“อาชีพนักบิน” ความฝันเด็กรุ่นใหม่

เส้นทางสู่อาชีพนักบิน ของเด็กรุ่นใหม่

นักบิน กัปตัน คนขับเครื่องบิน ความฝันในอาชีพของเด็กยุคใหม่ เคยนำเรื่อง “ทำไมนักบินไม่พอ” ของ กัปตันลม มานำเสนอเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้มีการเปิดสาขาการบินในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา วงการบินของเราคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่วงก่อนประเทศไทยโดนปักธงแดง จาก The International Civil Aviation Organization (ICAO) หรือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สายการบินผุดเป็นดอกเห็ด คนทั้งในและนอกวงการคงไม่รู้ว่า มันมีกันเกือบครึ่งร้อยที่ขอจดทะเบียน (เฉพาะในไทยนะ) แต่เปิดบริการได้จริงๆ ราว 20 บริษัท และทยอยปิดตัวลง แต่ก็ยังเยอะอยู่ดี

ทความต่อไปนี้ เพื่อตอบคำถามน้องๆ ที่มีรีเควสต์กันเข้ามามากว่า อยากรู้จัก “อาชีพนักบินพาณิชย์” ขับเครื่องบินลำใหญ่ๆ ทั้ง Boeing, Airbus ของสายการบินต่างๆ มากๆ ว่าจะไปเรียนคณะอะไร ที่ไหน อย่างไร รวมทั้งค่าเล่าเรียนแพงไหม ซึ่งผู้เขียนก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ก็เลยขออนุญาตคัดลอกเอาเนื้อหาบางส่วนมาจาก บันทึกของ กัปตันมนูญ เจริญลอย และแหล่งอื่นๆ มาบอกต่อกันครับ ลองอ่านดูจะได้ความกระจ่างมากเลย…

มีการประโคมข่าวอย่างคึกโครมในตอนนั้นว่า “นักบินขาดตลาด ในขณะที่สายการบินต่างแย่งตัวกัปตัน และ Senior First Officer เพื่อไปฝึกเพิ่มเติมให้เป็นกัปตัน” ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก็เร่งเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับการบินกันมากมาย ทั้งวิศวการบิน และบริหารการบิน ถึงขนาดที่สถาบันแนะแนวบางสถาบัน ที่ไปแนะแนวตามโรงเรียนต่างๆ ถึงกับฟันธงว่า สายนี้มาแรงสุด เรียนจบ ไม่ตกงานแน่นอน…

คำถามคือ มันจริงหรือ?

ในประเทศไทย สถาบันที่ฝึกบุคลากรด้านการบินเป็นหลักก็คือ สถาบันการบินพลเรือน รวมทั้งโรงเรียนการบินของสถาบันเหล่าทัพด้วย แต่ทุกวันนี้ มหาลัยต่างๆ เร่งเปิดคณะที่สอนด้านนี้จำนวนมาก รวมทั้งโรงเรียนการบินต่างๆ ของเอกชนด้วย

หากถามเด็กๆ ในยุคนี้ว่า “จะเรียนต่ออะไร” คำตอบยอดฮิตคือ “บริหารการบิน วิศวการบิน”

วิศวการบิน ส่วนใหญ่จะพ่วงการโฆษณาด้วยว่า “เรียนจบ เป็นนักบินเลย” บางมหาลัยถึงขั้นไปแนะแนวที่โรงเรียนว่า “เรียนกับเขา จบเป็นนักบิน สายการบิน XXX รับแน่นอน” ทำให้เด็กๆ ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเป็นนักบิน สนับสนุนโดดใส่ทันที แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มหาลัยโกหกหรือ?…. เปล่าครับ..เขาเพียงแต่พูดไม่หมด

เด็กจบมาเป็นนักบินแน่ๆ ถูกต้องครับ จ่ายครบจบแน่ๆ แต่ไปเป็น “นักบิน” ประเภทไหนล่ะ?

