webmaster talk

เปิดเวทีวิพากษ์ "แอดมิสชั่นส์" "เสียงสะท้อน..ที่กระแทก(ใคร)ใจ!!"

ากการสัมมนาเรื่อง "การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา : ฟังความรอบข้างก่อนตัดสินใจ" ซึ่งจัดในงานสัมมนาครบรอบ 47 ปี สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ในหัวข้อ "สภาการศึกษา : ร่วมสะท้อนบทบาทใหม่ในการพัฒนานโยบายชาติ" ระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

โดยในหัวข้อดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมอภิปรายมากมาย อาทิ นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ นายมนตรี แสนวิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุทธิวราราม นายสุรมาน พานิชการ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นักเรียน ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

การอภิปรายก็ได้เริ่มขึ้นในส่วนของผู้เกี่ยวข้องระดับนโยบาย โดยอดีตประธาน ทปอ.ได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการสอบคัดเลือก หรือเอ็นทรานซ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และรูปแบบของระบบกลางการรับนิสิต-นักศึกษาใหม่ หรือ Admissions ที่จะเริ่มใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1. คะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้น ม.ปลาย หรือ GPA และค่าเปอร์เซ็นไทล์ แรงก์ หรือ PR 10% 2. ให้คณะหรือสถาบันพิจารณาจากผลการเรียนทุกรายวิชาในชั้น ม.ปลาย ผลการทดสอบระดับชาติ หรือ National Test ซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่าโรงเรียนได้มาตรฐานหรือไม่ การวัดศักยภาพในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา หรือ SAT และ 3. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

แต่เนื่องจากพบว่า นิสิตนักศึกษาบางคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ แต่ความรู้จริงไม่มี เช่น นักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งต้องย้ายไปเรียนคณะครุศาสตร์เมื่อเรียนแพทย์ปี 4 เพราะเรียนไม่ไหว จึงมีผู้เสนอให้สอบเพิ่มเติมจาก National Test แต่ไม่เกิน 3 วิชา และให้สอบให้เสร็จพร้อมกับ National Test เพื่อจะได้ไม่ต้องไปจัดสอบข้างนอก ซึ่งนายภาวิชก็วาดหวังไว้ว่าในอนาคตนักเรียนจะนำใบระเบียนแสดงผลการเรียน หรือ ใบ รบ.ไปยื่นสมัครเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบเลย

ในขณะที่รองปลัดทบวงฯ นายสุชาติ เมืองแก้ว ก็แจ้งว่าได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเสร็จแล้ว โดยสถาบันดังกล่าวจะทำหน้าที่คัดเลือกนิสิตนักศึกษาโดยสร้างกระบวนการรับตรงส่วนกลาง ออกแบบข้อสอบ ทั้ง National Test และ SAT เพื่อรองรับระบบแอดมิสชั่นส์

และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน ผู้ปกครองซึ่งกระทบโดยตรง และมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นผู้รับนิสิตนักศึกษา ในการเตรียมการรองรับระบบแอดมิสชั่นส์ นายประพัฒน์พงศ์ก็ย้ำว่ากรมวิชาการได้ร่วมกับทบวงฯ และ ทปอ.เตรียมการว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ผลที่ปรากฏในใบ รบ.น่าเชื่อถือ ตรวจสอบ GPA โดยดูจากคะแนนเอ็นทรานซ์ของเด็ก ถ้าคะแนนสูง GPA จะสูงด้วย เช่นเดียวกับการสอบ National Test มา 3 ปี พบว่าถ้าคะแนน National Test สูง GPA จะสูงด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ถ้า National Test สูง แต่ GPA ต่ำ แสดงว่าโรงเรียนปล่อยเกรด แต่เท่าที่พบมีครูที่ปล่อยเกรดไม่ถึง 0.5% ในขณะที่พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ของครูที่กดเกรดมีมากกว่า ส่วนผลการสอบ SAT ในปีที่ 3 คาดว่าจะได้ผลการประเมินก่อนปิดภาคเรียนนี้ ทั้งนี้ พบว่าผล National Test และ SAT จะสัมพันธ์กับคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ส่วน Advance Test หรือวิชาเฉพาะ ที่สอบเพิ่มเติมจาก National Test เพื่อดูความชอบ และความถนัดของนักเรียนก็อยู่ระหว่างเตรียมการ ฉะนั้น ขอให้มั่นใจว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้มหาวิทยาลัยได้

ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็ระบุว่า มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับนโยบาย แต่ไม่มีสิทธิที่จะไม่ทำ เช่น นโยบายการรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 หรือการกำหนดโรงเรียนยอดนิยม เพราะทำให้ผู้ปกครองพยายามย้ายมาอยู่ใกล้โรงเรียนเพื่อให้ลูกมีสิทธิเข้าเรียนโรงเรียนดัง ดังนั้น การใช้ GPA-PR เป็นส่วนหนึ่งในการสอบนั้นดี ส่วน SAT ไม่ต้องอ่านเพราะวัดสิ่งที่ตกผลึกในตัวเด็ก ส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนควรปล่อยให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผ่านการเอ็นทรานซ์มาแล้วอย่างน้องสุรนามก็บอกว่าสิ่งสำคัญในการเข้ามหาวิทยาลัยคือ แรงบันดาลใจ และความชอบ แต่เวลานี้รูปแบบของแอดมิสชั่นส์ยังไม่มีในส่วนนี้ จึงอยากให้เพิ่มการวัดความชอบเข้าไปด้วย

ในขณะที่น้องทศพลก็บอกว่าเห็นด้วยกับการคง GPA แต่ให้ยกเลิก PR เพราะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือถ้าไม่ยกเลิกก็ให้เอา PR ของโรงเรียนทั่วประเทศมาจัดอันดับร่วมกัน นอกจากนี้ การสอบ National Test ควรแยกสายวิทยาศาสตร์ สายศิลป์-คำนวณ และสายศิลป์-ภาษา เพราะแต่ละสายเรียนในรายวิชาต่างๆ ลึกไม่เท่ากัน และอยากให้ตัดบางกลุ่มสาระการเรียนรู้ออก เช่น ดนตรี หรือศิลปะ ส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้นก็ควรใช้เป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น ไม่แปลงเป็นคะแนน นอกจากนี้ ยังเสนอให้สาขาวิชาต่างๆ เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้าเรียนในสาขาวิชานั้นๆ เข้าไปเรียนรู้ หรือฝึกงานเช่นเดียวกับที่คณะแพทยศาสตร์กำหนด เช่น เรียนรู้งานด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ ก็จะทำให้ลดการสูญเสียจากการออกกลางคัน สำหรับ SAT น้องทศพลเสนอให้ยกเลิกข้อสอบปรนัยเพราะเดาได้

ซึ่งนายภาวิช และนายประพัฒน์พงศ์ก็ได้ยืนยันผลดีของการใช้ GPA-PR ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพราะการประเมินผลพบว่าข้อมูล GPA ที่รวม PR จะขยายโอกาสในระดับอุดมศึกษาได้มากกว่าไม่รวม PR

และแล้วเวทีอภิปรายก็ยิ่งดุเด็ดเผ็ดมันมากขึ้นเมื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ลุกขึ้นวิพากษ์อย่างถึงพริกถึงขิง ไม่ว่าจะเป็น นายเชิดศักดิ์ ถาวรเศรษฐ์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่เห็นด้วยกับ GPA-PR โดยเฉพาะในส่วนของ PR ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมของเด็กทั่วประเทศ ไม่ใช่เป็นธรรมเฉพาะนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ หรือเตรียมอุดมศึกษาเท่านั้น เพราะเด็กเหล่านี้ได้เปรียบเด็กอื่นๆ อยู่แล้ว พร้อมทั้งออกตัวว่าขอเสนอความคิดนอกกรอบหลังจากแสดงกราฟของผู้เข้าสอบวิชาคณิตศาสตร์ในการเอ็นทรานซ์ 1.2 แสนคน แต่ 6 หมื่นคน สอบได้ 0-25 คะแนน ได้เกิน 50 คะแนน แค่ 3 พันคน และเกิน 90 คะแนน เพียง 1 คน ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าข้อสอบยาก ซึ่งแก้ปัญหาได้ง่ายนิดเดียวคือลดปรนัยให้เลือก 3 ตัวเลือก จากเดิม 4 ตัวเลือก และการออกข้อสอบก็ไม่จำเป็นต้องยากมากถึงจะวัดความรู้ได้ อีกทั้ง การเรียนในชั้น ม.ปลายก็เรียนมากอย่างไร้สาระ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเรียน จึงเสนอให้ลดความยากของข้อสอบ ลดความไร้สาระของเนื้อหาแต่เพิ่มคุณภาพ และการวัดผลต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อดูเด็กทั้งประเทศ

