solution studies

arnant panyarachunปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต ของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 18 ของประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ "๕๐ ปี โรงเรียนศรีวิกรม์" ใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยน่าสงสารมาก การศึกษาของไทยก็น่าสงสารมาก เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความโชคดีด้วยภูมิศาสตร์ แต่เป็นความโชคดีอย่างประหลาด ที่ประเทศไทยไม่มีภัยพิบัติร้ายแรง เหมือนหลายประเทศในโลก ไม่มีพายุทอร์นาโด ไม่มีแผ่นดินไหว อย่างมากก็น้ำท่วม แต่มองลึกๆ แล้วประเทศไทยมีกรรม เพราะ 70-80 ปีที่ผ่านมาไทยเผชิญกับภัยพิบัติที่มาจากคนไทยด้วยกันเอง

"ประเทศไทยเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดจากคนไทย มานานถึง 70-80 ปี คนไทยสร้างสึนามิทุกๆ วัน เพราะคนไทยไม่สนใจความจริง เชื่อข่าวลือ เล่นพระเครื่อง ไม่ว่าจะจับต้องอะไรก็ผิวเผิน ไม่มีความรู้ลึกลงไปถึงแก่สาร สาระที่สำคัญจริงๆ ส่วนหนึ่งที่คนไทยเป็นเช่นนี้ มาจากพ่อแม่ไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกพูดความจริง พ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก พ่อแม่บางคนก็ทำร้ายลูก ตบตีลูก

เมื่อเด็กเข้าสู่รั้วโรงเรียนก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งเด็ก อยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ แถมมีรัฐบาลก็มองกระทรวงศึกษาธิการเป็นลูกเมียน้อย เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีศึกษาบ่อยครั้ง แถมรัฐมนตรีศึกษาฯ ยังไม่โดดเด่น ระบบราชการครอบคลุมการศึกษา ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า คำว่าการศึกษาคืออะไร?"

arnant panyarachun 2

เหนืออื่นใด อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ปฏิรูปการศึกษามา 20-30 ปีว่าจะให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่ได้มองและไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าปัญหาการศึกษาอยู่ที่ไหน

"ผมไม่ใช่นักการศึกษา ไม่รู้เรื่องการศึกษา แต่ผมรับรู้ได้ว่าการเป็นครูที่ดีนั้นเป็นอย่างไร เพราะมีพ่อเคยเป็นครูใหญ่ที่วชิราวุธวิทยาลัย พ่อเป็นครูที่ดีมาก พ่อกลับมาบ้านจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านไปพบมา ระหว่างที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ก็จะสอดแทรกคำสอนเข้าไว้ด้วย อย่างเช่นพ่อเล่าเรื่องโขน เปิดเพลงให้ฟัง พ่อสอนไม่ให้พูดเท็จ พ่อสอนให้แต่งกายเรียบร้อย สอนให้เคารพคนอื่น รวมถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ ค่อยๆ ซึมซับ นี่คือการศึกษาในบ้าน

แต่น่าเสียดายการปฏิรูปการศึกษาไทยสนใจแต่ฮาร์ดแวร์ ไม่สนใจซอฟต์แวร์ ความจริงโรงเรียนใครจะสร้างก็ได้ ผมอยากจะเห็นสังคมไทยสนทนากัน เรื่องการศึกษาไทยจะดีขึ้นมาได้อย่างไร ที่ประเทศอังกฤษซึ่งได้รับการยอมรับว่าจัดการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่วันนี้อังกฤษไม่พอใจการศึกษา อังกฤษต้องการพัฒนาการศึกษาของเขาให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาก็บ่นไม่พอใจการศึกษา และกำลังจะปรับปรุงการศึกษาอเมริกา"

edu 21th 07

ปัญหาการศึกษาไทยไม่พูดความจริง มีก็แต่เรื่องคุณภาพครู แต่พูดเรื่องเงินเดือนน้อย ไม่ได้พูดถึงทักษะการสอนของครูดีหรือไม่ แถมยังพูดกันมานานว่า การเรียนการสอนยังเน้นท่องจำทำให้เด็กไทยคิดไม่เป็น

"เด็กไทยจะคิดเป็นแน่ หากการเรียนการสอนเปลี่ยนให้ครูสอนน้อยลง คาบเรียนละ 40 นาที อีก 20 นาที ครูถามนักเรียนเพื่อปล่อยให้เด็กได้มีเวลาคิดเป็น ครูควรใช้เวลาในการถามนักเรียนให้มาก เมื่อนักเรียนตอบคำถาม ครูไม่ควรชี้ว่าผิด นักเรียนตอบผิดไม่เป็นไร ครูที่พูดว่าผิดจับเข้าคุกให้หมด หรือให้หยุดสอน 5 ปี เหมือนนักการเมืองที่เว้นวรรค 5 ปีเมื่อทำผิด เพราะครูไม่ควรชี้ผิดถูก แต่ควรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่ดี"

นายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของไทย ยังตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีที่ไหนในโลกที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองหลักสูตรแล้ว นักเรียนถึงเรียนรู้ได้ มีไทยนี่แหละ เพราะจนถึงวันนี้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516 ยังเขียนไม่เสร็จ เพราะกระทรวงศึกษาธิการบอกว่า ที่ร่างหลักสูตรมาไม่ถูก ความจริงมันอยู่ที่มุมมองว่า คนเขียนอยู่ที่มุมไหนของเหตุการณ์ ดังนั้น ตำราประวัติศาสตร์ไม่ควรมีเล่มเดียว แต่หลากหลายแง่มุม

edu 21th 02

"การศึกษาไทยต้องปรับคุณภาพครู ให้ทักษะในการสอน สอนอย่างไรนักเรียนถึงอยากจะมาเรียน เรียนแล้วสนุกสนาน สอนเข้าใจง่าย สอนไม่น่าเบื่อ สอนให้นักเรียนคิดเป็น ขณะเดียวกันหลักสูตรต้องมาดูว่า เรียนมากไปมั้ย การบ้านมากไปหรือเปล่า ชั่วโมงเรียนมากไปมั้ย ควรจะจัดกิจกรรมอื่นมาเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ขณะที่พ่อแม่ต้องปฏิรูปตัวเองด้วย ครูต้องสอนน้อยลง ปล่อยเวลาให้เด็กได้ซักถามมากขึ้น ผมเชื่อว่าจะเห็นภาพการศึกษาไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น" นายอานันท์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20131115/172791.html

edu 21th 01

ผม เห็นด้วยกับท่านอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีแต่คนพยายามพูดเพื่อแสดงโวหาร ให้ตัวเองเด่น ให้คนอื่นรับรู้ว่า ฉันจะเอาจริงแล้วนะ จะทำอย่างนี้นะ ที่คนอื่นคิดและทำมาก่อนมันไม่เข้าท่า ต้องอย่างนี้ อย่างนั้น แล้วก็สั่งการลงไป และก็น่าแปลกใจมากที่บรรดานักการศึกษาทั้งหลายไม่มีใครแสดงความเห็น ไม่ถูกต้องก็ไม่คัดค้าน ไม่บอกกล่าว (คงคิดในใจ เดี๋ยวมันก็ตกหลุมพรางตายไปเอง) จึงทำให้การศึกษาไทยเราไม่ก้าวข้ามไปไหน เราให้การเมืองเข้ามาควบคุมกลไกการพัฒนาเสียสิ้น

พัฒนาครูด้านเดียวไม่สำเร็จหรอก ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการจัดการเรียนการสอนยังมีอีกเยอะ ใกล้ๆ ครูก็คือ ผู้บริหารโรงเรียน ที่มักจะลอยตัวเหนือปัญหา ยังไม่ยอมลงมาช่วยเหลือครู ตั้งเป้าหมายในการดำเนินการยกระดับร่วมกัน ถ้าการบริหารงานยังไม่ตั้งเป้าตรงไปที่การพัฒนาผู้เรียน เอาแต่บอกว่าจะพัฒนาภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม นั่นแสดงว่า ท่านไม่มีกึ๋นและลอยตัวเหนือปัญหาจริงๆ และที่ต้องพัฒนาร่วมมือกันกับอีกฝ่ายคือ ผู้ปกครอง เพราะนักเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับทางบ้านถึง 2 ใน 3 มาเรียนและทำกิจกรรมกับทางโรงเรียนเพียงส่วนเดียว

ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาการศึกษาของลูกหลาน ไม่ใช่เฉพาะกำลังทรัพย์ ในการจัดหาอุปกรณ์การเรียน การดินทางไปโรงเรียน อาหารการกิน แต่ต้องรวมทั้งการอบรม สั่งสอนให้เป็นคนดี ให้ใส่ใจการเรียน ไม่ใช่เอะอะอะไรๆ ก็มอบให้ครู ครูก็เป็นเหมือนผู้ปกครองนั่นแหละ มีครอบครัว มีลูกหลานที่ต้องดูแลเหมือนกัน ถ้าท่านไม่ช่วยแล้วครูที่ไหนจะมีกำลังดูแลลูกอีกนับร้อย นับพันในโรงเรียนให้ถึงฝั่งฝันได้ ผู้ปกครองท่านใดที่มีกำลังทรัพย์มากพอ ก็อาจจำเป็นต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือโรงเรียนตามสมควร แค่เงินรายหัวที่รัฐจัดสรร ลำพังจ่ายค่ากระดาษ ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว วันนี้ทุกส่วนต้องร่วมมือกันครับ

edu 21th 08

ส่วนบรรดาท่านนักการศึกษาบนหอคอยงาช้าง ถ้าจะกรุณาเสียสละเวลา ลงมาคลุกคลีกับครูที่สอนตามชนบท บ้านนอกบ้านนา บ้างก็ดีนะครับ ฟังเสียงเขาหน่อย แล้วท่านจะเข้าใจได้เองว่า สิ่งที่ท่านคิดนั้นมันไม่จริงเสมอไป คิดผิดแก้ไขใหม่ได้ ถามคนที่เขาต้องอยู่กับเด็กๆ บ้างว่า การละเมอของท่านนั้น ครูเขายังไม่ได้หลับสานฝันของท่านเลย เพราะลูกๆ เขายังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ปากกัดตีนถีบกับชีวิตที่ยากจนข้นแค้นอยู่ ได้ซ้อนท้ายจักรยาน พร้อมห่อข้าวกับไข่ต้ม แจ่วบอง ก็หรูละวันนี้ ไม่ต้องอาซ่งอาเซียนดอก แค่ภาษาไทยอ่านออกเขียนให้ได้ก่อนเหอะ...