dream come true

thai children 01จากข่าวการศึกษาข่าวนี้ "“กมล”ยอม รับ 1 ใน 3 ของเด็กป.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เตรียมตั้ง กก.ยกระดับการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนครบวงจร ดันฟื้นสอบตกเรียนซ้ำชั้น" เป็นที่ฮือฮา ถูกอกถูกใจบ้าง ขัดใจกันบ้าง จนมีประเด็นเอามาถกกันในรายการโทรทัศน์เมื่อวานนี้ รายการ "คมชัดลึก" ทางช่องเนชั่นทีวี ใครจะดูย้อนหลังก็คลิกที่ลิงก์ได้เลยนะครับ ดูจนจบก็มีส่วนหนึ่งที่ผู้ร่วมรายการตอบ เป็นหนทางที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะบริบทในต่างถิ่นต่างที่ย่อมต้องมีวิธีการที่ต่างกันออกไป ส่วนพิธีกรคุณจอมขวัญ หลาวเพชร์ ต้องบอกว่าทำการบ้านมาไม่ดีพอ สิ่งที่เธอถามมันเป็นมุมมองของคนเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและยังเป็นปัญหานั้นส่วนใหญ่อยู่ในชนบท

การแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้นั้น ต้องแก้หลายอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างหลักสูตรที่ยัดเยียดทำระบบอุตสาหกรรมการศึกษา ต้องยกออก ครูต้องได้รับการกระตุ้นและพัฒนามากกว่านี้ หน่วยเหนือเลิกบ้านโยบายเหวี่ยงแหเสียที การศึกษาไม่ใช่การปลูกผักบุ้ง หรือเขาไม่เคยอ่านกล่อนของ มล.ปิ่น มาลากุล มาก่อนหรือไร?

orchids

 

ข้อมูลของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่พบว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยเฉพาะ ป.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก ว่า ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ทำการสำรวจเรื่องการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ในเด็กนักเรียนชั้น ป.3 ทั่วประเทศ ที่มีอยู่กว่า 600,000 คน พบว่า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ประมาณ 35,000 คน อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ประมาณ 200,000 คน ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่มาก เพราะเป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของเด็กชั้น ป.3 ทั้งหมด และที่ผ่านมา สพฐ.ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตลอด โดยส่งสื่อการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ไปบ้างแล้ว

kamol 01

การแก้ไขปัญหานี้ ในมุมมองของผม (ที่เป็นนักวิชาเกิน) อาจจะมองเห็นต่างจากหลายๆ ท่าน ก็ลองอ่านดู เผื่อใครจะนำเอาไปใช้ปรับแนวทางก็อาจจะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากบริบทในต่างถิ่นต่างที่มันต้องแก้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ผมของมองในภาพรวมๆ ของประเทศไทยว่าควรเริ่มที่ตรงไหนก่อน