ถ้าเป็นนักบิน ที่ซื้อเครื่องมาบินส่วนตัวน่ะได้แน่ๆ เลย แต่จะไปเป็นนักบินพาณิชย์ขับเครื่องโบอิ้ง หรือแอร์บัสลำใหญ่ ได้มั้ย? โอ๊ว! มันต้องมีขั้นตอนต่อไปอีกนะ…

พ่อแม่หลายคน ทั้งที่เป็นข้าราชการ ชาวนา ชาวสวน ฯลฯ มีฐานะปานกลาง ไม่มีเงินสามล้านให้ลูกเรียน (ย้ำ 3,000,000 บาทไทย) ก็ไปกู้เงินมาก่อนเพราะมั่นใจว่า เมื่อลูกจบเป็นนักบินต้องมีงานทำมาใช้หนี้คืแน่นอน

แต่พอลูกจบ กลับสอบ License (ใบอนุญาต) ไม่ได้ หรือได้แต่ต้องสอบหลายครั้ง พอมี License ก็ต้องไปหางานตามสายการบินอีก “ทำไมมันไม่เป็นตามที่มหาลัยขายฝันเลยวะ!” พ่อแม่บางคนถึงกับน้ำตาไหล เพราะลูกสอบ License ตั้ง 3 รอบแล้วยังไม่ผ่าน บางทีผ่านของที่อื่น(ต่างประเทศ)มา แต่ไม่ผ่านเวชศาสตร์ของกองทัพอากาศ หลายสายการบินเขาก็ไม่รับอีก

ผมค่อนข้างไม่ยอมรับการเข้าเรียนก่อน ค่อยสอบ License เพราะหากเด็กสอบไม่ผ่านหลังเรียนการบินไปแล้ว มันทั้งเสียเงิน เสียเวลา เสียอนาคตของเด็ก บางคนอาจบอกว่า เป็นการให้โอกาสเด็ก เพราะเขาสอบได้หลายครั้ง..

คำตอบคือ อาจถูก แต่… สายการบินเขาอยากได้ เด็กที่สอบ License สามสี่ครั้งมั้ย

License ที่พูดถึงนี่คือ Class One นะครับ ดังนั้น ผู้ปกครองควรพิจารณา หากอยากให้ลูกเป็นนักบิน ทำไงเหรอครับถึงจะไม่เสี่ยง… (ให้นึกถึงใบอนุญาตขับขี่รถยนต์นะครับ มีทั้งใบขับขี่ส่วนบุคคล ใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ที่ยังแยกออกไปเป็นใบขับขี่รถยนต์สาธารณะชนิดที่ 1, 2, 3, 4 ซึ่งขับรถยนต์ต่างขนาด ต่างชนิดกัน รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ 18 ล้อและล้อมากกว่านั้น รถยนต์โดยสาร ใบอนุญาตการขับเครื่องบินก็เช่นเดียวกันมีหลายแบบ)

ตามมาครับ..

  1. เลิกคิดว่าจบแล้ว มีงานทำแน่ๆ เพราะธุรกิจนี้มีขึ้นมีลงเหมือนกับธุรกิจอื่น นักบินจบมาก็ต้องหางานทำเช่นกัน เผื่อใจตกงานไว้ด้วย
  2. เด็กรักการบินมั้ย หรือแค่อยากได้ตังค์ ถ้าแค่อยากได้ตังค์ตกงานปีสองปีคุณจะท้อ แต่ถ้าคุณรัก… คุณจะสู้ต่อ ชีวิตมีหนทางเสมอ
  3. จบการบิน ต้องสอบ License ถึงจะทำงานได้ เหมือนขับรถเป็น แต่คุณสอบใบขับขี่ไม่ผ่าน คุณก็ขับรถไม่ได้ นักบินก็เช่นกัน และ Class One มันไม่ได้วัดแต่ความรู้เท่านั้น มันวัดร่างกาย จิตใจ ความถนัด ไหวพริบ สติปัญญา การแยกประสาทสัมผัส ซึ่งละเอียดอ่อนมาก (เครื่องบินโดยสารลำละหลายร้อยล้าน พันล้านนะครับ และลอยบนอากาศ มีความเสี่ยง การตัดสินใจต้องมีมากที่สุด)
    การสอบ License ผ่านในครั้งเดียว ย่อมถูกมองว่า มีความพร้อมเป็นนักบินมากกว่า
    License แม้มีสอบหลายที่ แต่สถาบันที่ทุกสายการบินยอมรับคือ เวชศาสตร์กองทัพอากาศ คิวจึงยาวเป็นหางว่าว ถ้าผ่านที่อื่นมา โอกาสได้งานก็น้อยกว่า
    ผมจึงแนะนำให้สอบ Class One ให้ได้ก่อนค่อยไปเรียนบิน อาจช้ากว่าแต่ดีกว่าแน่นอน (ความเห็นส่วนตัว)
  4. ไม่มีสายการบินไหนที่รับนักบินจากสถาบันสอนการบินโดยอัตโนมัติ ดังนั้นอย่าเชื่อคำพูดเหล่านี้
  5. ควรพยายามสอบ Student Pilot (SP) ให้ได้ก่อน ที่คิดจะเรียน Qualify Pilot (QP)
    Student Pilot (SP) มีหลายที่ที่เปิด ทั้ง TG, Air Asia, NOK, Bangkok Air แต่ถ้าอายุเกินแล้วต้องไปเรียนเองก็ต้องพยายามเก็บเกี่ยวความรู้ให้มากๆ ไม่ใช่บินอย่างเดียว เพราะตอนไปสอบต้องนำความรู้ไปสอบด้วย
  6. เรียนบินต่างประเทศดีมั้ย จากที่สัมผัสมา จบต่างประเทศไม่ได้ดีกว่าสถาบันในประเทศเลยครับ อาจด้อยกว่าด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ตัวเด็กด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้ตั้งใจบั่นทอนความตั้งใจของน้องๆ เพราะคนรักการบินเขาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ หรอก แต่ต้องการให้น้องๆ รู้ และพิจารณาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของความจริง สู้ๆ ครับ

“อาชีพนักบิน ไม่ใช่ นักบินอาชีพ”

มีน้องคนหนึ่งส่งลิ้งค์เฟสบุ๊คในอินบ็อกมาให้ แล้วตั้งคำถามว่า “มันจริงเหรอพี่ ผมว่ามันต้องไปสอบเข้าสายการบินอยู่ดีใช่มั้ย แบบนี้ขายฝันเด็กหรือเปล่าครับ ถ้าเอกชนทำผมยังทำใจว่า เป็นเรื่องธุรกิจ นี่…บลาๆๆ” ท่าทางน้องจะอึดอัดมาก

ผมไม่รอช้าคลิกเข้าไปดูตามลิงก์ที่ว่า น่าจะเป็นโพสต์ของอาจารย์ในมหาลัยแห่งหนึ่ง โพสต์ประมาณว่า “เรียนที่นี่ โคตรเท่ห์ ค่าเทอมๆ ละ 440,000 บาท จบปีแรก เงินเดือน 60,000 บาท ปี 2 100,000 บาท เป็นกัปตัน ขั้นต่ำ 150,000 บาท สองปีก็คุ้มค่าเทอมแล้ว จบแล้วได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เลย แถมปริญญาตรี 2 สาขา ประมาณนี้ครับ คือผมไม่อยากคร็อปภาพมาให้เป็นประเด็น ใครอยากอ่านก็เสิร์จคำพวกนี้เอา น่าจะหาเจอ

…มันผิดตรงไหนเหรอ…ที่เขาโพสต์แบบนี้… หลายท่านอาจตั้งคำถามกลับมา …ไม่ผิดครับ ไม่ผิดสักนิด… แต่น้องเขาอ่านแล้วเขาคงอึดอัด เลยแค่มาระบาย …ทำไมต้องอึดอัด… แล้วผมล่ะอึดอัดมั้ย อาจมีคำถามต่อ… โคตรอึดอัดครับ…. ทำไมน่ะเหรอ

