foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

Tell me more : บอกผมหน่อยสิว่าจะเอาอย่างไร?    

aboatคืนวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมาได้ชมรายการโทรทัศน์ "หลุมดำ" ตอน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทางช่อง 9 อสมท. ก็ได้แต่สะท้อนใจในความเป็นไปของการ ปะ ติ ลูบ คลำ ทางการศึกษา ที่ผ่านมาหลายปีแต่ยังไม่เคยเกิดมรรคผลและดูเหมือนจะถอยหลังเข้าคลองมากกว่าเดิม ในระดับผู้ปฏิบัติงานยอมรับว่ามันเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ แต่ในบทรายงานที่ถูกส่งไปยังหน่วยเหนือนั้น จะวิเศษเลิศลอยเช่นใดผมไม่อาจทราบได้ ได้ดูจนจบแล้วก็คิดย้อนไปถึงสิ่งที่ผมพบเห็นในการเดินทางไปเป็นวิทยากรหรือร่วมประชุมในที่ต่างๆ จากการได้พูดคุย แลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูหลายๆ จังหวัดทั้งจากในเมืองและชนบท ล้วนแต่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การสอนเด็กในวันนี้ยากกว่าเมื่อก่อนมากมายนัก ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการสื่อสาร ICT ก้าวหน้าไปมากกว่าเมื่อก่อน

ทั้งจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จากสังคมชนบทเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมเมือง (จากการเลียนแบบจากสื่อต่างๆ) ทำให้วิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป พ่อแม่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะดูแลและเอาใจใส่ลูก ปล่อยให้วิทยุ-โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์เป็นพี่เลี้ยง ความเอื้ออาทร รักใคร่ ให้ความอบอุ่นเหมือนในอดีตเริ่มจางหาย กลายเป็นใช้เงินเลี้ยงลูกแทนพ่อแม่

dek comบางท่านอาจจะนึกในใจว่า มันเกี่ยวกับการเรียนในโรงเรียนตรงไหน อย่างไร? เกี่ยวกันแน่ครับ เมื่อเด็กไม่มีพ่อ-แม่-ผู้ปกครองที่รักและเข้าใจ ให้ความอบอุ่นคอยช่วยแก้ปัญหาได้ การคิดแก้ปัญหา ตัดสินใจจึงยึดเอาที่เพื่อนเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเพื่อนดีก็นับว่าเป็นโชค แต่ถ้าเพื่อนก็ไม่แตกต่างกันคราวนี้แหละเราจะไปหวังอะไรได้

ขอแค่ถามลูกสักคำ วันนี้ไปโรงเรียนเป็นไงบ้างลูก? มีการบ้านไหม? ทำเสร็จแล้วหรือยัง? ขอพ่อ (แม่) ดูหน่อยซิ แค่นี้ก็แก้ปัญหาได้มากมายแล้วครับ มีเรื่องจริงแบบขำๆ มาเล่าสู่กันฟัง วันหนึ่งผมได้มีโอกาสบอกการบ้านคณิตศาสตร์หลานชายจอมซน ทำเสร็จเรียบร้อยก็เล่นเกมกัน (แบบเอาใจหน่อย) เย็นของวันถัดมาเจ้าหลานชายร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่าเลย พร้อมกับบอกกับผมว่า "ไม่เอาอีกแล้ว การบ้านที่ลุงสอนคุณครูบอกว่าคำตอบถูก แต่มันทำผิด ฮือๆๆ" เป็นงงซิครับ อะไรกันคำตอบถูกแต่มันผิด? งงไหมครับ?

ก็การเรียนสมัยนี้กับสมัยผมมันไม่เหมือนกันนี่ครับ สมัยก่อนเราท่องสูตรคูณ เมื่อเอาตัวเลขมาบวก-ลบ-คูณ-หารกัน ก็ตั้งบวก-ลบ-คูณ-หารกันเลย แต่สมัยนี้เขาต้องกระจายหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย หลักพัน ออกมาก่อน ทำทีละกลุ่มค่อยเอามารวมกัน (อันนี้ไปถามน้องที่เขาสอนโรงเรียนประถมมา) คำตอบที่ได้ของผมจึงถูกต้อง แต่วิธีการทำมันผิด หลานชายผมถึงได้ร้องห่มร้องไห้ขนาดนั้น ที่เล่ามานี่เพื่อบอกให้รู้ว่า ขนาดเราเป็นครูยังสอนไม่ได้ขนาดนี้ แล้วพ่อแม่ที่ทำมาหากินปากกัดตีนถีบ จะบอกลูกหลานได้หรือเปล่า? นี่ไงช่องว่างของการปะ-ติ-ลูบ-การศึกษา

dekthaiนี่ก็ใกล้จะถึงเวลาเปลี่ยนสถานที่เรียนให้ลูกกันอีกแล้ว (จบ ป.6 ม. 3) ลองถามลูกกันหน่อยนะครับว่า เขาพร้อมที่จะเรียนต่อไหม? อยากเรียนที่ใด? อย่าเอาแต่ความคิดพ่อแม่เป็นใหญ่ เพราะถ้าลูกไม่พร้อมต่อให้เข้าโรงเรียนชื่อเสียงโด่งดังเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้ประสบผลสำเร็จได้ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและผมก็รับรู้มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

พ่อแม่เป็นข้าราชการ มีตำแหน่งใหญ่โต มีความภาคภูมิใจในสถาบันการศึกษาเดิมที่เคยเรียนจบมา จึงมุ่งหวังที่จะลูกเข้าเรียนให้จงได้ แม้ลูกจะสอบไม่ได้ ดวงไม่ดี (จับสลากไม่ได้) ก็จะต้องฝากเข้าให้ได้ดังหวังแม้จะต้องใช้กำลังภายในมากมายเพียงใด แล้วก็ประสบผลสำเร็จได้คุยโตว่า ลูกได้เรียนโรงเรียนดังเหมือนพ่อ-แม่มัน ปลื้มมากๆ (แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเข้าเรียนได้ด้วยวิธีการใด) จากนั้นอีกสามปีผ่านไป ได้ข่าวว่าลูกหัวแก้วหัวแหวนไปจบจากโรงเรียนชานเมือง หรือสอบเทียบ กศน. ก็ไม่ทราบได้

เพราะว่าลูกไม่ได้มีความอยากเหมือนพ่อ-แม่ จึงไม่ปลื้มที่จะเรียนที่นี่ เพราะเรียนไม่ทันเพื่อน แม้พ่อแม่จะขับรถมาส่งที่หน้าโรงเรียนทุกวัน แต่ก็หลบออกหลังโรงเรียนได้ทุกวันเหมือนกัน สุดท้าย ทางโรงเรียนก็ต้องเชิญผู้ปกครองมาพบ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และเพื่ออนาคตของลูก ก็ต้องไปเรียนในที่ที่เขาจะมีโอกาสเรียนและจบได้

dek04เมื่อวานอ่านข่าวเรื่อง ศธ.ตีกลับผลวิจัยโรงเรียนในฝัน มศว. เหตุข้อมูลลบมากไป รายละเอียดท่านไปอ่านเอาเองนะครับ แล้วต้องอ่านข่าวนี้ด้วย อาจารย์ มศว จี้ใจดำผู้บริหาร ศธ.ควรเปิดใจรับข้อเสีย ร.ร.ในฝัน จะได้มองเหรียญได้สองด้าน จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แล้วอย่าลืมอ่านคอมเมนต์จากท่านผู้อ่านข้างล่างด้วย อาจจะไม่มีใครใส่ใจแต่นั่นคือเสียงของประชาชนที่อยู่บนผลกระทบนั้น จะได้หูตาสว่างกันเสียที

มีคอมเมนต์ของผู้อ่านท่านหนึ่งแล้วชอบใจครับ "เป็นครูโรงเรียนในฝันทางภาคใต้ ก่อนเข้าในฝันได้ไปดูงานที่ภาคอิสาน จัดโดย สพท.ให้ครูจากโรงเรียนต่างๆ เป็นตัวแทนไปดูงาน ผ.อ.ทุกโรงกระสันต์อยากเป็นในฝันเพราะคิดว่าจะได้เงินสนับสนุนจากภาคเอกชน ทุกคนน้ำลายไหลอยากซื้อเครื่องคอม ผ.อ. ที่โรงเรียนฝันถึงขนาดจะมี Toyota มาเป็นสปอนเซอร์ สรุปจากการดูงานคือโรงเรียนในฝันต้อง

1. สะอาดมากๆ มีบรรยากาศสวยงาม ร่มรื่น 2. มีเครื่องคอมใช้มากๆ
3. นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้ดี มีโครงการเด่นๆ นำเสนอ  4. ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

เมื่อกลับจากดูงาน ผ.อ. ก็มอบหมายงานให้ครูฝึกเด็กไว้แสดงโชว์วันงาน มีการซ้อมรอรับประเมิน 3-4 ครั้ง ใช้เวลา 2 เดือน เด็กไม่ได้ร่ำได้เรียน พวก ศน. มาดูมาบอกให้ปรับปรุงไปเรื่อยๆ ทุกอย่างแหกตา เช่น

  • จับเด็กมา 2 คน สอนการนำเสนอการสร้างโปรแกรมหุ่นยนต์ เพื่อจะบอกว่า โรงเรียนกรู นักเรียนไฮเทค โดยปกตินักเรียนพิมพ์พอได้ เข้า net เฉพาะเกม สมัคร mail ก็ไม่เป็น (เมื่อครั้งดูงานที่อิสาน ผ.อ. ที่นั่นโม้ว่าเด็กที่นี่ทุกคน มี website เลยหันไปถามคนข้างๆ ว่าจริงหรอ เค้าบอกว่าไม่หรอกมี e-mail address น่ะ ผ.อ. พูดผิด อิ อิ)
  • วิชาชุมนุมที่ครูเคยสอน ก็ให้นำเสนอว่า เด็กจัดตั้งปริษัท หาเงินเองได้ ในวันประเมิน โรงเรียนออกเงินให้ซื้อเนื้อหมูหมาสารพัดมาขาย โดยขาดทุนแต่มีบัญชีทำว่ากำไร
  • ฝึกเด็กท่อง (พูด) นำเสนอเป็นภาษาไทย-อังกฤษ ออกเสียงแปร่งๆ แต่ผู้ประเมินมันบอกว่าพูดดีกว่านายกทักษิณ ความที่มันก็ฟังภาษาที่ถูกต้องไม่เป็น
  • ยืมต้นไม้ใบหญ้าจากครูในโรงเรียนบ้าง หน่วยงานอื่นบ้าง มาวาง 1 วัน (บางต้นยังไม่ได้คืนเขาเลยจนป่านนี้)

ผลประเมินไม่ต้องบอก นายบ้าอะไรไม่รู้มาตรวจ มาผิดเวลา เวลามาใกล้ค่ำ ดูๆ บอกว่าผ่าน หมา ผ.อ. 2-3 ตัวดีใจ ครูส่วนใหญ่ขำๆ นักเรียนเฉยๆ วันรุ่งขึ้น สกปรกเช่นเดิม ผ่านมาเกือบ 1 ปี ไม่เคยมีใครมาดูงาน สิ้นปีเด็กก็สอบ ent. ตรงได้ 2 คน พอสอบรวมก็ได้เพิ่มมาบ้างเป็นมหาลัย ขออภัย เกรดต่ำๆ ผ.อ. กับพวกเท่านั้นที่อาจจะบอกว่า OK ถ้าคุณไปสัมภาษณ์ คนทั่วไปเขาทุเรศ อยากบอกชื่อโรงเรียนเป็นบ้าเล้ย

ครูโรงเรียนในฝัน"

