foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

ห่างหายไปอาทิตย์หนึ่งครับ เพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย (ทุนจากการแคะกระปุกส่วนตัวนะครับ ไม่ต้องอิจฉาผม) ก็เป็นประสบการณ์และได้พบเห็นมุมมองใหม่ๆ เปรียบเทียบกับบ้านเราหลายเรื่อง พอได้เอามาเล่าสู่กันฟังครับ มีเรื่องดีๆ ที่น่าสนใจจนผมอิจฉาชาวออสซี่มากทีเดียว

หลากความประทับใจ 4 วันในออสเตรเลีย

ausie 06ความประทับใจสิ่งแรกที่พบ ในวันแรกที่เหยียบแผ่นดินออสเตรเลียคือ สิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่า ต้นไม้ สวนสวย จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประเทศออสเตรเลีย ขอให้มีพื้นที่ว่างแม้เพียงน้อยนิด เขาก็จะทำเป็นสวนสวยที่ผู้คนอาศัยในบริเวณใกล้เคียงจะช่วยกันดูแล ทั้งการตัดหญ้า รดน้ำ ใส่ปุ๋ย

พอเดินทางออกจากสนามบิน ไม่ว่าจะผ่านไปยังที่ใด จะเป็นถนน ซอยเล็ก หรือไฮเวย์ สิ่งที่จำเป็นต้องมีและให้ความสำคัญมากคือ เส้นทางจักรยาน เขาจะแบ่งแนวเส้นไว้ชัดเจนพร้อมเครื่องหมาย สิ่งที่ไม่น่าเชื่ออีกอย่างก็คือตลอดระยะเวลา 4 วันที่ผมเดินทางในซิดนีย์ เมลเบิร์น ผมไม่ได้ยินเสียงแตรรถยนต์บนท้องถนนเลยแม้สักครั้งเดียว บนถนนหากมีทางม้าลายพาดผ่านเมื่อใด หากเราไปยืนหันหน้าไปฝั่งถนนตรงข้าม (เหมือนกับยืนรอข้ามถนน) รถยนต์ก็จะหยุดให้คุณข้ามทันที

ถ้าเป็นทางแยกมีสัญญาณไฟ แม้จะเป็นไฟเขียวหากยังมีผู้คนเดินข้ามรถยนต์จะหยุดให้ และไม่มีการกระแทกแตรไล่หลังอย่างบ้านเรา และไม่พบเห็นพี่จ่าหลบมุมตามสี่แยกไฟแดงคอยออกใบสั่งเลย (นานๆ จึงจะเห็นรถมอเตอร์ไซค์ผ่าน และเป็นรถขนาดใหญ่ๆ 500-1000 ซีซี. ส่วนมากจะมีแต่จักรยาน)

ausie 07ความมีระเบียบวินัย ทั้งทางด้านการจราจร การเคารพกฏหมายจะมีสูงมาก เรื่องของอุบัติเหตุจราจรจึงไม่มีให้เห็น สอบถามคนขับรถได้ความว่า มีอุบัติเหตุเหมือนกันแต่น้อยมาก และส่วนใหญ่จะเกิดจากสิ่งที่คาดไม่ถึง มากกว่าการที่จะเกิดจากคนประมาท ออสเตรเลียเป็นประเทศที่น่าอยู่เนื่องจาก มีประชากรน้อย ปัญหาเรื่องโจรผู้ร้ายลักเล็กขโมยน้อยไม่มี (ตอนหลังมีบ้าง แต่เกิดจากคนเอเชีย / แอฟริกาที่อพยพเข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น) ความเป็นมิตรของผู้คนมีสูงมาก รัฐสวัสดิการดีเยี่ยมคนทำงาน ทุกอาชีพจะเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี จะมีสวัสดิการจากรัฐให้เดือนละ 400 เหรียญ/คน (ประมาณ 12,000 บาท ก็ไม่มากนักนะครับเพราะค่าครองชีพเขาสูงกว่าบ้านเรา ทานอาหารแบบประหยัดก็ประมาณมื้อละ 15 เหรียญเข้าไปแล้ว)

