webmaster talk

เรียนไปทำไมกัน ?

โดย ดร.ปัญญา  เปรมปรีด์   

student 03นักการศึกษายุคใหม่กำลังโจมตีนักการศึกยุคเก่าว่าสอนหนังสือเด็กผิดวิธี คือสอนให้เด็กท่องจำ ซึ่งมันทำให้เบื่อ ไม่อยากเรียน แล้วก็เลยทำให้เด็กเรียนรู้ได้น้อย เรียนจบมาแล้วทำงานไม่ได้ ทำให้ผลผลิตของประเทศไม่มีคุณภาพ และหมดโอกาสที่จะแข่งขันในตลาดโลก นักการศึกษายุคใหม่บอกว่าต้องทำให้เด็กสนุกไปกับการเรียน แล้วก็หวังว่าเด็กจะรับรู้เข้าไปได้มาก และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ผมกลับเห็นว่า นักการศึกษายุคใหม่นั่นแหละที่จะพาเด็กลงเหว ทั้งนี้เพราะแนวคิดใหม่ดังกล่าวนี้จะยิ่งทำให้เด็กขาดความรู้ เหตุผลของผมมีดังนี้

ในการเรียนการสอนนี้เราต้องดูที่เป้าหมายกันเสียก่อน เป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนก็คือ จะได้มีความรู้ไปทำประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ความรู้คือสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ ถ้าเด็กไม้รู้เป้าหมาย และไม่เห็นประโยชน์ของความรู้ เด็กก็จะไม่เรียน เด็กจะไม่ยอมจำ เด็กจะฟังแล้วปล่อยผ่าน แล้วเด็กก็จะเอาจิตใจไปคิดถึงเรื่องอื่น ระบบการศึกษาแบบเดิมนั้นผู้ใหญ่เป็นผู้จัดหลักสูตร แล้วก็บอกเด็กว่าต้องเรียน ต้องรู้ ต้องจดจำเอาไว้ เด็กรับทราบเป้าหมายโดยไม่เข้าใจ แต่อย่างน้อยก็ยอมรับว่า " มันคงมีประโยชน์ในอนาคต" เด็กยอมเชื่อเพราะเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่ และถ้าครูคนไหนใจดีก็จะเชื่อมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการเรียนรู้กันอยู่บ้าง เพียงแต่ว่ามันไม่เต็มที่ เมื่อเรียนไปจนถึงระดับสูงๆ แล้วจึงมาเข้าใจในเหตุผลที่ครูเคยพร่ำสอน แต่ก็มักจะสายเกินไปที่จะหวนกลับมาเรียนรู้สิ่งที่ครูเคยสอนไว้

แต่แนวการศึกษาใหม่ ที่ย้ำที่จะสร้างความสนุกสนานในชั้นเรียนนั้น จะทำให้เด็กหลงทิศทาง เด็กเข้ามาเรียนเพื่อแสวงหาความสนุก มันจึงผิดเป้า เด็กไม่ได้เข้ามาแสวงหาสิ่งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ผมอยากจะให้ดูการเรียนของเด็กในสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบันเป็นตัวอย่าง การเอาเด็กไปนั่งร้องเพลงที่เกี่ยวกับตัวอักษรนั้นดึงดูดความสนใจของเด็กอนุบาลได้ แต่เด็กไม่รู้เป้าหมาย เมื่อโตขึ้นมาถึงขั้นมัธยม ก็พยายามจะแสวงหาชั้นเรียนในรูปแบบเดิม ครูอเมริกันทั้งหลายก็ต้องปรับตัว คือ ต้องพูดให้มันสนุกสนาน ต้องเป็นกันเองกับเด็ก…….ฯลฯ ลงท้ายความรู้ที่เด็กได้รับจะเป็นแค่ผลพลอยได้ มันก็จะรับไปเพียงบางส่วน และรับอย่างอื่นไปจนจัดหมวดหมู่ไม่ได้ จบออกมาแล้วดูเหมือนจะมีความรู้มากมาย แต่ไม่มีความละเอียด ไม่มีแก่นแท้ และเมื่อถึงคราวจะต้องนำมาปฏิบัติก็มักจะทำไม่ได้

