dream come trueตอนที่ 2.

thai edทษกันไปมาหลายปีแล้ว พยายามจะหาจำเลยให้ได้แต่ก็ไม่ชัดเจนเสียที ได้ยินแต่ว่าครูไม่มีประสิทธิภาพ ต้องอบรมเข้มข้น นี่ก็จะย่างเข้าสู่เทศกาลฝึกอบรมกันแล้ว อบและรมกันให้เกรียมพร้อมอากาศร้อนๆ ในเดือนเมษายน ผมก็ว่ามันไม่ช่วยให้ดีขึ้นมาสักเท่าไหร่ เพราะปัญหาการศึกษาไทยมันเริ่มมาจากครอบครัว และสังคมรอบข้างโน่น ไม่เคยอบรมสั่งสอนกันมา คิดแต่ว่า ส่งลูกเข้าโรงเรียนไปแล้วเดี๋ยวมันก็ดีเอง จริงหรือครับ?

เหลียวมองรอบตัวดูซิครับ ที่บ้านท่าน เพื่อนบ้านใกล้ๆ กัน ญาติ เพื่อนฝูงของท่าน ได้ดูแล อบรม สั่งสอนลูกหลานกันแบบไหน ใส่ใจ หรือแค่ไม่ปล่อยให้อดอยากเท่านั้น เด็กดีต้องเริ่มจากที่บ้าน จากชุมชน ก่อนส่งไปขัดเกลา เจียรนัยเพิ่มเติมที่โรงเรียน ก่อนส่งต่อเข้ามหาวิทยาลัย ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันให้มากกว่านี้

ตัวผมเองได้สอนนักเรียนมาก็หลายสิบรุ่น เท่าที่พบและสังเกตุเด็กในห้องที่ปรึกษา เด็กที่สอนในรายวิชาต่างๆ ในโรงเรียน และจากการไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนอื่นๆ พอจะแยกเด็กนักเรียนให้ชัดๆ ได้อยู่ 3 แบบ

  • แบบที่ 1 นั่งนิ่งๆ ไม่อื้อ ไม่หือ ถามไม่ตอบเอาแต่ก้มหน้า ถึงตอบก็เบาๆ เฉไฉไปเรื่องอื่น ชอบนั่งหลังห้อง มาสาย ถ้ามาเร็วก็มักจะขอออกไปนอกห้องบ่อยๆ ธุระมากมาย เมื่อติดตามลึกๆ ก็มักจะพบว่า เด็กกลุ่มนี้อยู่กับครอบครัวที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่คอยใส่ใจ เอาแต่ทำมาหากิน ตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน้อต จึงไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลติดตาม ไม่เคยถามเรื่องเรียนของลูก ไม่เคยโอบกอดหรือช่วยแก้ไขปัญหา ต้องบอกว่า ไม่เคยสนใจใส่ใจนั่นแหละ ในวงอาหารตอนเย็นเอ่ยปากถามหรือบอกข้อข้องใจไม่ได้ โดนตวาดด่า ห้ามพูดจา เด็กเลยเก็บกด เวลาพูดอะไรออกมาไม่ตรงใจผู้ปกครอง ก็จะถูกสั่งห้ามพูด อย่ามาสะเอะเสนอความเห็น
    พอมาถึงโรงเรียนเลยไม่กล้าพูดกล้าจา ไม่กล้าออกความเห็น กลัวครูจะดุเอา หรือไม่ก็กลัวเพื่อนรอบข้างหัวเราะเยาะ การไปอยู่หลังห้องหรือมาสาย หรือขออนุญาตออกนอกห้องจึงเป็นทางเลี่ยง แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มเพื่อนอาจจะเป็นผู้นำ เสียงดัง แสดงออกเพื่อให้หายเก็บกด แสดงออกทางที่ดีไม่ได้ก็ไปในทางเสียหาย เป็นเด็กซ่า เด็กแวนซ์ นี่ก็ปัญหา...
  • แบบที่ 2 ลูกทูนหัว คุณหนูตัวน้อย ใสซื่อ ไร้เดียงสา เพราะถูกเลี้ยงมาอย่างเจ้าหญิงเจ้าชาย งานบ้านไม่ต้องทำ มีคนคอยจัดการให้เสร็จ อาหารการกิน การรับ-ส่งไปโรงเรียน หน้าที่หลักคือ เรียนหนังสืออย่างเดียว เรียนในโรงเรียนปกติไม่พอ ต้องเรียนพิเศษให้มาก จนมีคนกล่าวว่า "จริงๆ แล้วระบบการศึกษาไทยไม่ได้มีปัญหาเท่าผู้ปกครองไทยหรอกค่ะ... ตราบใดที่ผู้ปกครอง เห็นว่า การบ้านคือภาระ และยังช่วยลูกทำการบ้าน เพราะต้องการคะแนนเยอะๆ และให้ลูกเอาเวลาไปเรียนพิเศษมากๆ... นั่นแหละค่ะ คือปัญหาระดับประเทศ... ไม่ว่าเด็กจะเรียนเก่งหรือไม่ บ่อยครั้งที่เห็นพ่อแม่เข้าไปจัดการชีวิตลูกเหมือนเด็กประถม ทั้งๆ ที่ลูกเรียนระดับปริญญาตรีแล้ว"
  • แบบที่ 3 เด็กเนอร์ด เด็กเรียน เด็กแว่น ยกมือทันทีถ้าครูถาม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีปัญหานักในโรงเรียน เก่งเรียน เก่งกิจกรรม เก่งกีฬา ถ้าย้อนไปดูที่ครอบครัวจะพบว่า ครอบครัวให้ความรักความอบอุ่น ใส่ใจในชีวิตของลูก เลี้ยงลูกเป็นดั่งเพื่อน คอยช่วยคิด ให้คำปรึกษา ประคับประคองไม่ให้ออกนอกลู่ทาง

อาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้แล้วแต่ว่าจะแบ่งแยกจากอะไร ที่ผมยกมาข้างต้นนั้นก็เพียงอยากจะบอกว่า ถ้าตัวป้อนเข้าสู่โรงเรียนมาดี ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมจะดีไปด้วย เมื่อโรงเรียน (ครู) ช่วยขัดเกลา กลับไปบ้านผู้ปกครองช่วยเสริม ผลย่อมออกมาดีแน่นอน แต่ถ้าครูช่วยขัดช่วยกลึง กลับไปบ้านโดนอีโต้ โดนขวานจามกลับมา เมื่อไหร่มันจะกลมเนียนเสียทีล่ะครับ

thai ed2

ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยคือ "ระบบการศึกษาไทย" ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้นนั้น ไม่ได้ถูกควบคุมด้านคุณภาพให้เหมือนกันทุกโรงเรียน (ยังจำได้ไหม ป้า ลุง น้า อา ยังจำได้ไหม ที่ให้แต่ละโรงเรียนทำหลักสูตรขึ้นเอง) ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนรัฐ หรือโรงเรียนเอกชน จะมีมาตรฐานเดียวกัน แต่จะแตกต่างตรงที่ โรงเรียนเอกชนมีจำนวนครูมากพอที่จะดูแลเด็กๆ ได้ทั่วถึง (ก็เก็บเงินมากกว่าโรงเรียนรัฐนี่) แต่หลักสูตรที่ใช้จะเหมือนกันทั้งประเทศ

เมืองไทยการแข่งขันทางการศึกษาสูงมาก  ทำให้เครียดทั้งเด็ก ทั้งผู้ปกครอง ตอนจบช่วงชั้นแล้วหาที่เรียนต่อ และเมืองไทยยังมีค่านิยมผิดๆ วัดความเก่งของเด็กด้วยชื่อโรงเรียนที่เด็กจบมา ยังมีระบบอีกมากมายทางการศึกษาที่ทำร้ายเด็กตั้งแต่ต้น เช่น การสอบคัดเลือกวัดผลตั้งแต่ก่อนวัยเรียนโน่น พอชั้นประถมมึการสอบ การจัดอันดับเด็กในชั้น สำหรับเด็กที่เก่งอยู่แล้วย่อมไม่มีปัญหาอะไร แต่เด็กที่ไม่ได้เก่งล่ะ? มันเป็นปมด้อยมากๆ แถมยังประกาศอันดับให้รู้โดยทั่วกัน ก็เห็นถามเด็กๆ กันอยู่ว่า สอบได้ที่เท่าไหร่ ได้เกรดเท่าไหร่ มันกดดันมิใช่น้อยนะครับ

homework

อยากบอกว่า อยากให้การศึกษาของเด็กพัฒนา ทุกคนต้องหันมามองบทบาทหน้าที่ของตนเอง... และเลิกโทษระบบการศึกษา ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยพัฒนาไปมากกว่าสามสิบปีก่อน โรงเรียนแถวหน้ามุ่งพัฒนาศักยภาพเด็ก ในการคิดวิเคราะห์ และการทำงานมาก การให้งานเด็กทุกครั้ง เด็กต้องค้นคว้าหาข้อมูล และผลิตชิ้นงาน รวมถึงนำเสนอออกมาเป็นภาพ และมีการนำเสนอหน้าชั้นเรียน รู้ไหมเพราะอะไร? เพราะต้องการป้องกันปัญหาที่ผู้ปกครองเข้าไปทำงานให้เด็ก ไม่อย่างนั้นจะตรวจสอบไม่ได้เลยว่า เด็กทำเองบ้างรึเปล่า แต่ก็ป้องกันได้ไม่หมดหรอก เพราะผู้ปกครองก็ยังทำอยู่

