education4allข่าวในวงการศึกษาในวันนี้ที่เด่นดังก็มีอยู่ ๒ เรื่อง คือการทุจริตในการสอบครูผู้ช่วย และการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา (อย่าไปนับว่า เป็นครั้งที่เท่าไหร่ ในรอบครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา) มันถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงหรือ? ผมก็คงตอบชัดๆ ลงไปไม่ได้ แต่ถ้าถามใหม่ว่า ผลผลิตจากการศึกษาในยุคนี้เป็นอย่างไร? ก็พอจะตอบได้ว่า มันไม่ตรงเป้าหมายสักเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเพราะหลักสูตรไม่ดี ครูสอนไม่ดี ผู้เรียนไม่ดีไม่ใส่ใจ แต่เป็นเพราะเราเดินหลงทิศหลงทาง จมอยู่ในอดีตมากกว่า

education goals header

คนเราถ้ามีความเชื่อแล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง โดยไม่ได้ใส่ใจว่าโลกปัจจุบันได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปมากแล้ว เปลี่ยนไปจนยากที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ถ้าไม่มองโดยรอบด้านเปลี่ยนแนวคิดพร้อมที่จะรับฟังสิ่งใหม่ๆ กันหน่อย วันนี้ก็เลยอยากเสนอประเด็นปัญหาในเรื่องการจัดการศึกษาว่ามีอะไรที่ควรจะ เปลี่ยนแปลง มีอะไรที่ควรจะยึดไว้เป็นหลัก แม้ใครหลายๆ คนจะบอกว่าเรื่องนั้นมันล้าสมัยแล้วก็ตาม สิ่งที่จะเขียนถึงให้อ่านนี้รวบรวมมาจากคำถามในสังคมที่ได้พบ และเสนอแนวทางแก้ปัญหาตามที่มีประสบการณ์ ส่วนเรื่องใดที่คิดไม่ออกบอกไม่ถูกก็จะปล่อยเป็นคำถามปลายเปิดไว้ให้ท่าน ทั้งหลายได้ช่วยกันคิดต่อ

การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (แกนกลาง) เห็นด้วยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ลดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนลงไป เพิ่มเติมในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต การทำงานในวันข้างหน้า มากกว่าที่จะมุ่งเพื่อให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ตามเนื้อหาบทความเรื่อง การอภิวัฒน์การศึกษาไทย ที่ผมได้เขียนไว้ในครั้งก่อน โดยขอเสริมให้เห็นภาพดังนี้ครับ

ed work 01เราควรจะกางหลักสูตรออกมาเลย ตั้งแต่ระดับชั้น ป.๑ ไปจนถึงชั้น ม.๖ กันเลย ระดับชั้นไหนควรเรียนอะไรให้มากเพื่อปรับพื้นฐาน ระดับไหนควรเพิ่มเติมสิ่งใด เพื่อการนำไปประยุกต์สู่การใช้ในชีวิตประจำวัน ได้เห็นร่างผ่านตามาว่าจะมีการรวบกลุ่มสาระวิชาต่างๆ ใน ๘ กลุ่มสาระเข้ามาจัดกลุ่มใหม่ให้เหลือเพียง ๖ กลุ่ม ก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ในระดับประถมศึกษาตอนต้น ป.๑ - ป.๓ ไม่จำเป็นต้องมีกลุ่มสาระก็ได้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการเรียนรู้เตรียมความพร้อมให้มากกว่าปัจจุบัน อย่างน้อยๆ วัยนี้ควรจะอ่านออก เขียนได้คล่องแคล่ว มีการพัฒนากล้ามเนื้อมือ ประสานกับประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ

ขอยกตัวอย่างที่จะเห็นได้ชัดเจนสักเนื้อหา หนึ่งครับ เอาเรื่องพุทธศาสนาก็แล้วกัน ในระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.๑ - ป.๓) ใช้วิธีการสอนประวัติพระพุทธศาสนาผ่านการ์ตูน อาจเป็นหนังสือนิทาน หรือวีดิทัศน์ที่มีผู้จัดทำอยู่แล้วมาใช้ ก็เพียงพอ ในระดับชั้นประถมปลาย (ป.๔ - ป.๖) ให้เรียนรู้เรื่อง ศีล/ธรรม หลักปฏิบัติในพุทธศาสนาพื้นฐานในชีวิตประจำวัน มีกิจกรรมร่วมกับทางวัดในเทศกาลต่างๆ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๑ - ม.๓) เรียนหลักปฏิบัติ/ธรรมะสำหรับวัยรุ่น ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๔ - ม.๖) เรียนหลักปฏิบัติ/ธรรมะสำหรับการดำรงชีวิตและการทำงาน ไม่ใช่เรียนแต่ประวัติพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานตั้งแต่ ป.๑ ยันถึง ม.๖ มันน่าเบื่อครับ

new curriculum

สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนตามคือค่าทัศนคติ ต่ออาชีพครับ ปัญหานี้มีทั้งในส่วนผู้ปกครองและครูเลยทีเดียว ทำให้เกิดปัญหาทางการศึกษาที่สำคัญคือการกระจุกตัวของโรงเรียน สถานศึกษา และอาชีพบางอาชีพเป็นพิเศษ ตั้งเป้าสูงมุ่งมั่นจะไปให้ได้ แม้ว่าศักยภาพตัวเองก็ไม่ถึง บางคนอยู่ในอาชีพที่ลำบาก ก็อยากให้ลูกไปมีอาชีพอื่นที่มั่งคั่งร่ำรวย บางคนอยู่ในอาชีพที่สังคมยอมรับอยู่แล้ว ก็กะเกณฑ์ให้ลูกเจริญรอยตามตน ทั้งๆ ที่ลูกไม่ได้ชอบ หรืออยากจะเป็นแม้แต่น้อย จะขอยกตัวอย่างให้เห็นดังนี้

ed work 00

พ่อแม่มีอาชีพเกษตรกร ลำบากยากเข็ญจริงเพราะหลังสู้ฟ้า หน้าสู่ดิน รอคอยฟ้าฝน ว่าจะรู้เห็นเป็นใจมาตามเวลาหรือไม่ เป็นอาชีพเสี่ยง พอส่งลูกเรียนก็หวังจะให้เป็นเจ้าคนนายคน หรือมีอาชีพที่ดีกว่าพ่อแม่ ถามว่าผิดไหม? ไม่ผิดหรอกครับที่ปรารถนาอย่างนั้น แต่มันผิดตรงนี้ครับ...

ผิดตรงที่ไม่ยอมให้ลูกช่วยงานอาชีพทางบ้านระหว่างเรียน โดยคิดว่า จะให้ลูกทุ่มเทกับการเรียนให้มากที่สุด ไม่ต้องมาลำบากช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เราจึงได้เห็นผลิตผลทางการศึกษา ที่ไม่รู้จักคุณค่าของการทำงาน การช่วยเหลือตนเองและครอบครัว เรียนประถมอยู่ใกล้บ้านช่วยงานบ้านเล็กน้อยได้ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างถ้วยจาน ซักเสื้อผ้าของตนเอง แต่พอไปเรียนมัธยมทำอะไรไม่เป็นเอาเสียเลย อยู่หอพักจ้างเขาซักรีดเสื้อผ้า เสาร์-อาทิตย์เรียนพิเศษ (จริงหรือเปล่าไม่รู้ เห็นไปมั่วร้านเกม เตร็ดเตร่ตามศูนย์การค้าเสียมากกว่า) พอไปเรียนมหาวิทยาลัยเลยไปไกลสุดกู่บ้างก็หอบหลานมาให้พ่อ-แม่เลี้ยงเสียอีก แนะ

thai-farmer-1

การ ให้ลูกช่วยเหลืองานบ้านแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม นับเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ดีในวัยเยาว์ เช่น การรักความสะอาด สร้างให้เป็นคนมีระเบียบวินัย ช่วยเหลือตนเองได้ และมีจิตอาสาในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น ที่เราเห็นนักเรียนในยุคนี้ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ชนิดที่ต้องบอกว่ากินที่ไหนทิ้งมันได้ที่นั่นแหละ ไม่ต้องมองหาถังขยะกันเลย เพราะอิทธิพลจากทางบ้านที่เขาทิ้งได้ตามใจมีพ่อ-คอยรับใช้ตามเก็บตามกวาด มาโรงเรียนมีการเรียกเก็บค่าดูแลความสะอาด (จ้างพนักงานแม่บ้าน) จึงได้ใจทิ้งไปทั่วจนกลายเป็นโรงเรียนสีขาวของขยะ ก็ฉันจ่ายไปแล้วใครจะทำไม

