krumontree talk

krumontreeผ่านไปไวเหมือนโกหก 12 ปีกับอีก 5 เดือนที่เว็บไซต์ชื่อ "ครูมนตรีดอทคอม" ปรากฏขึ้น จากการเขียนขึ้นเพราะอึดอัดคับข้องใจ อยากตะโกนออกไปให้ดังๆ เผื่อจะกระทบหูผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบ้าง ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุค นับตั้งแต่การโค๊ดเขียนด้วยภาษา HTML ด้วยเครื่องมือเอดิเตอร์พื้นฐานอย่าง Notepad มาเป็นเครื่องมือช่วยอีกหลายตัวที่มีแจกให้ใช้กัน มาสู่ยุคการใช้ฐานข้อมูลกับเว็บไซต์สำเร็จรูปอย่าง Joomla 1.0 ผ่านร้อนหนาวมาจนถึงปัจจุบัน แต่เนื้อหาจุดหมายปลายทางไม่เคยเปลี่ยน "เว็บไซต์เพื่อนครูไทยหัวใจดอทคอม"

เอ่ยถึงวันวานเพราะอยากจะพูดถึงเรื่องเมื่อวานกับวันนี้ "เสียงบ่นครูมนตรี" ที่ดังมานานกว่า 12 ปีมาแล้ว ที่เคยคิดเคยบ่นไว้เพื่อช่วยหาทางออกให้กับการศึกษาไทย แต่ทุกอย่างก็ยังย่ำอยู่กับที่ แม้จะประกาศทำการปฏิรูปการศึกษามาแล้วกว่าทศวรรษก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยจริงๆ เอาล่ะถ้ามันจะเดินหน้าไม่ได้ก็ลองถอยหลังไปดูซิ ไปดูว่าสิ่งดีๆ ในอดีตที่เราเคยใช้จะเอามาประยุกต์ใช้ในวันนี้ได้ไหม

ก่อนอื่นขอยกเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ที่ศาลาดุสิตดาลัย พระองค์ท่านได้ตรัสถึงมากเป็นพิเศษในปีนั้น ทรงย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ทิศทางและวิธีการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ สมควรที่พวกเราเหล่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม พิจารณาใคร่ครวญการทำงานที่ผ่านมา และปรับปรุงให้สมกับปณิธานของพระองค์ท่าน เพื่อถวายแด่พ่อหลวงของเราในปีนี้กัน

ต้องช่วยให้การศึกษาดีขึ้น

His Majesty King Bhumiphol"ความรู้การศึกษา อย่างที่กล่าวว่าต้องช่วยให้การศึกษาดีขึ้น เพราะว่าถ้าการศึกษาไม่ดี คนไม่สามารถที่จะทำงาน การศึกษาต้องได้ทุกระดับ ถ้าพูดถึงระดับสูงก็หมายความว่านักวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ถ้าไม่มีการเรียนขั้นประถม ขั้นอนุบาลไม่มีทางที่จะให้คนไทยขึ้นไปเรียนในขั้นสูง หรือเรียนขั้นสูงเรียนไม่ดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ดี เพราะขั้นสูงต้องมีรากฐานจากขั้นต่ำ ถ้าขั้นต่ำไม่มี เรียนขั้นสูงต่างๆไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่รู้เรื่อง ก็จะทำอะไรที่น่ากลัว... "

"... ถ้ามีความคิดแหวกแนวตั้งแต่เด็กก็สนใจที่จะพัฒนาอะไรๆ ได้มาก ถ้ามีความคิดสูงก็จะยิ่งดี ที่ในเมื่อเร็วๆ นี้ พวกนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิกไม่ใช้โอลิมปิกวิ่ง หรือโอลิมปิกกีฬา แต่เป็นโอลิมปิกวิชาการ หลังๆ ไปก็นับว่าดีขึ้น ได้เหรียญทองมาเพิ่มเติม แต่ก่อนนี้ไม่ได้ อันนี้สมเด็จฯกรมหลวงนราธิวาสฯ พี่สาวสนใจมากแล้วมาบ่นบอกว่า คน นักเรียนมีความรู้ไม่พอ มันมีความรู้ไม่พอเพราะว่าฐานรากของการเรียนไม่พอไม่ดี

แล้วก็ฐานรากนี้จะมาจากไหน ก็มาจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนกระทั่งชั้นประถม มัธยม และถึงขั้นอุดมศึกษา ต้องพัฒนาให้ดี และพัฒนาวิธีความคิด ที่คิดให้มีความซุกซนในความรู้ คือซุกซนอย่างเรียนรู้ สิ่งที่เป็นประโยชน์อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ข้าพเจ้าเองเรียนในชีวิตที่เรียนเริ่มต้นที่เมืองไทยเข้าอนุบาล อายุ 3-4 ขวบ แล้วก็จนกระทั่งไปเข้าโรงเรียนอายุ 5 ขวบ แต่ก็ไม่ได้เรียนต่อในเมืองไทย เพราะว่าต้องตามเสด็จไปต่างประเทศไปเข้าโรงเรียนก็ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ถึง 17 ก็ไปอยู่โรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งถึงขั้นมัธยม