เส้นทางสู่อาชีพนักบิน

เส้นทางสู่อาชีพนักบิน ปัจจุบันมีหลายวิธี ค่อนข้างเปิดกว้างครับ เด็กๆ หลายคนอยากเป็นนักบิน อยากจะตามฝัน บางคนหลงใหลถึงขั้นออกวิ่งตามทาง เมื่อมีคนกวักมือเรียกเพื่อล่าฝัน เหมือนนักล่าฝันอาชีพอื่นๆ โดยลืมระวังตัวว่า หนทางนั้นอาจมีอันตรายแฝงอยู่

ยังไงเหรอ? อ่านให้จบ แล้วสรุปเองก็แล้วกันครับ ผมให้แค่ข้อเท็จจริง อาจแทรกความเห็นบ้างนิดหน่อย จากประสบการณ์ของตัวเอง

สายการบินต่างๆ ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับสิบกว่าปีที่แล้ว ที่ผมลาออกจากกองทัพ ออกมาผจญภัยภายนอก ผมว่าเยอะมากๆ สายการบินขนาดใหญ่ ขนาดกลาง มีเครื่องบินในฝูงเกิน 20 ลำ มีหลายสาย หลายคนอาจมองว่า เป็นโอกาสของเด็กๆ ที่อยากเป็นนักบินครับ ใช่ครับ แต่…เราต้องเดินให้ถูกทางเท่านั้นเอง

สายการบินไทย ไทยสไมล์ นกแอร์ แอร์เอเชีย ไลอ้อนแอร์ ไทยเวียดเจท นิวเจน บางกอกแอร์เวย์ สายการบินเหล่านี้ มีวิธีการรับนักบินของตัวเองแตกต่างกันไป

ทางไหนบ้างที่จะเข้าสู่อาชีพนักบินได้น่ะเหรอครับ

  1. Student Pilot (SP) สายการบินตอนนี้นิยมรับ SP ของตัวเอง เพราะสามารถที่จะควบคุมคุณภาพการผลิตได้เองตั้งแต่ต้นทาง โดยเขาจะรับเด็กที่จบปริญญาตรีทุกสาขา มาสอบแข่งขันกัน วิชาที่สอบส่วนใหญ่ก็ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ อังกฤษ ความถนัดทางอาชีพ การสัมภาษณ์ เวชศาสตร์การบิน ขั้นตอนแล้วแต่แอร์ไลน์ อาจต่างกันไปนิดหน่อย
    พอได้เด็กตามที่ต้องการ จากผู้สมัครกว่า 2,000 คน บริษัทก็จะส่งไปเรียนบิน ในโรงเรียนการบินที่บริษัทคิดว่าดี (ใช้เครื่องฝึกตรงกับที่สายการบินเลือกใช้) ตอบสนองความต้องการของตัวเองได้
    โดยเด็ก จะได้รับการการันตีว่า จบมา มีงานทำแน่นอน แต่เด็กก็ต้องจ่ายเงินเรียนเองนะ เบ็ดเสร็จค่าใช้จ่าย น่าจะราวๆ 2.5 ล้าน รวมค่ากินอยู่ก็ตีซะว่า 3 ล้าน
    จบมาคุ้มมั้ย โคตรคุ้มครับ
    นี่หมายถึงทางด้านรายได้อย่างเดียวนะครับ ส่วนด้านไลฟ์สไตล์ ก็ต้องแล้วแต่ความชอบของแต่ละคนครับ น้องๆ บางคนพอมาบินแล้วถึงกับบ่นว่า เป็นนักบินต้องอ่านหนังสือมากมายขนาดนี้ เหรอ รู้งี้ไม่มาเป็นหรอก (ไม่ใช่แค่อ่านนะยังต้องสอบวัดมาตรฐาน ต้องตรวจร่างกายกันทุกปี ต้องไปฝึกบินกับเครื่องใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีที่ใช้เปลี่ยนแปลงไปด้วย) อาจเป็นแค่คำบ่น แต่ถ้าเขาปรับตัวไม่ได้ นั่นหมายความว่า เส้นทางนักบินอาชีพของเขาจบลงแล้ว
  2. Qualify Pilot (QP) การจะเข้าสู่ QP มีหลายเส้นทาง…
    เส้นทางแรกคือ คนที่จบป.ตรีมาแล้ว มาเรียนบินด้วยทุนตัวเอง (ทุน พก.) เมื่อจบแล้ว ได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี แล้วเริ่มต้นหางานทำ
    เส้นทางที่ 2 ผ่านกองทัพ โดยไปเป็นนักบินเรียนทหารก่อน เส้นทางนี้ ณ เวลานี้ค่อนยากมาก เพราะแต่ละกองทัพหวงนักบินมาก จึงตั้งหลักเกณฑ์ค่าปรับคนที่จะลาออกไว้สูง ได้ข่าวตอนนี้มากถึง 12 ล้านบาทแล้ว แถมบางทีไม่อนุญาตให้ลาออกเฉยๆ นี่แหล่ะ จะทำไม…

