บทวิเคราะห์การกำหนดชั่วโมงเรียนตามหลักสูตร ของ สพฐ. :
เรียนหนักติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่คุณภาพอยู่อันดับท้ายๆ

โดย รศ. ดร. สุพักตร์ พิบูลย์

dr suphakผมได้รับอีเมลล์ บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร หรือจำนวนชั่วโมงเรียนตามหลักสูตร ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดและประกาศใช้เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเองตั้งใจจะวิเคราะห์และวิจารณ์ในเรื่องนี้เช่นกัน  แต่ปรากฏว่า ทันทีที่ได้รับอีเมลล์ ผมคิดว่า ผู้วิเคราะห์ วิเคราะห์ได้ดีมากๆ แล้ว จึงไม่ขอวิเคราะห์อีก เพียงแต่ยกคำวิเคราะห์มาให้ทุกท่านได้อ่าน ดังข้างล่างนี้...

เสียดายอย่างยิ่งที่ผู้วิเคราะห์ไม่มีการลงชื่อจริงเอาไว้ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ขอบคุณสำหรับบทวิเคราะห์ดีๆ  เชิญอ่านนะครับ...

"สพฐ.มีคำสั่งให้โรงเรียนประถม มัธยมทั่วประเทศเพิ่มเวลาเรียน โดยกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาต้องมีเวลาเรียนรวมจากเดิมที่เรียนไม่ เกิน 1,000 ชั่วโมง เป็นไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากเดิมที่เรียนไม่เกิน 1,200 ชั่วโมง เป็นไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี"

หากดูผิวเผินคำสั่งนี้ เหมือนไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร ไม่เห็นต้องมีใครเดือดร้อน แต่เป็นคำสั่งที่แสดงให้เห็น ระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจ ที่คิดจากส่วนกลางแล้วสั่งลงมา โดยไม่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติวิสัยของระบบราชการไทย

การเพิ่มชั่วโมงเรียนโดยอ้างว่า "การจัดโครงสร้างชั่วโมงเรียนแบบเดิมไม่เวิร์ก" จึงต้องเพิ่มชั่วโมงเรียน แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าการเพิ่มชั่วโมงเรียน จะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ?

child hope

ขณะนี้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนกันอย่างเต็มที่ วันหนึ่งมีเวลา 8 ชั่วโมง จัดเป็นชั่วโมงเรียน 7 ชั่วโมง สมมุติเด็กมีชั่วโมงเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง คือเรียน คณิตศาสตร์ 3 ชั่วโมง วิทยาศาสตร์ 3 ชั่วโมง ภาษาไทย 3 ชั่วโมง ภาษาอังกฤษ 3 ชั่วโมง สังคมศึกษา 3 ชั่วโมง ประวัติศาสตร์ 1 ชั่วโมง คอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมง ศิลปะ 1 ชั่วโมง พลศึกษา 1 ชั่วโมง สุขศึกษา 1 ชั่วโมง วิชาการงาน 2 ชั่วโมง วิชาเพิ่มเติมเลือกตามความสนใจอีก 2 วิชา รวม 4 ชั่วโมง กิจกรรมแนะแนว 1 ชั่วโมง กิจกรรมชุมนุม 1 ชั่วโมง กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด 1 ชั่วโมง ชั่วโมง พัฒนาคุณธรรมอีก 1 ชั่วโมง

รวมเบ็ดเสร็จ 31 ชั่วโมง

หากคิดเป็นจำนวนรายวิชาก็ไม่น้อย หากครูสั่งงาน สั่งการบ้านกันทุกคน ทุกสัปดาห์ คิดดูว่ากรรมจะตกแก่ผู้เรียนขนาดไหน อาจถึงขั้นเบื่อการเรียนกันไปเลยทีเดียว

