webmaster talk

ถ้าปฏิรูปการสอบคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยได้...
ก็จะปฏิรูปการเรียนรู้ให้คนไทยฉลาดได้

วิทยากร   เชียงกูล
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต

วามอ่อนแอของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าในเรื่องเรียนไม่เก่ง ไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบเรียน ไม่มีวินัยในตนเอง ชอบเสพสุข ชอบเกเร ฯลฯ มากกว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน ปัญหานี้ถูกสร้างโดยผู้ใหญ่ผ่านระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก ที่เน้นการท่องจำไปสอบเพื่อเอาประกาศนียบัตรและผ่านระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาด มือใครยาวสาวได้สาวเอา ที่สอนและสร้างพฤติกรรมให้คนแก่งแย่งแข่งขันแบบเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นแบบฉาบฉวย ระบบการศึกษาซึ่งรับใช้ระบบเศรษฐกิจการเมือง เป็นทั้งตัวอย่างและเป็นการบีบบังคับให้เด็กและเยาวชนต้องแข่งขันกันแบบตัวใครตัวมัน

ic"ระบบเอ็นทรานซ์" มารร้ายของการเรียนรู้

ระบบแข่งขันกันสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐบาลที่รับได้จำกัด คือรับได้ราว 4 หมื่นคน จากที่มีผู้สมัครสอบ 2 แสนคน เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนไทยในปัจจุบัน เพราะเป็นระบบที่เน้นการสอบแบบปรนัยที่อาศัยการท่องจำและกวดวิชา นักการศึกษา ครู พ่อแม่ และนักเรียนเอง ส่วนใหญ่ยังคิดว่าระบบนี้ยุติธรรมดีแล้ว โดยไม่ได้ตระหนักว่า ระบบเอ็นทรานซ์แบบนี้ส่งเสริมให้นักเรียนทั้งประเทศ

  1. มุ่งเรียนแบบท่องจำเพื่อสอบแข่งขันให้ได้คะแนนสูงมากกว่าเรียนเพื่อเป็นพื้นฐานความรู้และรู้จักคิดต่อเรียนต่อได้เอง และ
  2. เรียนเพื่อมุ่งเอาชนะเพื่อนมากกว่า เรียนเพื่อทำความเข้าใจว่า การที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมจะอยู่ในสังคมได้ดีต้องมีจิตสำนึกที่จะร่วมมือกันทำงานเพื่อกลุ่มและเพื่อส่วนรวมด้วย

ถึงทบวงมหาวิทยาลัยจะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยให้นำคะแนนเฉลี่ยสะสมตอนเรียนชั้นมัธยมปลายและคะแนนความสามารถเมื่อเทียบกับกลุ่มในแต่ละโรงเรียนมาคิดด้วย 10% และสอบเอ็นทรานซ์อีก 90% ก็เป็นเพียงการปรับปรุงวิธีการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเพียงส่วนย่อย แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง คือ

  1. โครงสร้างเศรษฐกิจการศึกษาที่เป็นแบบแพ้คัดออก เพื่อคัดคนเก่งส่วนหนึ่งไปเรียนมหาวิทยาลัยปิดของรัฐซึ่งมีที่นั่งจำกัด ค่าเล่าเรียนถูก เพราะรัฐบาลให้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 80/90% ของต้นทุนการจัดการศึกษาต่อหัว โดยนิสิตนักศึกษาจ่ายค่าเรียนเพียง 10-20% และ
  2. สังคมตีค่าคนจบปริญญาสูงกว่าคนจบมัธยมหรืออาชีวศึกษามากเกินไป

เมื่อรัฐบาลยังไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างการศึกษาและเศรษฐกิจที่แท้จริง แก้เฉพาะวิธีการคัดเลือกส่วนย่อย ก็ยิ่งทำให้นักเรียนกวดวิชาเพื่อแข่งขันกันตลอด 3 ปี ของการเรียนมัธยมปลาย (เพื่อที่จะทำคะแนนเฉลี่ยสะสม) มากยิ่งขึ้น แทนที่จะกวดวิชาแค่ปีสุดท้ายก็เลยต้องกวดทั้ง 3 ปี สมัยนี้ลูกคนรวย คนชั้นกลางต้องกวดวิชากันตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลหรืออนุบาลด้วยซ้ำ เพราะการมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ก็คือโอกาสจะสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปิดของรัฐได้มากขึ้น