homework2

พอครูให้แก้ชิ้นงานหลายครั้งเข้า ก็โกรธครูเพราะตัวเองเหนื่อย ก็เพราะตัวเองไม่ได้เรียนด้วย (มันคนละยุคสมัย) เลยไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด และเวลาออกข้อสอบก็บอกว่า ออกไม่เหมือนที่สอน ข้อสอบที่พลิกแพลงมีไว้ฝึกคิด จะท่องจำมาสอบคงเป็นไปไม่ได้ พอเด็กตกก็ด่าครู จะรู้ไหมนะว่า "ลูกคุณถูกคุณบังคับให้เรียนเพื่อสอบให้ได้คะแนนเยอะๆ ไม่เคยได้เข้าใจ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีความรู้ แล้วจะทำได้อย่างไร? พอจะสอบอะไรทีก็แห่ไปติวตรงนั้น..." แล้วก็บ่นว่าสอบอะไรมากมาย ก็ยังสงสัยว่า มันก็สอบที่เรียนมานั่นแหละ เรียนอย่างเข้าใจจริง เอาใจใส่ ทำแบบฝึกหัดมันต้องเข้าหัวบ้างแหละนะ

เอาอีกสักตัวอย่าง ครูให้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จะดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ก็ได้ พ่อบอกลูกว่า ไปซื้อสรุปข่าวหากันมาอ่าน หรือให้ลูกกดไลค์เพจหนังสือพิมพ์ในสมาร์ทโฟนง่ายนิดเดียวเอง ได้อะไรบ้าง? ทุกวันนี้ครูกับโรงเรียนเป็นแพะรับบาป พ่อแม่ไม่รู้จักบทบาทของตนเอง บ่อยครั้งให้ท้ายลูกต่อต้านครูและโรงเรียน ไม่สอนให้ลูกเรียนเพื่อรู้ ล้วนแล้วแต่เรียนเพื่อสอบ ไม่ได้ทำงานเพื่อการเรียนรู้ปัญหา แต่ทำงานเพื่อเอาคะแนน ครูเองก็ไม่สามารถลงโทษเด็กได้ ในห้องนอนหลับ กดมือถือเล่น ครูว่าก็ไม่กลัว ตัดคะแนนก็ไม่สน เดี๋ยวสอบก็ทำคะแนนได้ ลูกเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ลูกตาสีตาสาด้วยนะ ภาพจริงแบบนี้รับกันได้ไหม หรือการโทษคนอื่นมันง่ายกว่า แต่มันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลยนะครับ

thai ed5

อีกเรื่องครับ เรื่องโรงเรียนอินเตอร์หรือจะเป็นโรงเรียนสองภาษา สามภาษา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ก่อนจะให้เรียนตรงนั้น ช่วยสอนภาษาไทยให้สื่อสารกันได้เข้าใจก่อนเถอะครับ เดี๋ยวนี้การพูดตอบคำถามก็แทบจะไม่ได้ความ ผสมปนเปจับต้นชนปลายไม่ถูก อย่าไปถึงเรื่องการเขียนเลย นอกจากจะอ่านไม่รู้เรื่องเขียนแบบอักษรถั่วงอก หัวโตๆ ตัวลีบๆ ตกหล่น อ่านไม่ออก พอมายุคคอมพิวเตอร์ครูให้พิมพ์ในเครื่องแทนการเขียนลายมือ ก็ใช้ภาษาแชทออนไลน์ รูปอมยิ้มแทนคำตอบอีก โอย... ปวดหัวครับ

ครูสอนไม่ตรงเอกก็จะได้ผลแบบนี้แล.... กรรมของนักเรียน

 

เพิ่มเติมอีกหน่อยไปเจอมา อ่านแล้วตรงใจมากกับอีกมุมมองหนึ่ง ของการเลี้ยงลูกและความคาดหวังของพ่อแม่ อ่านช้าๆ คิดตามนะครับ ความจริงเป็นเช่นนี้เอง

"ลูกเรียนไม่เก่ง ...แล้วไงครับ"

โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

  • ทบทวนอีกครั้ง อยากให้ลูกเรียนเก่ง ไปทำไมกัน ฟังข้อดี ข้อเสีย ก่อนจะเล่นบทพ่อแม่หลงทาง เมื่อลูกเรียนไม่เก่ง แล้วไงล่ะครับ ? ก่อนจะอ่านต่อไป พวกเรามาทบทวนกันก่อนว่า อยากให้ลูกเรียนเก่งไปทำอะไร
  • เพื่อเขาจะได้เอนทรานซ์ได้ ถ้าตอบข้อนี้ให้เวียนไปอ่านบรรทัดแรกอีกทีนะครับ พูดเล่นๆ เอ็นทรานซ์ได้สมัยนี้ไม่ได้ให้หลักประกันเลยว่าจะไม่ตกงาน จะไม่ใช้ยาเสพย์ติด จะไม่ติดเชื้อเอดส์ จะไม่ตั้งครรภ์ก่อนวัย จะไม่ทำแท้ง จะไม่พนันบอล และอื่นๆ
  • เพื่อให้เขามีอาชีพมั่นคง ไม่จริงหรอกครับ เรียนเก่งแล้วไม่มีงานทำมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีงานทำแล้วประคองงานไว้ไม่ได้ก็มีเยอะ ประคองงานไว้ได้แล้วไม่มีความสุขก็มีอีกเยอะ มีเงินเยอะ แต่ไม่มีความสุขยิ่งเยอะใหญ่
  • ยกตัวอย่างอาชีพแพทย์ แพทย์สมัยนี้ตกงานทันทีหลังเรียนจบนะครับ ไม่ได้บรรจุเข้ารับราชการ และไม่รู้อนาคต ประกอบวิชาชีพไปถูกฟ้องไปก็เยอะ สังคมก็คาดหวังสูงขึ้น ต้องเคารพสิทธิผู้ป่วย ต้องแจ้งป้ายราคา ต้องไปชันสูตรพลิกศพ และอื่นๆ
  • แทนที่จะเรียนเก่ง น่าจะเรียนให้มี "ความสุข" มากกว่า การเรียนให้มีความสุขมีประโยชน์ดังนี้คือ ทำให้เด็กรักตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง เมื่อเป็นเด็กเล็กก็ดูแลตนเองได้ เมื่อเป็นเด็กโตก็วิ่งไปซื้อของหน้าปากซอยได้ เมื่อเป็นวัยรุ่นก็กล้าแสดงออกในทางที่เหมาะสม เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็รู้จักหาทางเลือกของชีวิต รู้ทีหนีทีไล่ รู้รุก รู้รับ รู้ชนะ รู้แพ้ รู้สู้รู้ถอย และไม่ฆ่าตัวตาย ดีกว่าเรียนเก่งตั้งมากมาย
  • คิดให้ดีๆ นะครับ ว่ากว่าจะถึงเวลาที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเราซึ่งเป็นพ่อแม่หากไม่แก่ หรือหงำเหงือกก็ตายไปแล้ว อยู่บนสวรรค์มองลงมาเห็นลูกใช้ชีวิตแบบหลังย่อมดีกว่าแบบแรกแน่นอน ยังไม่นับว่าสังคมในอนาคตจะเสื่อมทรามไปถึงไหนก็ยังไม่รู้
  • บางคนอยากให้ลูกเรียนเก่งไว้ก่อน เพราะกลัวลูกจะไม่มีเงินใช้ เรียกว่าผูกเรื่องข้ามช็อต เอาการเรียนเก่งไปเชื่อมโยงกับการมีเงินใช้
  • ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องลูกไม่มีเงินใช้ในอนาคต รัฐไทยจะจัดระบบประกันสังคมได้เด็ดๆ ไม่แพ้อย่างที่เห็นในหนังฝรั่งแน่นอน แต่ถ้าเกิดไม่มีระบบประกันสังคมที่ดีพอ งั้นคิดให้ดีอีกทีว่า รัฐที่ไม่มีสวัสดิการสำหรับประชาชนทุกระดับนั้น คนรวยกับคนจนใครจะมากกว่ากัน คนที่เข้าถึงทรัพยากรกับคนที่ถูกกีดกันจากทรัพยากรใครจะมากกว่ากัน

