edu goal 2

nextารเปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาไทยสู่อนาคต ได้เขียนบทความมาแล้วครั้งหนึ่ง นี่เป็นบทความที่ 2 ที่อยากจะย้ำเน้นเป็นภาคต่อ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำครับ เป้าหมายคือเพื่อประเทศไทยเช่นเดียวกัน มีแนวทางการพัฒนาได้หลายทิศทาง แต่... ระบบการศึกษาของเราได้ตกเป็นทาส (อารยะตะวันตก) ลอกเลียนแบบ โดยไม่มองดูบริบทของตัวเองมานาน พื้นฐานของประเทศเราคือเกษตรกรรม เรามีที่ดิน ลุ่มน้ำ และผลผลิตทางการเกษตร เป็นแหล่งอาหารของโลก จนสมัยหนึ่งเราเคยยกย่องบรรพบุรุษของเราว่า เป็น "กระดูกสันหลังของชาติ" แต่เมื่อเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ความคิดของเรา (ผู้นำ/ผู้มีอำนาจในการจัดการประเทศ) ก็เปลี่ยนไป...

เราอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรม ถึงกับอยากให้ตัวเองเป็นเสือแห่งเอชีย สุดท้ายก็ยังเป็นได้แค่แมว มีการส่งเสริมให้ไปร่ำเรียนเมืองนอกเมืองนา ส่งข้าราชการใหญ่ๆ ไปดูงานเมืองนอกอันศิวิไลซ์ แล้วตั้งแต่บัดนั้นเราก็ลอกระบบการศึกษาของอังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียมายำใหญ่หลายยุคหลายสมัย อยากให้เหมือนเขาแต่ดันเอามาไม่หมด ก็เลยกลายเป็นหลักสูตรหัวมังกุฏท้ายมังกรอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แล้วยิ่งขยายโอกาสภาคบังคับเป็น 9 ปี (ประถมศึกษา 1-6 และมัธยมศึกษาตอนต้น 1-3) ทำให้เกิดการเรียนแบบบังคับยาวนานแบบเดียวกันทั้งประเทศ ก็ยิ่งไม่สอดคล้องกับการประกอบสัมมาอาชีพของครอบครัว

การจัดการศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศมีเป้า ชัดเจนว่า ให้มุ่งเน้นหนักเรียนสาขาวิชาการ เพื่อส่งต่อเข้าศึกษาในสายสามัญ มุ่งมั่นเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้มีความสามารถอย่างนั้น และครอบครัวของเขาก็มีพื้นฐานในการงานอาชีพด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แทนที่เขาจะได้ร่ำเรียนในทางอาชีพ เพื่อสืบทอดอาชีพและสมบัติ(ที่ดิน ผืนนา ไร่)ของบรรพบุรุษ ได้ช่วยเหลือพ่อแม่ในการทำงานเห็นคุณค่าในการประกอบอาชีพ เราจึงได้เห็นผลผลิตที่ย่ำแย่ เพราะเราไม่ได้ส่งเสริมผู้เรียนตามความถนัดและศักยภาพที่แท้จริง

เราน่าจะหยุดคิดตรงนี้ ในการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตร ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนครบทุกกลุ่มสาระอย่างเข้มข้น ถ้าลูกหลานผมจะเป็นเกษตรกรเขาควรจะเรียนรู้อะไร? เรียนรู้เรื่องดิน ฟ้า อากาศ การปรับปรุงดิน การสร้างแหล่งเก็บน้ำ การคัดเลือกพันธุ์ ความรู้วิชาการอื่นๆ เอาแค่อ่าน/ออกเขียนได้ทั้งไทย อังกฤษ (ง่ายๆ สูตรปุ๋ย N-P-K คืออะไรได้) คิดคำนวณง่ายๆ สำหรับการซื้อ-ขายพืชพันธุ์สู่ตลาด เรียนรู้เท่าทันการตลาดยุคทุนนิยม (ไม่ต้องมาสอนเรื่องหุ้นให้หนักสมอง) จริงๆ แล้วสิ่งที่จะต้องพัฒนาควบคู่กันคือ ความรู้ของครูที่พร้อมจะแนะแนวทาง ค้นหาความสามารถ และความถนัดของเด็กเพื่อส่งเสริม ชี้แนะให้ถูกทาง เริ่มกันตั้งแต่ประถมศึกษากันเลยครับ

