foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

ICT ความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับ ครูไทยพร้อมจะพัฒนาตนเองหรือไม่?

คราวก่อนได้แนะนำคุณสมบัติของครูไทย ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังให้เป็นไปแต่ความเป็นจริงของบ้านเราตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ในฐานะที่ครูมนตรีคือหนึ่งในทีมงานพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน (ที่ตนเองสังกัด) และหน่วยงานอื่นๆ ตามที่ร้องขอ (เดินสายบรรยาย) ก็พอจะมองภาพรวมของครูไทยในวันนี้ได้ค่อนข้างจะชัดเจน

ภาพที่เห็นของผมคือ ครูเรากลัวเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงมากครับ จะเห็นได้ว่า ในแผนนโยบายและเป้าหมายขององค์กรทุกแห่งต่างพยายามในการที่จะพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ตั้งแต่องค์กรใหญ่อย่างกระทรวงศึกษาธิการ กรมเจ้าสังกัดต่างๆ ทั้งประถมและมัธยม ได้เร่งระดมการจัดฝึกอบรมและสัมมนาขึ้นทุกปี เพื่อการสอนใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการใช้ซอฟท์แวร์ที่จำเป็นพื้นฐานในการทำงาน (โปรแกรมจัดการเอกสาร ตารางคำนวณ การใช้อินเทอร์เน็ต ค้นหาข้อมูลและรับส่งอีเมล์) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ มีเพียงครูที่อายุน้อยเท่านั้นที่สนใจเข้าร่วม และนำมาใช้งานอย่างจริงจัง ส่วนครูผู้สูงอายุ (ไม่อยากเรียกว่า ครูแก่ๆ) มักจะปฏิเสธในการเข้ารับการอบรม อ้างว่าแก่แล้ว จะเกษียณแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรอก

แต่เป็นเพราะกลัวว่า คอมพิวเตอร์จะเข้ามาแทนที่อาชีพของตน ความกลัวที่จะใช้คอมพิวเตอร์จึงเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ที่แย่กว่านั้นคือมักจะมีความเชื่อว่า ตนแก่เกินไปที่จะเรียนและไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเช่นนั้นเพื่อป้อนข้อมูลที่ตนมีอยู่ ยังมีความพอใจกับการสอนแบบดั้งเดิม และยังคิดไปอีกว่าขั้นตอนการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และ ICT มีความซับซ้อนมากเกินกว่าที่คนอย่างเขาจะเรียนรู้ พวกเขาต้องรับมือกับเรื่องที่สำคัญมากกว่าการรู้ความสำคัญของ ICT พวกเขาเห็นคุณค่าของการรวมคอมพิวเตอร์และ ICT เข้ากับการสอนในห้องเรียนเหมือนกัน เพียงแต่พวกเขาไม่ต้องการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเท่านั้นเอง

หลายๆ คนปิดกั้นตนเองจากเทคโนโลยีเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้เรายังเห็นครูที่ยึดมั่นกับ Chalk & Talk ด้วยวิธีการของมืออาชีพ (รุ่นเก๋า) มือซ้ายหยิบหนังสือ มือขวาถือชอล์ก ถ้าไม่เขียนตามคำบอก ก็ให้ลอกจากกระดานดำ ทุกอย่างยังหยุดอยู่ที่มุมห้องเรียนทั้งสี่ เราคงจะต้องใช้ความอดทนอีกมากในการที่จะพยายามให้เขามาวางชอล์กแล้วเคาะแป้นคีย์บอร์ดแทน แต่ในที่สุดแล้วผลของความพยายามจะเกิดประโยชน์ต่อครูและนักเรียนในระยะยาว

ผมถูกเชิญให้เป็นวิทยากรอบรม "การใช้โปรแกรมจัดการเอกสารขั้นสูง" ให้กับหน่วยงานหนึ่ง (ซึ่งยืนยันมาตอนที่เชิญว่า บุคลากรของหน่วยงานได้ผ่านการอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นไปแล้ว ให้สอนเทคนิคขั้นสูงได้ทันทีเลย) แต่เชื่อไหมครับ? ตลอด 5 วันของการอบรมผมยังต้องคอยชี้แนะการใช้เมาท์แก่ผู้อบรมๆ ในทุกๆ ชั่วโมงที่บรรยาย ได้ลองสอบถามผู้เข้ารับการอบรมว่า เคยอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นมาหรือยัง? คำตอบคือ เคย และบางคนอบรมมาสามรอบแล้วด้วยซ้ำ แต่หลังจากรับประกาศนียบัตรแล้วก็ไม่เคยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อีกเลย (นี่คือสาเหตุหลัก)