สุดยอดและน่าทึ่งจริงๆ ของที่นี่คือ น้ำดื่ม ครับ คือ เขาไม่มีน้ำดื่มขายและบริการเลย ในห้องพักในโรงแรมก็ไม่มีน้ำดื่มให้แม้แต่ขวดเดียว มีแต่น้ำแร่จำหน่ายราคาขายประมาณ 4.5-5 เหรียญ (ประมาณ 130-150 บาท) แต่ทุกที่ทั้งในสวนสาธารณะ ริมถนนหนทางจะมีก๊อกน้ำดื่มแบบกดอยู่ทั่วไป สอบถามได้ความว่า รัฐบาลออสเตรเลียรับประกันในเรื่องความสะอาดและมาตรฐานของน้ำดื่ม สามารถกดปุ่มดื่มได้ทันที แม้แต่ก๊อกในอ่างล้างหน้าในโรงแรม (ผมก็ลองมาแล้วหลายที่เหมือนกัน สะอาดปราศจากกลิ่นคลอรีน)

เรื่องของการศึกษาในออสเตรเลีย

ausie 02การเดินทางในครั้งนี้จุดประสงค์หลักคือ "การไปศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนในออสเตรเลีย" ซึ่งเราไปดูเปรียบเทียบกันระหว่างโรงเรียนที่เป็นของเอกชน (Private school) กับโรงเรียนรัฐบาล (Public school) ถ้าจะมีคำถามว่า แล้วจะนำมาใช้ได้ไหมในประเทศไทย? ก็คงต้องบอกว่ายากในทางปฏิบัติเพราะต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่หมด ที่เราพูดกันว่า ปฏิรูปแล้ว นั่นมันเพียงกระพี้เท่านั้นเองครับ

โรงเรียนแรกที่ไปดูคือ The Illawarra Grammar School ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Wollongong ห่างออกไปทางใต้ของ Sydney เป็นโรงเรียนเอกชนที่ค่าเล่าเรียนแพงมากแห่งหนึ่ง เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล - ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สภาพทั่วไปสวยงามมากเพราะตั้งบนเนินเขา อาคารเรียนจะลดหลั่นกันลงไป ความสะอาดไม่มีที่ติจริงๆ

การเรียนการสอนมาตรฐานของประเทศนี้คือ มีนักเรียนห้องเรียนละไม่เกิน 25 คน อัตราส่วนของครูต่อนักเรียนอยู่ที่ 1:10 (นี่คือสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ และทำให้เราประกันคุณภาพไม่ได้ด้วย)

ausie 03ผมได้พบภาพประทับใจของ "เด็กอนุบาล" ซึ่งได้รับการสอนวิธีใช้ห้องสมุดเป็นครั้งแรก คุณครูจะให้นักเรียนไปยังตู้หนังสือสำหรับเด็ก และให้ทุกคนเลือกหนังสือที่ตนเองชอบมาจำนวน 1 เล่ม ก่อนจะนำไปยื่นต่อบรรณารักษ์เพื่อขอยืมไปอ่าน นักเรียนจะต้องตอบคำถามบรรณารักษ์ว่า "ทำไมถึงเลือกหนังสือเล่มนั้น" เด็กๆ ก็จะตอบกันด้วยความมั่นใจถึงเหตุผลของเขา (มองกลับมาบ้านเรา เข้ามหาวิทยาลัยแล้วบางคนยังเลือกไม่เป็นเลยมั๊งถ้าอาจารย์ไม่สั่ง)

ตามประสาครูคอมพิวเตอร์ ก็เลยไปดูห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เขาหน่อย ผิดคาดครับ เครื่องมีไม่เยอะ (มากสุดก็ประมาณ 15 เครื่อง) เพราะเป็นวิชาเลือกสำหรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาทักษะขั้นสูงเท่านั้น (คอมพิวเตอร์มีในบ้านของนักเรียนเหมือนกับที่เรามีโทรทัศน์ในบ้าน จึงไม่จำเป็นสอนเรื่องพื้นฐานอีกแล้ว)

Believed it or Not!

ausie 01สไตล์การสอนของครูส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนกับที่ผมจั่วหัวเอาไว้ว่า คุณเชื่อหรือไม่? ถ้าไม่เชื่อก็หาเหตุผลมา สิ่งที่ครูบอกนักเรียนไม่จำเป็นต้องเชื่อเสมอไปว่าถูกต้อง นักเรียนค้านได้แต่ต้องมีเหตุผลประกอบมาหักล้างกัน เรียกว่าความรู้ต้องได้มาจากการศึกษาค้นคว้าด้วยเหตุและผล ไม่ใช่ฟังคำร่ำลือ

ผมเข้าไปในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เขากำลังถกเถียงหาเหตุผลมาสนับสนุนและหักล้างกันในเรื่องการก่อสร้างปิรามิดของชาวอิยิปต์ วิธีการเรียนของเขาคือ นักเรียนจะมีสมุดตารางกำหนดการเรียนรู้ในแต่ละภาคเรียน (Homework & Study Planner) ซึ่งทางโรงเรียนจะกำหนดห้วงเวลาว่า ในแต่ละช่วงสัปดาห์นักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องอะไร? ต้องศึกษาและเตรียมตัว อย่างไรไว้ล่วงหน้า

เมื่อถึงเวลาเรียนในวิชานั้นๆ บรรยากาศของการเรียนรู้จึงมีรูปแบบในการระดมความคิดแลกเปลี่ยนความรู้จากสิ่งที่ตนเองได้รับมาอย่างเข้มข้น ครูมีเพียงทำหน้าที่แนะนำ กำหนดทิศทางและสรุปองค์ความรู้ในช่วงสุดท้ายเท่านั้น ครูยังมีมุขตลกบอกนักเรียนได้อีกว่า ครูก็ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเขาสร้างกันอย่างไรเพราะเกิดไม่ทัน แต่ทุกอย่างมีความจริงกระจ่างได้จากหลักฐานที่เราแสวงหาและค้นพบเหมือนที่เราเรียนกันในวันนี้

โรงเรียนที่สองที่ไปเยี่ยมชมเป็นโรงเรียนรัฐบาล ชื่อ Coomoora Secondary College ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนเล็กๆ ห่างออกไปทางใต้ของเมืองเมลเบิร์นประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นโรงเรียนรัฐบาล สภาพโดยทั่วไปต่างจากโรงเรียนแรกอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องความสะอาด สภาพห้องเรียนอาคารเรียน จะสู้เอกชนไม่ได้ ที่เหมือนกันมีเพียงจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คน

ausie 10การจัดการเรียนการสอนจะเหมือนกันคือ ให้นักเรียนได้แสวงหาความรู้จากการระดมความคิดและปฏิบัติ อย่างห้องเรียนนี้กำลังศึกษาเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า พวกเขาจะต้องเตรียมการศึกษามาล่วงหน้าด้านทฤษฎีจากตำรา/เว็บไซต์ต่างๆ ที่ครูได้ชี้แนะไว้ในกำหนดการเรียนรู้ เมื่อถึงเวลาเรียนพวกเขาจะแบ่งกลุ่มช่วยกันสร้างจากอุปกรณ์ที่ครูได้จัดเตรียมไว้ให้

การแบ่งกลุ่มจะเน้นที่กลุ่มเล็กๆ 2-4 คน (เขาแนะนำว่า ยิ่งกลุ่มขนาดเล็กยิ่งให้ผลดี) ทุกคนในกลุ่มจะต้องช่วยกันคิด วางแผน ทำโครงร่างในกระดาษ เมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะแบ่งหน้าที่กันไป คนพันขดลวด คนประกอบฐานยึด บัดกรี ต่อสายไฟ และทดสอบ บันทึกผลเพื่อนำเสนอต่อหน้าชั้น

คราวนี้พอหันกลับมามองบ้านเราแล้วมันเหี่ยวใจครับ เราจะประกันคุณภาพการศึกษาของเราได้อย่างไร? เมื่อความสมดุลย์ระหว่างครูกับนักเรียนของเราห่างเป็น 2 เท่า ภาระงานของครูตอนนี้งานสอนน้อยกว่างานเอกสารบ้าบอคอแตกที่เจ้านายท่านต้องการรายงานไปอ้างเอาหน้าว่า นโยบายที่ข้าฝันมันสำเร็จแล้ว พวกเราสนใจแต่ตัวป้อน (Input) ต้องมาก เยอะสุดๆ เพื่อจะได้เลื่อนซีเลื่อนชั้น ส่วนผลลัพธ์ (Output) มันจะตกเหวลงนรกช่างหัวมัน ถ้าระบบของเรายังคงเป็นแบบนี้ อีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นปีทองของโรงเรียนเอกชนใหม่ที่มีขนาดเล็ก คุณภาพคับแก้ว เก็บค่าเล่าเรียนแพงจะกลับมา ส่วนโรงเรียนรัฐบาลก็จะค่อยๆ เหี่ยวเฉาตายไปในที่สุด (ผมไม่ใช่มอสตราดามุส แต่อยากทำนายอนาคตการศึกษาไทยไว้ตรงนี้... โปรดรอ!... ถ้าทนได้)

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ 2548

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy