edthai revolution(2)

วังวนที่ไม่มีทางออกของการศึกษาไทย เพราะผู้มีบทบาทและอำนาจจัดการต่างก็คิดไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะคิดมากคิดไกลเกินไปหรือเปล่า? เราจึงได้เห็นการสั่งการให้ปฏิบัติแบบพิลึกพิลั่นกันอยู่อย่างนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ (มือปืน)รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ทำโครงงานเพื่อจบ ทำแบบฝึกหัด ทำรายงาน ทำการบ้าน ก็แก้ปัญหาด้วยการไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ ไม่ต้องมีโปรเจกต์ ไม่ต้องมีรายงาน หรือสั่งให้ลดการบ้านลง แล้วพัฒนาการศึกษาไทยได้จริงหรือ?

prayuth 01

ประเทศนี้มีความเชื่อแปลกๆ และแก้ปัญหามาหลายแบบ ใครมีอำนาจก็สั่งการออกไป นัยว่าจะทำให้ปัญหาการศึกษาของไทยจบได้ ตั้งแต่การเรียกชื่อแปลกๆ โรงเรียนเปลี่ยนเป็นสถานศึกษา (ถึงขั้นทุบป้ายทำใหม่กันก็มี เพื่อเอาใจนาย) ครูใหญ่/อาจารย์ใหญ่ไม่ขลัง ไม่ก้าวหน้า ต้องเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการ ให้ประถมเปิดสอนมัธยมทั้งๆ ที่จบ ป.๖ ยังอ่านภาษาไทยไม่ออก เขียนไม่คล่อง ยุบรวมประถมและมัธยมจะได้เลื่อนไหลตำแหน่งได้มากขึ้น และยังมีข่าวที่มาจากไหนไม่รู้ว่า ครูต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการแบกบั้งใหญ่ๆ ไปสอนทุกวันมันจะได้ขลัง นี่เราแก้ปัญหาเกาถูกที่คันกันหรือยัง?

ยังไม่นับเรื่องที่เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยวิธีการติดตั้งธงชาติหน้าประตูโรงเรียน หน้าอาคาร/หอประชุม จัดอีเวนต์แต่งตัวเป็นชาติต่างๆ ในอาเซียน กับคำทักทายสวัสดีภาษาต่างๆ ไม่กี่คำ แล้วโพนทะนาว่าเรากำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเปิดสอนคอร์สระยะสั้นเกี่ยวกับภาษาในการสื่อสารกับประเทศอื่นๆ สำหรับการเข้าไปทำงานในอาเซียน มีแรงงานพม่า เขมร เวียดนามหลายคนเข้ามาทำงานในเมืองไทยในบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ พูดสื่อสารกับคนไทยได้เป็นอย่างดี(แม้จะแปร่งเล็กน้อย) แต่คนไทยพูดภาษาพม่า หรือภาษากัมพูชา หรือภาษาเวียดนาม ได้สักกี่คนกัน? จนเกิดคำถามคาใจว่า สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ มันตอบโจทย์ความเป็นแกนนำ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" แล้วหรือยัง? ไทยจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน? กันแน่... ท่านผู้บริหารการศึกษาตอบผมที

everythingisteacher 01

ณ ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาของการเตรียมการของครูในกิจกรรมใหญ่ระดับชาติ จนท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับกล่าวว่า เราทุ่มเทให้กับเด็กเก่งไม่กี่คน แต่ทิ้งให้เด็กอื่นๆ จมอยู่กับความโง่กันทั้งประเทศ เป็นการแข่งขันที่ทุ่มทุนมหาศาลเพื่อเกียรติบัตรหนึ่งใบสำหรับใช้ในการประเมินให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แล้วโรงเรียนที่ทุนน้อย มีนักเรียนตัวเลือกน้อยๆ ครูน้อยๆ ล่ะจะทำอย่างไรดี เขาไม่มีมาตรฐานหรือ?

everythingisteacher 02

การพัฒนาการศึกษาน่าจะหมายถึง การทำให้คนที่ไม่เคยมีความรู้สามารถก้าวข้ามไปสู่การเรียนรู้ ที่พัฒนาทักษะชีวิต สามารถดำรงชีวิต อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เคยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ก็สามารถทำได้คล่องแคล่ว สื่อสารกับผู้อื่นได้ บวกลบคูณหารก็คงไม่ต้องถึงกับ ต้องถอดรูท คูณเลขยกกำลัง เอาแค่คิดราคาขายพืชผลทางการเกษตร ไปตลาดซื้อสินค้าได้ไม่ถูกกดราคา หรือทอนเงินผิดก็เพียงพอแล้วใช่ไหมครับ มนุษย์ไม่ใช่วัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถจะป้อนผ่านโรงงาน(โรงเรียน) ผ่านแม่พิมพ์(ครู) แล้วจะได้สินค้าที่ไม่มีตำหนิเหมือนกันทุกก้อน เราต้องยอมรับความแตกต่างนั้น

