคึกคัก แล้วก็ประกาศใช้กันทั่วประเทศ จากนั้นพอมีการวัดประเมินโดยใครก็ไม่รู้ (มันเยอะ) พบว่า ผลการใช้งานมันไม่ก้าวหน้าก็เลยปรับเปลี่ยนกันอีกทีเรื่อยๆ มาเช่นนี้ และใน พ.ศ. ๒๕๕๗ นี่ก็มีการประกาศว่าจะเปลี่ยนกันอีกรอบ เพราะของเดิมมันยุบยับเกินไปหลายกลุ่มสาระมากมายจนพันคอและก้านสมอง จะยุบรวมลงมาให้น้อยเข้าไว้กว่าเดิมอีกสักตั้ง

waking up 06

ถ้ามองลงไปในเนื้อในหลักสูตรของประเทศไทยเรา ผมว่า ตัวหลักสูตรของเราไม่ขี้ริ้วขี้เหร่นะ จัดว่าอยู่ในขั้นดีเยี่ยมในเนื้อหาความลุ่มลึกเลยทีเดียว พิสูจน์ได้จากเด็กไทยที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ในระดับปริญญาตรี หลายคอร์สวิชาในมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งเด็กไทยเราทำคะแนนผ่านได้สบายๆ เพราะเรียนมาแล้วตั้งแต่ ม. ปลาย อินไทยแลนด์ แต่ที่เราด้อยกว่าประเทศอื่นเขาในคลาสที่ลูกศิษย์มาเล่าให้ฟังคือ การแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย การค้นหา การคิดแยกแยะในเรื่องที่อาจารย์ให้โจทย์มา เราตอบเขาได้แต่หลักทฤษฎี เมื่อเพื่อนๆ ถามว่า เราจะเอาไปประยุกต์ใช้ต่ออย่างไร? เรามักจะอธิบายหรือแจกแจงประเด็นให้เพื่อนๆ ไม่ได้

แล้วทำไมนักการศึกษาที่อยู่บนสำนักตักสิลาจึงไม่แก้ไขล่ะ คำตอบง่ายๆ ที่ฟังแล้วหดหู่จริงๆ คือ ไม่กล้า เพราะข้าราชการการไทยเราตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนักการเมืองที่ไม่รู้เรื่องการศึกษา (รัฐมนตรี) การจะเสนอเรื่องใดๆ ก็ถามที่จะเกิดผลเมื่อเวลาผ่านไปนานเกิน ๑ ปี เป็นเรื่องมิอาจกระทำได้และจะไม่ได้รับการตอบสนองเพราะพวก ฯพณฯ ท่านจะไม่มีผลงานอวดเป็นรูปธรรม ดังที่ ดร.ดิเรก พรสีมา เคยให้สัมภาษณ์ไว้

“ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่ทำเรื่องพวกนี้ร่วมกันมาหลายคน ก็ไม่มีใครกล้าเสนอให้นักการเมืองแก้ เพราะนักการเมืองเขามีวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง คือหวังเรื่องคะแนนเสียง ดังนั้นข้าราชการก็ไม่อยากมีปัญหา มีทางเดียวคือเงียบไว้ แม้เห็นอะไรก็ไม่กล้านำเสนอ”

นักการเมืองนี่แหละคือตัวการขัดขวางใหญ่ที่สุด!

คนมีอำนาจตัดสินคือนักการเมือง คุยกันแล้ว เขาก็ว่าดี แต่พอจะทำจริง นักการเมืองจะมีจุดยืนอีกอย่าง ซึ่งเป็นทุกยุคทุกสมัย ก็คิดว่าเขาอาจจะไม่ได้ศึกษาปัญหาจริง ไม่รู้ว่ามีวิธีแก้ปัญหา หรือบางคนก็ไม่ลึกซึ้งทางปัญญา ตรงนี้ข้าราชการก็ไม่กล้าเสนอความเห็นแบบตรงไปตรงมา เพราะนักการเมืองเองก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ข้าราชการพูด”

waking up 03

ผมจึงขอฟันธงว่า ถ้าเราจะไม่เปลี่ยนหลักสูตรเลยก็ไม่ทำให้การศึกษาไทยเราล้าหลัง เพียงแต่เราต้องมาช่วยกันคิดหาวิธีการที่เหมาะสม วิธีการสอนที่จะช่วยให้เด็กเกิดกระบวนการคิดนอกกรอบจากในตำรา เอาทฤษฎีไปสร้างองค์ความรู้ต่อยอดออกไปใช้งานในชีวิตจริง มีครูไทยทำแบบนี้ไหม? มี แต่... น้อยมากๆ เหตุผลอยู่ในเรื่องถัดไป

