new normal learning

ลังจากที่ต้องเลื่อนการเปิดเทอมมานานนับเดือน 1 กรกฎาคม 2563 นี้ก็จะเริ่มการเปิดเรียนปีการศึกษา 2563 เป็นวันแรก ซึ่งมีการตระเตรียมและสั่งการจากหน่วยบังคับบัญชาเบื้องบน ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการจัดการศึกษายุคใหม่ ซึ่งมักจะเรียกกันว่า New Normal หรือเหตุการณ์อุบัติใหม่ ตั้งแต่การรักษาความสะอาด การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมในเรื่องสื่อกับกรรมวิธีในการถ่ายทอดความรู้ของผู้สอน เท่าที่ติดตามดูจากในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีเพื่อนๆ ครูได้โพสท์ถึงการเตรียมการด้านต่างๆ การประชุม-อบรม ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนก็ดูคึกคักกันดี แม้ว่าบางคนอาจจะหงุดหงิด วิตก กังวลกันมากอยู่ ก็ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

ความทุกข์ใจผู้ปกครองในวันเปิดเทอม

ก่อนจะพูดเรื่องการจัดการเรียนการสอน ก็ขอพูดถึงความทุกข์ของผู้ปกครองกันก่อน หลังจากที่ทุกข์ใจกับการเรียนออนไลน์ (ทดลองเรียน ท่านว่าอย่างนั้น แต่ทั้งผู้ปกครอง ครู และโรงเรียนดูจะเอาจริงจังกันมาก เห็นว่าให้มีรายงานด้วยนะ ก็รายงานทดลองไปขอรับไม่ต้องซีเรียส) ความทุกข์ตอนนี้ก็คือ เรื่องของทุนทรัพย์ในการจัดการศึกษาให้ลูก ด้วยความขัดสนจากสภาวะการตกงาน การไม่มีรายได้แบบไม่ทันตั้งตัว หลายคนโดนเลย์ออฟกระทันหัน จึงมีปัญหาในการจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนให้กับลูกหลาน โดยเฉพาะคนที่ต้องเปลี่ยนระดับชั้น เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ ต้องเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนด้วยจะมีปัญหามากทีเดียว นอกจากนั้นยังต้องเตรียมตัวสำหรับความลอดภัยด้วย นับตั้งแต่หน้ากากผ้าให้นำไปใช้ได้ทุกวัน ความห่วงใยในการเดินทางที่ต้องคำนึงถึงความแออัด และการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรค

new normal learning 2

ที่ไม่ต่างจากผู้ปกครองก็คือทางโรงเรียน ที่ต้องเตรียมการมากมายในการตั้งรับการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ ที่งบประมาณก็ไม่ได้มีมากมายนัก แต่ต้องเพิ่มอุปกรณ์สำหรับการป้องกันต่างๆ มากขึ้น ตั้งแต่การทำความสะอาดพื้นที่กันทุกตารางนิ้วอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความถี่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นคือต้องเตรียมงบประมาณสำหรับอุปกรณ์ น้ำยาทำความสะอาดและแรงงานคนเพิ่มด้วย โรงเรียนเล็กในชนบทคงไม่เท่าไหร่ แต่โรงเรียนใหญ่ๆ ในเขตเมืองนี่อ่วมแน่ๆ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานสถานที่นั่นเกินกว่าที่กำหนดตามมาตรฐานสาธารณสุข จนถึงขนาดที่ต้องมีการแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เรียนวันเว้นวันกันเลยทีเดียว

การเรียนออนไลน์ยังไม่ใช่คำตอบของวันนี้

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการใช้วิธีการเรียนออนไลน์กับนักเรียนไทยทุกระดับชั้น (ความจริงก็ไม่ใช่การเรียนออนไลน์จริงๆ เป็นแค่การจัดการสอนผ่านสื่อทางไกลหลายรูปแบบ ผสมผสาน) แต่ก็สร้างความโกลาหลกันไปได้ทั่วประเทศทีเดียว ทำให้นักการศึกษาไทยทั้งหลายได้ทราบความจริงที่ซ่อนเร้นหรือถูกบดบังไว้อยู่ ให้ปรากฏออกมาว่า "ประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว" ทั้งความไม่พร้อมทางด้านทรัพยากร เทคโนโยีพื้นฐาน คุณภาพของสื่อและเนื้อหาที่ใช้ ยังจำเป็นจะต้องมี "ครู" เป็นผู้ช่วยสำคัญในการจัดการให้ความรู้ เรียกว่าขาดทั้งฝั่งผู้ให้และผู้รับกันเลยทีเดียว (ไม่ได้หมายถึงเฉพาะในระดับโรงเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงระดับวิทบาลัย มหาวิทยาลัยด้วย)

new normal learning 3

การจัดการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่ทั่วถึง และมีประสิทธิผลสูงสำหรับผู้เรียนทุกคน ต้องพึ่งพาหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน ความพร้อมของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ และความพร้อมของครอบครัวและนักเรียนในการเรียนรู้จากที่บ้าน ปัจจัยเหล่านี้มีต้นทุนมหาศาล หากรัฐจะจัดหางบประมาณสนับสนุนเฉพาะกลุ่มที่ขาดแคลน อาจต้องใช้งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับอุปกรณ์ (แท็ปเล็ตหรือคอมพิวเตอร์) นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะตามมาอีกเช่น ค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ค่าขาดรายได้ของผู้ปกครอง ที่ต้องหยุดงานมาเป็นผู้ดูแลลูกหลานแทนครู ซึ่งก็ไม่อาจรับรองได้ว่า จะมีผลการเรียนเทียบเท่าการเรียนปกติในโรงเรียนหรือไม่

เมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 จะไม่สามารถทำให้การศึกษาไทยเปลี่ยนไปใช้ "การเรียนการสอนออนไลน์" แทนการเรียนในห้องเรียนปกติได้ เป็นเพียงทางเลือกที่ใช้เสริมการเรียนแบบปรกติในบางสถานการณ์ หรือกับนักเรียนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่สถานการณ์นี้ก็สร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพครูผู้สอนให้มีความเชี่ยวชาญและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนได้ เช่น การประชุมออนไลน์ผ่านซอฟท์แวร์และแพลตฟอร์มต่างๆ โดยไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การผลืตสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอน การสร้างและเก็บเอกสารการสอนไว้บนเครือข่าย ซึ่งน่าจะส่งเสริมให้บุคลากรการศึกษาได้มีโอกาสผลิต/ใช้ต่อไป แม้การระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลง

new normal learning 4

จากปรากฏการณ์นี้ เราควรหันกลับมามองดูความรุงรังในหลักสูตรการศึกษาของเราว่า มีส่วนใดที่มีมากมายหรือเทอะทะเกินไปไม่เหมาะสม ส่วนใดที่ควรจะแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง นำมาปรับแก้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีกำเนิดใหม่ในโลกนี้ เช่น

  • ให้น้ำหนักของปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน มากกว่า จำนวนชั่วโมงในห้องเรียน หรือเวลาในการเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือการเรียนออนไลน์
  • ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของผู้เรียน เชื่อมโยงกับชุมชน และบริบทของถิ่นที่อยู่ของผู้เรียน มากกว่าจุดประสงค์การเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางหนึ่งเดียวของประเทศ
  • ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้จากการท้าทาย ค้นหา การเรียนรู้จากกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน จากแรงจูงใจภายใน เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนคงทน
  • สร้างกลุ่มอาสาสมัครด้านการศึกษา เพื่อคอยติดตาม ให้ความช่วยเหลือกับผู้เรียนในการศึกษาสำหรับครอบครัวผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือครูดูแลผู้เรียนที่ต้องเล่าเรียนผ่านสื่อทางไกล เลียนแบบประสบการณ์การจัดการด้านสาธาธารณสุขที่มี อสม. เป็นกำลังสำคัญช่วยหมอและพยาบาล

ความปกติใหม่ในการศึกษานั้นไม่มีอยู่จริง เป็นการศึกษาแบบปกติเดิมแต่เพิ่มแนวทาง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีแนวทางใหม่ๆ ในการเรียนรู้ ให้ครูแสวงหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่ง และใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การเรียนการสอนออนไลน์ก็ต้องทำให้เกิดขึ้นต่อไป ไม่ต้องรีบเร่งแต่ให้มีคุณภาพมากที่สุด ช่วงนี้เป็นเวลาดีที่จะได้ทดสอบทดลองอย่างจริงจัง เพราะเราจะมีกลุ่มทดลองที่มีความพร้อมแล้วในบางส่วนทั้งอุปกรณ์ เทคโนโลยี ความสนใจ นักการศึกษา ครู อาจารย์ต้องช่วยกันรุกในขณะที่สังคมกำลังให้ความสนใจนี่แหละ คาดว่า ในเวลาไม่นานนักความสำเร็จจะเกิดขึ้นให้เห็นได้ชื่นใจแน่

new normal learning 5

มีคำกล่าวที่ว่า "นักเรียนชั้นมัธยมปลายของประเทศไทยเรียนเยอะมาก ทำให้เสียโอกาส ไม่มีประเทศไหนเรียนมากเท่าประเทศไทย เราไม่ต้องรู้เยอะมาก แต่ต้องรู้ลึกในแต่ละเรื่อง และเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต" ท่านเห็นว่าอย่างไร? สำหรับผมนั้นมองว่า "ถูกต้องที่สุด เราเรียนมากมายเกินไปจริงๆ เรียนเป็นเป็ดเลย เดินก็ได้ วิ่งก็เป็นแต่ก็ไม่เร็วที่สุด ว่ายน้ำก็ได้อีก พอจะให้บินก็ขยับปีกได้แต่บินไม่ขึ้นเสียแล้ว ดูตัวอย่างวิชา "พระพุทธศาสนา" เราเรียนมาตั้งแต่ประถมศึกษาเรื่อง "ประวัติพระพุทธเจ้า กำเนิด เจริญวัย มัครอบครัว ทุกข์ ค้นหา บรรลุธรรม ประกาศและเผยแผ่" เรียนมาจนถึง ม.6 ทำไมนะ เราไม่ได้เรียนรู้ที่ "แก่นธรรมะ" ของพุทธองค์ ให้มาก ให้เข้าใจ นำไปปฏิบัติ เหมือนที่ชาวตะวันตกมาค้นพบแก่นนี้ที่ประเทศไทย นี่คือตัวอย่างไงครับ ว่าเราเรียนเยอะที่กระพี้ ไม่เอาถ่าน เอ้ย แก่นความรู้"

คนเก่งที่สุดคือคนที่ทำเรื่องง่ายให้ง่ายขึ้น และทำเรื่องยากให้ง่าย "