หากเด็กชั้น มัธยมต้นเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง เด็กจะมีเวลาว่างสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง เด็กได้ใช้เวลาเหล่านี้ไปทำอะไร? คำตอบคือ นอกจากเด็กจะได้ใช้เวลาเหล่านี้ตั้งแต่การพักผ่อนพูดคุยกับเพื่อน มีเวลาให้สมองปลอดโปร่งให้หลุดพ้นจากห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ในห้องเรียนที่พยายามอัดยัดเยียดความรู้ที่มีมากมาย การพักผ่อนเพื่อให้มีพลังพอที่จะต่อสู้กับการเรียนที่หนักหนาสาหัส การเรียนในระดับชั้นมัธยมเป็นการเรียนระดับพื้นฐาน ชอบหรือไม่ชอบ ถนัดหรือไม่ถนัดก็ต้องเรียน เพราะรัฐกำหนดให้เป็นพื้นฐาน ที่มนุษย์ทุกคนที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนต้องรู้ เมื่อเป็นดังนี้ การปล่อยให้เด็กได้ว่างจากการเรียนบ้าง ได้ทำกิจกรรมที่เป็นอิสระบ้างคงดีกว่ากักเขาไว้ในห้องเรียนแล้วต้องฟังครู อย่างเดียว

children

นอกจากนี้เด็กยังสามารถใช้เวลาที่ว่างทำการบ้าน เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือบางทีเด็กก็ไม่ได้ว่างจริงๆ เพราะต้องใช้เวลาเหล่านี้สำหรับการสอบซ่อม เรียนซ่อมเสริม รวมทั้งการทำงานกลุ่ม และบางครั้งครูสามารถขอชั่วโมงว่างของเด็กมาสอน การที่เด็กมีชั่วโมงว่างเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของครู กรณีครูไปอบรมสัมมนาก็ไม่ต้องเสียชั่วโมงสอน สามารถนำชั่วโมงว่างของเด็กมาสอนชดเชยได้ ทำให้เด็กได้เรียนตามปกติแม้ว่าครูจะไปอบรมสัมมนาก็ตาม ครูคนอื่นก็ไม่ต้องเดือดร้อนสอนแทน

หากเด็กเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง ปีหนึ่งเด็กจะเรียนทั้งหมด 40 สัปดาห์ หักเวลาที่ใช้สอบกลางภาค ปลายภาค 2 เทอม เหลือเวลาเรียนจริงๆ 36 สัปดาห์ คิดเป็นชั่วโมงเรียนรวม 1,116 ชั่วโมง นี่ขนาดเรียนเต็มเหยียดยังน้อยกว่าคำสั่งใหม่ของ สพฐ.ถึง 84 ชั่วโมง หรืออาจต้องมากกว่านี้ เพราะหากต้องจัดชั่วโมงเรียนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปีแล้ว เด็กต้องเรียนอย่างน้อยสุดสัปดาห์ละ 34 ชั่วโมง จึงจะได้ชั่วโมงตามเกณฑ์ คือไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แสดงว่าเด็กจะว่างสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เวลาแค่นี้เด็กสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ นอกห้องเรียนได้สักกี่มากน้อย ทำให้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความเครียด

หากโรงเรียนต้องจัดสอน 1,224 ชั่วโมง (34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แสดงว่าโรงเรียนที่เคยสอน 31 ชั่วโมง จะต้องมีชั่วโมงเพิ่มขึ้นอีก 108 ชั่วโมง หรือถ้าคิดเป็นระดับชั้นมัธยมต้น หากต้องเพิ่มชั่วโมงสอนอีก 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าโรงเรียนมีนักเรียนชั้นมัธยมต้นรวมกันจำนวน 40 ห้องเรียน แสดงว่าจำนวนชั่วโมงที่ต้องสอนเพิ่มต่อสัปดาห์คือ 120 ชั่วโมง ต้องใช้ครูกี่คนมาช่วยสอน ในเมื่อครูแต่ละคนมีชั่วโมงสอนที่เต็มเหยียดและภาระในความเป็นครูอีกมากมาย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อายุครูเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ หรือเกษียณอายุก่อนกำหนด กว่ารัฐจะจัดสรรตำแหน่งมาให้ก็ไม่ทันเหตุการณ์ ครูก็ต้องแบกภาระกันต่อไป ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาเหลียวแลครู หรือต่อสู้เพื่อครูในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน?

children more

สถานการณ์ ในปัจจุบัน เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนน้อยไปหรืออย่างไร อีกทั้งการอ้างงานวิจัยที่บอกว่า "การแก้ไขโครงสร้างเวลาเรียนดังกล่าว สืบเนื่องจากการศึกษาวิจัยและติดตามผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้น พื้นฐาน พ.ศ.2551 พบว่า ไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และความต้องการของผู้เรียน จึงได้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่" จาก ข้อความดังกล่าวนี้ทำให้สงสัยว่างานวิจัยนี้ทำเมื่อใด ในเมื่อหลักสูตรแกนกลางเริ่มใช้ทั่วประเทศได้แค่ 2 ปี เวลาแค่นี้ความคิดและผลของการใช้หลักสูตรจะตกตะกอนพอเป็นข้อสรุปได้แล้วหรือ อีกทั้งที่ว่าไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนนั้น เกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงเรียนตรงไหน หรือการกำหนดเนื้อหาสาระที่ให้เรียนไม่เหมาะกับสภาพท้องถิ่นกันแน่ ที่อ้างว่าไม่เหมาะกับความต้องการของผู้เรียนนั้น นักเรียนต้องการเพิ่มชั่วโมงเรียนจริง ?

หากถามเด็กกันจริงๆ จะพบว่าการเรียนระดับชั้นมัธยมเป็นการเรียนที่ยุ่งยากมาก เด็กจะมีภาระงานจากการเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จนแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ละโรงเรียนใช้เวลาเรียนกันอย่างเต็มที่ วิชาที่เด็กเรียนชั่วโมงก็เต็มที่ หากถามกันจริงๆ เด็กอาจอยากให้ลดเนื้อหาสาระที่อัดแน่นเกินไป ทำให้การศึกษาไทยได้แต่ปริมาณ เรียนเยอะเข้าไว้ แต่คุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เด็กไทยเรียนน้อยไป ? แต่จากข้อมูลของ UNESCO พบว่า

  • เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 2 ในระดับอายุ 9 ปี 1,080 ชั่วโมงต่อปี
  • เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 10 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี
  • เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 11 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี
  • เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 5 ในระดับอายุ 12 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี
  • เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 8 ในระดับอายุ 13 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี

ส่วนประเทศอื่นๆ (เด็กอายุ 11 ปี)

  • อันดับ 2 อินโดนีเซีย 1,176 ชั่วโมงต่อปี
  • อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1,067 ชั่วโมงต่อปี
  • อันดับ 4 อินเดีย 1,051 ชั่วโมงต่อปี
  • อันดับ 11 มาเลเซีย 964 ชั่วโมงต่อปี
  • อันดับ 19 เยอรมนี 862 ชั่วโมงต่อปี
  • อันดับ 28 จีน 771 ชั่วโมงต่อปี
  • อันดับ 30 ญี่ปุ่น 761 ชั่วโมงต่อปี

จากสถิติขององค์การยูเนสโกพบว่า เด็กไทยที่อยู่ในวัยเดียวกับเด็กต่างชาตินั้น เด็กไทยเรียนมากกว่าชาติใดๆ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว ล้วนมีจำนวนชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเด็กไทยมาก ในกรณีของประเทศจีนซึ่งพบว่า เป็นประเทศที่เด็กเอาใจใส่ในการเรียนมาก แต่เด็กจีนกลับเรียนมีจำนวนชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเด็กไทยหลายร้อยชั่วโมง

china sch 02

นอกจากนี้การเรียนของจีนยังค่อนข้างผ่อนคลาย โดยเด็กจีนได้พักรับประทานอาหารในเวลา 11.00 น. และปล่อยให้กลับบ้านไปรับประทานอาหารที่บ้าน หรือไม่ก็ปล่อยให้พักผ่อน แล้วค่อยเริ่มเรียนภาคบ่าย เวลาบ่ายสองโมงเย็น โดยจัดตารางเรียนวิชาเบาๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย

หากพิจารณาทั้งประเทศเพื่อนบ้านและ ประเทศอื่นๆ พบว่า จำนวนชั่วโมงเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความมีคุณภาพของการศึกษาไทยแต่อย่างใด กลับจะก่อให้เกิดความเครียดแก่เด็ก และครูมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสถิติที่เด็กออกกลางคันอาจจะเพิ่มมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะเราไม่อาจทำให้การศึกษาเป็นเรื่องจำเป็น หรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเหมือนการกินข้าวได้

นอกจากเด็กจะเกิดความเครียดจากจำนวน ชั่วโมงเรียนที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของครูย่อมเกิดความเครียดเช่นกัน เนื่องจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ครูมีชั่วโมงสอนมากอยู่แล้ว เพราะครูไม่ได้มีภาระแค่การสอนในห้องเรียน เพียงคนละประมาณ 20 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ภาระของครูเริ่มตั้งแต่เช้าจรดเย็นหรือถึงบ้าน

กิจกรรมยามเช้า เริ่มตั้งแต่เข้าแถวเคารพธงชาติสวดมนต์ไหว้พระ ครูต้องไปคอยกำกับแถวของนักเรียนประจำชั้น อบรมคุณธรรม โฮมรูม ตรวจระเบียบ เช็กแฟ้ม เพื่อสำรวจการมาเรียนของเด็กทุกเช้า ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด ใช้เวลากิจกรรมนี้ประมาณ 20-30 นาที ทุกเมื่อเชื่อวัน

kroobannok 02

ครูยังต้องทำหน้าที่กำกับดูแลพฤติกรรมของนักเรียน ติดต่อประสานงานกับผู้ปกครอง เตรียมการประเมินโรงเรียน จัดทำเอกสารข้อมูล ประชุมกลุ่มสาระฯ ประชุมฝ่าย จัดทำเอกสารสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเด็กนักเรียนทั้ง SDQ และ EQ การติวเพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อสอบโอเน็ต รวมทั้งต้นๆ เทอมต้องออกเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านล้วนอยู่ไกลๆ อีกทั้งต้องแบ่งเวลาไว้สำหรับตรวจการบ้าน การสอบซ่อมเด็ก และการกำกับติดตามพฤติกรรมของเด็กประจำชั้น รวมทั้งงานจรอื่นๆ อีกมากมาย

การเพิ่มชั่วโมงเรียนโดยอ้างว่า "ไม่ได้เพิ่มชั่วโมงการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ปกติของหลักสูตรแกนกลาง แต่ได้เพิ่มและสร้างความยืดหยุ่นในส่วนของสาระเพิ่มเติม ที่เป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ" แม้ว่าจะเพิ่มในรายวิชาสาระเพิ่มเติมก็ตาม หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษา ล้วนต้องมีครูคอยกำกับติดตามเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้สอน

แล้ว สพฐ.จะมีอัตรากำลังเพิ่มขึ้นได้ทันการณ์หรือ? ในเมื่อโรงเรียนจำนวนไม่น้อยมีครูไม่เพียงพอ แล้วจะทำอย่างไรดี ?

 

ปัญหา การขาดแคลนครูยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้นไป หาก สพฐ.เพิ่มชั่วโมงเรียน ยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนครูเพิ่มมากขึ้นอีก การที่ครูจำเป็นต้องแบกชั่วโมงสอนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของครูไม่น้อย และที่สำคัญที่สุดคือ การเพิ่มชั่วโมงเรียนไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพ การศึกษาแต่อย่างใด ควรที่ สพฐ.จะต้องระดมสรรพกำลังในการคิดอ่าน หาวิธีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยวิธี การอื่นที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

kroobannok 01

การให้เพิ่มจำนวนชั่วโมง เรียนในทันที สะท้อนระบบราชการไทย ทั้งที่บริบทและความพร้อมของโรงเรียนมีความแตกต่างกัน แสดงว่าผู้มีส่วนในการจัดการศึกษาไม่ได้เข้าใจพื้นฐานการศึกษาอย่างที่เป็นจริง เพราะไม่ได้ออกมาสัมผัสว่า แต่ละโรงเรียนมีความพร้อมมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนกลับจากผู้ปฏิบัติ ที่ขลุกอยู่กับสภาพจริงของโรงเรียนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

อีกทั้ง ไม่มีงานวิจัยหรือตัวบ่งชี้ใดๆ ที่แสดงว่า การเพิ่มชั่วโมงเรียนจะทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เด็กไทยเรียนหนักอยู่ในลำดับต้นๆ ไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้อยู่แล้ว ส่วนลำดับคุณภาพการศึกษาไทยกลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับความหนักของ ชั่วโมงเรียนแต่อย่างใด