เส้นทางวิศวการบิน

เส้นทางนี้กำลังถูกจับตามอง และผมโดนถามมากที่สุดจากทั้งน้องๆ และผู้ปกครอง เรียนมหาลัยได้ปริญญา มี License นักบิน จบแล้วมีงานทำ รายได้โคตรดี แบบนี้ใครจะไม่สนใจจริงมั้ยครับ (คำโฆษณา) แต่มันง่ายอย่างงั้นมั้ยล่ะ ตอบเลยว่า มันไม่ง่ายครับ

ช่วงตลาดบูม อย่างเช่น ช่วงที่ผมลาออกเมื่อ 14-15 ปีที่แล้ว หรือสองสามปีที่ผ่านมา หางานง่ายมาก เพราะบริษัททั้งเก่า และเปิดใหม่ต้องการนักบินจำนวนมาก ส่วนมากที่จบจึงว่างงานกันแค่เดือนหรือสองเดือน ก็ได้ทำงานแล้ว ไม่ว่าคุณจะมาจากเส้นทางไหน

แต่… ตลาดนักบิน Qualify Pilot (QP) ตั้งแต่ประเทศไทยเราติดธงแดงจาก ICAO มาจนถึงหลังปลดธงแดง ก็ยังไม่ฟื้นครับ เพราะบริษัทฯต่างๆ ก็ยังไม่ขยายตัวอะไรมากมาย แถมยังสร้างนักบินของบริษัทเองอีก ทำให้ตลาด QP ค่อนข้างอิ่มตัว ล่าสุด มีสายการบินหนึ่งเปิดรับ QP จำนวนแค่สิบกว่าคน แต่คนแห่มาสมัครหลายร้อย แถมด้วยเงื่อนไข ต้องจ่ายเงินเรียนเปลี่ยนแบบเครื่องเองเป็นหลักล้าน (เพิ่มเติม เครื่องบินพาณิชย์นิยมใช้กันอยู่ 2 ค่าย คือ Boeing และ Airbus ที่การบินไม่เหมือนกันทีเดียวด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์ต่างกัน ถ้าคุณได้ License ของ Boeing มา แต่สายการบินที่คุณไปสมัครเขา Operates ด้วย Airbus คุณต้องไปเรียนเอา License ของ Airbus มาให้ได้เขาถึงจะให้คุณทำงาน)

ถามว่าคุ้มมั้ย…? ครับคุ้มแน่ สำหรับคนมีตังค์คงไม่เครียด แต่ถ้าไม่มีต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เครียดแน่นอนครับ ตลาดอิ่มตัว น้องๆ จบใหม่ยังตกงาน แต่มหาลัยที่เปิดคณะนี้ กลับเพิ่มขึ้น แล้ว… จะเป็นยังไงต่อไป