ความไม่แน่นของความรู้ของคนอเมริกันนี้ จะเห็นได้จากรายการทางโทรทัศน์อันหนึ่ง ซึ่งกำลังออกอากาศอยู่ในช่วงนี้ คือ มีคนเขาจัดเป็นเกมผจญภัยขึ้นมา เขาให้ผู้ร่วมรายการแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมละประมาณ 8 คน เสร็จแล้วก็พานั่งเรือไปปล่อยบนเกาะที่มีขนาดพอสมควร บนเกาะนี้มีต้นมะพร้าว มีสัตว์ป่าตามธรรมชาติ รอบเกาะมีกุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งหมดนี้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตโดยธรรมชาติ แล้วเขาก็ให้ผู้ร่วมรายการเหล่านั้น พยายามอยู่กินให้ได้นานที่สุด แต่จะมีการมาประชุมและโหวต เพื่อคัดผู้เข้าร่วมรายการออกครั้งละ 1 คน คนสุดท้ายที่อยู่ได้จะได้รับเงินรางวัลถึง 1 ล้านเหรียญ

ครับ, ปัญหาอันแรกที่เขากำหนดให้แก้ไขคือ ถ้าไม่มีไม้ขีดไฟหรือไฟแช็คเลย ทั้ง 2 ทีมจะจุดไฟได้อย่างไร ไฟเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิต เราใช้ไฟเพื่อประกอบอาหารและให้ความอบอุ่น การแก้ปัญหานี้ทีมผู้จัดได้ถ่ายเป็นวิดีโอเอาไว้ แล้วนำมาออกรายการ รายได้จากรายการคือแหล่งที่มาของค่าใช่จ่ายและรางวัลที่จะให้แก่ผู้ชนะ

จากรายการอันนี้ ผมได้เห็นความพยายามที่จะใช้ความรู้ของคนสิบกว่าคนดังกล่าว ทุกคนรู้ดีว่าต้องใช้ไม้มาถูกัน บนท่อนไม้นี้ให้เอามีดมาเจาะเป็นหลุมเล็กๆ แล้วก็ต้องมีคันธนู 1 อัน กับท่อนไม้เล็กๆ ยาวประมาณฟุตครึ่งอีก 1 อัน การจุดไฟนั้นต้องเอาไม้ท่อนเล็กดังกล่าวตั้งอยู่บนหลุม แล้วใช้คันธนูมาหมุนท่อนไม้เล็กดังกล่าว เมื่อหมุนแล้วจะเกิดความร้อนที่ปลายท่อนไม้เล็กที่จิ้มอยู่ในหลุมของท่อนไม้ใหญ่ แต่ความรู้ของผู้เล่นเกมเหล่านั้นมันไม่แน่น พวกเขาทั้งสองทีมพยายามตั้งแต่เที่ยงวัน ไปจนเกือบมืด แต่ก็ไม่สามารถจุดไฟได้ ผู้จัดรายการได้พยายามถ่ายวีดีโอให้เห็นถึง ความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ไม่สำเร็จ ลงท้ายในวันแรกนั้นผู้จัดรายการต้องจัดอาหารมาให้ และในวันถัดมาต้องจัดเป็นเกมที่จะแข่งขันกันไปแย่งชิงการเป็นเจ้าของกองไฟ

ครับ ,มันอาจเป็นความประจวบเหมาะที่คนสองทีมนั้นเป็นคนที่ไม่รู้จริง แต่เราลองถามตัวเราเองดูสิว่า เราเคยจุดไฟด้วยไม้และคันธนูได้จริงหรือไม่ และคนไทยเราจะทำได้ดีกว่าฝรั่งชุดนั้นหรือไม่ ?