child country

เราเห็นความผิดพลาดของการผลักดันนักเรียน สู่สายสามัญกันมามากแล้ว กว่านักเรียนจะรู้ตัวว่า ตัวเองชอบสายอาชีพก็สายเกินไป ต้องจบมัธยมต้นสอบเข้าเรียนต่อสายสามัญระดับ ม.4 ไม่ได้โน่นแหละ คอยเบนเข็มไปเรียนสายอาชีพ บางคนก็มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่ดีแล้ว เกกมะหรกเกเร ติดเพื่อน ติดยา ติดเกม เพราะเกิดความเบื่อหน่ายกับการเรียนวิชาการอย่างเข้มข้น ซึ่งพวกเขาไม่ได้ชอบสักหน่อย แต่ครูบาอาจารย์บางคนมักพูดติดปากว่า "ไม่ชอบก็ต้องเรียน" สุดท้ายกว่าจะจบ ม.3 ได้ก็พ่วงเลขศูนย์มาเต็มกระบุง

ณ เวลานี้สิ่งที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วนหาใช่หลักสูตรไม่ แต่ต้องปรับเปลี่ยนที่คน คือ ตัวนักเรียน ครู และผู้บริหาร ทำไมหรือ? ก็เพราะความล้มเหลวทั้งมวลมันมาจากคนนี่แหละ

นักเรียน ลูกหลานเรานี่แหละต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาเสียก่อน การจะเปลี่ยนให้ได้ผลผู้ปกครอง และสังคมรอบข้างต้องเป็นแบบอย่าง จะสอนให้เขาเป็นคนดีแต่พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ทำผิดศีลกันได้ทุกวันทั้งต่อหน้าและลับหลัง และเลิกกพูดเสียทีว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนเขา ก็น้ำร้อนที่ท่านอาบนั้นยังไม่สามารถฟอกคราบไคลได้หมดเพราะทั้งสูบบุหรี่ กินเหล้า เข้าวงพนัน เล่นหวยหวังรวยทางลัด อย่าห้ามแต่จงเตือนและให้คำอธิบายว่าสิ่งใดควรไม่ควร การลงมือตบตี ดุด่า ยิ่งเป็นการผลักไสไล่ส่งเขาลงเหวเร็วยิ่งขึ้น

ครู ครูของเราอบรมร้อยครั้ง พันครั้ง แต่กลับมาโรงเรียนก็ไม่ใส่ใจในการพัฒนาการเรียนการสอน ด้วยเหตุที่มองใกล้ ไม่มองให้กว้างและไกลไปยังสังคมรอบข้าง ในอดีตเราเคยพูดกันเล่นๆ ว่า "เลข คัด เลิก" สมัยนี้ก็ยังเป็นอยู่เพียงแต่เปลี่ยนใหม่เป็น ฟังครู ไปค้นมา แล้วทำรายงานส่งครู ซึ่งก็ยังไม่ต่างจากเดิม ไปอบรมเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้ผลิตสื่อการสอน แต่ผลคือไปหาสื่อที่ชาวบ้านเขาทำสำเร็จไว้แล้ว มาใช้งานแค่เห็นชื่อ โดยไม่คิดว่า มันเหมาะกับนักเรียนเราแล้วหรือยัง เอกสาร แผนการสอนเดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็อำนวยความสะดวกมาให้เสร็จสรรพ ซื้อแบบฝึกหัดเยอะๆ มีแถมเฉลยมาพร้อม ครูก็ไม่เคยอ่านละเอียดไม่รู้มันถูกหรือผิด สั่งให้ทำๆ ไปแล้วมาส่งครู ครูมีหน้าที่ตรวจ(สมัยนี้เล่นตรายางประทับ)ตรวจแล้วกันเลยทีเดียว มาวันหนึ่งมีเด็กเก่งเจอที่ผิดมาถามครูกลางชั้นเรียน ครูดูเฉลยตอบไปเด็กค้านครูเกิดอารมณ์ร้ายอย่ามาเถียงครูนะ เหงื่อแตกพลั่กๆ ขายหน้าไหม?

kru develop 03

การพัฒนาต้องเริ่มที่ใจของครูที่อยากเห็น ความสำเร็จของศิษย์ การเป็นครูนั้น ไม่ได้สอนเฉพาะในวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ ยังต้องคอยแนะนำมากมาย ทั้งปัญหาสารพัด การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมยุคเร่งรีบ เป็นทั้งครูคอยสอนวิชา เป็นพระสอนใจ เป็นหมอรักษาโรคป้องปรามภัยยาเสพติด และอีกสารพัดที่ต้องอบรมฝึกฝนแก่ศิษย์ ถ้าครูคิดเพียงว่าสอนให้จบตามหนังสือ ตำรา แบบเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดก็พอแล้ว ผมว่า อนาคตการศึกษาของไทยคงมืดมนไปอีกนาน