  • ปรับโครงสร้างหลักสูตรระดับประถมศึกษา เนื่องจากเราทำหลักสูตรแบบครอบจักรวาล ยัดทุกสิ่งที่ควรรู้ลงไปในสมองน้อยๆ ที่กำลังเริ่มฝึกฝนเรียนรู้ จนล้นทะลัก ไม่จำเป็นต้องระบุกลุ่มสาระมากมาย แต่ไม่ได้ทอดทิ้ง เป้าประสงค์หลักในระดับชั้น ป.๑ คือ รู้จักการนับ แยกแยะหมวดหมู่สิ่งของ รู้จักตัวอักษร สระ พยัญชนะ ภาษาไทย ในบางท้องที่อาจจะเริ่มภาษาอังกฤษได้ แต่ก็ไม่จำเป็นทุกที่ เด็กควรได้รับการฝึกฝนขีดเขียนตัวอักษร ตัวเลข ให้สวยงาม ถูกต้อง รู้จักคำต่างๆ พื้นฐานในชีวิตประจำวัน พอถึงระดับชั้น ป.๒ ตอนนี้เด็กๆ ควรจะเขียนได้สวยงาม อ่านได้คล่องแคล่ว รู้จักการผสมคำ แยกคำ พอถึง ป.๓ นี่ต้องอ่านได้คล่องแคล่วเข้าใจความหมาย เขียนบอกความคิดของตนเองให้ผู้อื่นทราบได้ ไม่ต้องห่วงในกลุ่มสาระอื่นๆ (8 สาระ) ให้เอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการฝึกอ่านและเขียน พูดคุยกัน ครูช่วยในการสรุปองค์ความรู้ เรียกว่าบูรณาการกันไปเลยในหนึ่งเดียว ทำไมจึงไม่แยกเป็นสาระไปล่ะ เดี๋ยวก็ไม่ครบถ้วนตามหลักสูตรหรอก.... ไปอ่านในข้อต่อไป
  • กระตุ้นและพัฒนาครู ข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากเรารู้กันอยู่แล้วว่า เราขาดแคลนครูในโรงเรียนชนบท มีครูไม่ตรงสายเยอะแยะ เลือกไม่ได้มีครูเอกอะไรไม่สนล่ะ ทุกคนต้องสอนได้ การที่จะทำอย่างที่คิดให้ได้ผลมันก็ต้องมีแรงกระตุ้นก่อน สอนบ้านนอกกับสอนในเมืองก็สอนเหมือนกัน แต่สอนในเมืองสบายกว่า (มีครูเยอะ ตรงวิชาเอก) ก็มีคนเถียงมาอีกแหละ เชอะ! บ้านนอกสิสอนสบายกว่าเด็กก็น้อยๆ (จริงเหรอครับ เด็กน้อยๆ ครูก็น้อยๆ ด้วยนะ แถมความพร้อมของเด็กกลุ่มนี้มันต่างกันมากนะ ด้วยสถานะความเป็นอยู่ของครอบครัวด้วย) เอาล่ะนี่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกัน ถ้าคุณครูของเราเข้าใจหลักและวิธีการสอนการเขียน อ่าน ดีพอ ไม่ว่าคุณครูท่านนั้นจะจบวิชาเอกอะไรมาก็ตาม ก็สามารถทำได้ ที่ล้มเหลวตอนนี้เพราะครูเรายังขาดทักษะ เมื่อขาดทักษะก็ต้องสอนตามตำรา แล้วตำราก็มักจะยัดเยียดมาแบบมากมายหลายกลุ่มสาระ จนครูก็วิตกกังวลว่ามันจะได้ไม่ครบตามหลักสูตร ดังนั้นหลักสูตรต้องทำให้ครูลดความกังวลลง เอาทุกอย่างมาบูรณาการกันตั้งแต่ต้น แล้วก็ให้ความรู้แก่ครูผู้สอนไป เราก็จะสามารถพัฒนาได้ทั้งตัวครูและนักเรียน (อย่าปล่อยให้ครูต้องมโนเอาเองจนเป๋ไปหมดอย่างปัจจุบันนี้)
  • หน่วยเหนือต้องไม่สร้างนโยบายรายวัน สนับสนุนการพัฒนาครู การพัฒนาสื่อช่วยสอนพื้นฐาน การติดตามและให้ข้อเสนอแนะแก่ครูอย่างกัลยาณมิตร ศึกษานิเทศก์ต้องพัฒนาบทบาทการเป็นผู้นำ เป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอน ลดทฤษฎีบ้างคลั่งตามตำรามาสู่การปฏิบัติร่วมกันกับครูในโรงเรียน อย่าเชื่อแต่ตัวเลข อย่าอยากได้แต่รายงาน ลงไปสัมผัสด้วยตนเองแล้วสังเคราะห์ข้อมูลจริงจะดีกว่า ลดภาระงานของครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนออกเสียบ้างเถิด อย่าหวังแต่ข้อมูลเริ่ดๆ ที่หลอกลวงอีกเลย ยังไม่เข้าใจย้อนกลับไปอ่านกลอนของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อีกสักร้อยรอบ
 

เรามักจะได้เห็นเจ้ากระทรวง ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง นักวิชาการจากสำนักต่างๆ ดาหน้าออกมาโทษครู ต้องอบรมพัฒนาครูแบบเข้มข้นเพื่อยกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ยังไม่เห็นสักคนเลยที่มองว่า ความผิดพลาดล้มเหลวทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากการบริหารงานโดยผู้บริหารที่ทำงานล้มเหลว... จริงหรือเปล่า? โปรดคิดพิจารณา วิเคราะห์ ก่อนตอบนะครับ...

ผล ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนนั้นมาจากแม่พิมพ์ที่บิดเบี้ยว แม่พิมพ์ที่บิดๆ เบี้ยวๆ นั้นล้วนเกิดมาจากนโยบายที่พลิกผัน ทุกครั้งจากการเปลี่ยนเสนาบดีที่ต้องการผลงานเพียงข้ามวัน ถ้าทุกคนจะรู้จักยืดอกยอมรับความจริงที่ว่า ทุกๆ คนล้วนเป็นสาเหตุให้นักเรียนเป็นแบบนี้ แล้วร่วมมือกันแก้ปัญหาที่สาเหตุ ทุกอย่างก็น่าจะคลี่คลาย ไม่ใช่ทำเหมือนเห็นหมาตายลอยน้ำมา ลอยไปหน้าบ้านใครก็ผลักไสไปทางอื่น ไม่ยอมเก็บกวาดเอาไปฝัง สุดท้ายก็เน่ากันทั้งคลอง!! เน่าเหมือนการศึกษาไทยในวันนี้

kroobannok 01

การพัฒนาการศึกษา น่าจะหมายถึง การทำให้คนที่ไม่เคยมีความรู้ สามารถก้าวข้ามไปสู่การเรียนรู้ ที่พัฒนาทักษะชีวิต สามารถดำรงชีวิต อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เคยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ก็สามารถทำได้คล่องแคล่ว สื่อสารกับผู้อื่นได้ บวกลบคูณหารก็คงไม่ต้องถึงกับ ต้องถอดรูท คูณเลขยกกำลัง เอาแค่คิดราคาขายพืชผลทางการเกษตร ไปตลาดซื้อสินค้าได้ไม่ถูกกดราคา หรือทอนเงินผิดก็เพียงพอแล้วใช่ไหมครับ มนุษย์ไม่ใช่วัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถจะป้อนผ่านโรง งาน(โรงเรียน) ผ่านแม่พิมพ์(ครู) แล้วจะได้สินค้าที่ไม่มีตำหนิเหมือนกันทุกก้อน เราต้องยอมรับความแตกต่างนั้น

"วันนี้ระบบการ ศึกษาของประเทศไทย ต้องได้รับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทั้งระบบและวิธีการศึกษาเรียนรู้ เท่าที่ผ่านมา เราเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีการวัดประเมินผล แต่ไม่มีการวัดผลเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ฝึกให้คนเป็นลูกน้อง รับคำสั่ง สอนให้เป็นผู้ตามไม่ใช่ผู้นำ และที่สำคัญการศึกษาในระบบดึงคนชนบทออกจากหมู่บ้าน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด ต้องทำให้คนในชนบทมองเห็นได้ว่า การศึกษาสามารถทำให้คนทำมาหากินในชนบทได้ โรงเรียนควรจะสร้างนักเรียนให้เป็น คนดี บริหารงานเป็น โดยที่เขาสามารถคิดนอกกรอบ ได้ขณะเดียวกันโรงเรียนควรจะสร้างบรรยากาศให้เป็น แหล่งเรียนรู้ของชุมชน สอนให้นักเรียนเข้าใจชีวิต สามารถแก้ปัญหาเองได้" ท่านอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ กล่าวไว้ 

ถ้าเราร่วมด้วยช่วยกัน เรื่อง "ตกซ้ำชั้น" ก็ไม่ใช่ปัญหา ไม่ต้องหาทางออกแต่อย่างใด จะมีจำนวนนักเรียนที่ต้องซ้ำชั้นจริงๆ น้อยมากๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องการพัฒนาเป็นพิเศษ เช่น ระดับสติปัญญา ความพร้อมในการเรียน ซึ่งการพัฒนานั้นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย เรื่องอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นี่ ผมตกใจมานานแล้ว (โรงเรียนใหญ่ๆ ยอดนิยมก็ใช่จะไม่เจอนะ) ก่อนเปิดเทอมแรกต้องมาเตรียมความพร้อมให้เด็ก ม.๑ ทุกปี (โดยเฉพาะกลุ่ม ร.ร.ใกล้บ้าน กลุ่มข้ามากับดวง (จับสลาก) ต้องฟื้นการอ่าน การเขียน) แค่ชื่อตัวเอง ชื่อพ่อแม่ นี่ก็ยังเขียนไม่ถูก บางคนครูย้อนถามว่า พ่อชื่ออะไร มันบอกว่า "ชาวบ้านเรียกพ่อบักหำครับ"