"วันนี้ระบบการศึกษาของประเทศไทย ต้องได้รับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทั้งระบบและวิธีการศึกษาเรียนรู้ เท่าที่ผ่านมา เราเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีการวัดประเมินผล แต่ไม่มีการวัดผลเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ฝึกให้คนเป็นลูกน้อง รับคำสั่ง สอนให้เป็นผู้ตามไม่ใช่ผู้นำ และที่สำคัญการศึกษาในระบบดึงคนชนบทออกจากหมู่บ้าน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด ต้องทำให้คนในชนบทมองเห็นได้ว่า การศึกษาสามารถทำให้คนทำมาหากินในชนบทได้ โรงเรียนควรจะสร้างนักเรียนให้เป็น คนดี บริหารงานเป็น โดยที่เขาสามารถคิดนอกกรอบ ได้ขณะเดียวกันโรงเรียนควรจะสร้างบรรยากาศให้เป็น แหล่งเรียนรู้ของชุมชน สอนให้นักเรียนเข้าใจชีวิต สามารถแก้ปัญหาเองได้" ท่านอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ กล่าวไว้

รัฐบาลใหม่ของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ณ เวลาเขียนบทความนี้) ยังไม่ปรากฏออกมาว่าใครจะนั่งในตำแหน่งใดบ้าง ผมขอยืมประโยคเด็ดของท่านอาจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์มาให้อ่านกันสักนิด "กระทรวงศึกษาฯ สำคัญแค่ไหน ในสายตาผู้นำประเทศ"

  • ถ้าคิดจะพัฒนาประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ต้องสร้างเด็กรุ่นปัจจุบันให้สุดยอด (ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ สู้งานหนัก จิตสำนึกรักประเทศ) "สร้างเด็กรุ่นปัจจุบัน เพื่อสร้างชาติ อีก 20 ปีข้างหน้า" สิงค์โปร์เคยคิดเช่นนี้ เมื่อ 25 ปี มาแล้ว
  • คิดสร้างประเทศไทย ในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยพัฒนาคน-สร้างคน สำคัญที่สุด
  • ในปัจจุบัน ผมเชื่อว่า นักบริหารระดับประเทศจำนวนมาก (ระดับนายพล ระดับอธิบดี ปลัดกระทรวง) "ไม่กล้าเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข" ...แต่ทุกคนเชื่อว่า "ใครๆ ก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้" มีฝีมือหรือไม่มก็เป็นได้ เพราะ "แม้เราจะเป็นแบบมั่วๆ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ยังรับเด็กและสอนได้ อยู่ดี" ...ความคิดเช่นนี้ สร้างหายนะให้ประเทศไทยมาตลอด 80 ปี

...2-3 วันที่ผ่านมา ผมคอยลุ้นด้วยความคาดหวังและดีใจว่า "จะมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาเป็นผู้หญิง" (ที่ผมเชื่อว่าเป็นคนกลาง มีความเสียสละ ซื่อสัตย์ และมีวิสัยทัศน์มากพอ ที่จะนำกระทรวงศึกษาธิการได้ และน่าจะดีที่สุดในยามนี้)...... แต่ จนแล้ว จนรอด ด้วยความเชื่อแบบข้อ 3. "ใครๆ ก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาได้" ดังนั้นรายชื่อ รมต.ศธ. คงไม่เป็นไปตามที่ผมคาดหวัง.... รู้สึกเสียดาย แต่ก็ไม่ถึงกับผิดหวัง เพราะส่วนหนึ่งในความคิด ก็เตรียมใจแล้วว่า ดวงประเทศเรา อาจเป็นเช่นนี้ (แต่ก็ยังรอลุ้นจนนาทีสุดท้ายน่ะ)

แชร์กันจัง

รอลุ้นต่อไปครับ แต่เพื่อนครูทุกท่านคงต้องหยุดคิดคำนึง และสร้างกรรมวิธี นวัตกรรม หรือสิ่งที่ครูในอดีตหลายๆ ท่านได้ถ่ายทอดมา เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับกาลสมัย เพื่อพัฒนาลูกหลานไทยให้ก้าวหน้า อย่ามัวแต่รอลุ้นอัตราเงินเดือนใหม่เลยครับ... เห็นแชร์กันจัง ทำงานก่อนสิครับ...