ผมเชื่อว่าคนไทยและคนชาติอื่น อีกหลายๆ เชื้อชาติจะทำได้ดีกว่าฝรั่งชุดนั้น ทั้งนี้เพราะระบบการศึกษา (แบบเก่า ๆ) ของเราและสภาพแวดล้อมที่ยังใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าของเรา จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เอาตัวผมเองเป็นตัวอย่างก็ได้ ผมเห็นข้อบกพร่องของทีมทั้งสองมากมายหลายอย่าง ซึ่งพวกเขาไม่รู้ พวกเขามองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น

  • ปลายอีกด้านหนึ่งของท่อนไม้เล็กนั้น ต้องมีเบ้ามาครอบ และต้องมีไขมันหล่อลื่นมาใส่ ไขมันนั้นหาได้จากพุงปลา ต้องให้คนในทีมไปจับปลามาให้สัก 1 ตัว ตัดพุงของมันมาใส่เบ้า ตัวเบ้าก็คือไม้ขนาดมือกำได้ ยาว สัก 1 ฟุต เจาะเป็นหลุมลึกอยู่ตรงกลาง ทำคล้ายกับหลุมบนท่อนไม้ใหญ่ที่ใช้เป็นจุดเสียดสีและให้ความร้อน
  • ในขณะที่เอาคันธนูมาหมุนท่อนไม้นั้น คนที่จับเบ้าที่ปลายด้านบน จะต้องออกแรงกดลงมาด้วย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มแรงเสียดสีที่หลุมด้านล่าง ซึ่งจะเพิ่มความร้อนที่ปลายท่อนไม้ในหลุม เพิ่มจนถึงจุดที่จะติดไฟได้เมื่อเอากาบมะพร้าวหรือหญ้าแห้งมาจี้โดน
  • ไม้ท่อนเล็กที่ใช้หมุนเพื่อให้เกิดแรงเสียดสีอันนี้ จะต้องเป็นไม้ที่แห้งและมีเนื้อในที่แกร่ง ไม่ใช่ไม้เนื้ออ่อนที่พวกเขาใช้กัน ทั้งนี้เพราะมันจะต้องอมความร้อนเอาไว้ได้นานๆ

ครับ, ผมเองก็ไม่เคยจุดไฟด้วยวิธีดังกล่าว แต่ผมมีความเข้าใจที่ลึกลงไปอีกหน่อยหนึ่ง เช่น เบ้าข้างบนกับหลุมข้างล่างนั้นมันคล้ายกัน เราต้องเอาน้ำมันจากพุงปลามาใส่ในเบ้าเพื่อลดแรงเสียดทาน ถ้าไม่มีน้ำมันหล่อลื่นในเบ้า แรงหมุนจะต้องเพิ่มขึ้น 2 เท่าซึ่งจะทำให้คันธนูหักหรือสายธนูขาด (อย่างที่เห็นในรายการทีวีดังกล่าว)

โอเค, ขอย้อนกลับมาถึงเรื่องของ "การวางเป้าหมายของการเรียนรู้" อึกครั้งหนึ่ง หลายๆ คนคงจะเถียงในใจว่าเด็กอนุบาล และเด็กชั้นประถม หรือมัธยมนั้นไม่สามารถจะเข้าใจเป้าหมายของการเรียนรู้ได้ นักการศึกษาแบบเก่าจะบอกว่าจุดที่ประยุกต์ความรู้ กับจุดของการเรียนรู้มันอยู่ห่างกันมากเกินไปที่จะทำให้เด็กมองเห็นได้ เราต้องใช้วิธีสั่งให้เด็กเชื่อตามครูไปก่อน สำหรับนักการศึกษารุ่นใหม่ก็จะบอกว่าเด็กยังไม่มีความสามารถที่จะคิดอย่างเป็นระบบ จึงต้องปล่อยให้เขาได้เข้ามาสัมผัสกับความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งนี้โดยอาศัย "ความสนุกสนานในกิจกรรม" เป็นตัวดึงดูด

