problem of revolution

teacher debt 01ตั้งแต่ที่มีคลิป "ปฏิญญามหาสารคาม" ของกลุ่มครูที่เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินกลุ่มหนึ่ง ออกมาปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ก็เป็นที่ระทึกของบรรดาลูกหนี้ชั้นดีที่ส่งหนี้ตรงเวลาจนได้รับการผ่อนปรน กลัวว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้บรรดาเจ้าหนี้ (ธนาคาร) จะไม่ให้ความไว้วางใจอีกต่อไป แล้วจะหาทางขึ้นดอกเบี้ยเพื่อป้องกันหนี้สูญ จนกระทบต่อลูกหนี้ธนาคารทุกคน รวมทั้งผู้ที่กำลังจะประสานติดต่อกับธนาคารเพื่อสานฝันต่างๆ จะสะดุดหยุดลงจนความฝันพังครืนก็เป็นได้ เหล่าสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ก็เอาออกมาประโคมกันมากมายหลายช่อง ติดตามสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อการในครั้งนี้ จนเกิดปรากฏการณ์ "เตะฟุตบอลอัดผนังปูน" จนทำให้ลูกบอลสะท้อนกลับไปยังกลุ่มก่อการนั้น ชนิดที่ผู้นำขบวนการก็ตั้งรับไม่ทัน จะป้องปัดไปทางไหนก็มีแต่เสียงแช่ง ไร้เสียงเชียร์

คนเป็น "ครู" ทั่วประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องเลยสักนิด กับการประกาศนี้ก็ถูกลดศักดิ์ศรีจากสังคมไปด้วย ยิ่งเห็นทีวีช่องต่างๆ เข้าไปสัมภาษณ์แล้วมีคำตอบออกมา ก็ยิ่งน่าเวทนาเข้าไปอีก

นักข่าวถาม : "มีใครบังคับให้ครูกู้ปะคะ"

ตัวแทนครูตอบ : "ไม่มีใครบังคับให้เรากู้ แต่เรานึกว่าโครงการนี้มันจะช่วยครูไง ใครจะไปรู้ว่าผ่อนตั้งนานเงินต้นไม่หดเลย จะให้เราผ่อนไปจนวันตายรึไง" (ความเห็นของผู้ชมที่มาคอมเมนต์ใต้ข่าว : มึงผ่อนยี่สิบสามสิบปีมันก็แบบนี้แหละ)

นักข่าวถามต่อว่า : "ตอนเซ็นสัญญานี่ครูๆ ทั้งหลายอ่านสัญญากู้ปะคะ"

ตัวแทนครูตอบ "ครูๆ ส่วนมากก็เหมือนชาวไร่ชาวนาแถว ตจว. เขาไม่ได้อ่านละเอียดหรอก เห็นธนาคารเอามาให้เซ็นเขาก็เซ็น" (ความเห็นของผู้ชมที่มาคอมเมนต์ใต้ข่าว : ห๊า! เปรียบตัวเช่นชาวไร่ชาวนา ตาสี ตาสา ยังมีหน้าจะมาสอนลูกหลานเขาอีก)

ตัวแทนครูยังบอกต่อว่า "คนในโซเชียล เห็นครูแต่งตัวโทรมๆ มอซอ ส่วนพวกนายแบงค์แต่งหล่อใส่สูท ก็หลงนึกไปว่าครูเป็นคนผิด จริงๆ แล้วครูเป็นผู้ถูกกระทำจากพวกใส่สูทที่จะมาปอกลอกครู"

จ้า เอาที่สบายใจนะครับ ถ้าสติปัญญามีแค่นี้นะขอรับ เสียดายเกียรติภูมิของคำว่า "ครู-อาจารย์ ปูชนียบุคคล" คงเหลือแค่ ข้างๆ คู ปู กับ ชะนี เท่านั้นเอง

teacher debt 02

ท่าน Chaiwat Oungkiros ได้ให้ความเห็นว่า "ด้วยความเคารพ บูรพคณาจารย์...