เลิกการถีบหัวส่ง การตกซ้ำชั้นกลับมา (เอาไว้เป็นตัวกระตุ้นให้ใส่ใจมากยิ่งขึ้น ความอายจะทำให้เกิดพลัง) การสอบประเมินภาพรวม (เหมือนสอบ ม.๘ สมัยก่อน) ต้องมี อย่าคิดแต่ค่าเฉลี่ยจากเกรดเท่านั้น เพราะ ๓.๘๐, ๔.๐๐ มันไม่สามารถบ่งบอกว่าเด็กมีอะไรในสมอง แค่ตั้งใจทำงานร่วมกิจกรรมครบมันก็ได้ ๓.๐ แล้วในบางกลุ่มวิชา ผมเห็นใจคุณครูนะครับ (นึกถึงคุณครูแม่ คุณครูป้า ที่เคยพร่ำสอนผมให้อ่านออกเขียนได้ในวัยเยาว์) กับภาระงานที่นอกเหนือหน้าที่ เรามาให้รางวัลจากการพัฒนาภาพรวมอ่านออก เขียนได้กันไหม? ต้นปีทดสอบการอ่าน/เขียนบันทึกข้อมูล ปลายปีทดสอบซ้ำ ถ้าเปอร์เซนต์เพิ่มขึ้นเอารางวัลไป ไม่ใช่ 2 ขั้น ปีไหนทำได้มีการพัฒนาเกินร้อยบะ ๕๐ เอาไปหนึ่งหมื่น ต่อไปครูในเมืองจะอยากออกไปชนบท ครูชนบทไม่อยากเข้าในเมือง ลองดู

duo-school3

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ กล่าวแสดงความเห็นไว้ "ตราบใดยังปล่อยให้เด็ก ป.3 อ่านไม่ออก-ไม่คล่อง จำนวนมาก อีกหน่อยคุณภาพการศึกษาประเทศไทยคงอยู่อันดับ 10 อาเซียน "มันเป็นรากของปัญหาการศึกษา ลำดับที่ 1" จริงๆ แก้ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งกรรมการไปตรวจสอบการอ่านของเด็ก ป.3 เป็นรายคน (ให้อ่านทีละคน)... หากโรงเรียนใด มีเด็กอ่านไม่ออกเกิน 5% ให้งดขึ้นเงินเดือนทั้งโรงเรียน และถ้าเขตพื้นที่ใด มีเด็กอ่านไม่ออกเกิน 5% ให้สำรองราชการ ผอ.เขต รับรอง แค่ประกาศหลักเกณฑ์เช่นนี้ ปีถัดมา ก็จะอ่านออกกันทั้งประเทศ ไม่เชื่อลองทำดู (ไม่ต้องคิดนวัตกรรมอะไรตามที่ท่านเลขา สพฐ.ให้สัมภาษณ์หรอก)"

ผมเห็นด้วยในประเด็นที่อาจารย์สุพักตร์ กล่าวมา (แม้จะแรงไปหน่อย) สพฐ. ไม่ต้องไม่สรรหานวัตกรรมอะไรเลย เอาแค่นี้ก็แก้ปัญหาได้แล้ว ครูคือจักรกลฟันเฟือง ไม่ใช่นโยบายเพ้อฝัน เพื่อการผลาญงบประมาณทิ้งเข้าปากใครเอ่ย...

ขอส่งท้ายด้วยคลิปวีดิโอจากรายการ "ดูให้รู้" ถ้าจะฝึกมารยาท และระเบียบวินัย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ คุณจะใช้วิธีไหน เราจะพาไปดูการฝึกเด็กในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เด็กเล็กระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับประถมศึกษา การเรียนแบบทดลองให้เห็นจริงจังในโรงเรียนกวดวิชา และนำการเล่นกีฬามาประกอบกับการสอนมารยาทใ­นระดับอนุบาล จนเด็กๆ สนุกและจำได้โดยไม่รู้ตัว