bae bae

thinkะผ่านพ้นปี ๒๕๕๘ ไปในวันนี้ ก็ขอบ่นสักหน่อยแล้วกันนะครับ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเสพสื่อชนิดใด หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สังคมออนไลน์ เราจะได้ยินการพูดถึงความตกต่ำของการศึกษาไทย และแน่นอนไม่ว่าจะมาจากแหล่งข่าวใดๆ ก็ตาม จำเลยที่ถูกประนามหยามเหยียดมากที่สุดคือ "ครู" ไม่ปฏิเสธใช่ไหมครับ เราจึงได้เห็นสารพัดสารพันโครงการที่จะสร้างภาระให้กับครู โดยใช้คำว่า "พัฒนาครู" เป็นตัวนำ ครูนับหมื่นนับแสนคนในประเทศนี้เป็นคนที่แย่ นิสัยเสีย ไม่รักดี (เอามาจากคำพูดเด็กๆ ที่บอกว่า ถูกอบรมเพราะนิสัยเสีย ครูก็น่าจะแบบเดียวกันเนาะ) จึงต้องเข้ารับการอบรมกันขนานใหญ่ ถามจริง มันใช่การแก้ปัญหาถูกที่คันหรือเปล่า?

ตามหัวเรื่องเลย "หยุด! กล่าวหาครูเป็น "แพะ" รับบาปทีได้ไหม?" ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น ผมมีเหตุผลที่จะสาธยายให้ฟังครับ (แม้บนหอคอยงาช้างทั้งหลายจะไม่ได้ยินก็ช่างเถิด ผมมีหน้าที่บ่นๆๆๆ ผมทนได้ บ่นกันไปเรื่อยๆ ใครใกล้ชิดสนิทเจ้านายก็ลองบอกให้ท่านอ่านดูบ้างก็ได้นะ ฝันไปเถอะ...) ถ้าเราเข้าใจตรงกัน บางทีการแก้ปัญหาถูกที่ เกาในส่วนที่คัน รักษาในส่วนที่บกพร่อง จะทำให้การศึกษาของไทยไปได้ถูกทาง ลองคิดตามกันดูหน่อยนะครับ...

 

โลกเปลี่ยนไป เมืองไทย ประเทศไทย ก็อยู่ในวัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น เราไม่อาจหนีพ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดในส่วนใดของโลกใบนี้ จะภูเขาไฟระเบิด ภูเขาน้ำแข็งถล่มทลาย แผ่นดินไหวในทุกจุดทั่วโลกย่อมสะเทือนมาถึงประเทศไทยไม่ว่าทางใดก็ตาม เรารับรู้รับทราบ โศกสลดในชะตากรรมของเพื่อนร่วมโลก ผลกระทบจากความทันสมัยได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดการดำเนินชีวิตของผู้คนในประเทศไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่ เมืองเล็ก หรือในชนบท ล้วนได้รับทราบข่าวสารเหล่านั้น เสพความทันสมัยเหล่านั้น มันเป็นวิถีเช่นนั้น

"สังคมบริโภคนิยม" ประเทศไทยของเราเข้าสู่สังคมนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อก่อนจะขอเพลงฟังจากรายการวิทยุต้องส่งจัดหมาย ไปรษณียบัตร หรือโทรศัพท์จากเครื่องโทรศัพท์ที่บ้าน (คนมีตังค์) หรือตู้สาธารณะ ฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์ วันนี้เปลี่ยนไปขอเพลงจากมือถือ (ฟังรายการวิทยุของหนุ่มลูกทุ่งรายการหนึ่ง ถามกลับไปยังแฟนเพลงว่า โทรมาจากไหน ทำอะไรอยู่ เสียงตอบกลับคือ โทรจากกลางทุ่งนา กำลังเกี่ยวข้าวอยู่) เห็นไหมครับว่า เกิดอะไรขึ้น สังคมไทยเราเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ไม่ใช่แต่ชาวนาดอกนะ หนุ่มก่อสร้าง สาวโรงงานก็มีบริบทคล้ายๆ กันนี่แหละ

global family

เรามาถึงยุคที่สังคมโยนภาระทางด้านการสั่งสอนอบรมทุกสิ่งอย่างจากครอบครัว สังคม มาให้โรงเรียน (ซึ่งก็คือ หน้าที่ครู) รับผิดชอบทั้งหมด ผู้ปกครอง พ่อ-แม่ มีเพียงหน้าที่แสวงหาเงินตรามาจ่ายเป็นค่าอาหาร ค่าศึกษาอบรม (โดยไม่ต้องอบรม เพราะอ้างว่า มีภาระงานล้นพ้นตัว ฮั่นแน่) คุณครูช่วยสั่งสอนให้ทีนะ มันใช่หรือครับ?

วันหนึ่งนักเรียนมาอยู่ในความดูแลของโรงเรียนเพียง ๘ ชั่วโมง แล้วอีก ๑๖ ชั่วโมงที่เหลือ และวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการอีกล่ะ ใครสั่งใครสอนหรือครับ (ในภาพข้างบนใช่หรือเปล่า?...) นี่ไงปัญหาของการศึกษาไทย เราให้เทคโนโลยี (ที่ไม่มีชีวิต จิตใจ รับผิดชอบชั่วดี) เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตลูกหลานเรามากเกินไปหรือเปล่า เอะอะก็... "วางเงินไว้บนโต๊ะแล้วนะ รีบตื่นแต่งตัวไปโรงเรียน" "ตั้งใจเรียนหน่อยสิลูกจะขึ้น ป.๖ แล้ว สอบได้ที่หนึ่งจะซื้อมือถือใหม่ให้" "สอบเข้า ม.๔ โรงเรียน..... (ดัง) ได้จะออกรถมอเตอร์ไซค์ให้ขี่ไปโรงเรียน" เลี้ยงแบบนี้แหละครับที่การศึกษาไทยเราไปไม่ถึงไหน ไปถึงแค่ร้านเกมเท่านั้น

เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ดี

คำถามง่ายๆ ที่มีหลายคำตอบ แต่ละคำตอบก็อาจจะเป็นได้ทั้งสำเร็จและล้มเหลวเมื่ออยู่ในสถานการณ์และบริบทที่แตกต่างกัน สังคมและสิ่งแวดล้อมมีส่วนเป็นอย่างมากที่พ่อ-แม่จะต้องคอยสังเกตและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม พลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ อย่างไรก็ตาม ผมก็มีคำแนะนำพื้นฐานที่เคยใช้มาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง โดยไม่มีทฤษฎีหรือหลักจิตวิทยาใดๆ มาอ้างอิงนะครับ เป็นเพียงข้อสังเกตของผมจากการเลี้ยงดูลูกที่ผ่านมาเท่านั้น เขากล่าวว่า "ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ยากที่จะได้รับรางวัลที่หนึ่ง" โถๆๆๆ แค่เลขท้ายสองตัวยังยากเลยครับ "เลี้ยงลูกให้ประสบผลสำเร็จ ยิ่งยากกว่าซื้อหวย" ลองทำดูครับ

  • เลี้ยงลูกเป็นเพื่อน คำนิยามนี้ หมายถึง อย่าใช้บทโหดเลี้ยงดูลูก เราอยากให้เขาเป็นอย่างไร การทำให้ดู ปฏิบัติให้เห็นเป็นต้นแบบ ดีกว่าการพร่ำสอนด้วยวาจา หรือก่นด่าให้ทำตาม เอาความรักเอาใจใส่ เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกจะดีกว่า แม้เราจะร่ำเรียนมาน้อย (ลูกได้รับการศึกษาดีกว่าในยุคปัจจุบัน) แต่เชื่อผมสิว่าประสบการณ์ชีวิต ความยากลำบาก บทเรียนชีวิตที่ผ่านมาของคนเป็นพ่อ-แม่นั้นเหนือกว่าลูกอยู่แล้ว จงใช้เป็นบทเรียนบอกกล่าวกับลูกเถอะครับ (อยากให้อ่านเรื่องนี้ เพิ่มเติม "พ่อที่ไม่รู้จักหนังสือสักตัว")
  • อย่าลืมคำพูดที่รับปากไว้ เคยเห็นไหมครับในห้างสรรพสินค้าที่มีแผนกของเล่น แล้วมีเด็กงอแงร้องไห้ ชักกระตุกอยากได้ของเล่น (ทำให้นึกถึงโฆษณาทางทีวีที่มีตัวละคร อยากได้โทรศัพท์ บ้านหรู แล้วดอกเบี้ยบาน) ตอนที่ลูกยังเล็กผมจะมีกติกาเสมอว่า เมื่อไปเดินห้าง ไปงานเทศกาลต่างๆ ลูกจะได้สิทธิซื้อของเล่นที่อยากได้วงเงิน ๕๐ บาทที่พ่อจะจ่ายให้ไม่เกินนี้ แต่หากลูกไม่ซื้อเมื่อกลับบ้านพ่อจะหยอดกระปุกออมสินให้ ๕๐ บาท หากอยากได้ของเล่นราคาแพงกว่านั้นลูกจะต้องแคะกระปุกออมสินสมทบเสมอ เพื่ออะไร? เพื่อให้เขารู้จักค่าของเงินและความยับยั้งชั่งใจ เลือกในสิ่งที่คุ้มค่าเสมอ ลูกผมจึงไม่เคยชักกระตุกกลางห้างเพราะอยากได้ของเล่น แต่จะไปยืนดูและบอกว่า "จองไว้ก่อนนะ ถ้าเงินพอจะมาซื้อในวันหลัง" กลับถึงบ้านอย่าลืมคำสัญญากับลูกนะครับ หยอดกระปุกออมสินตามที่รับปากไว้ เพราะถ้าไม่ทำ สัญญาในทุกเรื่องราวที่คุณเคยให้ไว้กับลูกจะไม่ศักดิ์สิทธิแล้วคุณจะได้รับด้านมืดคือ การกระทืบเท้าเร่าๆ อยากได้ของเล่นกลางฝูงชนในครั้งต่อไป
  • ให้รางวัลที่ยิ่งใหญ่ แหม่ๆ อย่าคิดว่าผมจะซื้ออะไรแพงๆ ให้ลูกนะครับ ครอบครัวของเรามีกติกาว่า "ปิดภาคเรียนเราจะหาโอกาสไปสร้างประสบการณ์ร่วมกันด้วยการเดินทางท่องเที่ยว" ผมทำอย่างนี้มาทุกปี ถ้าปิดภาคเรียนแรกมีเวลาน้อยๆ เราก็ไปใกล้ๆ น้อยวัน แต่ถ้าปิดภาคเรียนฤดูร้อนเราจะไปไกลๆ หลายวัน เพื่อสร้างประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างออกไปในแต่ละปี มีเรื่องราวมากมายที่เราสามารถสอนลูกได้ระหว่างการเดินทาง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผ่านสถานที่มีการก่อสร้างผมจะให้ลูกสังเกตว่า มีใครกำลังทำอะไร ใครทำงานหนัก ใครทำงานสบาย แล้วลูกอยากทำอะไร มันมีคำตอบให้ได้หมด "คนทำงานหนักใช้แรงกายมากก็เพราะการศึกษาน้อย คนที่ทำงานเบาแม้การศึกษาน้อยแต่เขาสะสมประสบการณ์มามาก ยิ่งทำงานสบายมากเท่าไหร่นั่นเพราะเขามีการศึกษามากกว่า" ลูกอยากสบาย สิ่งที่พ่อ-แม่มีให้คือ "การศึกษา" ลูกเลือกสร้างอนาคตเองได้
  • ส่งเสริมในสิ่งที่เขามีความสามารถ เมื่อลูกยังเล็กชอบวาดภาพขีดเขียน ผมก็ตะลอนพาลูกไปหาประสบการณ์ประกวดแข่งขันแม้จะจัดในต่างจังหวัดแสนไกล ได้รางวัลมาบ้าง ผิดหวังบ้าง แต่ก็ได้ประสบการณ์ชีวิตทุกอย่างมีการแข่งขัน มีแพ้ มีชนะ เราต้องยอมรับกติกา เมื่อลูกสาวคนโตเข้าเรียนชั้น ม.๔ บอกอยากเป็นสถาปนิก ผมก็สนับสนุนด้วยการตั้งเป้าหาประสบการณ์ให้เรียนในสิ่งที่ชอบ เข้าค่ายสถาปนิกรุ่นเยาว์ที่รุ่นพี่ในจุฬาลงกรณ์หรือศิลปากรจัดขึ้น จนได้ร่ำเรียนสมหวังจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และออกมาประกอบอาชีพนี้ตามที่หวังมาหลายปีแล้ว ลูกชายคนเล็กชอบงานบริการ งานที่ต้องพบปะผู้คน เป็นนักกิจกรรมตัวยงตั้งแต่เรียนที่เตรียมอุดมศึกษาและรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ไปประกอบอาชีพงานบริการบนฟากฟ้า ผมก็ได้แต่ส่งเสริมสนับสนุนให้ประสบผลสำเร็จ แล้วแต่เขาชอบทั้งสองคน