  • นอกจากเรื่องที่เขากล่าวหาว่า ติดหรู ติดค่านิยม ต้องมีเครื่องแสดงบารมี ไม่ให้น้อยหน้ากัน ติดหวย ติดอื่นๆ จนต้องก่อหนี้ทั้งใน และนอกระบบ จนต้องเข้าปรับโครงสร้างหนี้ จนแล้วจนรอด เป็นหนี้ล้นพ้นตัว ต้องประกาศพักหนี้

    ยังมีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ครู ต้องเป็นหนี้จำนวนมหาศาล

    หรือจะเป็นอย่างที่เขาเล่าลือกันเรื่อง เงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ตัวเลขว่ากันเป็นหลักแสน เป็นเรื่องจริง

    หากเป็นการกู้ไปเพื่อทำการอาชีพเสริม ตามสุจริต ก็นับว่าได้แต้มต่อกว่าผู้ประกอบการขนาดย่อมอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ราคาถูกกว่า ดังนั้น การเป็นหนี้ชนิดนี้ย่อมได้รับการเห็นใจ หากมีปัญหาจากการดำเนินธุรกิจ
  • เรื่องการอ้างว่า ธนาคาร เอาเปรียบ คิดดอกเบี้ยก่อนเงินต้น หรือ บังคับให้ทำประกันสินเชื่อ อะไรต่อมิอะไร เป็นเรื่องที่องค์กรครู น่าจะรู้ดีก่อนทำสัญญาว่าจริงหรือไม่

    หากไม่เข้าใจ ก็สามารถให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจง หรือ อธิบาย อย่างตรงไปตรงมา เยี่ยงผู้เจริญทั้งหลาย ใครมีลูกศิษย์ลูกหาเรียนด้านการเงิน กฏหมาย ก็ให้เขาช่วยอธิบาย ก็น่าจะไม่เหลือบ่ากว่าแรง และหากนิติกร ชี้ช่องว่า สัญญาที่ทำไปเสียเปรียบ ก็ชอบที่จะเจรจากัน ขอทบทวนเงื่อนไข

  • ใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์ โดยเอาครูเป็นตัวประกัน
    ตอนนี้ มีเสียงเตือนว่า การเบี้ยวหนี้ อาจมีผลการถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย ต้องออกจากราชการ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อรายได้และเงินอนาคต โดย ผู้นำ (ขบวนการเบี้ยวหนี้) ไม่สามารถรับผิดชอบ

  • ในยุคที่การสื่อสารเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ครูยังเป็นผู้นำทางความคิด และเป็นฐานที่สำคัญเหมือนอดีต หรือไม่ ใครก็ตามที่ยังหากินกับวิธีเดิมๆ อาจได้รับบทเรียน ที่คาดไม่ถึง

teacher debt 03

มีบทกลอนของท่านผู้ใช้นามว่า สำราญ ปะติเพนัง เขียนไว้น่าสนใจดังนี้

เงินกู้คือ เงินกู คงรู้แล้ว     เสียงแจ้วแจ้ว จะคาบ ชักดาบหนี้
อวดอ้างตน เป็นครู รู้วิธี     เงินไม่มี ไม่จ่าย ง่ายง่ายไง
ตอนไปกู้ ถูไถ อยากได้มาก     ไม่เต็มปาก เต็มท้อง ต้องกู้ใหม่
ได้ห้าล้าน หกล้าน เบิกบานใจ     เขาไม่ให้ ก็งอน ค่อนขอดเอา
แต่พอถึง ตอนจ่าย บอกหลายบาท     ไม่สามารถ จ่ายได้ ไม่อายเขา
ตอนกู้เพลิน เกินตัว เพราะมัวเมา     เหมือนได้เปล่า เป็นก้อน ตอนกู้มา
จะไม่จ่าย หายหัว กลัวเงินหมด    ให้รัฐปลด หนี้ให้ ใครจะบ้า
เหมือนข้ากิน เองจ่าย ตายละวา     เอาเงินมา จากไหน จ่ายให้แก
ตัวเองผูก ถูกรัด อึดอัดแน่น    มาเคืองแค้น ร้องให้ ใครเขาแก้
ตัวเป็นหนี้ ตีมึน ขืนเชือนแช     เขาด่าแม่ ไม่น่า มาเป็นครู "

หนี้! คืออุปสรรคของการปฏิรูปการศึกษา

ไม่ได้พูดเล่นๆ นะ ในเมื่อครูทั้งหลายเป็นหนี้ ในสมองก็ย่อมคิดการแต่หนทางที่จะได้เงินมาชำระเจ้าหนี้ กู้จากเจ้าหนี้เจ้านี้เอาไปโป๊ะเจ้าโน้น ไปกู้เจ้าโน้นอีกทีมาให้เจ้านั้น วนเวียนเป็นงูกินหางกันไป จะมีเวลาและสมาธิในการจัดการเรียนการสอนหรือ และนี่คือปัจจัยหนึ่งในความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาของชาติไทยตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมานั่นเอง ฟันธง ได้ไหม?

คงมีคนบ่นในใจดังๆ ว่า "ก็ใช่สิ ครูมนตรีไม่เคยมีหนี้ เกิดบนกองเงินกองทอง จะไปรู้อะไรเกี่ยวกับหนี้สิน" สาธุครับ... ผมเกิดเป็นลูกชาวนาแท้ๆ มีรุ่นผมนี่แหละที่มีโอกาสรับราชการจริงจัง รุ่นปู่ก็เคยเป็นแค่ผู้ใหญ่บ้านในบ้านนอกคอกนาแค่นั้นเอง ไม่ขอนับว่าเป็นราชการน้อ น้องๆ หลานๆ บางคนก็ยังสืบทอดทำนากันอยู่ มีผมนี่แหละที่ช่วยเขาทำนาไม่เป็น ให้ไปยืนดู แนะนำเรื่องปุ๋ย เรื่องน้ำ ระบบชลประทานล่ะพอได้

ผมเมื่อเป็นครูใหม่ๆ ในต่างอำเภอก็เคยอยู่บ้านพักเก่าๆ เข้ามาในเมืองใหญ่โรงเรียนใหญ่ก็ยังอยู่บ้านพักเก่าๆ (สร้างตั้งแต่ปี 2516) ผุพัง นอนฟังเสียงปลวกได้ก็อดทนไปก่อน อยากมีบ้านหลังโตโก้เหมือนเขาถ้าจะไปกู้มา ก็ต้องดูว่าผ่อนส่งได้ไม่เดือดร้อน ก็เลยหยุดความอยากไว้ก่อน

teacher debt 04

เคยขี่รถมอเตอร์ไซค์ฮ้างไปโรงเรียนได้ ลำบากหน่อยแต่ครอบครัวท้องอิ่ม ก็ไม่ต้องไปกู้เขามาซื้อรถเก๋งเอาเงินค่าข้าวเที่ยงไปหมดกับค่าน้ำมัน นี่ก็ทนเอาหน่อย จนมีลูกเล็กๆ จะพาไปหาหมอก็ลำบากเลยซื้อรถมือสอง ดัทสันรุ่นช้างเหยียบ (Datsun 620) มาคันหนึ่ง ถึงคราวจำเป็นก็ขายไปใช้หนี้ (จริงๆ นะ พอย้ายมาในเมืองสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น มีรายได้เสริมมากขึ้นจากวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา ถ่ายภาพงานแต่งงาน งานมงคลอื่นๆ ทำวีดิทัศน์พรีเซนต์ให้กับหน่วยงานต่างๆ ทำเครื่องเสียงกลางแจ้ง (PA) ในงานบุญประเพณี งานคอนเสิร์ตดนตรี งานรับเสด็จพระราชดำเนินต่างๆ ก็ค่อยมีเงินซื้อป้ายแดงได้)

เมื่อคิดจะกู้ก็ต้องมีแผนการดำรงชีวิต รายได้ที่แน่นอน (ไม่เอาที่คาดว่าจะได้) รายจ่ายที่ต้องจ่ายประจำในแต่ละเดือนจะต้องไม่เกินกว่า 60% ของรายได้ (นี่เสี่ยงมากๆ แล้วนะ) เผื่อฉุกเฉิน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรืออื่นๆ ต้องมีไว้ติดกระเป๋าเสมอ

ผมก็เป็นครูมาสามสิบกว่าปีก่อนลาออก ก็เคยเป็นหนี้ทั้งเรื่องจะมีคู่ครอง ต้องหาเงินเลี้ยงลูกหญิง/ชาย 2 คน ส่งลูกสาวเรียนภาคอินเตอร์มหาวิทยาลัยของรัฐ เทอมละหกหมื่นก็เคยมาแล้ว ก็จากเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป แต่ผมมีแผนสอง สาม สี่ ในการหารายได้เพิ่มตลอดเพื่อไม่ให้เดือดร้อนนัก ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้มาได้

มามีควมรู้สึกโล่งใจมีเงินเหลือติดกระเป๋าใช้จ่ายสบายหน่อย ก็ตอนลูกจบการศึกษามีงานทำแล้ว ค่อยออกจากบ้านพักครูมาซ์้อบ้านหลังเล็กๆ ของตนเอง ซึ่งก็ยังคงฝากโฉนดไว้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ผ่อน กลัวปลวกแทะโฉนดครับ) อยู่ในเวลานี้

ถ้าผมเป็น "คณะปฏิญญามหาสารคาม" นั่น สิ่งที่ผมคิดจะทำคงไม่ใช่การมาป่าวประกาศแบบท่าน แต่จะลดอัตตาตัวเองลงด้วยไปอยู่บ้านพักแบบเก่าหรืออยู่บ้านบุพการีไปก่อน ปล่อยบ้านหรูออกไปเพื่อลดหนี้ กลับไปขี่มอเตอร์ไซค์ฮ้างเหมือนเดิม ปล่อยรถยนต์คันโก้ออกไปเพื่อให้มีพออยู่พอกิน ลูกเมียอิ่มทอง เราเองก็นอนหลับไม่ต้องพะวงกับยอดหนี้

ศักดิ์ศรีคือความดีที่กระทำ ไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังโต รถยนต์คันโก้ดอกนะ เชื่อผมสิ ลองดูได้

teacher debt 05

กู้หนี้ 1 ล้าน ต้องจ่ายดอกเบี้ย 1 ล้าน จริงหรือไม่?

ครูบางส่วนเข้าใจผิดเรื่อง "การเงิน" มากทีเดียว เช่น เข้าใจว่า กู้ 1 ล้าน ดอกเบี้ย 5% หมายความว่า จะต้องจ่ายคืนจริง ๆ แค่ 1 ล้าน บวกกับดอกเบี้ยอีก 5 หมื่น ถ้าผ่อนเดือนละ 7,000 บาท 150 งวด (12 ปี 6 เดือน) ก็ใช้หนี้หมดแล้ว ถ้าคิดดอกเบี้ยแบบนี้จริง สถาบันการเงินทั้งหลายคงต้องปิดกิจการกันเลยทีเดียว จะเอาเงินที่ไหนมาจ้างพนักงาน จ่ายค่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้คนอื่นๆ

แล้วที่ถูกต้อง คืออะไร?