พยายามศึกษาในหลักสูตรของโรงเรียนที่เขามี ซึ่งก็นับว่าหลักสูตรที่เขามีเพราะเขาทำให้คิด สนับสนุนให้คิด ไม่ใช่สมัยนี้อย่างที่เมืองไทย เขาหาว่า ครูบังคับนักเรียน แต่ว่ามาวิธีที่คิดใหม่ของรัฐบาล ต้องให้นักเรียนสอนครู ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเด็กเพิ่งเกิดเพิ่งเห็นโลก จะสอนครูได้ยังไง แต่จริงครูบางคนสอนไม่เป็น รัฐมนตรีบางคนก็สอนไม่เป็น แต่ว่าถ้าสอนให้ถูกหลัก จะทำให้เด็กสอนครูได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเด็กสอนครู แต่เด็กเกิดมีปัญหาอะไรก็ให้ยอมให้เด็กพูดขึ้นมา เอ๊ะ นี่อะไร? เท่ากับสอนครู คือ ถ้าเด็กร้องขึ้นมาว่า เอ๊ะนี่อะไร โดยมากครูโกรธ ดูถูกครูหรือ ทำโทษ

His Majesty King Bhumiphol 3

"หมายความว่า การปฏิรูปการศึกษาจะต้องให้เด็กเกิดสงสัยได้ และอย่าไปนึกว่าสงสัยครู สงสัยอธิบดี สงสัยปลัดกระทรวงฯลฯ ถ้าเด็กร้องขึ้นมาเอ๊ะนี่อะไร ฟังเขา อันนี้ที่หมายถึงฟังเด็ก เพราะว่าความที่เด็กไม่ใช่เขารู้ เรียนรู้มาแต่บางคนเขามีความคิดที่แปลกๆ แหวกแนว เมื่อมีความคิดแหวกแนวเขาร้องเอ๊ะต้องฟังเขา

ที่บอกอย่างนี้เพราะประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อเด็กๆ เราไปร้องเอ๊ะทำไมเป็นอย่างนั้น แล้วก็ครูก็ดี ครูฝรั่งที่เขาบอกว่า เขาอธิบายว่าที่เอ๊ะคืออะไร อ้าวเราพอใจก็สนใจต่อไป ที่ร้องเอ๊ะนี่เขาไม่ได้สอนที่โรงเรียน อย่างประวัติศาสตร์เขาสอนเรื่องที่เดี๋ยวนี้เป็นปัญหา เมโสโปตาเมีย เขาสอนแต่สอนเพียงเล็กน้อย เราไปสนใจเมโสโปตาเมีย เมื่อ 40 ปีก่อนนี้ที่ฝรั่งยังไม่ได้ศึกษาดี แล้วก็ไม่ได้สอน มาสมัยนี้เมืองที่เราสนใจ เดี๋ยวนี้เขาถือเป็นเมืองสำคัญกว่าเมืองบาบิโลน แต่ว่าเขาไม่รู้ พอดีได้ไปซื้อหนังสือ ซื้อหนังสือมาแล้วก็ไปเจอเมืองที่เรียกว่า อู ตอนนั้นไม่มีใครรู้จักเลย ครูก็ไม่รู้จัก เราก็ไปร้องเอ๊ะ มันน่าสนใจนะ ลงท้ายไปซื้อหนังสือนั้นมาอ่าน แล้วก็มีคล้ายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์โบราณ... "

เราก็ต้องสอนครู นี่มันก็แปลกอย่างนี้ เราก็ทำตามนโยบายของท่านนายกฯ ตั้งแต่ท่านนายกฯ ยังไม่เกิด เราสอน เราสอนครู และลงท้ายครูก็ยอมรับ ดีอยู่ที่ครูยอมรับ เราก็เลยไม่ถูกดุ

พระชนนีทรงสอนอย่าลืมตัว

"นายกฯ มาพูดเมื่อวานนี้ที่สนามหลวงมาถือธง ถือธงชนะไชโย นี่แหละทราบดีว่านายกฯ ไม่ค่อยชอบให้เตือนเพราะว่า เตือนนี่ใครเตือนเรา มันเคือง แต่เดี๋ยวเล่าให้ฟัง