เด็กทุกวันนี้ จึงเครียดและไม่สนุกกับการเรียนรู้เท่าที่ควร และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมพวกเขาไม่ค่อยชอบอ่าน ไม่ชอบฟัง ไม่ชอบเรียนรู้ ส่วนหนึ่งก็เพราะครูสอนและวัดผลแบบท่องจำที่น่าเบื่อ และไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของพวกเขา นี่ไม่ใช่ปัญหาการศึกษาล้วนๆ แต่เป็นปัญหาแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และกรอบคิดค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนและยกย่องคนเรียนจบมหาวิทยาลัยมากเกินไป ในขณะที่ประเทศอื่นคนที่เรียนอาชีวศึกษามีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนและความก้าวหน้าในอาชีพการงานไม่ต่างจากคนจบปริญญา

ค่านิยมคนไทยยุคปัจจุบันยังยกย่องการหาเงิน การเอาชนะแบบแพ้คัดออกมากไป ทำให้เยาวชนไทยส่วนใหญ่อยากได้ปริญญามากกว่าการเรียนรู้ แข่งขันกับเพื่อนมากกว่าจะแข่งขันกับตัวเอง (ทำให้ตัวเองพัฒนาขึ้น) และเพาะนิสัยเห็นแก่ตัวมากกว่าการจะพัฒนาจิตสำนึกความเข้าใจเรื่องคนเราต้องพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องทำงานเป็นทีม เป็นสังคมส่วนรวมถึงจะพัฒนาได้

เด็กและเยาวชนไทยส่วนน้อยที่เก่งกาจทางวิชาการก็มี แต่พวกเขาจะมีปัญหาความเครียดและการคิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเองมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน แม้ประเทศไทยจะมีการขยายการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย มีคนจบปริญญาที่มีชุดความรู้และทักษะบางอย่างเพิ่มขึ้นมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาให้ฉลาดและมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพียงพอที่จะไปแก้ปัญหาระดับประเทศที่นับวันจะยิ่งสะสม ยิ่งยากลำบากขึ้นได้

ic"ระบบแอดมิสชั่น" ต้องสอบแบบอัตนัยจึงจะใหม่อย่างแท้จริง

ณะนี้กำลังมีข้อเสนอใหม่ให้เปลี่ยนจากระบบสอบเอ็นทรานซ์เป็นระบบกลางรับนักศึกษาโดยตรง (Admission System) โดยเปลี่ยนวิธีการวัดผลจากการสอบเอ็นทรานซ์แบบเก่า เป็นการวัดโดยใช้ผลหลายอย่างเพิ่มเติมขึ้นมา คือการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติในสาขาวิชาหลัก และการสอบวัดความถนัดในการเรียน (SAT) ซึ่งในแง่ทฤษฎีน่าจะมีประสิทธิภาพในการคัดเลือกคนได้เหมาะสมมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติยังขึ้นอยู่กับการออกข้อสอบว่า ถ้ายังคงเป็นปรนัยแบบท่องจำได้ กวดวิชาได้ ก็ยิ่งทำให้เด็กเครียดมากขึ้นอยู่ดี และถึงอย่างไรก็ไม่เกิดความเป็นธรรมสำหรับเด็กต่างจังหวัดและเด็กยากจน

ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ คนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐไม่ได้ก็ได้ผลกระทบทางลบคือ เป็นปมด้อยคิดว่าตนเองโง่ ไม่มีทางที่จะเรียนได้ คน(ที่ถูกระบบสังคมทำให้)คิดแบบนี้ ถึงจะได้ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยเปิดก็มักจะไปไม่ได้ไกล จำนวนมากจะออกกลางคันและไม่สนใจจะอ่าน ไม่สนใจจะเรียนรู้ หรืออ่านไม่เป็น เรียนรู้ไม่เป็นไปตลอดชีวิต นี่คือความล้มเหลวและการสูญเสียอย่างมหาศาล

icต้องแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่วิธีการสอบเข้า

หนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงปฎิรูปทั้งครู การเรียนการสอน การวัดผลและวิธีการรับคนเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ทั้งระบบ การแก้ปัญหาทางเทคนิคการสอบ เปลี่ยนจากระบบสอบเอ็นทรานซ์มาเป็นระบบแอดมิสชั่นไม่อาจจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
สิ่งที่ควรทำโดยเร่งด่วน

  1. ต้องสร้างการศึกษาอาชีวะ ในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษา รวมทั้งวิทยาลัยชุมชน หลักสูตรอนุปริญญา เพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ให้คนที่จบไปมีคุณภาพมีงานทำชนิดที่มีรายได้ใกล้เคียงกับคนจบมหาวิทยาลัย และเมื่อไปทำงานแล้วสักพักสามารถสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยโดยมีโควต้าให้ หรือได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมได้ตลอดชีวิต เยาวชนจะได้มีทางเลือกในการศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกคนไป เช่น วิทยาลัยโพลิเทคนิคในต่างประเทศก็เป็นที่นิยมและสร้างคนได้พอๆ กับมหาวิทยาลัย

    เปลี่ยนจากระบบสอบเอ็นทรานซ์ เป็นมหาวิทยาลัยเปิดรับเองโดยตรง โดยวัดจากใบสมัคร คะแนนเรียนเดิม ประวัติแฟ้มสะสมผลงาน การเขียนเรียงความ การทดสอบความถนัด การสัมภาษณ์ นั่นก็คือวัดความสามารถในการเรียนรู้ต่อ ความสนใจ ความถนัด แรงจูงใจอยากเรียน มากกว่าวัดแบบสอบปรนัยที่อาศัยการท่องจำและการกวดวิชา การเปิดรับเองแบบนี้หลายคนกลัวจะยุ่งยาก แต่ความจริงแล้วทำได้แต่ต้องพัฒนาให้มีครูแนะแนวที่ดี และมหาวิทยาลัยก็ต้องมีเกณฑ์เบื้องต้นพอสมควรที่จะคัดเลือกจำนวนผู้สมัคร (สมัครทางไปรษณีย์หรืออินเทอร์เน็ตได้) ให้เหลือจำนวนลดลง จะได้คัดเลือกคนอย่างละเอียดได้ ไม่ใช่ว่าให้ทุกคนแห่เดินทางไปสมัครสอบทุกมหาวิทยาลัย
  2. มหาวิทยาลัยควรขยายจำนวนที่รับนักศึกษาปีแรกเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการเรียนสาขาวิชาที่ตนต้องการได้เรียนอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น หากใครเกิดเรียนไม่ได้จริงๆ ก็ขอย้ายไปคณะอื่น สถาบันอื่นโดยเทียบโอนวิชาได้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยอาจเปิดภาคพิเศษ สอนทางไกล/ทางอินเทอร์เน็ต รับอาจารย์บางเวลาจากคนภายนอก ให้อาจารย์ที่ทำงานเพิ่ม มีรายได้เพิ่ม แทนที่อาจารย์มหาวิทยาลัยปิดของรัฐจะต้องวิ่งรอกไปสอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยเอกชน หรือหารายได้เสริมทางอื่น