Qualify Pilot (QP) อาจแก้ไขได้บางส่วน สำหรับน้องๆ ขาลุยและอยากล่าฝันต่อ หากผู้ดูแลกฏของไทยเราอนุญาตให้น้องๆ มีใบอนุญาตแบบ Frozen ATPL

Frozen ATPL คือ ใบอนุญาตที่ออกให้คนที่สอบผ่านทฤษฎีของ ATPL แล้ว แต่ชั่วโมงบินยังไม่ครบตามกำหนด ซึ่งเขาจะได้ตัวจริงหลังจากชั่วโมงบินครบแล้ว ปกติ นักบินบ้านเราจะทำงานในสายการบินได้ ต้องมีไลเซ่นขั้นต่ำดังนี้ครับ CPL Multi, IR, Medical Class1

แต่บางประเทศจะกำหนดไว้ว่า สำหรับนักบินต่างชาติ คุณต้องมี Frozen ATPL อย่างต่ำ คือ ศักดิ์จะเหนือกว่า CPL แต่… อนิจจา ประเทศไทยเราไม่มีครับ ทำให้น้องๆ เราไม่สามารถจะออกสู่ตลาดโลกได้ แม้เขาจะต้องการนักบินขนาดไหนก็ตาม

มาเลเซีย ตะวันออกกลาง ที่ขาดนักบินจำนวนมาก ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของนักบินจากที่อื่น แต่ไม่ใช่จากไทยครับ (นักบินไทยที่ย้ายไปสายการบินตะวันออกกลางคือ กัปตันที่ชั่วโมงบินเยอะแล้วและบินเครื่องใหญ่ๆ 4 เครื่องยนต์ได้) แล้วเร็วๆ นี้ ประเทศไทยเราจะมีหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบครับ

ก็ได้แต่ลุ้นช่วยน้องๆ ให้สายการบินขยายตัวได้ตามแผน ให้ตลาด Qualify Pilot (QP) กลับมาคึกคัก ถึงขั้นแย่งตัวเด็กจบใหม่กันอีกครั้งเถิดครับ

ที่มา : จากบันทึกของ กัปตันมนูญ เจริญลอย

ความรู้เพิ่มเติม

License ก็เหมือนใบขับขี่รถยนต์ครับ อนุญาตให้ขับเครื่องบินได้ โดยมีเงื่อนไขต่างๆ กัน เนื่องจากการบินต้องมีกฏการใช้ท้องฟ้าอย่างเครื่งครัด นักบินจึงมีข้อกำหนดหยุมหยิมออกมา เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง คนบนท้องฟ้าอื่นๆ และคนบนพื้นดินด้วย มารู้จัก License แบบต่างๆ กันเลย

นักบินส่วนบุคคล (Private Pilot License: PPL) : ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินเล็กครับ บินข้ามจังหวัดไปมา บินเพื่อความบันเทิง (recreation) มีผู้โดยสารและสัมภาระได้ แต่ห้ามเก็บเงินหรือห้ามรับจ้าง บินในสภาพอากาศดีเท่านั้น บินในกฏการบิน VFR เท่านั้น

นักบินพานิชย์ (Commercial Pilot License: CPL) : นักบินรับจ้าง รับเงินได้ แต่มีเฉพาะ CPL ใช่ว่าจะบินได้ตลอด ในการบินจึงมีการเพิ่มศักย์การบิน ดังนี้

  • บินประกอบเครื่องวัด (Instrument Rating: IR) : บินโดยตีความท่าทางการบินจากเครื่องวัด บินในสภาพอากาศแย่ได้ บินกลางคืนได้ บินไกลๆ ได้ บินสูงมากๆ ได้ บินโดยใช้กฏการบิน IFR ได้
  • บินด้วยเครื่องบิน สองเครื่องยนต์ขึ้นไป (Multi-engine Rating: ME) : บินเครื่องที่มีสองเครื่องยนต์ มีความเร็วมาก มีประสิทธิภาพมากได้

Air Transport Pilot License: ATPL อันนี้มักจะเป็นนักบิน Airline หรือนักบินที่บินเครื่องขนาดใหญ่ (เครื่องบินโดยสาร หรือเครื่องบินบรรทุกสินค้า ที่เรียกว่า Cargo) น้ำหนักมาก บินด้วยนักบินสองคนขึ้นไป

License ทั้งหมดจะค่อยๆ ผ่านการฝึกในโรงเรียนการบิน และบริษัท เป็นลำดับ ส่วนนักบินทุนส่วนตัวเมื่อเรียนเสร็จก็ไปสอบได้เลย แต่เพื่อความปลอดภัยในการบิน นักบินส่วนตัวมักจะเรียน Instrument Rating (IR) เพิ่มครับ เพื่อที่จะบินในเงื่อนไขของสภาพอากาศ และช่วงเวลาต่างๆ ได้มากขึ้น

ref: Jeppesen & wiki

อาจจะไม่ตรงกับเงื่อนไขประเทศไทยบางอย่าง แต่ส่วนมากก็ประมาณนี้

1. “Student Pilot” หรือ การสอบชิงทุนของสายการบิน

คุณสมบัติเบื้องต้น คือ จบปริญญาตรี ไม่จำกัดสาขา อายุไม่เกิน 28 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรม พ้นพันธะทางทหาร ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 165 หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสายการบินนั้นๆ โดยขั้นตอนการสอบจะมีตั้งแต่ สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย และสอบความถนัดในการเป็นนักบิน หรือที่เรียกว่า “Aptitude Test” เมื่อสอบผ่านทั้งหมดแล้ว จะถูกส่งไปเรียนในสถาบันการบินตามสายการบินต้นสังกัดจะกำหนด เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี

“การได้รับทุนจากสายการบิน จะทำให้มีหลักประกันได้อย่างแน่นอนว่า เมื่อเรียนจบจากสถาบันการบิน และได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์แล้ว จะได้รับเข้าทำงานเป็นนักบินในสายการบินที่ได้รับทุนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการสอบชิงทุนเช่นนี้ มีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอบ โดยวิชาที่ใช้ในการสอบข้อเขียน มีภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ส่วนการตรวจร่างกายนั้น จะตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย ตามหลักเกณฑ์ ที่สถาบันเวชศาสตร์การบินกำหนด”

ซึ่งหลังจากเรียนจากจบสถาบันการบินจะได้ License PPL : Private Pilot License หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (40 ชั่วโมง) และ CPL : Commercial Pilot License นักบินพาณิชย์ (200 ชั่วโมง)

2. Qualified Pilot หรือ นักบินที่มี “ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot License)

การจะมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ขั้นต้นนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองเส้นทาง คือ

  • การสมัครเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะเกี่ยวกับนักบินพาณิชย์
  • การสมัครเข้าเรียนการบินตามสถาบันการบินต่างๆ

ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดของเส้นทางทั้งสองแบบ คือ การสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ขั้นต้น ที่เรียกว่า “ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี” หรือ “Commercial Pilot License (CPL)”

เมื่อได้รับใบอนุญาตนี้แล้ว จึงจะสามารถทำการสอบแข่งขัน เพื่อเข้าเป็นนักบินสายการบินต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามการสอบเข้าแข่งขันระหว่าง Qualified Pilot นั้น ไม่ได้มีแค่นักบินที่ถือ “ใบอนุญาตพาณิชย์ตรี” มาสอบแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีนักบินที่ถือ “ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก” หรือ “Airline Transport Pilot License (ATPL)” ซึ่งก็คือนักบินที่มีประสบการณ์การบินในสายการบินต่างๆ มาแล้วในระดับหนึ่ง ดังนั้น การสอบ Qualified Pilot คือ การสอบแข่งขันระหว่างนักบินที่มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ด้วยกันเอง ง่ายไหมล่ะ

ค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ สถาบันการบินพลเรือน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ก็ดีนะ คลิกเลย

อ่าน “นักบินเก่งอย่างเดียวไม่พอ” ต้องมีอะไรอีก?

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)