student 02ครับ, ข้อนี้ผมก็ไม่เชื่ออีก ผมกลับเห็นว่าเด็กมีความต้องการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเรื่องไหนจะนำไปใช้ประโยชน์ตรงไหน ทั้งนี้เพราะเขายังไม่เห็นรายละเอียดของเรื่อง เขาอยากเรียนรู้ไปหมดทุกเรื่อง ทุกอย่าง เขาปล่อยให้สถานะการณ์รอบตัวเป็นตัวผลักดัน ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องไปบังคับให้เรียน และไม่จำเป็นต้องหลอกล่อด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน (ที่ไม่ตรงเป้า)

ครูคือผู้ที่จะต้องชี้เสียก่อนว่าเรื่องที่จะเรียนกันในวันนั้น จะนำไปใช้ประโยชน์ตรงไหน และหลังจากบรรยายจนจบแล้วก็ย้อนกลับมาถามย้ำว่าเด็กมองเห็นประโยชน็ได้จริงหรือไม่ เด็กมีความคิด เขาสามารถเข้าใจได้เมื่อรู้รายละเอียดของเรื่องนั้นๆ แล้ว สำหรับเด็กที่อยากรู้เรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว (เพราะเห็นประโยชน์ใช้สอยในอนาคต) จะเรียนด้วยความสนใจและจะซักถามเพื่อให้ถึงแก่น เข้าถึงจุดที่สามารถจะนำไปปฏิบัติได้ในอนาคต

ขอให้สังเกตว่า ความรู้มากมายหลายล้านชิ้นที่คนเราเรียนรู้ไว้นั้นอาจไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงๆ เลยสักครั้ง อย่างความรู้เรื่องการจุดไฟด้วยแรงเสียดสีกันของไม้ 2 ชิ้น ที่กล่าวมาแล้วเป็นต้น แต่เด็กก็เห็นว่ามีประโยชน์ เขาจึงจดจำเอาไว้ ดังนั้น การชี้นำหรือย้ำถึงประโยชน์ของความรู้แต่ละชิ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ครับ , ตรงนี้แหละที่ผมอยากให้มีการปรับปรุง

คือต้องบอกกันเสียก่อนว่า เรื่องที่จะสอนนั้นจะมีประโยชน์อย่างไร และต้องทบทวนความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่า เด็กมองเห็นประโยชน์ได้จริงหรือไม่

เรื่องนี้เอามาใช้ในวิชาชีพไอที (IT) ได้อย่างไร ?

ไอที (IT) นับเป็นความรู้ที่ซับซ้อน และมองเห็นประโยชน์ได้ยากมาก ในขณะนี้เรากำลังหลงทิศกันอย่างหนัก คือพยายามเอาเรื่องของการท่องไปในไซเบอร์สเปส มาดึง หน่วยราชการต่างๆ พยายามสร้างเว็บไซท์ โรงเรียนต่างๆ พยายามติดตั้งเครื่อง เพื่อให้เด็กเข้าอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยต่างๆ พยายามขอเงินไปทำบทเรียนผ่านทางเว็บ และขอทำห้องเรียนแบบสอนทางไกล เขาคิดว่าจะช่วยเพิ่มความตื่นตาตื่นใจ บทเรียนจะเป็นแบบมัลติมีเดีย ……….ฯลฯ

ผลที่ได้ในขณะนี้คือ ชาวบ้านที่ซื้อเครื่องพีซีมาต่อเข้าอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ไม่เห็นประโยชน์อะไร ข้อมูลในเว็บไซท์ของไทยนั้นเก่า ไม่มีการอัพเดทเป็นเดือนๆ เว็บไซท์ของหน่วยราชการก็เป็นภาษฝรั่ง และเป็นแค่บอกว่าหน่วยงานมีหน้าที่ทำอะไร ลงท้ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็คือ เด็ก พวกเขาเข้าไปแชทกัน เข้าไปค้นหาเว็บไซท์ลามกกัน เข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมผิดกฎหมายกัน ส่วนทบวงมหาวิทยาลัยที่คุยนักคุยหนาว่า จะจัดทำบทเรียนแบบมัลติมีเดียที่สวยหรู ผมก็ยังไม่เห็นออกมาสักเรื่อง ห้องเรียนสอนทางไกลนั้นก็แค่สาธิตให้ดู เพราะมันดูแลยากมากๆ ห้องเรียนธรรมดาๆ มีเป็นแสนห้องก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

ครับ ไอทีกลายเป็นแค่เครื่องมือเพื่อคุยว่า "เราทันสมัยแล้วนะ" เท่านั้นเอง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข เราต้องสอนให้เด็กเห็นประโยชน์ของคอมพิวเตอร์และไอทีอย่างแท้จริง เรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นประถม เช่น เอาเกมมาให้เล่น โดยเน้นว่าจะได้รู้ว่าชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง ความรู้อันนี้ต้องใช้ในการดูแลบำรุงรักษาด้วยตนเองในอนาคต

หลังจากเอาเกมมาให้เล่นแล้วก็ ต้องชี้ให้เห็นว่า เครื่องต้องมีโปรแกรม และชักจูงใจให้หันมาสนใจในการคิดเกมและเขียนโปรแกรมเอง เราต้องชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะให้เครื่องทำอะไรๆ เป็นพิเศษให้ เราในอนาคตนั้นอาจต้องเขียนโปรแกรมเอง มันไม่มีใครที่จะมาทำให้เราได้หมดทุกอย่าง หลังจากเริ่มเขียนโปรแกรมเป็น ซึ่งควรจะอยู่ในระดับชั้นมัธยมแล้ว เราก็ต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของความเร็วในการทำงานของเครื่อง ประโยชน์ในการถ่ายโอนข้อมูล หลังจากผ่านระดับชั้นมัธยมขึ้นสู่อุดมศึกษาเราก็ต้องให้เขาทดลองเก็บข้อมูลสถิติ และการนำมาวิเคราะห์หาความจริงต่างๆ มันจะต้องผูกโยงไปถึงการใช้ในวิชาชีพต่างๆ เมื่อขึ้นระดับปริญญาโทและเอก เราก็ต้องให้เด็กมองเห็นศักยภาพในการ "ขยายความคิด" ของคน นั่นคือคนจะเป็นผู้คิดและวางแผน ส่วนเครื่องเป็นลูกมือในการคำนวณตามที่คนติด มันคือเครื่องจักรที่จะช่วยขยายความสามารถของมนุษย์ และเขาจะต้องทำโครงการจนสำเร็จและเห็นผล

ครับ, มันไม่ใช่แค่การ "อัดความรู้เข้าไป" หรือ "หลอกให้มาสนุกกับการเรียน" เราต้องชี้ให้เขาเห็นประโชน์ของความรู้ที่จะสอนและเมื่อสอนเสร็จแล้วต้องสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าเขาเห็นประโยชน์ของบทเรียนนั้นๆ จริง

ครับ, นี่เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากประสบการณ์ คือผมจะเรียนรู้หรืออ่านก็เมื่อรู้ว่า มันจะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดในอนาคต และผมเรียนหรืออ่านได้สนุกมาก เพราะมันทำให้เห็นเป็นเงิน หรือตำแหน่ง หรือชื่อเสียง ที่จะลอยมาอยู่ในมือของผม และผมก็ทำได้โดยไม่ต้องออกแรงไปโกหก ตอแหล หรือคดโกงใคร

ที่มาของบทความ : DrPunya.com ด้วยความที่อาจารย์มีมุมมองประทับใจผมอยากให้ได้อ่านกันหลายๆ คนครับ

"บทความนี้เป็นของ ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า"