คำตอบ คือ ดอกเบี้ยต้องคิดไปตลอดสัญญาจนกว่าเราจะจ่ายเงินต้นหมดครับ ซึ่งการผ่อน 7,000 บาทต่อเดือนในช่วงแรกนั้น อาจจะเป็นการผ่อนเงินต้นแค่ 500 - 1,000 บาทเท่านั้น ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยล้วนๆ จนปลายๆ สัญญาเงินต้นจึงจะเพิ่มมากขึ้น

ถ้าตามตัวอย่างข้างบน หากกู้ 1,000,000 บาท คิดดอกเบี้ย 5% แล้วผ่อนเดือนละ 7,000 บาท ถ้าลองคำนวณดูเล่นๆ แล้วจะต้องผ่อนนานถึง 308 งวด (25 ปี 8 เดือน) ถึงจะผ่อนหมดนะครับ โดยกว่าเราจะผ่อนหมด เราจะต้องชำระเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 2,156,000 บาท ดังนั้น เงินต้นแค่ล้าน แต่ดอกล้านกว่า ถูกต้องแล้วครับ

เหมือนกับที่ผมกู้เงินซื้อบ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบันก็จ่ายมากเหมือนกัน ยอดเงินกู้สามล้านบาทเศษ ชำระ 15 ปี ผมต้องจ่ายงวดละ 25,700 บาท เดือนแรกนี่เป็นดอกเบี้ยเสีย 25,200 บาท เป็นเงินต้นแค่ 500 บาท ช่วงหลังๆ มีเงินมากหน่อยก็เอาไปโป๊ะเป็นก้อนเล็กบ้างใหญ่บ้างเป็นระยะ ตอนนี้จ่ายงวดเท่าเดิมแต่เงินต้นเริ่มมากขึ้นมาเป็นหมื่นกว่าบาทล่ะ และคงไม่ต้องผ่อนนานถึง 15 ปี

ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะ ดอกเบี้ยมันคิดเป็นรายวันไปตลอดจนกว่าจะจ่ายหมดไงครับ ไม่ได้คิดดอกเบี้ย 5% แค่ครั้งเดียวแล้วจบแบบที่เพื่อนครูเข้าใจกัน แล้วถ้าเราจะผ่อนให้หมดเร็วๆ ก็ทำได้ 2 วิธี คือ

  1. รีไฟแนนซ์ไปที่ดอกเบี้ยต่ำกว่านี้ (ซึ่งกรณีผ่อนบ้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์เขาให้ไปทำได้ทุก 3 ปี ไปใช้สิทธิ์กันนะ จะทำให้ยอดผ่อนลดลง หรือไม่ลดแต่ส่งเงินต้นได้มากขึ้น ผมเลือกกรณีหลัง)
  2. เพิ่มอัตราการผ่อนต่อเดือน ให้มากขึ้น หรือถ้ามีเงินก้อน (รายได้เสริมจากการทำอาชีพเกษตร ค้าขาย ธุรกิจอื่นๆ ที่มีมากขึ้น) ก็โปะเป็นก้อนใหญ่มากกว่าเงินงวดเข้าไปเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่า ถ้าเราสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ในการทำรีไฟแนนซ์ได้ดอกเบี้ยต่ำลงกว่าปัจจุบัน จะทำให้เราลดเวลาการจ่ายเงินงวดลงดอกเบี้ยก็จะลดตาม ถ้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็เอามาโป๊ะให้มากขึ้นก็ช่วยได้เยอะครับ แต่... ปัญหาของครูเราคือ พอมีรายได้ลาภลอยขึ้นมาก็มักจะคุยใหญ่โต ใจใหญ่เอาเงินไปเลี้ยงเพื่อนฝูง ทำบุญเอาหน้าเสียหมด ลืมหนี้ของตนเองเสียสิ้นนี่แหละสำคัญมาก ถูกรางวัลเลขท้าย/เลขหน้า หรือรางวันที่สี่ ที่ห้า ก็เงียบๆ ไว้ ได้เงินมาเอาไปใช้หนี้สบายใจกว่าเยอะครับ (อันนี้ความหวังของคนไทยทั้งชาติล่ะ ถูกจริงๆ นะ อย่าเป็นครูปรีชา เดี๋ยวจะเสียมวย)

ปัญหา "หนี้" นี้ใครจะแก้ได้

เพราะเห็นใครใหญ่ได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้กระทรวงศึกษาธิการ เก้าอี้นั่งก้นยังไม่ทันร้อนก็ประกาศอย่างห้าวหาญว่า "จะแก้หนี้สินของครู" ซึ่งถ้าพูดความจริงแล้ว ไปเพิ่มหนี้ให้กับครูมากกว่า เพราะแค่ไปหาเจ้าหนี้รายใหม่ มาออกเงินกู้ให้แก่ครู ครูที่เคยเป็นหนี้ก็รีบมากู้เพิ่มหนี้อีก (ไม่ได้ออกแรงอ้อนวอนเองให้ยาก) มีหนึ้ 2 ล้าน ไปกู้มาอีก 1 ล้าน เอาใช้หนี้ไปเพียง 5 แสน ขยักเอาไว้ใช้ 5 แสน หนี้มันก็เพิ่มมาเป็น 2 ล้าน 5 แสน แทนที่จะลดลง

อย่างนี้ เด็ก ป. 4 สมัยก่อนก็เทียบบัญญัติไตรยางค์ได้ถูกต้อง เจ้ากระทรวงที่ยิ่งแหกปากแสดงวิสัยทัศน์ปลดหนี้ ให้กู้กี่ครั้งกี่ครั้ง ครูก็ยิ่งเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดล่ะครับท่าน

คราวนี้ มาออกมาประกาศเป็น "ปฏิญญา" เล่นคำใหญ่เสียด้วย ไอ้ปฏิญญาคำนี้ยิ่งกว่า G to G (เก๊ทูเก๊ จำนำข้าว) หรือ M.O.U. เสียอีก "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย"

ผู้ใหญ่คนไหนที่เคยอนุมัติโครงการหาเงินมาให้ครูกู้ "จะออกมาเสนอหน้าแก้ปัญหาไหม?" คงไม่มีผู้ใหญ่คนไหนสปิริตแรงกล้าว่า "ผมผูกเอง ขอแก้เอง" ไม่กล้าแอะปากแน่ ก็ขอแนะนำแผนที่แยบยลเอาไปใช้ เพื่อล้างปัญหาหนี้ให้สิ้นทรากดังนี้

ก็ชอบกู้กันนักไม่ใช่หรือ กู้นี่ไปปะนั่น เพิ่มนี่ เอ๊ย..เพิ่มหนี้ มีโปรเจคหาเงินมาให้กู้ก็ตาลีตาลานใช้สิทธิฉับพลันท้นที ชวนกันไปค้ำประกันเป็นคู่เป็นวงให้กู้ได้เยอะๆ หนักถึงขนาดมีอามิสสินจ้างให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการลัดคิว แซงคิว อำนวยความสะดวกกันเลยทีเดียว พอปรากฏการณ์ปฏิญญา "ชักดาบแห่งชาติ" ออกมาจากปากครูกลุ่มนี้ ธนาคารที่ไหนจะออกเงินกู้ให้อีกล่ะ

ทุกอย่างมีทางออกเสมอ ดูถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน นั่นไง ใครต่อใครว่าไม่มีทางออก ก็ยังออกตรงทางเข้าได้อยู่ดี เป็น Mission Impossible ก็ยังประสบผลสำเร็จบันลือโลกได้ ดังนั้น งานนี้ก็หาทางออกไม่ยากเย็น ชอบกู้กันนักหรือ ก็จัดโครงการ "กู้ระเบิด" ออกมา พอได้ยินคำว่า "กู้" อาจหน้ามืดขอสมัครกันเป็นแถว จะได้พลาดพลั้งระเบิดเปิดเปิงสูญพันธุ์กันไปเสียที

teacher debt 06

นักเลือกตั้ง ผู้อยากเลือกตั้งก็จงพิจารณานำเอานโยบายแก้หนี้ไปพิจารณาด้วยนะ นโยบายพรรคของท่านมีหรือยัง "แก้หนี้ครูทันทีที่เข้าไปเป็นรัฐบาล ไม่เกิน 90 วัน" ฉลุยแน่นอนครับท่าน