คอมพิวเตอร์ ความเป็นจริงที่เจ็บปวด! เรื่องที่กล่าวถึงนี้เป็นเรื่องจริง (แต่เอามาพูดเล่น) ในหลายหน่วยงานของ.... (เติมเองครับ) เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุดอยู่ในห้องหัวหน้าหน่วยงาน (ผู้อำนวยการ อาจารย์ใหญ่... ซึ่งไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ) เพื่อประดับบารมีด้วยการคลุมผ้าไว้อย่างดี กลัวว่า "ฝุ่นเกาะแล้วจะเก่า" เจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานที่ต้องใช้และสัมผัสทุกวันได้ใช้เครื่องที่โบราณมาก เรียกว่าน่าจะเอาขึ้นหิ้งด้วยซ้ำ โอกาสที่จะได้ใช้ก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่สาวสวยเท่านั้น ที่จะต้องขออนุญาตเข้าไปใช้ตามลำพังกับท่านสองต่อสอง (คนอื่นไม่เกี่ยวห้ามเข้า จริงไม่จริงไปสืบกันเอาเองนะ)

เมื่อผมได้เป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้บริหารโรงเรียน ก็เลยยกเอากรณีศึกษานี้มาพูด ในหลายหน่วยดีขึ้นครับ เพราะมองเห็นความสำคัญของงาน ยกออกมาให้ลูกน้องได้ใช้งานกัน มีเรื่องเล่าสู่กันฟังอีกเรื่อง ผู้บริหารคนหนึ่งได้ย้ายไปทำงานที่ใหม่ หลังจากรับทราบคำสั่งราชการก่อนจะเดินทางไปยังที่ทำงานที่ใหม่ ก็ได้รับคำสั่งสำทับมาจาก ผบ.ทบ. (ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน) ว่า ในห้องทำงานถ้าเป็นห้องเฉพาะมิดชิด ให้เอาเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร/แฟ็กซ์ ออกไว้ข้างนอกใหลูกน้องสาวๆ ใช้งาน ไม่งั้นโดน... แน่ (นี่ก็เรื่องจริงเอามาพูดเล่นเหมือนกัน)

ผมยกประเด็นนี้มาพูดเพื่อให้เห็นว่า การพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานใดๆ ก็ตาม ต้องพัฒนาหัวหน้าก่อน ให้เห็นประโยชน์และมีวิสัยทัศน์ ทำได้ เข้าใจ ชี้แนะลูกน้องได้ นั่นแหละจึงจะส่งผลมายังการพัฒนาลูกน้องได้อย่างประสบผลสำเร็จ

การแก้ไขปัญหา จึงควรจะศึกษาคอมพิวเตอร์ในทางทฤษฎีก่อน ค่อยๆ นำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยทีละนิด ได้ใช้งานจากสิ่งง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ จากนั้นค่อยเน้น ICT มากขึ้นเป็นพิเศษในการสอนในห้องเรียนจริง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ที่ดียิ่ง ในการพยายามเอาชนะหัวใจของครูที่อาวุโสทั้งหลาย ผู้ซึ่งจะพบว่า โลกของตนเป็นการสอนที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม คอมพิวเตอร์อาจเสนอแอพพลิเคชั่นระบบมากมาย ที่เป็นประโยชน์ที่ช่วยให้การสอนง่ายขึ้น นอกจากนี้ ICT ยังเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญ และเป็นผู้ร่วมงานในวิธีการสอนแบบดั้งเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น ครูพูดน้อยลง

วันนี้ที่เราต้องรีบเร่งพัฒนาครูก็เพราะว่า เราได้ปล่อยโอกาสเหล่านั้นมาถึงเด็กแล้ว พวกเขาได้เรียนรู้และใช้งานไปไกลกว่าครู ค้นพบในสิ่งต่างๆ หลากหลายตื่นตาตื่นใจ แน่นอนสิ่งที่เขาพบจะมีทั้งความจริงที่ควรรู้ ที่ต้องรู้ และมีบางสิ่งที่พวกเขาน่าจะได้รู้เมื่อถึงวัยอันควร เวลานี้พวกเขาแสวงหากันเองจากคำบอกของเพื่อนๆ เราจึงได้เห็นลูกหลาน ลูกศิษย์ และเยาวชนของชาติได้เตลิดเปิดเปิงไปไม่รู้ทิศรู้ทาง ตั้งแต่การพูดคุยไร้สาระ การเล่นเกมหามรุ่งหามค่ำ เข้าไปในเว็บอันไม่พึงปรารถนา นำไปสู่การก่ออาชญากรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดนหลอกลวง

ครูเราจะชี้แนะเขาได้ เราต้องรู้ความจริงก่อน ความจริงนั้น มาจากโลกของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนี่เอง และเป็นเหตุผลเดียวที่ครูต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเด็ก หรือก้าวล้ำไปกว่าเด็กให้ได้ คุณครูพร้อมที่จะก้าวเดินไปกับผมหรือยังครับ...????

ครูมนตรี     
บันทึกไว้เมื่อ : 21 กุมภาพันธ์ 2546

 

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy