kru dan tai 02ดูข่าว พาดหัวในแวดวงการศึกษามา ในช่วงนี้ค่อนข้างหดหู่ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับ เพื่อนครูในแดนใต้ ต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเพื่อนครูที่ได้รับการสูญเสียใน เหตุการณ์ที่ผ่านมา หน้าที่ในการให้ความรู้แก่เยาวชนนั้นยิ่งใหญ่นัก แต่ก็เสี่ยงภัยเหลือเกิน อันตรายทุกย่างก้าว เงินค่าตอบแทนอันน้อยนิดค่าเสี่ยงภัยในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้มากมายอะไร และคงไม่มีใครอยากจะได้มา เมื่ออยู่ในสถานะหวาดผวาอย่างนี้ ไม่มีค่าตอบแทนแล้วแดนใต้สงบจะดีกว่า เงินเยียวยาหลังการเสียชีวิต ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นหรือคุ้มค่ากับการสูญเสียแน่นอน ขอภาวนาให้เพื่อนครูทุกคนปลอดภัยครับ

the way we are

การทำให้คนมีการศึกษา เรียนรู้ในสิ่งที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หลุดจากความโง่งม หลงผิด ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ไม่หวังดี (รวมทั้งนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลายด้วย) จะทำให้ผืนแผ่นดินนี้ร่มเย็นและเป็นสุข แต่เราจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? ไม่เฉพาะในชายแดนใต้ ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ตะวันออก ก็ยังไม่สามารถเดินไปถึงจุดนั้น เพราะเหตุใด?

โรงเรียนดี ครูดี นักเรียนดี ผู้ปกครองดี

kru dan tai 01ความฝันของผู้ปกครองคือ อยากส่งลูกหลานไปเรียนที่ โรงเรียนดี โรงเรียนดีในความหมายนี้มีมุมมองที่หลากหลายไม่เหมือนกัน เช่น ชื่อเสียงของโรงเรียนที่สั่งสมมานานจากรุ่นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ เคยร่ำเรียนมาจนประสบผลสำเร็จในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ก็อยากให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนดีที่พ่อแม่เคยเรียนมา หรืออาจจะเป็นโรงเรียนดีที่มีลูกศิษย์จบออกไปแล้วสอบเข้าเรียนต่อมหา วิทยาลัยได้เยอะ ในสาขาที่ยอดนิยมมากๆ ก็อยากให้ลูกหลานไปเรียนที่นั่น แต่โรงเรียนเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดคือจำนวนรับมีไม่มากนักต้องแข่งขันกันอีก

แล้วมั่นใจหรือว่า ลูกหลานที่เข้าไปเรียนที่นี่ได้ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ เป็นที่รู้กัน) แล้วจะประสบผลสำเร็จในชีวิต เพราะ... เราไม่เคยถามลูกหลานสักคำว่า เขาอยากเรียนอะไร เป็นอะไรในชีวิตวันข้างหน้า ถ้าโรงเรียนนั้นอยู่ไกลจากบ้าน ต้องไปเช่าหอพัก หรือต้องเดินทางไกลลำบากลำบน ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่าหรือเปล่า? ผมมีบทความที่กล่าวถึงโรงเรียนดี จากคุณจันโททัย กลีบเมฆ มาให้ช่วยกันขบคิดว่าจริงหรือไม่?

"ทำไม ผู้ปกครองจึงนำลูกหลานไปเข้าเรียนในโรงเรียนโน้นโรงเรียนนี้ ที่มีชื่อเสียงดี ขนาดยอมให้ลูกหลานเดินทางไกลๆ ข้ามจังหวัดไปเรียนก็มี หรือบางแห่งโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านแท้ๆ แต่ก็ไม่ยอมส่งเด็กไปเรียน

บางแห่งโรงเรียนสองโรงอยู่ใกล้ๆ กัน โรงหนึ่งมีนักเรียนเป็นพันคน แต่อีกโรงมีนักเรียนไม่ถึงสองร้อยคน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เหตุผลก็คือ "ใครๆ ก็อยากส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนดีมีคุณภาพ"  โรงเรียนแม้จะอยู่ใกล้บ้านก็ตาม แต่ถ้าเป็นโรงเรียนไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีคุณภาพก็ยากที่จะมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก เด็กที่ไปเรียนในโรงเรียนที่มีสภาพไม่ดีก็คือ เด็กที่ไม่สามารถจะไปเรียนที่อื่นได้ จึงจำยอมเรียนทั้งๆ ที่ผู้ปกครองทราบดีว่า  "โรงเรียนนี้คุณภาพต่ำ"

ตามความคิดของชาวบ้านนั้น "โรงเรียนดี" จะมีลักษณะ ๘ ประการ ผูกเป็นคำคล้องจองได้ว่า "สนามตระการ อาคารหรู มีครูพร้อม แวดล้อมด้วยอุปกรณ์ การสอนทันสมัย วินัยเคร่ง เก่งกีฬามารยาทดี" อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