child country

ผมนี่ถูกรางวัลที่หนึ่งในการเลี้ยงลูกทั้งสองคนเลย ด้วยเขารับผิดชอบในหน้าที่การศึกษา ไม่เคยหลงเข้าอบายมุขจนเสียผู้เสียคน เพราะด้วยการที่เลี้ยงลูกเป็นเพื่อนนี่แหละครับ การดุด่าว่ากล่าว เฆี่ยนตีด้วยความรุนแรง ไม่ใช่แต่ลูกเราที่เจ็บ หัวใจของคนที่เป็นพ่อ-แม่ก็เจ็บปวดไม่ต่างกันดอกครับ ทำสิ่งดีๆ ให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างดีกว่า ผมเลิกเหล้า-เบียร์-บุหรี่ได้ก็เพราะลูกนี่แหละ ด้วยอยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเห็นแค่นั้นเองครับ

เมื่อสังคมครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบข้างดี การศึกษาก็จะได้รับผลดีตามมาด้วย ครูก็ลดภาระที่ต้องมาคอยตีกรอบต่างๆ มีเวลาทุ่มเทให้ความรู้ จัดสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียนได้ง่ายขึ้น การศึกษาที่บอกว่าแย่ๆ ก็จะดีขึ้นมาทันตาเห็น ถ้าเรามองไม่เห็นความผิดของตนเอง มัวแต่โยนความผิดให้คนอื่น อย่างไรก็ไม่มีทางพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้นครับ ครูก็เหมือนอาชีพอื่นๆ มีชีวิตครอบครัวที่ต้องคอยดูแลเหมือนกัน มีลูกตัวเองและยังมีลูกคนอื่นที่ยกมาให้เลี้ยงดูอีกนับร้อย "ครู" หรือ "ครุ" มันจึงเป็นงานหนักจริงๆ

hny2016

ปีหน้า (พรุ่งนี้นี่แหละ) ก็ขออราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ได้โปรดอภิบาลคุ้มครองให้คุณครูทุกท่านประสบแต่ความสุข ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน มีอาชีพการงานที่มั่นคง มีทรัพย์เพียงพอต่อการยังชีพ (เขายิ่งว่าครูเป็นหนี้แสนล้านอยู่) สุขกายสบายใจทุกท่านเทอญ "สวัสดีปีใหม่ครับ"

ครูมนตรี
๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