webmaster talk

ปีใหม่... แต่หัวใจยังเหมือนเดิม (คนเดิมๆ)

children 17เริ่มปีใหม่ 2549 แม้จะไม่สดใสนัก เพราะราคาน้ำมันยังพุ่งพรวดๆ ยิ่งกว่าส่งจรวดไปโคจรรอบดาวอังคารเสียอีก น้ำตาลที่เคยหวานก็พานขม (ขาดตลาด) รายได้ก็ไม่สดใสดังที่คิดดังที่หวัง แต่พวกเราก็ยังไม่ท้อที่จะทำหน้าที่เป็นครูต่อไปนะครับ

เห็นเพื่อนพ้องหลายๆ คนกำลังสาละวนกับการเตรียมรับการประเมินกันยกใหญ่ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านก็แล้วกัน ปีนี้งานแรกเพื่อสาธารณชนคือ การเดินทางไปร่วมเป็นกรรมการตัดสิน NSC2006 ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวานนี้ (10 มกราคม) ได้พบกับเพื่อนครูหลายๆ ท่านที่นำลูกศิษย์ลูกหาไปแสดงผลงาน เพื่อรับการประเมินตัดสินรับทุน ในการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ จากทาง NECTEC ทั้งในระดับนักเรียนมัธยม และนิสิต/นักศึกษาในมหาวิทยาลัย

ปีนี้ได้เห็นการพัฒนาฝีมือของผู้เข้าร่วมการแข่งขันในโครงการหลากหลาย มีผลงานที่ยอดเยี่ยมน่าตื่นตาตื่นใจ จนเรียกได้ว่ามีการพัฒนาศักยภาพมากขึ้นในทุกๆ ปี ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ประเทศของเราก็จะมีนักพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาใช้งานเองอีกจำนวนเพิ่มมากขึ้น ลดสัดส่วนนักบริโภคหรือเป็นเพียงผู้ใช้งานมาเป็นผู้ผลิตซอฟท์แวร์ออกสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

 และในครั้งนี้ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณกำธร ไกรรักษ์ หัวหน้าทีมพัฒนา ลินุกส์ทะเล ของเนคเทคหลายๆ เรื่อง ทั้ง LinuxSIS 5.0 Beta1 ที่ได้ออกมาให้ได้ทดลองทดสอบใช้งานกันแล้ว ก็ได้ทราบว่า ทีมพัฒนาลินุกส์ซิสเดิม (คุณสาดิษฐ์) ไม่ได้ทำโครงการนี้ต่อแล้ว เนื่องจากติดโปรเจกต์อื่นๆ อยู่ คุณกำธรจึงต้องรับหน้าที่มาพัฒนาต่อ ซึ่งเจ้าตัวก็ออกตัวว่าไม่ถนัดนักในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ เพราะทำแต่ทางเดสก์ท็อปทะเลมาตลอด

การจะทำเครื่องเซิร์ฟเวอร์ให้ติดตั้งได้ง่ายนั้น ก็จะมีข้อเสียในด้านความปลอดภัย (เหมือนกับ SIS4.2 เคยมีปัญหามาแล้ว) เพราะในขณะนี้โรงเรียนที่จะนำไปใช้งาน ก็มักจะนำไปต่อเข้ากับเบอร์ไอพีจริง เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตลีสไลน์ หรือดาวเทียม เลยต้องมีการเขียนโปรแกรมช่วยในการติดตั้งระบบเข้าไปมากมาย การพัฒนาจึงค่อนข้างช้าไปด้วย รวมทั้งความต้องการที่จะให้เครื่องเดียวทำหลายหน้าที่ ทั้งเป็นเครื่อง Proxy, Web, Mail Server ด้วยในตัวเสร็จสรรพ แต่คาดว่าในต้นมีนาคมน่าจะมีเวอร์ชั่น เบต้า2 ออกมาให้ทดสอบกัน

ยังจำกันได้ไหมเรื่อง Notebook 100$ ที่นายกทักษิณสนใจอยากจะซื้อมาแจกนักเรียน ถ้าคิดว่ามันเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับราคา 4,000 บาทมันก็น่าสนใจนะ แต่นั่นหมายถึงต้องซื้อทีละ 1 ล้านเครื่อง คิดเป็นเงินสี่พันล้านบาทไม่น้อยนะครับ ผมไปอ่านบทความของอาจารย์ยืน ภู่วรวรรณ เขียนไว้ในไมโครคอมพิวเตอร์ เล่มที่ 246 เดือน มกราคม ปีนี้แล้วเห็นด้วยกับอาจารย์ยืนมากทีเดียว อาจารย์ท่านว่าไว้อย่างนี้

เรามักชื่นชอบกับความสามารถของชาวต่างชาติ โดยไม่ให้โอกาสคนไทยด้วยกันเอง "

labtop 2"เครื่องโน้ตบุ๊คร้อยเหรียญของเอ็มไอที ที่เราจะซื้อมีข้อมูลบนเว็บไซต์ดังนี้ ซีพียู K5 ทำงานที่ 500 MHz เทียบประมาณแล้วอยู่ที่เพนเทียมทรี ที่ตกรุ่นมานานแล้ว มีหน่วยความจำ 256 MB ไม่มีฮาร์ดดิสก์ แต่ใช้แฟลชเมโมรีขนาด 1 GB มี Wi-Fi สำหรับต่อเน็ตได้ แน่นอนคงลงวินโดว์ของไมโครซอฟท์ไม่ได้ ต้องใช้ลินุกส์และโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ แถมยังมีมือหมุนปั่นไฟสำหรับใช้ในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า มันเหมาะกับประเทศเราหรือไม่?

มีหลายๆ โครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่จัดหาเครื่องเก่าให้กับโรงเรียน เครื่องเก่าบางตัวยังมีคุณสมบัติดีกว่าโน้ตบุ๊คร้อยเหรียญ เพราะอย่างต่ำก็เป็นเพนเทียมทรี ถึงแม้จะเป็นเครื่องตั้งโต๊ะติดตั้งที่โรงเรียน ครูกับนักเรียนก็ยังได้ใช้ประโยชน์ สามารถต่ออินเทอร์เน็ต หรือรับ-ส่งข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ ไม่ต้องลงทุนเรื่องแลนไร้สาย อีกทั้งยังเก็บข้อมูลเพื่อใช้งานออฟไลน์ได้อีกมาก ถ้าไม่มี Wi-Fi โน้ตบุ๊คร้อยเหรียญจะเป็นอย่างไร ไม่มีฮาร์ดดิสก์ ไม่มีเครื่องอ่านซีดี แล้วจะเอาข้อมูลมาจากไหน แฟลชมีไว้ลงระบบ และโปรแกรมก็เต็มแล้ว เราจะต้องลงทุนกับระบบไวไฟนี่อีกกี่ร้อยเหรียญ แล้วในที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จะมีไวไฟหรือแลนไร้สายได้อย่างไร?"

หากเราคิดให้ครบทุกด้าน เรามีทางเลือกอีกหลายทางที่ถูกกว่าร้อยเหรียญซะอีก การรณรงค์ขอบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าตกรุ่นจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน เราน่าจะได้เครื่องฟรีมากเป็นแสนเครื่อง ให้นักเรียนอาชีวะปรับปรุงนิดหน่อยโดยไม่ต้องใช้เงินถึงร้อยเหรียญ เราน่าจะได้เครื่องที่มีสเปกดีกว่า การใช้งานในโรงเรียนก็น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า หรือว่าวิธีการนี้ไม่มีการจัดซื้อเครื่อง ไม่ใช่เม็กกะโปรเจกต์ที่สามารถหากินตามน้ำได้ก็เลยไม่สนใจที่จะทำ????

virusเมื่อพูดมาถึงเรื่องของคอมพิวเตอร์แล้ว ก็ขอพูดถึง สิ่งที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในโลกไอทีปี 2549 กันหน่อยนะครับ ที่ไม่มีวันลดมีแต่จะเพิ่มขึ้นคือพวกไวรัส หนอน สปายแวร์และบรรดาแฮกเกอร์ การคุกคามจะมีมากขึ้น ตามความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น การเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายถ้าไม่ระมัดระวังตัว โอกาสที่จะได้รับการคุกคามจากภัยเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้น การระมัดระวังและป้องกันตัวที่ดีที่สุด คือ การติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสและหมั่นอัพเดทอย่างสม่ำเสมอจะช่วยได้มาก

ระบบปฏิบัติการใหม่ๆ ก็จะออกมาให้ยลโฉมกันอย่าง Windows Vista ที่จะมาแทน Windows XP และจะเปิดตัวพร้อมกับ Microsoft Office 12 ที่จะมีเมนูและการทำงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับการสิ้นเปลืองทรัพยากรระบบ หรืออาจะจะต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ไปเลย ถ้าเครื่องเดิมแรงน้อยไปหน่อย เราคงจะไม่ได้ยินชื่อของบริษัท Macromedia กันอีกแล้ว เพราะทาง Adobe ซื้อหุ้นของ Macromedia ไปหมด และยังบอกอีกว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ขึ้นต้นด้วย Macromedia จะไม่มีอีกแล้ว

ทางฝั่งโอเพนซอร์สนั้น จะมีการรุดหน้าไปมากในด้านเครือข่ายระดับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ Linux หลากหลายค่ายจะออกมาให้ได้ทดลองใช้กันทั้ง RedHat, Fedora, Suse, Ubantu รวมทั้งของไทยอย่าง LinuxSIS 5.0, Suriyan ที่ปล่อยเวอร์ชั่นเบต้าออกมาให้ทดสอบแล้ว สำหรับซอฟท์แวร์ที่เป็นโอเพนซอร์สก็มีออกมาให้ได้ใช้งานกันมากทีเดียว ผมขอแนะนำ Chandra 1.1 รวมโปรแกรมโอเพนซอร์ส ที่ทำงานได้ดีบนวินโดว์มีที่น่าใช้หลายตัว รวมทั้งซอฟท์แวร์การศึกษาต่างๆ Education & Game ลองไปดาวน์โหลดมาใช้งานกันดูนะครับ ของฟรีที่ดีๆ ก็มีอยู่ในโลกเหมือนกันนะจะบอกให้...!!!

สำหรับท่านที่มีอีเมล์ไปถึงผมสอบถามปัญหาต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับสร้างเว็บและการตกแต่งภาพกราฟิก ทำหัวเรื่องนั้น ผมได้รวบรวมมาตอบไว้ในหัวข้อ ครูหัดสร้างเว็บแบบง่ายๆ > คุณถามมาเราตอบ นะครับ ไปอ่านกันดูตรงนั้นเพราะบางเรื่องน่าจะมีประโยชน์กับท่านอื่นๆ ด้วย และมีภาพประกอบเพื่อความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ท่านที่ยังไม่ได้รับคำตอบใจเย็นนิดหนึ่งกำลังจับภาพหน้าจอและเรียบเรียงวิธีการทำอยู่ครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 22 มกราคม 2549