พ่อ-แม่เป็นหมอก็อยากให้ลูกเป็นหมอด้วย ไม่เคยคิดจะถามลูกสักคำว่าชอบและรักอาชีพนี้ไหม? เรื่องเล่าจากลูกศิษย์ผมนี่แหละ พ่อก็หมอ แม่ก็หมอ ลูกสาว-ลูกชายต่างก็ไม่อยากเป็นหมอ ลูกสาวไปเรียนบัญชีจุฬาฯ ส่วนลูกชายพึ่งจบ ม.๖ ก็ไม่เรียนหมอเหมือนกันเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ ได้คุยกันวันหนึ่งจึงถามตรงๆ ว่าทำไมไม่เลือกสอบตรงหมอล่ะ เรียนก็เก่งสายวิทย์ด้วย คำตอบสะท้อนออกมาอย่างนี้ "อาจารย์ ครับ ผมไม่เคยได้ทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวเลย วันเกิดคุณพ่อนัดไปทานอาหารนอกบ้าน ผมกับพี่สาวไปรอที่ร้านนานเกือบชั่วโมงก่อนที่แม่จะว่างมา อีกไม่นานพ่อก็มา แต่พึ่งตักอาหารช้อนเดียวก็มีโทรศัพท์เข้าต้องไปดูคนไข้ด่วน แล้วก็ปล่อยให้เราสองพี่น้องทานอาหารกันไปเงียบๆ ๒ คน เพราะต่อมาอีกสักครู่แม่ก็ต้องรีบกลับไปเหมือนกัน มันไม่น่าจะใช่ชีวิตที่จะมีความสุขเป็นส่วนตัวได้เลย ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวของผมในอนาคตครับ" 

ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรครับ... ในอดีตช่วงที่ลูกเรียน ม.ปลาย ก็เคยถามลูกเหมือนกันว่าจะเรียนต่อและทำงานอะไร ลูกสาวตอบผมตอนเรียนอยู่ ม.๔ ว่า สถาปนิกเท่านั้น เขาก็เลือกเรียนเน้นสายวิชาชีพนี้ โดยที่ผมสนับสนุนในการเสริมความรู้ด้วยการเข้าค่ายติวกับรุ่นพี่ที่จุฬา และศิลปากร ตอนนี้จบการศึกษามาก็ทำอาชีพสถาปนิก รับเหมางานก่อสร้างไป

ส่วนลูกชายเคยถามจะเรียนหมอให้พ่อกับแม่ได้ไหม คำตอบที่ออกมาคือ "หมอ เป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ ไม่ได้หมายถึงหมอน่ารังเกียจ แต่สิ่งที่หมอได้พบ ได้เห็น ได้ทำงานด้วยนั้น ถ้าไม่เฉียดตายมา เน่าเฟะ มีเลือด มีหนองมาทั้งนั้น มันศิวิไลซ์ตรงไหนพ่อ" ผมก็ได้แต่อึ้ง เออจริงของลูกแฮะ แต่เขาก็ยังเรียนในสิ่งที่พ่อแนะนำคือ รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แทนคณะนิเทศศาสตร์ ที่เขาอยากเรียนในตอน ม.๖ เพราะเชื่อมั่นว่า ความถนัดของเขาคืออะไร และจะใช้ประโยชน์จากวิชาชีพได้อย่างไร?

ed work 02

เรื่องการสอนให้ลูกทำงานและช่วยเหลือตนเอง นี่ ผมทำตั้งแต่เขายังเด็กทั้งคู่ แบ่งงานกัน พี่สาวดูแลเรื่องอาหารการกิน น้องชายเรื่องความสะอาดบ้าน ล้างถ้วยจาน ส่วนเสื้อผ้าซักเองทั้งคู่ ช่วยกันรีดวันเสาร์-อาทิตย์ การเดินทางไปโรงเรียนก็ฝึกให้สามารถเดินทางด้วยรถเมล์ประจำทางได้เอง ไม่ได้ไปรับ-ส่งเหมือนคนอื่นเขา ทำให้เขาแข็งแกร่งมาเรียน ม.ปลาย ในกรุงเทพฯ อยู่ตามลำพังได้ ไม่ทำให้พ่อ-แม่ผิดหวังหรือเป็นห่วง ลองดูซิครับ อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นเทวดาเลยครับ...