๑. สนามตระการ ก็หมายถึงว่า โรงเรียนดีที่ชาวบ้านต้องการคือ ต้องมีสนามกีฬาที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ดูสวยงามสะอาดตา เป็นระเบียบเรียบร้อย แบ่งเป็นสัดเป็นส่วน ไม่ใช่สนามฟุตบอลมีแต่หญ้าสูงถึงหัวเข่า ประตูฟุตบอลก็ทรุดโทรม สนามตะกร้อมีแต่ตาข่ายขาดๆ หรือใช้เชือกฟางเป็นตาข่าย  สนามวอลเลย์บอลก็มีแต่ขี้โคลนหรือไม่ก็เสาขึงตาข่ายโยกเยกจนน่ากลัวจะล้มมา ทับเด็กตาย หรืออย่างน้อยก็ต้องมีสนามหญ้าที่น่าเข้าไปนั่งเล่น ชาวบ้านถึงจะชอบ

๒. อาคารหรู โรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีอาคาร 3-4 ชั้น แค่อาคารชั้นเดียวหรือสองชั้น รวมทั้งอาคารอื่นๆ ในโรงเรียน เช่น อาคารอเนกประสงค์ โรงอาหาร อาคารห้องสมุด หอพระ หรือแม้แต่ห้องน้ำห้องส้วม จะต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดไร้กลิ่นอันไม่พึงปรารถนา มีการดูแลรับผิดชอบเป็นอย่างดี ตัวอาคารเรียนจะต้องมีการปรับปรุง ตกแต่ง พัฒนาเป็นอย่างดี ไม่ใช่ปล่อยให้ทรุดโทรม  สภาพดูอึมครึม ไร้สีสัน มองตรงไหนไม่เจริญหูเจริญตา อย่างนี้ชาวบ้านก็เมินหน้าหนีกันหมด

๓. มีครูพร้อม ต้องยอมรับกันว่ายุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ โรงเรียนไหนที่ขาดครูมากๆ หรือมีครูน้อยเกินไปกับสภาพที่เป็นจริง ผู้ปกครองหรือชาวบ้านก็ตั้งแง่ว่า "มีครูแค่นี้จะสอนลูกเขายังไง" โรงเรียนที่มีครูเพียงพอก็ดีไป โรงเรียนไหนที่มีครูไม่ครบต้องพยายามสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านว่า ถึงมีครูเท่านี้ แต่ก็พร้อมที่จะสร้างคุณภาพให้เกิดกับบุตรหลานของเขาได้ อย่างนี้ชาวบ้านจึงจะยกนิ้วโป้งให้

๔. แวดล้อมด้วยอุปกรณ์ พูดง่ายๆ ก็คือ โรงเรียนไหนที่มีอุปกรณ์การสอนมากๆ ให้เด็กได้เล่น ได้ทดลอง ได้ปฏิบัติจริงแล้วล่ะก็ ชาวบ้านก็ต้องชอบเป็นธรรมดา ส่วนโรงไหนไม่ค่อยมีอุปกรณ์ ชาวบ้านอาจจะตั้งข้อรังเกียจว่า "มีอุปกรณ์แค่นี้จะทำให้ลูกเขาเกิดการเรียนรู้ได้ไง" อืมจริงของเขาแฮะ

๕. การสอนทันสมัย ชาวบ้านเดี๋ยวนี้ก้าวไปสู่ความเป็นไฮเทคแล้ว ถ้าครูยังสอนแบบเก่าๆ ไม่ตั้งใจสอนหรือสอนแบบส่งเดช สอนแบบไปตามบุญตามกรรม  แบบนี้ชาวบ้านที่ไหนจะยิ้มออก มีแต่จะแยกเขี้ยวว่าเมื่อไรครูจะเปลี่ยนการเรียนการสอนให้ทันสมัยเสียที อุปกรณ์การสอนก็เยอะ เทคโนโลยีก็แยะ เครื่องไม้เครื่องมือก็หาไม่ยาก ต้องสอนชนิดก้าวล้ำไปในอนาคต ชาวบ้านจึงจะร้องไชโย

๖. วินัยเคร่ง โรงเรียนไหนนักเรียนมีระเบียบวินัยดี ชาวบ้านก็จะชื่นชอบ  เพราะปัญหาจะมีน้อยลง เด็กอยู่ในกฎ กติกา มารยาท ทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียนและในบ้าน เป็นใครก็ต้องชอบทั้งนั้นแหละ

๗. เก่งกีฬา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในเมืองหรือชนบท ถ้าเก่งกีฬาด้วยแล้ว  ชาวบ้านชื่นชมยินดีไม่หยุดหย่อน ไปแข่งกีฬาในกลุ่มโรงเรียน ในอำเภอ หรือที่จังหวัด ได้แชมป์กลับมา มันหมายถึงหน้าตาของชาวบ้านด้วย ถ้าได้แชมป์บ่อยๆ ชาวบ้านก็เชียร์ทั้งปี

๘. มารยาทดี เดี๋ยวนี้เด็กไทยเรากิริยามารยาทย่ำแย่ โรงเรียนไหนสามารถทำให้นักเรียนมีมารยาทเรียบร้อย ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ได้ ไม่ต้องกลัวว่าโรงเรียนจะไม่อยู่ในหัวใจชาวบ้านหรอกครับ"

kru develop 01

คงพอจะมองภาพออกถึงโรงเรียนดีกันแล้ว มาถึงครูดี ไม่ได้มาบอกว่า คุณครูของเราทุกคนไม่ดีนา แต่อยากให้ครูพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ออกนอกกรอบที่เคยทำบ้างเถอะครับ เลิก Chalk & Talk (ความจริงหลายโรงเรียนเขาใช้ไวท์บอร์ด กระดานอัจฉริยะกันแล้วล่ะ) ที่ผมบอกนี่หมายถึง การใช้วิธีการ "มือซ้ายถือหนังสือ มือขวาถือชอล์ก ถ้าไม่เขียนตามคำบอก ก็ให้ลอกบนกระดาน" มันไม่เร้าใจครับ ลองปรับเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ๆ มีการทดลอง ปฏิบัติ หรือทอล์กโชว์บ้างก็ดีครับ เด็กจะได้ตื่นเต้นกัน มีรายการสนทนา "คมชัดลึก" มาฝากใครไม่ได้ดูรายการสดเมื่อวาน (12-12-12)

 

ครูเรางานหนักครับ เป็นงานที่ไม่ใช่การสอนมากกว่า 70% ด้วยเหตุผลที่เรารู้ๆ กันอยู่ยากจะบรรยาย มีแต่การโปรยคำหวาน สำทับด้วยคำว่านโยบายที่ต้องปฏิบัติ แน่นอนมันต้องมีรายงานเป็นเอกสารกองเป็นภูเขาเลากา แย่งเอาเวลาที่จะมาคิดพัฒนาการสอนไปเสียสิ้น พอผลสัมฤทธิ์การเรียนตกต่ำกราวรูดก็โยนบาปมาที่ครู ไม่พัฒนา อะไรกันว้า? นี่ไงพาดหัวข่าวเตรียมตัวอบและรม(ควัน) กันได้เลย "'ศธ' เต้นเด็กอ่อน 'วิทย์คณิต' เล็งแก้หลักสูตรยกเครื่องครู"

นักเรียนดี นี่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่มิอาจปฏิเสธ ผมยังหาเหตุผลมาอธิบายชัดๆ ไม่ได้ว่า เกิดมาจากสาเหตุใด? ผมเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของลูกหลานมายาวนานพอควร เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน (ไม่ต้องย้อนไปไกลนัก) พบว่า การใฝ่รู้ใฝ่เรียนลดลง ไม่สนใจการเรียนรู้ในห้องเรียน โรงเรียนเท่าใดนัก ขาดการกระตือรือล้น เหมือนเขาสนใจแต่เรื่องบันเทิงเริงรมย์มากกว่า เชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์

parentsซึ่ง สาเหตุใหญ่ๆ ก็น่าจะมาจากความใกล้ชิดใส่ใจของผู้ปกครองต่อลูกหลานมีน้อยลง ด้วยการทำงานที่รีบเร่ง ซับซ้อนบนสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำมากได้ค่าตอบแทนน้อยเลยไม่ได้มีเวลามากพอที่จะดูแลบุตรหลาน สังคมในเมืองใหญ่ที่เสียเวลาไปกับการเดินทาง รวมทั้งการแยกครอบครัวออกมาเป็นครอบครัวเดี๋ยวมากยิ่งขึ้น ลูกหลานมีผู้ปกครองใหม่คือ ไอ้หน้าเหลี่ยม (ทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ) แทนที่จะมีปู่ย่า ตายาย คอยดูแลเช่นในอดีต คงต้องช่วยกันแก้ไขอีกยาวไกลครับ

ผู้ปกครองดี นี่ก็ประเด็นสำคัญ ในความหมายของผมคือ พ่อ-แม่ ที่คอยเอาใจใส่ลูกหลาน สอบถามสารทุกข์-สุกดิบ ทั้งในการดำรงชีวิตและการเล่าเรียน แทนที่จะให้ไอ้หน้าเหลี่ยมดูแลพร้อมกับให้เงินตามความต้องการของลูก เพราะคิดเอาเองว่า เมื่อลูกได้เงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่เขาต้องการแล้วจะมีความสุข ไม่ได้ติดตามว่าเขาใช้เงินเพื่ออะไร ความต้องการจริงๆ ของลูกคืออะไรกันแน่? ที่เขาเรียกร้องความสนใจนั้นไม่ใช่ต้องการเงิน แต่ต้องการความใส่ใจจากเราต่างหาก

ผู้ปกครองต้องเลิกคิดได้แล้วว่า ส่งลูกไปโรงเรียน โรงเรียนต้องรับผิดชอบสั่งสอนให้เขาเป็นคนดี ผลักและโยนภาระให้ครูเสียสิ้น ลูกไปโรงเรียนแค่วันละ 8 ชั่วโมง แต่อีก 16 ชั่วโมง ครอบครัวต้องรับผิดชอบครับ ลูกคุณไม่กี่คนยังดูแลทั่วถึงไม่ได้ แล้วครูเขาจะดูแลลูกๆ ที่ผู้ปกครองเอามาฝากเป็นร้อยเป็นพันคนในแต่ละวันได้อย่างไร? ครูก็มีลูกของตัวเองเป็นภาระที่ต้องดูแลเช่นกัน ต้องช่วยกันแล้วครับวันนี้ ไม่เช่นนั้นแล้วสังคมนี้เละเหลวแหลกแน่นอน

boy hair 02เมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีข่าวที่ผมอ่านแล้วขำๆ ครับ ผู้ปกครอง ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ที่ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนชาย ต้องตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นเห็นติ่งหูนั้น กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล เพราะบางโรงเรียนอนุโลมให้นักเรียนที่เรียนนาฏศิลป์ไว้ผมยาวได้ จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

แต่ กสม. พิจารณาเห็นว่า ไม่เป็นการจำกัดสิทธิ เพราะกฎระเบียบของโรงเรียนสามารถอนุโลมได้ จึงส่งเรื่องให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และส่งต่อให้ศธ.พิจารณาอีกครั้ง

ประเด็นนี้มันมีมานานแล้วครับ ต่อคำถามที่ว่า ทรงผมสั้นยาวมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่? ไม่เกี่ยวกัน แล้วทำไมต้องตัดผมสั้นเกรียน นี่แหละเขาถึงบอกว่า การมีวินัยของคนในชาติ ทำให้ชาติพ้นภัยและหายนะ การไว้ทรงผมถือเป็นระเบียบปฏิบัติอย่างหนึ่งให้ทุกคนได้ถือปฏิบัติ (ซึ่งเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกัลกาลสมัยได้) ถ้ากฏระเบียบยังไม่เปลี่ยนเราก็ต้องทำตามกฏนั้น เพื่อความสงบสุขของสังคม ไม่ใช่ต้องมาแหกกฏเพียงเพื่อสิทธิมนุษยชน (บ้าๆ) นี้ ผมเห็นและรู้ว่าเด็กนักเรียนไทยนี่ชอบกีฬา บ้าบอลกันมาก ว่างสักห้าหรือสิบนาทีเป็นต้องเตะฟุตบอลกัน (ไม่ใช่เพื่อลดความต้องการทางเพศนะ) เหงื่อไหลไคลย้อย พอเข้าห้องเรียนเป็นไงครับ?

boy hair 01สภาพ แวดล้อมในการเรียนเป็นไม่มีเลย ถ้าไว้ผมยาวๆ อีกไม่อยากคิดว่าจะขนาดไหน ทั้งร้อน ทั้งเหงื่อ บางคนก่อนเข้าห้องเรียนวิ่งเอาหัวไปรดน้ำจากก๊อกประปามาอีกแนะ อย่าไปซีเรียสกันเลยครับเรื่องแค่นี้ ก็แหมพอไปเรียน รด. ไม่เห็นโวยกันเลย ตัดชนิดเกรียนๆ ก็ยังไม่บ่น (หรือมันถูกชดเชยที่ได้ใส่กางเกงขายาว รองเท้าคอมแบท นะ) เอาแก้กันซะว่า ตัดให้เหมาะสมแก่กาลแล้วกัน รองทรงพอได้หล่อบ้าง (จริงๆ เคยถามเด็ก ม.ปลายผู้ชาย บอกอยากใส่กางเกงขายาวมากกว่านะ มันอายขนหน้าแข้ง และเพื่อนที่ไปเรียนอาชีวะ เทคนิคได้ใส่กางเกงขายาว เลยพบว่าพวกนี้จะตื่นเต้นมากในวันที่จะได้ไปเรียน รด. เพราะมันเท่มากไงครับ)

เรื่องทรงผมนี่ถึงขนาดต้องไปสร้างกลุ่มบนเฟซบุ๊คเชียวนะ เอากับเขาซิ นี่แหละโลกยุคออนไลน์ (แม้จะยังไม่ได้ใช้ 3G จริงๆ เสียที)