ผู้บริหาร การพัฒนาโรงเรียนไปในทิศทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เป็นหน้าที่ของผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนในประเทศไทย ล้วนเคยเป็นครูผู้สอนมาก่อน ก่อนจะเลือกเปลี่ยนเส้นทางเดิน จากสายผู้สอนเข้าสู่สายบริหาร เมื่อก่อนเคยลำบากอย่างไร สอนอย่างไรก็เคยผ่านมา แต่พอขึ้นไปสู่ตำแหน่งใหม่ใยท่านหลงลืมอาชีพการสอนเสียสิ้น มีน้อยคนนักที่ยังคงลงมาช่วยสอนอย่างจริงจัง มองเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาออก โรงเรียนนั้นก็นับว่าโชคดีเหลือเกินที่ท่านเอาใจใส่ คอยนิเทศ กำกับ และติดตามการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีผู้บริหารที่แทบจะเป็นส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่ละเลยการสอน ไม่ใส่ใจงานวิชาการ กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ คอยล้วงลูกการจัดซื้อจัดจ้าง ถนัดในทางการใช้งบประมาณที่ไม่ส่งผลต่อผู้เรียนแม้แต่น้อยนิด ชอบนักกับการทาสีรั้ว ทาสีอาคาร ปลูกหญ้า ทำสวนหย่อม (คำโก้หรูคือ ปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ในความจริงคือ บริหารงบประมาณที่ไม่มีราคากลาง สะดวกจ่าย สะดวกเม้ม)

บางคนตั้งแต่ได้เข้าสู่ตำแหน่งหลังงาน เลี้ยงต้อนรับ สถานที่ทำงานของท่านคือเขตพื้นที่ ประชุมทั้งปีไม่เคยเข้าโรงเรียน เข้าไปก็ไม่เคยนั่งเก้าอี้ สั่งโน้นนี่เบิกเบี้ยเลี้ยงค่าเดินทางแล้วก็ไป เวลาประชุมครูไม่เคยเตรียมการล่วงหน้า มานั่งอ่านหนังสือราชการ (สั่งการ) ให้ครูฟัง ยังกะครูอ่านหนังสือไม่ออก บอกให้ทำตามนี้แล้วท่านก็ไป (หลายคนเถียงผมนะว่า ผมใส่ร้ายผู้บริหารเกินไป ไม่หรอกแค่เอาความจริงมาพูดเล่น ถ้ามีผู้บริหารแบบย่อหน้าบนก็ขอเทิดทูนบูชาครับ) เมื่อมีการประเมินออกมาตกต่ำ ท่านก็เป็นฟืนเป็นไฟ ฟาดงวงฟาดงา ก็อยากถามย้อนคืนว่า "ท่านเคยใส่ใจในการพัฒนาลูกหลานเยาวชนในโรงเรียนมากน้อยเพียงใด ท่านทราบไหมว่าจุดอ่อนของตัวป้อนในโรงเรียนของท่านคืออะไร วางแผนแก้ปัญหาอย่างไร ในฐานะท่านคือ ผู้บริหาร"

kru develop 01

ผมเคยเป็นเลขานุการของ ผู้ตรวจราชการกรมสามัญศึกษา เมื่อในอดีตที่ยังไม่ควบรวมหน่วยงานกันเป็นเขตพื้นที่อย่างปัจจุบัน ได้ติดสอยห้อยตามท่านผู้ตรวจไปเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ ได้มีโอกาสนำคณะของท่านอธิบดีกรมสามัญศึกษา รองอธิบดีกรมสามัญศึกษาไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะระหว่างการเดินทางผมจะถูกสอน แนะนำการทำหน้าที่ราชการให้ประสบผลสำเร็จจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น ท่านเคยถามผมว่า "ถ้ามนตรี เป็นผู้บริหารสิ่งแรกที่ควรจะทำคืออะไร?" ผมตอบไปว่า ให้ความยุติธรรมกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้มากที่สุดก่อนสิ่งอื่น

ท่านตอบว่า "นั่นก็มีส่วนถูก แต่ไม่ใช่สิ่งแรกที่ควรทำ สิ่งแรกในการเป็นผู้บริหารโรงเรียนต้องไปโรงเรียนให้ถึงก่อนใครอื่น ถึงก่อนนักการภารโรงด้วยยิ่งดี"

ผมเริ่มฉงนแล้วล่ะ เลยถามท่านต่อว่า "ทำไมหรือครับ?"