ลูกผมทั้งสองคน ต่างผ่านการทำงานในขณะที่เรียนมาแล้วทั้งคู่ เป็นงาน Part time ตามความรู้ความสามารถของเขาเอง อย่างลูกชายนี่ทำงานพาร์ทไทม์ให้สถาบันทดสอบ TOIEC ตั้งแต่เรียน ม.๕ ทำงานเป็นบริกรในร้านจำหน่ายไอศครีม Swensens เพื่อเรียนรู้การทำงานบริการ การบริหารองค์กรตามแนวคิดธุรกิจสมัยใหม่ ฝึกงานที่บริษัทการบินไทย เพื่อเป้าหมายสู่อาชีพในสายการบินในปัจจุบันนี้ การทำงานในระหว่างการเรียนแม้จะมีรายได้เพียงเล็กน้อย แต่ประสบการณ์นั้นยิ่งใหญ่นักหาไม่ได้ง่ายๆ

ed work 05ครูผู้สอนในโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ต่อการเรียนเพื่อประกอบอาชีพ อย่ามุ่งแต่สอนให้นักเรียน เรียนสายสามัญ ถนนทุกสายมุ่งสู่... มหาวิทยาลัยชั้นนำ จบออกมาแล้วมีสักกี่เปอร์เซนต์... ที่ได้งานการทำตามที่เรียนมา ต้องมาเตะฝุ่น รองานอีกเท่าไหร่ ผมไม่อยากโยนภาระหน้าที่ การแนะแนวการศึกษา ไปให้ครูแนะแนวฝ่ายเดียวหรอกครับ เพราะครูแนะแนวมีน้อย และมีบางส่วนที่ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง ว่าจะทำอย่างไร ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน และอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางบอกกล่าวกับลูกศิษย์ ส่วนใหญ่มักจะคิดแค่ว่า ครูแนะแนวติดตามข่าวการรับสมัครสอบคัดเลือกเข้าสถาบันการศึกษา เอามาบอกนักเรียนก็หนักหนาสาหัสแล้ว

การแนะแนวการศึกษานั้น ควรทำมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาได้แล้วครับ เพราะในระดับมัธยมศึกษาจะเริ่มมีการแบ่งแผนการเรียน แยกตามความถนัดของแต่ละบุคคล ครูควรจะสังเกตพฤติกรรม ความชอบ ทักษะของแต่ละบุคคล ประสานพูดคุยกับผู้ปกครอง ชี้แนะแนวทางการประกอบอาชีพยุคใหม่ ให้ทางเลือกสำหรับบุตรหลาน เลิกคิดแบบแคบๆ จนตรอกว่า ต้องเรียนสายวิทย์เท่านั้นมันถึงจะกว้าง มีอาชีพมั่นคง แต่สายวิทย์มันก็ต้องดูที่ความถนัดความชอบ และระดับสติปัญญาด้วยถึงจะไปรอด ถ้าเรียนแล้วก็ตก ติดศูนย์ ติด ร. มส. แล้วจะมีกำลังใจที่ไหนที่จะเรียนให้สำเร็จได้

ed work 07

ในวงการด้านเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานในปัจจุบันของไทยเขาต้องการคนเรียนจบสายอาชีพระดับ ปวช. ปวส. เข้าทำงาน มากกว่าระดับปริญญาตรีที่ไม่ตรงสายงาน วุฒิสูงแต่ทำงานไม่ได้ แม้จะทำได้ก็ต้องฝึกฝนด้านอาชีพเพิ่มเติมอีกเยอะ บริษัท/ห้างร้าน/โรงงาน ต้องการแรงงานที่ตรงสาย มีประสบการณ์ฝึกงานในอาชีพนั้นๆ มาก่อน แล้วมาฝึกเพิ่มเติมอีกเพียงเล็กน้อย ก็ทำงานได้อย่างมีฝีมือ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครูแนะแนวต้องให้ข้อมูลด้านอาชีพที่หลากหลาย กับนักเรียนและผู้ปกครอง มากกว่าที่จะเน้นให้พวกเขามุ่งไปเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญกัน

ซึ่งในปีนี้ก็มีข่าวว่า นักเรียนแห่สมัครเข้าเรียนสายอาชีพในระดับ ปวช. กันล้นหลาม แต่ก็เป็นเพียงบางสาขาเท่านั้น เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเลคทรอนิกส์ ก็สมัครจนล้น ในขณะที่สาขาช่างเชื่อม และสาขาก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานคนยังสมัครน้อย ถ้าให้ผมวิเคราะห์แบบง่ายๆ ก็บอกได้เลยว่า สาขาที่สมัครจนล้นนั้นมันตรงกับจริตของเด็กปัจจุบัน (เอ๊ะยังไง? ดูที่เฉลย) ช่างยนต์มันได้แต่งรถ ได้ซิ่ง ได้แวนซ์ไงครับ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์มันเกี่ยวข้องกับโลกของคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์เลยชอบ แต่ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้างมันงานกลางแดด เด็กสมัยนี้อาจจะไม่ชอบ แต่งานแบบนี้เงินดีนะขอบอก

ed work 06

การเรียนสายอาชีพไม่ได้มีเฉพาะในวิทยาลัย เทคนิค อาชีวศึกษานะครับ หลายสาขาวิชาก็มีการจัดตั้งสถาบันการสอนเป็นเอกเทศจากเอกชนเพื่อป้อนสู่ตลาด แรงงานของกลุ่มบริษัทเหล่านั้น เช่น สถาบันการโรงแรม สถาบันอาหาร (พ่อครัว เชฟ) หรืออย่าง วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ l นวัตกรรมการเรียนรู้ โดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่สร้างบุคลากรให้กับกลุ่มบริษัทในเครือ หรือบางคนอาจจะเรียนสายอาชีพแบบหลักสูตรสั้น เรียนจบเข้ารับการทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือ จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานก็แจ่ม สามารถหางานทำได้ทันที

ed work 04

บทส่งท้าย ครูเราคงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการจัดการเรียนการสอนอีกเยอะครับ เพื่อให้สามารถพัฒนาการศึกษาของไทย ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ การเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า จะสำเร็จได้ เราต้องพร้อมใจกัน ร่วมมือกันอีกมากมายครับ พอดีได้หาข้อมูลด้านอาชีพมาบางส่วนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครู และผู้ปกครอง ก็คลิกดาวน์โหลดไปเป็นข้อมูลกันครับ

หวังว่า เพื่อนครูทุกท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในกำลังสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้นะครับ ใครใช้งาน Facebook ลองเข้าไปกด Like Page นี้กันครับ ผมชอบแนวคิดของอาจารย์วิริยะ แห่ง EduZones ครับ และ Like Page ผมด้วยนะ KruMontree จะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันถาม ช่วยกันตอบกัน

เมื่อวันก่อนฟังรายการวิทยุในรถยนต์ ระหว่างไปรับลูกชายจากโรงแรมที่พัก มาทำธุระแถวพารากอน ก่อนเข้าบ้านพักที่กรุงเทพฯ ทางรายการเขาสอบถามความเห็นผู้ฟังทางบ้านว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับการจับสลากเข้าเรียนในระดับชั้น ม.๑ ของโรงเรียนมีชื่อทั้งหลายสังกัด สพฐ. ก็ว่ากันไปตามความรู้สึกแต่ละคนที่สมหวังก็ตอบว่าดี ที่ผิดหวังจับสลากไม่ได้ก็บอกว่าแย่ น่าจะใช้วิธีการอื่น แต่มีอยู่คนหนึ่งตอบได้ให้ฉุกคิดคือ "แก้ ปัญหาไม่เห็นยากเลย ก็ให้ครูจับสลากไปสอนโรงเรียนอื่นๆ บ้างเท่านั้น ครูเก่งๆ แน่ๆ ขึ้นชื่อก็กระจายไปทั่วประเทศ นักเรียนก็ไม่อยากมาเรียนโรงเรียนดังแล้วล่ะ" สพฐ. ว่าไงครับ?