เตือนนี่ สมเด็จพระบรมราชชนนี แม่เราอายุ 40-50 แล้ว ท่านมา ท่านชม โหเก่ง ทำไอ้นี่แม่ชอบ แต่ท่านบอกอย่าลืมตัว ท่านว่าอย่างนั้น ทุกครั้ง ท่านเตือน ท่านพูดว่า อย่าลอย คือท่านใช้คำว่า ปอดลอย ลอย ไอ้ขานี่ต้องอยู่กับดินท่านบอกว่า ชื่อลูก ชื่อภูมิพล ต้องเหยียบดิน ไอ้การลอยไม่เหยียบดิน เสร็จ ใช้ไม่ได้ ภูมิพลนี่เหยียบดิน นี่ไม่ใช่ดินแต่ข้างดินพื้นดิน ถึงเดินไปบนภูเขาก็เดินบนดิน เหาะเฮลิคอปเตอร์ลงมาถึงก็เดินบนดิน ท่านเตือนเสมอว่าห้ามไม่ให้ลอยจนอายุเกือบ 60 ท่านหยุด ท่านไม่เตือนแล้ว ท่านบอก แม่ชอบเท่านั้น ท่านบอกว่าทำอะไรดีให้รู้ว่าดีแต่อย่าเหิมมากเกินไป แต่อย่างนี้ขอโทษนายกฯ หาว่าตำหนินายกฯ ไม่ใช่ ต้องระวัง... "

His Majesty King Bhumiphol 2

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสในตอนท้ายว่า "ความ จริงที่พูดนี่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้วคนเอาไปหากิน ก็ยอมให้ไปหากิน คำพูด ถ้าเราถือว่าเราพูดดีก็ไปหากิน ถ้าหากินคนก็จะมีความสุข ขอให้ทุกๆ ท่านที่มาทั่วไปทุกแห่ง ทั้งข้างนอกและข้างใน ให้มีความร่มเย็น ให้มีความเจริญทุกคน งานการอะไรที่ทำให้มีผลสำเร็จที่ดี ก็ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มา "

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ให้คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ที่ศาลาดุสิตดาลัย

dek thai 01

ประเด็นถัดมาที่เราควรทำก่อนคือ "คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือได้แต่ไม่เป็น" (ไม่เป็นภาษาที่ถูกต้องสื่อสารได้ใจความ) จนมีการออกหนังสือสั่งการให้ครู (อีกแล้วครับท่าน) สอนและสอบวัดความรู้ด้วยการเขียนตอบ (อัตนัย) แทนการเลือกตอบ ก. ข. ค. ง. (ปรนัย) ผลก็คือ ครูสบายมากขึ้นกว่าเดิมครับ ตรวจคำตอบง่ายมากจริงๆ อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน เพราะในกระดาษคำตอบว่างเปล่าไม่ต้องอ่านให้ยากไงครับ

กรรมของเวรจริงๆ แต่นี่คือสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกจริงๆ เพราะลูกศิษย์ผมอธิบายให้ผมเข้าใจไม่ได้ว่า อนาคตเขาอยากจะเป็นอะไร ทำไม? ถึงอยากจะเป็น... เอาของดีเราคืนมาเลย

 

บทอาขยานกับการท่องสูตรคูณ

dek thai 02ยุคสมัยของการเห่อเครื่องคิดเลข จนทำให้นักเรียนในยุคปัจจุบันห่างเหินสูตรคูณ ไม่มีสุนทรียรสในบทกวีและคำกลอนใดๆ เพราะไม่รู้จักบทอาขยาน สมัยผมเป็นเด็กนักเรียนก็มีความกดดันมากในการที่จะต้องท่องจำสูตรคูณ และบทอาขยานให้ได้ เลิกเรียนทุกวันเรามีภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียน ถูและขัดพื้นห้องเรียนให้มันวับ (สมัยนั้นเป็นพื้นกระดานที่เราจะต้องลงแว็กซ์ด้วยการต้มน้ำมันก๊าดกับขี้ผึ้งมาถูพื้นเดือนละครั้ง)

การถูพื้นจะใช้มะพร้าวแห้งมาตัดครึ่งเฉาะกะลาแข็งบริเวณขอบออกเล็กน้อย เพื่อให้เปลือกมะพร้าวทำหน้าที่คล้ายแปลงถูพื้น แล้วนำไปขัดพื้นห้องด้วยการถูให้มันวับ สนุกมากครับด้วยการนั่งหรือยืนบนกะลาแล้วให้เพื่อนลากไปทั่วห้อง ปากก็จะท่องสูตรคูณหรือบทอาขยานกัน

ความภูมิใจนี้ยังคงอยู่ทุกครั้งที่นั่งดูลูกหลานทำการบ้าน แล้วสามารถให้คำตอบการบวกลบคูณหารได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกดเครื่องคิดเลข เป็นผลมาจากการท่องสูตรคูณเมื่อหลายสิบปีก่อน จนเจ้าลูกชายถามว่า "พ่อรู้ได้ไง? เร็วจริง"

ส่วนบทอาขยานก็ทำให้เรามีจิตใจที่อ่อนโยน รับทราบความงดงามในภาษา ทำให้การสื่อสารด้วยถ้อยคำของเรามีลีลาที่งดงามยิ่งขึ้น ถึงวันนี้ผมยังขอบพระคุณคุณครูเก่าๆ ทุกท่านที่ทำให้ผมได้มีความสามารถในการใช้ภาษาและถ้อยคำต่างๆ ได้ดีในระดับหนึ่งอย่างทุกวันนี้

dek thai 03

ห้องสมุดแหล่งความรู้หรือสุสานหนังสือ?