"การที่ผู้บริหารไปโรงเรียนแต่เช้าตรู่ในทุกๆ วัน ให้เดินรอบๆ โรงเรียนให้ทั่ว นอกจากจะเป็นการออกกำลังกายไปในตัวแล้ว เรายังได้เห็นสิ่งที่คนอื่นยังไม่เห็นหรือใส่ใจ เช่น ขยะในบริเวณต่างๆ ประตูหน้าต่างที่ไม่ปิดในตอนเย็น หรือชำรุดผุพังจนใช้การไม่ได้ น้ำไม่ไหล ไฟดับตรงไหนบ้าง จะได้สั่งการซ่อมแซมให้พร้อมใช้งานก่อนที่นักเรียนจะมาถึง ลองนึกภาพที่น้ำไม่ไหล ห้องน้ำที่นักเรียนใช้จะสะอาดหรือ ได้เห็นและรับรู้ว่านักการภารโรงมาทำงานตามหน้าที่ มีความสะอาดเพียงพอ เสร็จแล้วค่อยกลับบ้านพัก อาบน้ำอาบท่า มาทำงานตามปรกติ" นี่ก็จริงของท่านเพราะผู้บริหารคือผู้จัดการใหญ่ของโรงเรียน ถ้ามาได้ทุกเช้ารับรองได้ว่า ความพร้อมเต็มร้อยในการจัดการศึกษามาแล้ว ทั้งนักเรียนและครูก็มีความสุขในการจัดการเรียนการสอน

อีกเรื่องหนึ่งคือ การเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาเยี่ยมโรงเรียนต้องเตรียมตัวให้พร้อม อย่าให้ขายหน้าเพราะแทนที่จะเป็นคุณกลับกลายเป็นโทษ เรื่องนี้ผมได้รับคำสอนจากท่านอธิบดีกรมสามัญศึกษา (บรรจง พงษ์ศาสตร์) ท่านบอกว่า เวลาเราไปตรวจเยี่ยมโรงเรียน เราคือกัลยาณมิตรที่จะคอยช่วยเหลือ แนะนำในการจัดการศึกษาแก่ทางโรงเรียน ถ้าอยากเห็นความจริงให้ไปตรวจตามที่เราอยากไปเห็น ไม่ใช่ไปตามการโค้งคำนับ และเชิญไปยังห้องที่จัดเตรียมไว้แล้ว เราจะไม่ได้ความจริง ท่านบอกว่า ควรตรงดิ่งไปที่หลังโรงเรียนดูห้องน้ำห้องส้วมนักเรียน (ตรงนี้ผมถึงบางอ้อเลย เพราะหลายๆ โรงเรียนแค่เดินเฉียดก็ได้กลิ่นสุดทนทานแล้ว ไม่ต้องเข้าไปดูหรอกว่าจะสกปรกขนาดไหน ถ้าไม่ปวดชนิดที่จะราด ณ เวลานั้นคงไม่มีใครเข้าใช้บริการแน่ๆ)

จุดต่อไปคือ โรงอาหาร และบ้านพักครู ถ้าได้เห็นสกปรก หญ้ารกรุงรัง ขยะเพียบ ก็อย่าได้หวังว่า ห้องเรียน อาคารเรียนจะสะอาดสะอ้าน เหมาะแก่การจัดการเรียนการสอน ส่วนใหญ่จะระดมกวาด ทำความสะอาดเพื่อรอต้อนรับผู้ใหญ่เท่านั้นเอง บางโรงเรียนก็จะเชิญเข้าห้อง ผอ. เปิดแอร์เย็นฉ่ำ เพื่อต้อนรับด้วยน้ำท่า และลงลายมือชื่อในสมุดเยี่ยมเท่านั้น โรงเรียนที่เคยไปตรวจเยี่ยมสมัยนั้น ผู้บริหารโรงเรียน โดนยำใหญ่เสียมากล่ะครับ เพราะคาดไม่ถึงว่า ผู้หลักผู้ใหญ่จะเล่นลงจากรถตู้หน้าประตูโรงเรียนเดินดุ่มๆ เข้าไปหลังโรงเรียนแบบนั้น เลยโดนนิเทศชนิดอยากกลับไปสำนักวัดไร่ขิงอีกสักรอบก็ยังมี

วันนี้ ผมมีบทความที่เขียนโดยคนต่างชาติที่เคยมาทำงานสอนในเมืองไทย มีประสบการณ์และมุมมองที่น่าสนใจมาก พวกเราควรอ่านและวิเคราะห์ว่าจริงหรือไม่ เพียงใด อย่าเชื่อในรายงานของพวกเรากันเองที่รู้ๆ อยู่ว่าทำเพื่อสร้างตัวเลขของบประมาณและเชลียร์เกินเหตุ เชิญอ่านครับ...

CNN iReport : ระบบการศึกษาไทย

ความล้มเหลวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Cassandra James* ข้อเขียนจากประสบการณ์ของอาจารย์ชาวต่างชาติ คาสซานดรา เจมส์
เขียนขึ้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2008 บริบท เหตุการณ์ นโยบายต่างๆ ในการวิจารณ์คือ
ช่วงเวลานั้น นำเสนออีกครั้งผ่าน iReport ของเว็บไซต์ CNN
(ซึ่งเป็นการนำเสนอบทความโดยบล็อกเกอร์บุคคลทั่วไป) เมื่อ 8 มิถุนายน 2013
ถ่ายทอดและสรุปเป็นภาษาไทยโดย New Culture

CNN Reportะบบการศึกษาไทย คือหนึ่งในระบบการศึกษาที่ล้มเหลวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตกต่ำลงทุกปี

ผู้เขียน สอนอยู่ในระบบการศึกษาไทยมากว่า 3 ปี และได้รับรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ระบบการศึกษาในไทยนั้นย่ำแย่แค่ไหน เงินงบประมาณที่รัฐจัดถมลงไปไม่เคยพอ ห้องเรียนขนาดใหญ่ (นักเรียนมีมากกว่า 50 คนต่อห้อง) ผลิตและพัฒนาครูย่ำแย่ นักเรียนขาดแรงผลักดัน และระบบที่บังคับให้นักเรียนผ่านชั้นได้แม้ว่าพวกเขาจะสอบตก จนคล้ายว่าเราจะมองไม่เห็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้

ผู้เขียนสอนในโรงเรียนเอกชนพหุภาษา ดังนั้นระดับความเข้มข้น ของปัญหาจะน้อยกว่าโรงเรียนรัฐ แต่ถึงอย่างนั้น โรงเรียนของเราก็ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบราชการ อันเทอะทะยิ่ง ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานไร้ประสิทธิภาพ จนน่าหัวร่อแห่งหนึ่งของโลก กฏระเบียบเปลี่ยนแปลงทุกภาคการศึกษา หลักสูตรการสอน เนื้อหาแบบเรียน ข้อสอบ ฯลฯ แนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ถูกสั่งการมายังครูอาจารย์ทุกๆ เปิดเทอมใหม่ แล้วก็เปลี่ยนใหม่อีกทีในภาคการศึกษาหน้า

อาจารย์ ได้รับคำสั่งให้ปล่อยนักเรียนผ่านชั้นไปได้ แม้ว่าพวกเขาจะสอบตก และให้ปิดตาข้างหนึ่งให้กับปัญหาที่เราควรจะซีเรียส อย่างเช่น การลอกการบ้านส่ง

ทุกๆ ปี กระทรวงศึกษาธิการจะเกิดปิ๊งไอเดียสุดเลิศในการพัฒนาการศึกษา ไอเดียสุดเลิศในปีนี้ (2008-ผู้แปล) คือการบังคับให้อาจารย์ชาวต่างชาติทุกคน ไปอบรมคอร์สวัฒนธรรมไทย แม้ว่าอาจารย์ชาวต่างชาติจำนวนมากจะอยู่ที่นี่มาหลายปี และเข้าใจวัฒนธรรมไทยดี แต่เพื่อจะได้รับการต่ออายุใบอนุญาตเป็นอาจารย์ พวกเขาก็จำเป็นต้องเข้าคอร์สนี้ ค่าอบรมอยู่ในราคา 110$-300$ (ราวสามพันถึงเกือบหมื่น-ผู้แปล) ต้องจ่ายโดยตัวอาจารย์ผู้เข้าอบรมเอง อาจารย์ชาวต่างชาติหลายคนปฏิเสธที่จะจ่าย ผู้เขียนรู้จักอาจารย์ที่มีฝีมือมาก 2 ท่านตัดสินใจเปลี่ยนไปสอนที่ญี่ปุ่นและเกาหลีแทน ด้วยผลจากนโยบายนี้

ประเทศอาเซียนอื่น อาจารย์ชาวต่างชาติได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า และกระทรวงศึกษาธิการในประเทศเหล่านั้นมีแนวคิดที่ก้าวหน้ากว่า ประเทศไทยจึงประสบปัญหาในการที่จะดึงดูด และรักษาอาจารย์ชาวต่างชาติที่มีคุณภาพเอาไว้ การออกกฏเช่นนั้นมา จึงเป็นคล้ายดั่งใบสั่งให้พวกเขาจากไปสู่ประเทศอื่นๆ

asean1

เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์กรของรัฐ หรือระบบราชการ ในแทบทุกประเทศทั่วโลกจะขึ้นชื่อ เรื่องความไร้ประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างนั้น กระทรวงศึกษาธิการของไทย ก็ยังต้องจัดว่าไร้ประสิทธิภาพที่สุด ที่ผู้เขียนได้เคยทำงานร่วมด้วยมา

โรงเรียนล่าสุดที่ผู้เขียนมีโอกาสสอน อาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนได้มาหาผู้เขียน เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขแกรมมาร์ เนื่องจากอาจารย์ท่านนั้นถูกตำหนิอย่างรุนแรง จากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการได้ต่อว่าอาจารย์ท่านนั้นอย่างหยาบคายว่า ไม่ดูแกรมมาร์ของเด็กๆ บนการ์ดวันแม่ให้ถูกต้อง คำตำหนินี้ มาจากองค์กรที่ส่งเอกสารมายังอาจารย์ต่างชาติทุกวัน โดยที่เอกสารราชการเหล่านั้นไม่มีสักประโยคที่เขียนแกรมมาร์ถูกต้องเลย ถึงขนาดที่บางอันหัวหน้าของผู้เขียนต้องโยนทิ้งถังขยะ เนื่องจากไม่สามารถอ่านได้เข้าใจเลย

สังคมไทย กำลังเผชิญกับวิกฤติทางศึกษา นักเรียนไทยไม่เคยต้องคิดอะไรเอง ไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะ Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์เป็นเหตุเป็นผล) ในโรงเรียนรัฐ การมีนักเรียน 50 คนต่อห้องเป็นเรื่องปกติ เด็กครึ่งนึงหลับในชั้นเรียน ในขณะที่อาจารย์ไม่เคยสนใจว่าพวกเขาจะฟังหรือไม่ จำนวนหนังสือมีจำกัด อุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ไม่เคยปรากฏให้เห็นในบางโรงเรียน อาจารย์ต่างชาติเป็นเหมือนเศษเกินที่มีแค่ให้พอมี

ในขณะที่โรงเรียนไม่สามารถจ่ายได้เกิน 750$ (ราว 23,000 บาท-ผู้แปล) จึงได้คุณภาพเท่าที่จ่าย (และคนที่เรียกว่า "อาจารย์" จำนวนมากนี้ เป็นเพียงชายแก่ที่ไม่มีปริญญาการสอนใดๆ มาที่นี่เพราะหญิงไทย และลงเอยด้วยการเป็นอาจารย์สอนภาษา เพราะเป็นงานเพียงไม่กี่อย่างที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทำ)

สถานการณ์ การศึกษาในเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีหรือจีน กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ไทยถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง รัฐยังเสียเวลาไปกับการออกกฏที่น่าขัน แทนที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ

kroobannok 05

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมไทยนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า สังคม ไทยนั้นคือสังคมแห่งการรักษาหน้าตาในทุกๆ ด้าน ภาพลักษณ์คือทุกสิ่ง และตราบใดที่ภาพลักษณ์ภายนอกของเด็ก ยังสำคัญกว่าความรู้ที่อยู่ข้างในสมองของพวกเขา ระบบการศึกษาไทยก็จะยังเผชิญกับปัญหาอยู่ต่อไป และร่วงหล่นอยู่ท่ามกลางการแข่งขันของโลก

แต่ใครสนกันล่ะ? ขอเพียงเด็กๆ ดูน่ารักน่าชัง เข้าแถวตรงเดินพาเหรดในชุดเครื่องแบบเรียบร้อย ถึงจะพูดประโยคภาษาอังกฤษได้ไม่เกินเกิน 20 คำ และภาษาไทยเองก็ไม่ได้เก่งไปกว่ากันก็ตาม


จาก CNN iReport :
http://ireport.cnn.com/docs/DOC-985267
ต้นฉบับบทความในปี 2008 :
http://voices.yahoo.com/education-thailand-terrible-failure-889841.html