    มหาวิทยาลัยปิดของรัฐควรมีโควต้ารับคนที่ทำงานมีประสบการณ์แล้ว อายุ 25 ปีขึ้นไป กลับมาสมัครเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ได้สัก 10-20% จะช่วยลดความเครียดของเยาวชนจากระบบสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยแบบแพ้คัดออก ซึ่งเหมือนกับการแข่งขันครั้งใหญ่ครั้งเดียวในชีวิตได้ ทางมหาวิทยาลัยก็จะได้มีคนที่มีวุฒิภาวะตั้งใจเรียนเข้ามาเรียนร่วมด้วยมากขึ้น ได้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นประโยชน์มากกว่าแค่การรับเด็กอายุ 17-18 ปี ที่ยังมีนิสัย มีวุฒิภาวะแบบเด็กประถมมาทั้งร้อยเปอร์เซนต์ หากเปลี่ยนตรงนี้ได้รวมทั้งการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับประถม มัธยมด้วย จะทำให้การละเล่นรับน้องใหม่ และกิจกรรมที่ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระของนิสิตนักศึกษา ซึ่งคิดอย่างอื่นกันไม่ค่อยเป็นได้ลดลงไป และการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยจะมีคุณภาพเพิ่มขึ้น
  3. ต้องปฏิรูประบบราชการและเอกชนในเรื่อง การรับคนเข้าทำงาน การพิจารณาเงินเดือนโดยเน้นเรื่องประสบการณ์และความสามารถเฉพาะตัวมากกว่าปริญญา รณรงค์เปลี่ยนค่านิยมเรื่องยกย่องปริญญา เป็นการยกย่อง (และให้ผลตอบแทน) คนมีความรู้ทักษะจริง มีผลงานจริงมากขึ้น เพราะเวลานี้คุณภาพของคนจบปริญญาตรีส่วนใหญ่ก็อ่อนมาก เพราะการเรียนการสอนแบบท่องจำตามตำรา นอกจากนี้ ทั้งรัฐและเอกชนก็ควรส่งเสริมพัฒนาเรื่องการศึกษาอบรมในสถานที่ทำงาน การฝึกงาน การฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยอย่างหลากหลายมีคุณภาพที่ใช้งานได้จริงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในสถาบันอุดมศึกษาเองต้องใจกว้างรับเทียบโอนวิชา รับโอนย้ายหรือรับให้คนที่อยากเรียนให้เข้าเรียนได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น ประชาชนจะได้มีโอกาสพัฒนาได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องเครียดแย่งกันสอบเข้ามหาวิทยาลัยตอนจบมัธยมปลายมากเกินไป
  4. รณรงค์ให้ทุกคนในประเทศรักการอ่าน รักการใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีโอกาสที่จะได้อ่าน ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ตลอดชีวิตโดยเสียค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก มีห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ โรงเรียนแบบเปิด มหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยสอนทางอินเทอร์เน็ต ฯลฯ สถาบันการศึกษาควรเปิดรับคนอย่างกว้างขวางและยืดหยุ่น ใครนึกอยากเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงไหนของชีวิตก็ไปสมัครเข้าได้ จะช่วยให้คนไทยทั้งประเทศมีโอกาสเรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น และได้ความรู้จริงมากกว่าแค่ระบบการสอนให้เด็กเยาวชนท่องจำไปสอบอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่

    ประเด็นที่สำคัญข้อหนึ่งคือ หากมหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบสอบคัดเลือกจากปรนัยล้วนๆ เป็นการสอบแบบการเขียนเรียงความ การสอบอัตนัยให้นักเรียนต้องตอบแบบคิดวิเคราะห์หรือผสมการสอบปรนัย การทำแบบฝึกหัดที่ฉลาดแบบที่ต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าการท่องจำ และการสอบสัมภาษณ์ สอบเชาว์ไหวพริบจะมีผลในทางผลักดันให้โรงเรียนทั้งชั้นประถม มัธยม ต้องปฏิรูปการเรียนการสอนใหม่ให้นักเรียนคิดวิเคราะห์เป็นด้วย เพราะไม่อย่างนั้นลูกศิษย์ของตนก็จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้

หากนักเรียน นักศึกษาเริ่มฉลาด อ่านหนังสือมากขึ้น คิดและซักถามครู อาจารย์มากขึ้น พวกเขาก็จะผลักดันให้ครู อาจารย์ต้องอ่านหนังสือ ค้นคว้า ทำวิจัยมากยิ่งขึ้น และสอนอะไรที่ฉลาดขึ้นกว่าในปัจจุบัน นี่คือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์หลายคนยังจับประเด็นไม่ได้ เนื่องจากพวกเขาก็คิดวิเคราะห์ไม่เป็น! (เหมือนกันหรือเปล่า?)