pro teachers

PinMalakul 02ลังจากปลุกปล้ำกับการกู้คืนข้อมูลของเว็บไซต์อยู่หลายวัน วันนี้พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าต่อ ก็ไปเจอบันทึกจากการเป็นวิทยากร ของท่านอาจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ มาเห็นว่าน่าสนใจ ควรที่จะนำมาบอกกล่าวกัน เพื่อสร้างครูมืออาชีพ เป็นกำลังใจให้กับครูผู้มีอุดมการณ์ทั้งหลาย เพื่อการถ่ายทอดสู่ครูรุ่นใหม่ ให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

การพัฒนาสมรรถนะครูผู้ช่วย เพื่อก้าวสู่การเป็นครูมืออาชีพ : ทิศทางการพัฒนาของ สพม.1

วันนี้ (22 ธันวาคม 2557) ผมได้ไปเสวนากับคณะผู้บริหาร สพม.1  ณ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล  เรื่อง แนวทางการพัฒนาสมรรถนะครูผู้ช่วย/ครูบรรจุใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นครูมืออาชีพ  จัดโดย สมาคมผู้บริหารสถานศึกษา กรุงเทพมหานคร นำโดยนายกสมาคม ผอ.สำเร็จ แก้วกระจ่าง ได้พูดคุยหลายเรื่อง อาทิ

  1. ความจำเป็นของการพัฒนาครูในช่วงเริ่มต้นชีวิตการเป็นครู (Beginner) : การพัฒนาครูบรรจุใหม่ อย่างเป็นระบบ จริงจัง  เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับ สพท.อื่นๆ ต่อไป (สพม.1 ควรปฏิบัติการให้เป็นแบบอย่าง)
  2. หลักในการพัฒนางานในยุคปัจจุบัน (ศตวรรษที่ 21)  เน้นเรื่อง การบริการจัดการแบบอิงมาตรฐาน (Standard-based administration)  การบริหารจัดการเชิงจับเคลื่อนทฤษฎี (Theory driven approach) และ การพัฒนาแบบเสริมพลังอำนาจ (Empowerment approach)  อันเป็นหลักคิดที่จะต้องสอดแทรกเข้าไปในกระบวนการพัฒนาครูใหม่
  3. ความล้มเหลวของระบบ ก.ค.ศ. และคุรุสภา ในอดีตที่ผ่านมา คือ การไม่จริงจังกับการสร้างครูใหม่ ในระยะ 10 ปีแรกของชีวิต  และการควบคุมคุณภาพครูภายหลังจากขึ้นสู่วิทยฐานะขั้นสูง (หลังจากขึ้นเป็น คศ.3-4)
  4. เสนอแนะทางการพัฒนาสมรรถนะครูใหม่ (รุ่น 2557 มี 220 คน) ที่สำคัญ ๆ คือ
  • ควรกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาครูใหม่ "สร้างครูรุ่นใหม่ ให้เป็นครูมืออาชีพ ทดแทนครูเก่า ภายในระยะเวลา 10 ปี"
  • ควรกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับครูบรรจุใหม่ ของสพม. 1 และพัฒนาสมรรถนะอย่างจริงจังในระยะ 5 ปีแรก หลังจากรั้น คอยกำกับ ติดตาม จนก้าวสู่การเป็นครูมืออาชีพ ในปีที่ 9 (คศ.3) และ ปีที่ 14 (คศ.4) ทั้งนี้ ในการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน ควรกำหนดให้ครอบคลุม สมรรถนะการเป็นครู (7 สมรรถนะ สำคัญ) และเกณฑ์การประเมินตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด หรือ อาจพิจารณามาตรฐานการปฏิบัติงานของครู จากกรณีศึกษามาตรฐานกุหลาบหลวงของเครือข่ายสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • การพัฒนาระบบ E-Monitoring ในการกำกับติดตามและนิเทศครูบรรจุใหม่ โดยส่งเสริมให้ครูจัดทำ electronic portfolio ที่ครอบคลุมสมรรถนะการเป็นครู อย่างน้อย 7 รายการ คือ
    (1) การมุ่งสัมฤทธิ์
    (2) การบริการที่ดี(ดูแลนักเรียน หรือบริการผู้ปกครอง)
    (3) การพัฒนาตนเอง
    (4) การทำงานเป็นทีม
    (5) การออกแบบการเรียนรู้
    (6) การพัฒนาผู้เรียน
    (7) การบริหารจัดการชั้นเรียน
    หรือให้ครูจัดทำแฟ้มสะสมงาน จำแนกเป็น 6 หมวด ตามกรอบการเป็นครูมืออาชีพ
  • ในระบบ E-Monitoring จะต้องสะท้อน/ให้ข้อมูลป้อนกลับ หรือแจ้งข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการของครูบรรจุใหม่ เป็นระยะๆ อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดย สมาชิกแต่ละคนควรมีโอกาสได้เห็นคะแนนเฉลี่ยผลการประเมินแต่ละสมรรถนะของครูใหม่ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น
  • ควรให้ครูใหม่วางแผนบนเส้นทางชีวิตครู ปีใดจะก้าวเป็น คศ.1-2-3-4-5 อย่างชัดเจน ในลักษณะ MOU
  • ควรเน้นระบบการนิเทศที่มีพี่เลี้ยงในระดับ Super Senior คอยดูแล อย่างใลก้ชิด
  • เน้นให้ครูศึกษาแนวคิด ทฤษฎีใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมที่สำคัญ อย่างน้อย 1 รายการต่อภาคเรียน
  • การกำหนดเงื่อนไขให้ครูเขียนรายงานการพัฒนาตนเอง-พัฒนางาน ปีละ 1 ครั้ง
  • ในแต่ละรอบปี ในระยะ 5 ปีแรก ควรให้ครูใหม่ เสนอแผนการพัฒนางานรายปี อย่างเป็นรูปธรรม และจัดทำ MOU กับสถานศึกษา
  • ควรพัฒนา Model การพัฒนาครูใหม่ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ในอนาคต

kroobannok 01

 

เมื่อพูดถึงปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย ทุกคนมักจะมองไปที่โรงเรียนเป็นหลัก มีน้อยมากที่มองไปที่ "ผลผลิตของสถาบันอุดมศึกษา คือ ครู และผู้บริหารสถานศึกษา" ซึ่งในปัจจุบัน มักถูกวิจารณ์ในเรื่องสมรรถนะ แง่มุมต่อไปนี้

จุดอ่อนของผลผลิต/คุณภาพครู หรือผู้บริหารสถานศึกษา

  1. จบป.ตรี พูดภาษาอังกฤษไม่ได้
  2. จิตวิญญาณความเป็นครู ไม่มี/ไม่เข้มข้นพอ
  3. ไม่สู้งาน ไม่รับผิดชอบงานในหน้าที่ หรืองานส่วนรวมของโรงเรียน
  4. ยึดเงิน/ค่าตอบแทน เป็นปัจจัยหลักในการทำงาน
  5. ขาดทักษะ เทคนิคการทำงานพี่เป็นพื้นฐานในการทำหน้าที่ครู(การออกแบบการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการศึกษา การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล การดูแลช่วยเหลือนักเรียน ฯลฯ)
  6. ไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนางาน
  7. ผู้สำเร็จสายบริหารการศึกษา ขาดทักษะในการบริหารหลักสูตร/งานวิชาการ เน้นเฉพาะการบริหารงานก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม สิ่งฉาบฉวย

แนวทาง/ประเด็นที่ควรพิจารณาเร่งด่วน 

สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษา โดยเแพาะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ ที่ผลิตครูผู้สอน หรือผลิตนักบริหารการศึกษา(ในระดับ ป.โท เอก) จะต้องตระหนัก ทบทวนและวางแผนอย่างจริงจังเพื่อปฏิรูปกระบวนการผลิตครูหรือผลิตนักบริหาร การศึกษากันอย่างจริงจัง  อาทิ

  1. พัฒนาระบบคัดเลือก สรรหา หรือเตรียมการ สำหรับผู้ที่เข้าเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ : ทำอย่างไรให้ได้ตัวป้อนที่มีคุณภาพ
  2. ทบทวนและกำหนดสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับครูยุคใหม่(เพิ่มเติมจาก TQF) เช่น สมรรถนะด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ทักษะการบริหารจัดการชั้นเรียน ฯลฯ
  3. ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน ที่เน้น problem-based learning เพื่อสร้างครูนักคิด นักจัดการปัญหา และเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการตลอดหลักสูตร  รวมถึงการปลูกฝังอุดมการณืการเป็นครุ/จิตวิญญาณความเป็นครู อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง อย่างฝังแน่น
  4. ทบทวนกระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพตลอด 5 ปี  นับตั้งแต่ ปีที่ 2-4  และฝึกแบบเข้มข้นในปีที่ 5  จัดทำ List of Competency  ที่จำเป็นต้องฝึก อย่างเป็นรูปธรรม
  5. กำหนดเงื่อนไข เกณฑ์การจบหลักสูตร  การประเมินสมรรถนะก่อนจบ อย่างเข้มข้น
  6. ประสานงานดับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรฐานตำแหน่งครู เงินเดือน และค่าตอบแทนให้จูงใจ เพื่อดึงดูดคนเก่ง เข้าเรียนครู
  7. สร้างระบบดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะ 10 ปี แรก ของการเข้าสู่วิชาชีพ(ช่วง Beginner) โดยให้สถาบันที่ผลิตร่วมรับผิดชอบการพัฒนาครูต่อเนื่อง จนเป็นครูมืออาชีพ 

ผมยังนึกได้ไม่หมด  แต่คิดว่า ผู้เกี่ยวข้องจะต้องสัมมนา สุมหัวกัน ร่วมกันคิดอย่างเป็นระบบ ก่อนที่สังคมจะหมดศรัทธาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ของประเทศไทย ว่าผลิตครูไทย และผู้บริหารการศึกษาไทยที่ไร้คุณภาพและถือเป็นปัจจัยสาเหตุประการหนึ่งของ ความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย (บางสถาบัน ที่ผลิตได้ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องน้อยใจ  ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องร่วมกันคิดและทำให้ดียิ่งขึ้น  หากเราทำแบบเดิมๆ ประเทศน่าจะไปไม่รอด)

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์

 

 

การพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวออกจากการติดหล่มยึกยักมาหลายปี คงจะทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ อะไรก็โทษครู โทษนักเรียน พุ่งเป้าไปที่ สพฐ. ทั้งที่กระบวนการพัฒนามันเกิดมาจากหลายภาคส่วนทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิตบัณฑิตครู การคัดเลือกครูเข้าสู่ระบบ การพัฒนาครูในระบบให้มีมุมมองใหม่ ก้าวไกลทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การให้ความรู้ให้กับภาคครอบครัว สังคมที่มีส่วนดูแลตัวป้อน (นักเรียน) เข้าสู่ระบบการศึกษา ถ้าเราช่วยกันทุกอย่างจะสำเร็จได้ โดยเฉพาะต้องแยกการศึกษาออกจากนโยบายภาคการเมือง อย่าให้ตกอยู่ในอุ้งมือมารอีกต่อไป สภาการศึกษา (หรือจะชื่ออย่างไรก็ตาม) ควรเป็นองค์กรที่คอยกำกับดูแลทิศทางของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายการเมือง) มีหน้าที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการ โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวเปลี่ยนแปลงนโยบาย

เพราะการศึกษา "ไม่อาจให้สำเร็จเห็นผลงดงามได้ภายในห้วงการดำรงตำแหน่งของรัฐบาล" ดังคำขวัญของ ฯพณฯ มล.ปิ่น มาลากุล (อดีตรัฐมาตรีว่าการการะทรวงศึกษาธิการ) ได้กล่าวไว้ และเป็นสัจธรรมที่พิสูจน์ได้

PinMalakul 01