thai ed3

  • แน่ใจหรือว่าอยากให้ลูกเราเป็นพวกชนกลุ่มน้อย (ฮา) ตอนนี้ใครไม่ฮา... กรุณาพาลูกและครอบครัวอพยพไปอยู่ต่างประเทศนะครับ เอาใหม่ แทนที่ผมจะพยายามชี้ชวนว่า การเรียนไม่เก่ง ไม่มีประโยชน์อะไรในอนาคตแล้ว ผมจะอธิบายให้ฟังถึงข้อดีของการเรียนไม่เก่งดีกว่า
  • ก่อนอื่นมานิยามคำว่า "เก่ง" ก่อน เก่งในที่นี้หมายถึง ทำคะแนนได้สูงในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เด็กอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ทางจิตวิทยาของแต่ละวัยได้ครบถ้วนหรือพอเพียง
  • ในทางตรงกันข้าม เด็กเรียนไม่เก่ง แต่มีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจเรื่องหน้าที่ทางจิตวิทยาประจำวัยของเด็กมากพอ ก็จะได้ลูกซึ่งเป็นเด็กเรียนไม่เก่งที่มีความสุข รักตนเอง ภูมิใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง และพร้อมที่จะเติบโตเป็นตัวของตัวเองต่อไปในอนาคตเมื่อพ่อแม่ตายแล้ว (ย้ำจริง)
  • เพราะเด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจไม่เคี่ยวเข็ญจนเกินไป มักมีเวลาว่างจากการทำการบ้าน การท่องหนังสือ หรือการเรียนพิเศษมากกว่า เวลาเหล่านั้นคือ กำไรทางจิตวิทยาที่ได้มาโดยไม่รู้ตัว
  • กำไรได้อย่างไร ลองอ่านต่อ เด็กเล็กและเด็กโตมีงานสำคัญที่ต้องทำ อยู่คนละเรื่องเดียวเท่านั้น เด็กเล็กต้องพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือทั้งสิบให้แข็งแรง และสามารถใช้ทำงานที่อาศัย ความละเอียดในอนาคตได้ เด็กโตต้องพัฒนาทักษะในการเข้าสังคม เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ทะเลาะกันได้ก็ต้องดีกันได้ ต่อยกันไปแล้วก็ต้องอภัยกันได้
  • หากเด็กเล็กใช้นิ้วมือได้คล่องแคล่ว เขาไม่เพียงมีความสามารถทำงานอะไรก็ได้ในอนาคต แต่เขายังมีความรักตนเอง ภาคภูมิใจตนเอง เชื่อมั่นในตนเองที่สอบผ่านจิตวิทยาประจำวัยมาได้
  • หากเด็กโตเข้าสังคมได้ทุกรูปแบบ เขาไม่เพียงมีความสามารถหางานอะไรก็ได้ และปรับตัวเข้ากับงานหรือครอบครัวแบบไหนก็ได้ แต่เขายังมีความรักตนเอง ภาคภูมิใจตนเอง เชื่อมั่นในตนเองที่สอบผ่านจิตวิทยาประจำวัยมาได้เช่นเดียวกัน
  • ความรักตนเองเป็นภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเลวร้ายต่างๆ ในสังคมที่จะมาแผ้วพานชีวิตของเขาในอนาคต นี่คือหนึ่งในคำอธิบายว่า เพราะอะไรคนที่รู้ว่า สูบบุหรี่ไม่ดีก็ยังจะสูบ เสพยาบ้าไม่ดีก็ยังจะเสพ เที่ยวหญิงบริการเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ ก็ยังจะไป เพราะพวกเขาไม่รักตนเอง ให้สืบกันจริงๆ คงพบความบกพร่องทางจิตวิทยาในวัยเด็กเล็กเด็กโตนี่แหละ

thai ed4

  • พวกเรามักคิดว่า งานหลักของเด็กเล็กคือคัดไทย งานหลักของเด็กโตคือบวกเลข ทำให้เราหลงทาง เสียเวลา และคาดหวังลูกในทางที่ไม่ถูกไม่ควรกันค่อนประเทศ เมื่อลูกไม่ได้ดั่งใจก็คาดหวังสูงยิ่งขึ้นอีก เด็กจึงไม่รักตนเอง เกลียดตนเอง ไม่ภูมิใจในตนเอง และขาดภูมิคุ้นกันไปในที่สุด
  • อย่าเป็นเลยครับ เด็กเรียนเก่งแต่สุขภาพจิตไม่ดี และไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะร่ำรวยในอนาคต เป็นเด็กธรรมดา เรียนเต็มความสามารถของเขา ได้เล่นและทำงานกลุ่มอย่างเหมาะสม เติบโตเป็นคนที่เอาตัวรอดได้ในยามคับขันทุกสถานการณ์

ถามตนเองอีกครั้งสิครับ ว่าอยากได้ลูกแบบไหน