เรื่องจริงมันเป็นอย่างนี้ และเป็นส่วนใหญ่ด้วย การที่ผู้ตรวจเข้าไปพบนั้นคือ การแสดงละครของครูและนักเรียน มีเพื่อนบางคนในโรงเรียนในฝันแถวบ้านผมโน่นแหละ ถึงกับบอกว่า บางโรงเรียนถึงขั้นยืมตัวนักเรียนและครูเก่งๆ จากที่อื่นให้มาแสดงบทบาทสมมุตินี่กันเชียวนะ (เรื่องนี้ไม่ยืนยัน เพราะไม่มีใบเสร็จ) แล้วมันยังสัมพันธ์กับเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยนะ ภาษาไทยยังไม่กระดิกเอาคอมพิวเตอร์ไปให้ใช้ อย่าว่าแต่นักเรียนเลยขนาดครูเปิดขึ้นมาเจอเมนูเป็นภาษาอังกฤษยังใบ้กิน คลิกไปไม่ถูกเลยก็มี หนักกว่านั้นบางคนยังนิยมใช้แผ่นดิสเกตต์ใช้งานกับเครื่องวินโดว์เอ็กซ์ สะ พี ซะด้วย ใช้เสร็จลืมเอาแผ่นออก รุ่งเช้ามาเปิดเครื่องบูตไม่ขึ้น (อ่านหน้าจอไม่เข้าใจ) ยกเครื่องมาเสียค่าโง่ที่ร้านขายคอมพิวเตอร์ในเมืองอีก เวรของกรรมจริงๆ

tesana 2เสียงบ่นจากหลวงพ่อวัดข้างโรงเรียนในฝัน "โยม ผ.อ. ไม่ต้องนิมนต์อาตมาแล้ว ไปรับผ้าป่าให้โรงเรียนปีนี้ก็หลายหนแล้วน่าจะพอนะ... ทางวัดอาตมาหลังคาโบสถ์และศาลาการเปรียญก็รั่วอยู่นะโยม" ทำไมผ้าป่าจึงทอดอยู่ที่โรงเรียนหลายครั้งนัก? โถ... นี่ยังเหลืออีกเป็นล้านบาทเชียวถึงจะใช้หนี้เขาหมด

นึกว่าจะได้งบประมาณมาซื้อคอมพิวเตอร์ เขาจะมาประเมินกลัวไม่ผ่าน ก็ไปเป็นหนี้ร้านในเมืองเขามาก่อน 60 เครื่อง พองบประมาณตกมา ดันได้เป็นเครื่องมาอีก 60 คราวนี้ทุกข์หนักกว่าเดิม เพราะหนี้เก่าก็ยังอยู่ นี่จะต้องหาเงินมาสร้างห้องให้เครื่องใหม่อีก แล้วค่าไฟฟ้าที่จะตามมาอีกไม่รู้เท่าไหร่? จะให้ผูกคอตายกันอีกกี่ ผ.อ. จึงจะยอมรับความจริงกันหนอ?

เฮ้อ! สงสารประเทศสยามนามว่าไทยนี่จริงๆ เมื่อไหร่ที่เลิกฝัน เลิกเชื่อแต่รายงานข้อเท็จ (จริงหรือเปล่า?) ลงไปสัมผัสความจริง ฟังเสียงสะท้อนของคนทำงานในพื้นที่โน้นแหละ เราจะได้เลิก ปะ-ติ-ลูบ ไปสู่การพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจังเสียที อย่าลืมแนวพระราชดำริ "อยู่อย่างพอเพียง" อย่าฝันไกลไปจากความจริงมากนัก แล้วทุกคนจะเป็นสุข ตอนนี้มีโรงเรียนในฝันที่ผมอยากให้ตื่นจากฝันมาช่วยกันทำเพื่อเด็ก และไม่อยากได้ยินโครงการใหม่ "โรงเรียนในสวรรค์" นะครับ คงได้บ้าฆ่ากันตายแน่เลย ขอบอก...

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 24 ตุลาคม 2549

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy