ken1ลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่ใช้เวลาไป 3 วัน 2 คืน ก็สำเร็จไปสัก 30% กลับคืนมา ในส่วนของบทความในช่วงกลางปี 2555-2556 ครบถ้วน ยังเหลือที่เป็นบทความเก่าย้อนหลังไปยังวันก่อตั้งเว็บอีกเยอะ จะทยอยอัพเดทเข้ามาไว้ในหมวดหมู่บทความ คงต้องใช้เวลาอีกนิด ช่วงนี้ติดตามข่าวสารการศึกษา ก็มีหลายเรื่องราวน่าสนใจ เช่น การปรับปรุงหลักสูตรใหม่ พอมี รมต.ศธ. ใหม่ก็ดูจะแผ่วๆ ลง ดีใจนะที่เราจะได้มีเวลาคิด และรับฟังเสียงจากผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้อง ทั้งจากเสียงของครูทั่วประเทศ ผู้สร้างบุคลากรวิชาชีพครูจากสถาบันต่างๆ นักวิชาการ รวมทั้งผู้สนใจในวงการศึกษาทั้งหลาย

ส่วนข่าวร้ายๆ เรื่อง การทุจริตสอบครูผู้ช่วยรอบแรก (ว.12) ก็ดูจะเงียบหายไปกับสายลม สงสารแต่ปลาซิวปลาสร้อยที่ติดร่างแหไป โดยเฉพาะกับบุคคลที่ถูกพิพากษาว่า ไม่มีสิทธิสอบเข้ารับราชการอีกทั้งชีวิต โดยที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์

ผมยังเชื่อว่าในจำนวน 400 กว่าคนนั้น อาจจะไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในวังวนการทุจริตทั้งหมด อาจเป็นเพราะเขาเก่งจริงๆ ในการสอบ หรือบังเอิญไปได้โพยมาแบบไม่เสียเงิน (อันนี้ก็สีเทาๆ นะ) อยากให้คนกลุ่มนี้พิสูจน์ตนเองด้วยการสอบซ้ำอีกรอบให้รู้ว่าหมู่หรือจ่า แต่ก็นั่นแหละผมไม่มีอำนาจที่จะกระทำ ก็ได้แต่เห็นใจเท่านั้น

อีกกรณีหนึ่งที่ลือลั่นคือ การแจกปริญญาดอกเตอร์ปลอมๆ ที่เป็นข่าว ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยบูชากับการตีค่าปริญญาบัตร มากกว่าความสามารถในการทำงาน ยกย่องเชิดชูที่ปริญญาบัตร หาใช่ความสามารถ ความดีงามที่สั่งสม นี่ก็อันตรายชัดๆ

และกระแสในช่วงนี้อีกอย่างคือ การครบรอบทศวรรษของ สพฐ. มีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งในส่วนกลาง เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ดีครับมีการตีฆ้องร้องป่าวกันเสียบ้างว่า สิบปีที่ผ่านมานอกจากการปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งหนของเก้าอี้ผู้บริหารองค์กรใหญ่ กลาง เล็ก แล้วมีอะไรพัฒนาการศึกษาเป็นแก่นสารกันบ้างแล้ว เพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยที่จะดำเนินต่อไปในวันข้างหน้า ผมมีวีดิทัศน์การให้ข้อคิดเรื่องการจัดการศึกษาชื่อว่า "เราจะหาทางออกจากหุบเขาแห่งความตายของการศึกษาได้อย่างไร" ของ เซอร์ เคน โรบินสัน (Ken Robinson) มาให้ชมกัน

ed death valley

เซอร์ เคน โรบินสัน พูดถึงหลักการสามข้อที่จำเป็นต่อการเติบโตงอกงามของจิตใจมนุษย์ และอธิบายว่าวัฒนธรรมการศึกษาปัจจุบันขัดกับหลักการเหล่านี้อย่างไร ในปาฐกถาที่ทั้งตลกและปลุกเร้าความคิดนี้ เขาแนะนำว่าเราจะหาทางออกจาก "หุบเขาแห่งความตาย" ของการศึกษาที่เราเผชิญอยู่ได้อย่างไร และเราจะทำอย่างไรเพื่อหล่อเลี้ยงเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาในบรรยากาศของความเป็นไปได้

 

คำแปล :

ขอบคุณมากครับ

ผมย้ายมาอยู่อเมริกาเมื่อ 12 ปีที่แล้ว พร้อมกับภรรยาของผมชื่อเทอร์รี่ และลูกสองคนของเรา จริงๆ แล้วคือ เราย้ายมาอยู่ลอสแองเจลิส (เสียงหัวเราะ) แต่หลงคิดว่าเราย้ายมาอยู่อเมริกา แต่ไม่เป็นไรครับ นั่งเครื่องบินจากลอสแองเจลิส ไปอเมริกาก็ไม่ไกลเท่าไหร่หรอก

ken4ผมมาถึงที่นี่ 12 ปีที่แล้ว ตอนที่มาถึง มีคนบอกอะไรผมหลายอย่าง เช่น "คนอเมริกันไม่เข้าใจการประชด" คุณเคยได้ยินความคิดทำนองนี้ไหมครับ มันไม่จริงเลย ผมเดินทางไปทั่วทุกสารทิศในประเทศนี้ ยังไม่เจอหลักฐานตรงไหนเลยว่าคนอเมริกันไม่เข้าใจการประชด มันเหมือนความเชื่องมงายทางวัฒนธรรม เช่น "คนอังกฤษชอบเก็บตัวเงียบ" ผมไม่รู้ว่าทำไมคนถึงคิดอย่างนั้น ที่ผ่านมาเราเจอประเทศไหน เราก็ไปรุกรานเขาหมด (เสียงหัวเราะ) แต่การบอกว่าคนอเมริกันไม่เข้าใจการประชดนี่ ไม่จริงเลย ผมแค่อยากให้รู้ว่า นั่นคือสิ่งที่คนอื่น พูดถึงพวกคุณ (คนอเมริกัน) ลับหลัง คุณรู้ไหม เวลาคุณ (คนอเมริกัน) ลุกออกจากห้องนั่งเล่นของคนยุโรป เขาจะพูดกันว่า ดีนะที่ไม่มีใครพูดประชดขึ้นมาตอนที่คุณอยู่

แต่ผมได้รู้ว่าคนอเมริกันเข้าใจการประชด เมื่อผมได้ยินชื่อ พรบ. การศึกษา"ไม่มีเด็กคนไหนถูกทอดทิ้ง" (No Child Left Behind) เพราะคนคิดชื่อนี้ต้องรู้จักการประชดแน่ ใช่ไหมครับ เพราะว่า -- (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) เพราะว่าที่จริง พรบ. นี้ ทอดทิ้งเด็กนับล้านไว้เบื้องหลัง ผมก็เข้าใจนะ มันคงฟังไม่เพราะเท่าไหร่ถ้าจะตั้งชื่อว่า "พรบ. ทอดทิ้งเด็กนับล้านไว้เบื้องหลัง" ผมเข้าใจ "ไหน เรามีแผนยังไงนะ" อ้อ เราเสนอว่า ให้ทอดทิ้งเด็กนับล้านไว้เบื้องหลัง แผนการทำงานเป็นอย่างนี้

แล้วมันก็ได้ผลอย่างงดงามเลย ในบางส่วนของประเทศ มีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันถึง 60 % ในชุมชนคนพื้นเมืองอเมริกัน มีอัตราการออกกลางคันสูงถึง 80 % มีการประมาณว่า ถ้าเราลดตัวเลขนี้ลงได้ครึ่งหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเติบโตเพิ่มขึ้น เกือบล้านล้านเหรียญเป็นเวลามากกว่า 10 ปี จากมุมมองทางเศรษฐกิจแล้ว เป็นผลลัพธ์ที่ดี ที่เราน่าจะลุกขึ้นมา ทำให้เป็นจริงใช่ไหมล่ะครับ นอกจากนี้ จริงๆ แล้วเราต้องใช้เงินมหาศาล เพื่อเยียวยาความเสียหายจากวิกฤตที่นักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน

แต่วิกฤตที่เราเห็นนี้ เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่เรายังไม่ได้นึกถึงก็คือ เด็กทั้งหมดที่ยังอยู่ในโรงเรียน แต่ไม่สนใจเรียน ไม่สนุกกับการเรียน และไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงใดๆ จากการเรียน

และเหตุผลนั้น ไม่ใช่เพราะว่าเราจ่ายเงินน้อยเกินไป อเมริกาใช้จ่ายเงินไปกับระบบการศึกษา มากกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ ขนาดชั้นเรียนก็เล็กกว่าในหลายๆ ประเทศ แล้วยังมีโครงการริเริ่มในแต่ละปีอีกเป็นร้อยโครงการ ที่มุ่งปรับปรุงการศีกษา ปัญหาคือ ทั้งหมดนี้มุ่งไปในทิศทางที่ผิด มีหลักการอยู่สามอย่าง ที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์เติบโตงอกงาม แต่หลักสามอย่างนี้ ถูกขัดขวางโดยวัฒนธรรมการศึกษา ที่ครูส่วนใหญ่ต้องทำตาม และเด็กส่วนใหญ่ต้องจำทน

หลักการข้อแรกคือ ธรรมชาติของมนุษย์ มีความแตกต่างหลากหลาย

ผมถามหน่อยครับ ในที่นี้ มีกี่คน ที่มีลูกเป็นของตัวเอง โอเค แล้วหลานล่ะครับ แล้วใครมีลูกสองคนขึ้นไปบ้างครับ เอาล่ะ ส่วนคนอื่นที่เหลือก็คงเคยเห็นเด็กพวกนี้ใช่ไหมครับ (เสียงหัวเราะ) เจ้าคนตัวจี๋วที่ป้วนเปี้ยนไปมาพวกนี้ ผมพนันกับคุณเลย และผมเชื่อว่าผมจะชนะพนันงานนี้ด้วย ถ้าคุณมีลูกสองคนขึ้นไป ผมพนันได้เลยว่าเขาจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ใช่ไหมครับ ใช่ไหม? (เสียงปรบมือ) คุณจะไม่มีวันจำเขาสลับกันได้เลย ใช่ไหมครับ แบบ "เอ๊ะ ลูกคนไหนเป็นคนไหนเนี่ย บอกหน่อย พ่อกับแม่ว่าจะลอง เอาระบบรหัสสีมาใช้แล้วล่ะ จะได้ไม่สับสน"

การศึกษาภายใต้ พรบ. การศีกษา No Child Left Behind นี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมือน ไม่ใช่ความหลากหลาย สิ่งที่โรงเรียนพวกนี้ถูกสั่งให้ทำ ก็คือ ค้นหาว่าเด็กทำอะไรได้ภายในนิยาม "ผลสัมฤทธิ์" แบบแคบๆ หนึ่งในผลกระทบของ พรบ. No Child Left Behind คือการมุ่งความสนใจแคบๆ อยู่แค่สี่สาขาวิชาที่เรียกว่า STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ซึ่งก็สำคัญมากนะครับผมไม่ได้มาต่อต้านวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตรงกันข้าม ผมจะบอกว่ามันจำเป็น แต่มันยังไม่เพียงพอ การศึกษาที่แท้จริงต้องให้ความสำคัญพอๆ กัน แก่ วิชาศิลปะ มนุษยศาสตร์ และพลศึกษาด้วย มีเด็กมากมายเหลือเกิน อ่อ ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)

มีการประมาณว่า ในอเมริกา มีเด็กราว 10 % ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะผิดปกติต่างๆ นานา ที่จัดอยู่ในข่ายของโรคสมาธิสั้น (ADHD) ผมไม่ได้บอกว่าโรคนี้ไม่มีจริง แต่ผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นโรคระบาดแบบนี้ ถ้าคุณจับเด็กๆ มานั่งอยู่กับที่หลายๆ ชั่วโมงต่อกัน แล้วให้ทำงานน่าเบื่อเหมือนเสมียนระดับล่าง ก็อย่าแปลกใจถ้าเขาจะเริ่มอยู่ไม่สุข ใช่ไหมล่ะครับ (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ทุกข์ทรมาน เพราะปัญหาทางจิตหรอกครับ เขาเป็นทุกข์เพราะชีวิตวัยเด็ก (เสียงหัวเราะ)

ผมรู้ เพราะผมเคยใช้ชีวิตเป็นเด็กมาก่อน ผมผ่านเรื่องพวกนี้มาหมดแล้ว เด็กๆ เติบโตและประสบความสำเร็จมากที่สุดในหลักสูตรที่เปิดกว้าง ที่ชื่นชมความสามารถหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ไม่กี่อย่าง อ้อ แล้วที่ศิลปะมีความสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพราะ มันช่วยเพิ่มคะแนนวิชาคณิตศาสตร์นะครับ แต่ศิลปะสำคัญ เพราะมันสื่อสารกับตัวตนของเด็ก ส่วนที่ไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากศิลปะที่สามารถเข้าถึงได้

ประการที่สอง ขอบคุณครับ --- (เสียงปรบมือ)

หลักการข้อที่สอง ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์เติบโตงอกงาม คือความอยากรู้อยากเห็น ถ้าคุณจุดประกาย ความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็กได้ บ่อยครั้ง เขาจะเรียนรู้ต่อเอง โดยไม่ต้องให้เราคอยช่วยเลย เด็กๆ เป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติ ความสำเร็จที่แท้จริงคือการที่คุณปลดปล่อยความสามารถนี้ออกมาได้ แทนที่จะปิดกั้นมันเอาไว้ ความอยากรู้อยากเห็น เป็นเครื่องจักรของความสำเร็จ เหตุที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะ หนึ่งในผลพวงจากวัฒนธรรมปัจจุบันนี้ คือการทำลายวิชาชีพครู ไม่มีระบบใดในโลก หรือโรงเรียนใดในประเทศ ที่อยู่ได้โดยไม่มีครู ครูคือเลือดที่หล่อเลี้ยงความสำเร็จของโรงเรียน

ken robinson page

แต่การสอนเป็นอาชีพที่สร้างสรรค์ การสอน ในนิยามที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ระบบส่งสินค้า คุณไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพียงเพื่อส่งต่อข้อมูล ครูผู้ยิ่งใหญ่ก็ส่งต่อข้อมูลครับ แต่สิ่งที่ครูผู้ยิ่งใหญ่ทำด้วย คือการเป็นพี่เลี้ยง กระตุ้นให้เด็กตื่นตัวและสนอกสนใจ คุณจะเห็นว่า ท้ายที่สุด การศึกษาก็คือการเรียนรู้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้เกิดขึ้น ก็ถือว่าการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้น แต่คนเรากลับใช้เวลามากมาย พูดเรื่องการศึกษา โดยไม่เคยพูดถึงการเรียนรู้ เป้าหมายของการศึกษา คือการทำให้คนเรียนรู้

เพื่อนคนหนึ่งของผม เพื่อนเก่า -- เก่าแก่มาก คือ เขาเสียชีวิตไปแล้วน่ะครับ (เสียงหัวเราะ) นั่นคงเก่าสุดเท่าที่จะเก่าได้แล้วมั้ง ผมว่า แต่เขาเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมาก เป็นนักปรัชญาชั้นเลิศ เขาเคยพูดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง ความหมายของคำกิริยา ว่าด้วยงานและความสำเร็จ คุณอาจจะลงมือทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง แต่ก็อาจไม่ได้ผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ อย่างการลดน้ำหนักนี่เป็นตัวอย่างที่ดีเลย นี่ไง เขากำลังลดน้ำหนัก แล้วน้ำหนักเขาลดไหม ก็ไม่ การสอนก็เป็นคำกิริยาแบบนี้ คุณพูดได้ว่า "นี่ไง เดบอรา เธออยู่ห้อง 34 เธอกำลังสอนอยู่" แต่ถ้าไม่มีใครเรียนรู้อะไรเลย ก็เรียกว่าเธอได้แต่สอน แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการสอน

บทบาทของครู คือการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ แค่นั้นเอง ผมว่าที่มาของปัญหาส่วนหนึ่งคือ วัฒนธรรมการศึกษากระแสหลัก มัวแต่ใส่ใจการทดสอบ ไม่ใช่การสอนและการเรียนรู้ ที่จริงการสอบก็สำคัญนะครับ การสอบมาตรฐานมีบทบาทสำคัญ แต่มันไม่ควรเป็นวัฒนธรรมหลักของการศึกษา เราควรใช้การสอบเป็นเครื่องมือวินิจฉัย เพื่อช่วยในการเรียนรู้ (เสียงปรบมือ) ถ้าผมไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกาย ผมต้องการผลการทดสอบมาตรฐาน ผมอยากรู้ระดับคอเลสเตอรอลของผม เทียบกับของคนอื่นบนมาตรวัดมาตรฐาน ผมไม่อยากได้ผลตรวจจากมาตรวัด ที่หมอของผมสร้างขึ้นเองในรถ

"โคเลสเตอรอลของคุณอยู่ในระดับสีส้ม"

"เหรอ แล้วมันดีหรือเปล่าล่ะครับ" "ไม่รู้เหมือนกัน"

แต่การทดสอบมาตรฐาน ต้องสนับสนุนการเรียนรู้ไม่ใช่ขัดขวางการเรียนรู้ แต่บ่อยครั้งมันก็ขัดขวางการเรียนรู้ ผลคือ แทนที่เราจะมีความอยากรู้อยากเห็น เราเลยมีแต่วัฒนธรรมของการคล้อยตาม เด็กๆ และคุณครูของเราถูกส่งเสริม ให้เดินตามระเบียบขั้นตอนเดิมๆ แทนที่จะตื่นเต้นไปกับพลังความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็น

ken2และหลักการข้อที่สาม คือ ชีวิตของมนุษย์ มีความสร้างสรรค์อยู่ในตัว เราจึงเขียนประวัติย่อของเราแตกต่างกันไป เพราะเราสร้างชีวิตของเราเอง และเราก็สร้างมันขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ระหว่างที่เราใช้ชีวิต มันเป็นวิถีธรรมชาติ ของการเป็นมนุษย์ วัฒนธรรมของมนุษย์จึงได้หลากหลาย น่าสนใจ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ผมหมายความว่า สัตว์อื่นๆ ก็อาจมีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ค่อยมีหลักฐานมายืนยัน มากเท่ากับมนุษย์อย่างพวกเรา ใช่ไหมครับ คือ คุณอาจจะมีสุนัขสักตัว แล้วสุนัขของคุณก็อาจมีภาวะซึมเศร้า แต่มันก็ไม่ได้ลุกขึ้นมา ฟังเพลงของวงเรดิโอเฮด (Radiohead) ใช่ไหมครับ (เสียงหัวเราะ) มันคงไม่ไปนั่งริมหน้าต่าง จิบเหล้าแจค แดเนียล (เสียงหัวเราะ)

แล้วเวลาคุณถามมันว่า "อยากออกไปเดินเล่นไหม"

มันตอบว่า "ไม่เอาอ่ะ เจ้านายไปเถอะ ผมรออยู่บ้านแล้วกัน ถ่ายรูปมาให้ดูด้วยล่ะ"

เราสร้างชีวิตของเราผ่านกระบวนการที่ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ของการจินตนาการทางเลือกและความเป็นไปได้ และบทบาทหนึ่งของการศึกษา คือการปลุกและพัฒนาพลังความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ แต่ตรงกันข้าม เรากลับสร้างวัฒนธรรมของการมีมาตรฐานเดียว

เราไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ไม่จำเป็นเลยจริงๆ ประเทศฟินแลนด์มักติดอันดับสูงสุดของโลก ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เรารู้แค่ว่าเขาเก่งสามเรื่องนี้แหละ เพราะนั่นคือแค่สามเรื่องที่มีการทดสอบกันเมื่อเร็วๆ นี้ นั่นคือปัญหาหนึ่งของการทดสอบ มันไม่ได้ค้นหาสิ่งอื่นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในฟินแลนด์เขาทำอย่างนี้ครับ

ข้อแรก เขาไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับแค่สามวิชานี้ เขามีแนวทางด้านการศึกษาที่กว้างมาก ซึ่งรวมทั้งวิชามนุษยศาสตร์ พลศึกษา และศิลปะ

ข้อสอง ที่ฟินแลนด์ไม่มีการทดสอบมาตรฐาน ผมหมายความว่า มีบ้างนิดหน่อย แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นักเรียนต้องตื่นขึ้นมาทุกเช้า ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นักเรียนต้องนั่งติดอยู่กับโต๊ะ

ข้อสาม เมื่อเร็วๆ นี้ผมเพิ่งไปร่วมประชุม กับคนจากระบบการศึกษาฟินแลนด์ ซึ่งเป็นคนฟินแลนด์แท้ๆ และใครสักคนจากระบบการศึกษาของอเมริกา ถามคนจากฟินแลนด์ว่า "คุณทำอย่างไรกับอัตราการลาออกกลางคันของนักเรียนในฟินแลนด์"

พวกเขาดูงงๆ ไปพักหนึ่งแล้วตอบว่า "เอ่อ เราไม่มีปัญหานักเรียนลาออกกลางคัน เด็กจะลาออกกลางคันไปทำไมล่ะ ถ้าเด็กมีปัญหา เราจะเข้าไปช่วยแก้ไขอย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเขา สนับสนุนเขา"

คนทั่วไปมักจะพูดว่า "แหม คุณก็รู้ว่า เราเปรียบเทียบฟินแลนด์กับอเมริกาไม่ได้หรอก"

ไม่จริงครับ ฟินแลนด์มีประชากร ประมาณห้าล้านคน คุณจะเปรียบฟินแลนด์กับรัฐสักรัฐในอเมริกาก็ได้ หลายรัฐในอเมริกามีประชากรน้อยกว่าประเทศฟินแลนด์ ผมเคยไปบางรัฐในอเมริกา ซึ่งมีผมอยู่คนเดียว (เสียงหัวเราะ) จริงๆ นะ ก็ตอนผมจะกลับออกมาเขาบอกให้ผมล็อกทุกสิ่งทุกอย่างให้ด้วย (เสียงหัวเราะ)

ken3แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาประสิทธิภาพสูงเหล่านี้เขาทำกัน เป็นสิ่งที่ ระบบการศึกษาอเมริกาไม่ได้ทำเลย โดยภาพรวม ในปัจจุบันนี้นะครับ น่าเศร้านะ ตัวอย่างเช่น ที่ฟินแลนด์เขาจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน เขาตระหนักว่านักเรียนคือผู้เรียนรู้ และระบบจะต้องดึงดูดความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น ความเป็นตัวตนอันมีเอกลักษณ์ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก นั่นคือวิธีที่คุณจะทำให้เขาเรียนรู้ได้

สองคือ เขายกย่องอาชีพครู ให้มีสถานภาพสูงมากๆ เขาตระหนักว่า คุณไม่สามารถปรับปรุงการศึกษาได้ ถ้าคุณไม่เลือกคนที่ดีเลิศมาเป็นผู้สอน และไม่สนับสนุนและสร้างพัฒนาการทางวิชาชีพ แก่ครูเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง การลงทุนพัฒนาคนในวิชาชีพ ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย มันคือการลงทุน และทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จล้วนเข้าใจข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือเซียงไฮ้ ล้วนเข้าใจความจริงข้อนี้

และข้อสาม เขามอบอำนาจและความรับผิดชอบ ให้แก่โรงเรียนเป็นผู้บริหารจัดการเอง คุณเห็นไหม มันแตกต่างอย่างมาก จากรูปแบบการสั่งการและควบคุมการศึกษา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในบางระบบ ที่รัฐบาลกลาง หรือผู้บริหารของรัฐ เป็นผู้ตัดสินใจ คนพวกนี้รู้ดีที่สุด และเขาจะคอยบอกว่าคุณต้องทำอะไร แต่ปัญหาคือ การศึกษาไม่ได้เกิดขึ้น ในห้องประชุมคณะกรรมการ หรืออาคารที่เรานั่งร่างกฏหมาย มันเกิดขึ้นในห้องเรียนและในโรงเรียน และคนที่ลงมือปฏิบัติคือครูและนักเรียน ถ้าคุณไม่ให้อำนาจตัดสินใจแก่เขา มันไม่มีทางสำเร็จ คุณต้องคืนอำนาจให้คนเหล่านี้ (เสียงปรบมือ)

ที่จริงก็มีผลงานที่ยอดเยี่ยมในประเทศนี้เหมือนกันนะครับ ผมต้องพูดว่า มันเกิดขึ้นได้ ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมการศึกษากระแสหลักคอยขัดขวาง ไม่ได้ช่วยส่งเสริมเลย เหมือนกับคนที่ต้องล่องเรือต้านกระแสลมตลอดเวลา เหตุผลที่ผมคิดอย่างนี้คือ นโยบายจำนวนมากในปัจจุบันตั้งอยู่บน การมองการศึกษาเป็นระบบเครื่องยนต์กลไก เหมือนการศึกษาเป็นกระบวนการอุตสาหกรรม ที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ เพียงแค่มีข้อมูลที่ดีขึ้น และลึกๆ ในใจผู้วางนโยบายบางคน เขามีความคิดว่า ถ้าเราตั้งเครื่องให้ดี วางระบบให้ถูกต้อง มันจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต ไม่สำเร็จหรอกครับ ไม่เคยสำเร็จเลยด้วย

ประเด็นสำคัญคือ การศึกษาไม่ใช่ระบบเครื่องยนต์กลไก มันเป็นระบบของมนุษย์ มันเป็นเรื่องของคน คนที่อยากเรียนรู้ หรือไม่อยากเรียนรู้ นักเรียนทุกคนที่ลาออกกลางคันย่อมมีเหตุผล ซึ่งมีต้นตอมาจากอะไรบางอย่างในชีวิตเขา เขาอาจรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ไม่สำคัญ เขาอาจรู้สึกว่ามันขัดแย้ง กับการดำเนินชีวิตของเขานอกโรงเรียน ปัญหาพวกนี้อาจมีแนวคล้ายๆ กัน แต่เรื่องราวของแต่ละคนต่างมีลักษณะเฉพาะ

ผมเพิ่งไปประชุมในลอสแองเจลิส กับกลุ่มที่เขาเรียกว่า หลักสูตรการศึกษาทางเลือก หลักสูตรเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อดึงเด็กๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมีลักษณะร่วมบางอย่าง เช่น ออกแบบให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ได้รับการสนับสนุนจากครู มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชน และมีรายวิชาที่กว้างและหลากหลาย และหลักสูตรพวกนี้มักมีนักเรียนเข้าร่วม ทั้งจากนอกโรงเรียนและในโรงเรียน และมันก็ประสบความสำเร็จ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือ เขาเรียกหลักสูตรพวกนี้ว่า "การศึกษาทางเลือก" คุณคิดดูสิ มีหลักฐานสนับสนุนจากทั่วโลกว่า ถ้าหลักสูตรทั้งหมดเป็นแบบนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีทางเลือก (เสียงปรบมือ)

ผมเลยคิดว่า เราต้องใช้อุปมาที่แตกต่างออกไป เราต้องมองว่านี่เป็นระบบของมนุษย์ ซึ่งเติบโตงอกงามได้ดีภายใต้สภาวะบางอย่าง และไม่เติบโตงอกงามภายใต้สภาวะบางอย่าง เราทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพ และวัฒนธรรมของโรงเรียนนั้นสำคัญมากๆ วัฒนธรรมก็มีชีวิต ใช่ไหมครับ

ken6ไม่ไกลจากเมืองที่ผมอยู่ มีหุบเขาชื่อว่าเดทธ์ แวลลีย์ (Death Valley -- หุบเขาแห่งความตาย) เดทธ์ แวลลีย์เป็นที่ที่ร้อนที่สุด แห้งที่สุดในอเมริกา และไม่มีต้นไม้อะไรขิ้นเลย เพราะว่าฝนไม่ตก มันจึงได้ชื่อว่าเดทธ์ แวลลีย์ ในฤดูหนาวปี ค.ศ. 2004 เกิดมีฝนตกในเดทธ์ แวลลีย์ น้ำฝนปริมาณเจ็ดนิ้วตกลงมาภายในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 2005 ก็เกิดปรากฎการณ์ ที่พื้นของเดทธ์ แวลลีย์ทั้งหมดปกคลุมไปด้วยดอกไม้ อยู่สักพักหนึ่ง นี่เป็นการพิสูจน์ว่า เดทธ์ แวลลีย์ยังไม่ตาย มันแค่หลับใหลอยู่ ภายใต้พื้นผิวของมัน เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ของความเป็นไปได้ รอคอยสภาวะที่เหมาะสมเพื่อแทงยอดออกมา สำหรับระบบแบบชีวภาพแบบนี้ เมื่อใดที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ชีวิตย่อมถือกำเนิดขึ้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเสมอ

ถ้าคุณมีพื้นที่ โรงเรียน หรือเขตการปกครอง คุณเปลี่ยนเงื่อนไข ทำให้คนรับรู้ถึงความเป็นไปได้ที่แตกต่าง ความคาดหวังที่แตกต่าง โอกาสที่เปิดกว้างขึ้น หากคุณทนุถนอมและให้คุณค่าแก่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน คุณให้คนมีอำนาจตัดสินใจเลือกที่จะสร้างสรรค์ และสร้างนวัตกรรมในงานที่เขาทำ โรงเรียนที่เคยไร้วิญญาณก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ บทบาทที่แท้จริงของผู้นำในวงการการศึกษา ทั้ง ผู้นำระดับประเทศ ระดับรัฐ หรือระดับโรงเรียน ไม่ใช่ และไม่ควรเป็นการสั่งการและควบคุม บทบาทที่แท้จริงของผู้นำ คือการควบคุมสภาพอากาศ สร้างบรรยากาศของความเป็นไปได้ และถ้าคุณทำเช่นนั้น ผู้คนก็จะเติบโตขึ้น และประสบความสำเร็จในสิ่งที่คุณไม่เคยคาดคิด และคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

มีคำพูดที่คมคายอันหนึ่งของเบนจามิน แฟรงคลิน "ในโลกนี้มีคนอยู่สามประเภท คนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว คนที่ไม่เข้าใจ และไม่อยากทำความเข้าใจ พวกนี้คงไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร แล้วก็มีคนที่เปลี่ยนแปลงได้ คนที่เห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะรับฟัง แล้วก็มีคนที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลง คนที่ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ถ้าเราสามารถสนับสนุน และโน้มน้าวคนได้มากขึ้น ก็จะมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น แล้วถ้าการเคลื่อนไหวนั้นเข้มแข็งมากพอ มันก็จะกลายเป็นการปฏิวัติ และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ

ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ) ขอบคุณมากครับ (เสียงปรบมือ)

ที่มา : http://www.ted.com/talks/lang/th/ken_robinson_how_to_escape_education_s_death_valley.html