การพัฒนาครู

ครูไทยไม่พัฒนา? ไม่อาจกล่าวเช่นนั้นได้ แม้จะมีบางส่วนเป็นแบบนั้นจริงๆ (ประสบการณ์จากการเคยเป็นผู้จัดการอบรม สัมมนาทางวิชาการ เป็นวิทยากร) เช่น บางท่านมีข้ออ้างที่ฟังดูแล้วน่าสงสารมาก "ลุง(ป้า)แก่แล้วอีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณอายุราชการให้เด็กๆ น้องนุ่งเขาไปอบรมเถอะ" แหมช่างให้โอกาสเด็กรุ่นน้องครูพันธุ์ใหม่เสียจริง ถ้าจะให้ดีผมว่า ลุง(ป้่า)ช่วยลาออกไปเถอะครับ จะได้ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน เงินเดือนของท่านเขาจ้างเด็กใหม่ไฟแรงได้ตั้งหลายคน เพียงเพราะไม่เข้าใจว่า การได้ไปอบรม สัมมนา นั้นเป็นการเปิดโลกทัศน์ของท่าน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในอาชีพเดียวกันจากที่ต่างๆ ไม่ใช่ท่านไม่มีดี สิ่งที่ท่านมีประสบการณ์นับสิบปีในการสอนย่อมมีคุณค่านำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเถอะครับ มันน่าเสียดายที่จะให้มันดับไปพร้อมอายุขัยของท่าน ไม่อยากให้เขากล่าวถึงในหนังสืออนุสรณ์สุดท้ายเป็นเกียรติแก่ลูกหลานวงศ์ตระกูลหรือครับ?

ผมยังขอบคุณโลกออนไลน์... ที่ทำให้ครูไทยในวันนี้มีความกระตือรือล้นในการแสวงหาความรู้มากขึ้น ขอบคุณเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะอุปกรณ์โมบายล์ดีไวซ์ ที่ทำให้ครูไทยได้รู้จักการใช้โทรศัพท์ที่มากกว่าการพูดคุยด้วยเสียง เพื่อนครูเราหลายคนเริ่มสนใจการใช้สื่อออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ค ไลน์ ทวีตเตอร์ และอื่นๆ ผมคิดว่า ถ้าหน่วยงานต้นสังกัดจะลองหันมาใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างกลุ่มการเรียนรู้ขึ้นมา แบบไม่เป็นทางการ จะได้ผลดีทีเดียว โดยสรรหาผู้นำกลุ่มที่มีความสนใจอยากจะช่วยเพื่อนๆ ในการพัฒนาการเรียนการสอน จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเป็นสมาชิกในกลุ่ม คอยกระตุ้น ให้ข้อเสนอแนะ และเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่ม ประหยัดงบประมาณและเวลาไปได้มากเลยทีเดียว

waking up 04

แม้ว่าเราจะทุ่มเทการพัฒนาครูไปมากมายเพียงใด แต่หากยังคงสถานะงานมากมายก่ายกองท่วมหัวครูอยู่ การจัดการเรียนการสอนก็คงจะยังกระท่อนกระแท่นเป็นไปตามยถากรรมเช่นเดิม งานกุศลจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งหลายนั้นควรจะหมดไปจากภาระงานครูเสียที อยากรู้สุขภาพอนามัยนักเรียน หน่วยงานสาธารณสุขทั้งหลายควรเข้ามาเก็บข้อมูลด้วยตนเอง อยากเชิญชวนประชาชนไปเลือกตั้ง กกต. หน่วยงานทางปกครอง นักการเมือง ควรร่วมมือกันออกไประดมเชิญชวน ไม่ต้องมาเกณฑ์นักเรียนไปเดินเชิญชวน ไม่อายเด็กหรือไรโตเป็นควายยังไม่รู้จักหน้าที่ตนเองอีก ผู้ใหญ่อย่าทำปากว่าตาขยิบแสวงหาแต่ผลประโยชน์จากเด็กนักเรียน พวกเขาควรได้เรียนจากครู ครูได้มีเวลาทำการสอน ไม่ใช่ต้องมาทำหน้าที่เป็นเลขารับใช้หน่วยงานอื่นๆ จนไม่ได้ทำหน้าที่ตนเองให้สมบูรณ์

นักเรียนและผู้ปกครอง

เราไม่อาจพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าได้อย่างที่หวัง เพียงการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและพัฒนาครู ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญยิ่งคือสังคมและครอบครัว ผู้ปกครองควรจะมีส่วนในการพัฒนาการศึกษามากขึ้นกว่านี้ เอาใจใส่ดูแลบุตรหลาน การให้ความรักความเมตตา การอบรมสั่งสอนในเรื่องของศีลธรรมจรรยา ความประพฤติ สร้างสุขนิสัยที่ดี ล้วนมีผลต่อการพัฒนาการศึกษาทั้งสิ้น ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมผลักภาระในการอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชน ไปให้โรงเรียนอย่างเดียวย่อมไม่มีทางสำเร็จผลได้

waking up 05

เราจะทำอย่างไรให้สังคมรอบข้างมีความรู้สึกร่วมว่า การให้การศึกษาแก่เยาวชนเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดู ปลูกจิตสำนึกในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ซึ่งรวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหลานในการดำรงชีวิต ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปัญหาสังคมที่หลากหลายที่ได้พบเห็นในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมันยุ่งเหยิงเพราะผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาไม่ได้ อย่างเปิดร้านขายเหล้า เปิดร้านเกมรอบรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นั่นใครเปิด?

บทส่งท้าย

เราคงต้องไปคิดกันต่ออีกเยอะครับ ไม่อยากสรุปว่าอะไรถูก อะไรผิด อยากให้เป็นคำถามปลายเปิดที่ทุกท่านได้นำไปคิดกันต่ออย่างจริงจัง...

การศึกษาไทย ควรจะเดินทางไปในทิศไหน... อย่างไร?

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมอ่านข่าวหนึ่งจำที่มาไม่ได้ แต่จำข้อความหนึ่งที่สะกิดหัวใจได้ว่า "ประเทศไทยแข่งกันศึกษาเพื่อใบปริญญาบัตรมากกว่าองค์ความรู้ นิยมเชิดชูคนโดยการตีค่าจากปริญญาและสถาบัน" แม้ผมจะเห็นด้วยแต่ก็ไม่ทั้งหมดหรอกนะ การวัดคุณค่าของการศึกษานั้นเราน่าจะวัดกันที่ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน นำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม และประเทศชาติ เคยอ่านคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารของ Google ในการเลือกคนเข้าทำงานในบริษัทของเขานั้น เขาต้องการคนมีไอเดีย ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ไม่ใช่เกียรตินิยมหรือเกรดเฉลี่ยสูงๆ เพราะงานที่ท้าทาย ขายความคิดใหม่ๆ ย่อมมาจากการคิดของคนมีไอเดียดีๆ ที่สามารถแชร์ และบอกเล่าประสบการณ์ให้กับทีมงานในการพัฒนาต่อยอดได้ ไม่มีใครที่มีพร้อมทุกอย่าง ทำได้ทุกอย่างสำเร็จเบ็ดเสร็จในคนคนเดียว

waking up 08การสำเร็จปริญญา ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ไม่ได้การันตีว่า คุณจะสำเร็จ ร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี ดูอย่าง สตีฟ จ็อปส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอบเปิ้ล ก็ไม่ได้จบแม้แต่ปริญญาตรี ผลงานการคิดค้นเครื่องคอมพิวเตอร์แอบเปิ้ลจริงๆ แล้วคืออีกหนึ่งสตีฟ วอซเนียก เพื่อนรุ่นพี่ที่ถนัดในทางคิดค้นทำ แต่จ็อปส์ชำนาญในการนำเสนอ ออกแบบรูปร่าง ส่วนติดต่อกับผู้ใช้งาน เป็นตัวแทนของผู้ใช้งานที่คิดแทนคนอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแอบเปิ้ลจึงเรียบง่าย ชวนสัมผัส มีเสน่ห์และใช้งานได้ง่าย ความคิดสร้างสรรค์แรงบันดาลใจที่ดีๆ ทำให้ประสบผลสำเร็จในชีวิตและธุรกิจได้

จากข้อความในย่อหน้าก่อนนั้น สะท้อนมาให้เห็นตอนปิดภาคเรียนปลายปี ในทุกๆ ปี คือห้วงสำเร็จการศึกษา จะเห็นว่า ประเทศไทยได้เทิดทูนคุณค่าแห่งกระดาษนั้นจริงๆ และส่งเสริมให้เห็นเป็นกิจกรรม ทำให้สังคมได้เข้าใจกันเช่นนั้น ด้วยการจัดงานสำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเป็นต้นมาเลยทีเดียว เราจะได้เห็นการแต่งชุดครุยปริญญากันมากมาย เด็กตัวเล็กๆ ก็จะเรียกว่า บัณฑิตน้อย ตัวโตมาหน่อยก็ไม่รู้เรียกอะไรเหมือนกัน แต่ที่เป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ นักเรียน ม. ๓ โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใส่ชุดครุยที่มองปร๊าดเดียวก็เข้าใจว่านี่ชัดเจน ครุยของพระจอมเกล้าฯ เขา ทำไปเพื่ออะไร? นอกจากจะเป็นช่องทางหาเงินของโรงเรียน โดยความร่วมมือของร้านให้เช่าชุดจัดหามาบริการแบ่งปันรายได้กัน คนที่เดือดร้อนที่สุดคือ ผู้ปกครองเท่านั้นเอง

waking up 09

ก็สังคมเป็นเสียอย่างนี้ จะพัฒนาการศึกษาต่อไปอย่างไรคงต้องช่วยกันคิดต่อล่ะครับ...