จุดอ่อนของการศึกษาไทยคือการขาดแหล่งค้นคว้าและอ้างอิง ผมอดสะท้อนใจไม่ได้ทุกครั้งที่ขับรถผ่านที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน (ถูกสร้างขึ้ยสมัยรณรงค์ให้คนไทยเรียนรู้หนังสือได้ 100% เมื่อหลายปีก่อน) บัดนี้ไม่มีร่องรอยของหนังสือใดๆ นอกจากที่วางหนังสือพิมพ์และวารสารที่เก่าคร่ำคร่า พังเพราะถูกทำลายหรือเพราะมดปลวก หนังสือหายไปไหนหนอ? ไม่มีใครดูแลใส่ใจ

ย้อนไปดูห้องสมุดประชาชน ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่คลังความรู้แต่เป็นสุสานของหนังสือเก่าๆ ที่มีใครไม่รู้มานั่งเฝ้าอย่างไม่แยแส ไม่อยากพูดว่ามีบรรณารักษ์อยู่ ในสถานที่เช่นนั้นหรอกครับ เพราะดูจากความเอาใจใส่ในหน้าที่ ดูแลสถานที่และการบริการแล้วไม่ใช่แน่นอนครับ นอกจากระบุได้เพียงคนเฝ้าสถานที่ ระบบการจัดเก็บต่างๆ ไม่มี หาหนังสือไม่พบ ไม่มีการยืมออกแต่ไม่รู้ว่าวางอยู่ที่ไหน อยากให้เปลี่ยนแปลงจังเลยครับ

วันหนึ่งดูสารคดีน่ารู้จำไม่ได้ว่าช่องไหน พูดถึงห้องสมุดเด็กในเมืองๆ หนึ่งที่เขาออกแบบไว้ให้เด็กๆ ได้เขามาอ่านหนังสือกัน ใครใคร่นั่งก็นั่ง ใคร่ใคร่นอนก็นอนตามความต้องการ หนังสือมีหลากหลาย สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือสำหรับเด็กออกมาจะต้องส่งไปให้ห้องสมุดแห่งนี้ จำนวนหนึ่ง สิ่งที่ผมฝันไม่ถึงกับแยกเป็นเอกเทศอย่างนั้น แค่มีมุมหนังสือดีๆ ใหม่ๆ น่าสนใจของคนแต่ละวัยได้ศึกษาหาความรู้ แน่นอนว่าต้องมีมุมหนังสือเก่าที่มีคุณค่าอยู่ด้วย

dek thai 04

การสร้างคนให้รักการอ่านต้องเริ่มจากสิ่งที่เขาชอบก่อน เพื่อให้เกิดนิสัย จากนั้นจึงขยายไปยังหนังสืออื่นๆ ที่มีคุณค่าเพิ่มพูนความรู้ อาจจะเริ่มจากที่บ้าน ที่โรงเรียนและที่ห้องสมุดต่างๆ

การส่งเสริมการรักการอ่านต้องเริ่มจากที่บ้าน พ่อแม่ต้องช่วยเหลือในการสร้างนิสัย อาจเริ่มต้นที่การ์ตูนที่เด็กสนใจก่อนโดยพ่อแม่ต้องกลั่นกรองเนื้อหา อธิบายชี้แนะสิ่งที่ปรากฏในหนังสือนั้น (สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร) ถ้าเราจะหาหนังสือที่ดีเลิศสำหรับเด็กร้อยเปอร์เซนต์คงจะยากยิ่ง เพราะสิ่งที่ดีเลิศกลับไม่มีสิ่งที่เด็กๆ อยากอ่านเลย (ขาดแรงจูงใจ) มีคำพูดของนักการศึกษาท่านหนึ่งว่า "การที่เราจะ สอนว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเลว เหมือนการบอกว่าหนังสือนั้นดี หนังสือเล่มนั้นไม่ดี โดยที่ไม่เคยมีใครเห็นตัวอย่างของสิ่งไม่ดีเลย การเปรียบเทียบนั้นก็ไร้ผล" ก็น่าจะจริงครับ สิ่งใดควรไม่ควรพ่อแม่ ครูอาจารย์ต้องชี้แนะแล้วครับ

ครูมนตรี
บันทึกก่อนวันเด็ก 2558