ส่วน น.พ.ทวี เลาหพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ขอมองต่างมุม โดยมองว่าถ้าจะลดเนื้อหาสาระก็ต้องดูให้ดี ไม่เช่นนั้นเด็กไทยจะมีหัวที่กลางโบ๋ และเทียบกับต่างประเทศไม่ได้ ฉะนั้น ควรแก้ที่ส่วนอื่น แต่ก็ยอมรับว่าข้อสอบเอ็นทรานซ์ของทบวงฯ ยากจริง เพราะขนาดข้อสอบเข้าเรียนคณะแพทยศิริราชฯ ไม่ยาก เด็กก็ยังทำไม่ได้ พร้อมทั้งเสนอให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไปช่วยครูของ ศธ. เพราะเวลานี้ครูไม่ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ แต่มุ่งพัฒนาการสอนแทน เพราะคนจะเป็นครูต้องมีความรู้ก่อน ส่วนครูต้องเป็นปริญญาที่สอง และสิ่งที่ น.พ.ทวีเร่งให้รีบทำคือให้ตั้งตุ๊กตา หรือเร่งตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ก็จะทำให้ได้คำตอบตามมาว่าจะต้องอะไรบ้าง

ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย นางโอปอล์ วานิชขจร ก็ฟันธงเลยว่า การสอบโควตาของมหาวิทยาลัยในเวลานี้ไม่โปร่งใส 100% เหมือนการเอ็นทรานซ์ นอกจากนี้ ยังแจกแจงถึงปัญหาที่ส่งผลกระเทือนไปถึงผู้บริหาร ศธ.ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ปลัด ศธ.หรืออธิบดีกรมสามัญฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนางโอปอล์เล่าว่า ลูกเรียนอยู่ ม.4 และเรียนไม่รู้เรื่อง ครูก็บอกให้ไปรวมกลุ่มมาจะติวให้ แต่คิดเงินคนละ 300 บาท นอกจากนี้ ที่อธิบดีกรมวิชาการบอกว่าให้มั่นใจเรื่องระบบที่ ศธ. เตรียมการ แต่การทดลองหลักสูตรนำร่องที่บิ๊กๆ ของ ศธ. โหมโฆษณาให้มั่นใจในระบบแม้จะไม่มีหนังสือเรียน จนตอนนี้ลูกใกล้จะจบ ม.4 แล้วก็ยังไม่มีหนังสือเรียน ซึ่งจะกระทบกับการเอ็นทรานซ์ ฉะนั้น ถ้าจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ขอให้พร้อมก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ละเลงกันเละไปหมด

หรือนโยบายพัฒนาโรงเรียนให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันของ ศธ. ซึ่งนางโอปอล์บอกว่า กลายเป็นดึงโรงเรียนที่ติดอันดับบนลงมา โดยไม่ได้ยกโรงเรียนระดับล่างขึ้นไป และที่ผู้ปกครองอึดอัดมากคือ นโยบายรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 ทำให้เด็กต้องวิ่งไปรดน้ำมนต์ เคาะหัว เพื่อให้จับสลากได้ และอีกเรื่องที่ทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ใหญ่ใน ศธ. คือ โรงเรียนยื่นเรื่องขอเปิดรับ 9 ห้องๆ ละ 40 คน แต่พอเปิดเทอมมากลับมี 12 ห้องๆ ละ 55-60 คน ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเด็ก และทำให้คุณภาพการเรียนการสอนแย่ลง

นอกจากนี้ ผู้อำนวยโรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ ได้เสนอว่าระบบแอดมิสชั่นส์ควรจะเอื้อให้เด็กที่อยู่ห่างไกล ส่วน National Test พบว่าในหลายโรงเรียนเอาข้อสอบไปให้เด็กทำก่อน ทำให้คำตอบของเด็กๆ ในส่วนที่เป็นอัตนัยออกมาเหมือนกัน เพื่อลดความผิดพลาดคือการสูญเสียในการเลือกสาขาวิชา ทางมหาวิทยาลัยควรทำข้อมูล จุดเด่น และจุดด้อยให้ชัดเจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ นายประพัฒน์พงศ์ก็อ้อมแอ้มว่า ศธ.จะต้องนำไปพิจารณา!!

ก่อนปิดท้ายด้วย นางสิริกร ซึ่งติดภารกิจ และเดินทางมาถึงในภายหลังก็ยืนยันองค์ประกอบหลักของระบบแอดมิสชั่นส์ที่ได้ข้อยุติจากที่ประชุมร่วมระหว่างทบวงฯ กับ ศธ.โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เพื่อขอความเห็นชอบ และประกาศใช้ในปีการศึกษา 2549

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546