foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

1 อำเภอ 1 โรงเรียน การปฏิรูป ความฝัน หรือความจริงอันเจ็บปวด?

มื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 เมษายน 2546) คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับแนวคิดของนายกฯทักษิณ ชินวัตร ให้จัดตั้ง "โรงเรียนในฝัน" ขึ้นทั่วประเทศ 795 โรงเรียน ผ่านโครงการที่ชื่อ "1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน" ของกระทรวงศึกษาธิการ เป้าหมายหลักของโรงเรียนในฝันก็เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในชนบททุกอำเภอได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้ปกครองที่มุ่งหวังจะส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่

โครงการดีแต่จะทำได้แค่ไหนยังไม่ทราบ เพราะโครงการจะสำเร็จได้หรือไม่อยู่ที่การปฏิบัติของระดับล่าง ผู้บริหารโรงเรียน ครู-อาจารย์ ชุมชนต้องช่วยกัน ระเบียบปฏิบัติบางอย่างที่พันธนาการอยู่จะต้องถูกปลดออกก่อน และที่สำคัญต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนให้ได้ว่า สิ่งที่กำลังจะทำนี้จะเกิดผลได้จริง เพราะโรงเรียนดังไม่ได้เกิดจากการทุ่มเทงบประมาณเข้าใส่ แต่เกิดจากการสั่งสมมานานด้วยผลสัมฤทธิ์ที่พิสูจน์ได้

นโยบายการรับนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือ พันธนาการที่ต้องแก้ไขก่อน ยุทธการฝากเด็กเข้าเรียนที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ จะมาแก้ด้วยการออกคำสั่งห้ามรับบริจาคไม่มีทางเป็นไปได้ ต้องเข้าใจความสำคัญของ Demand - Supply กันก่อนว่ามันมีปฐมเหตุจากอะไร ทำไมถึงได้มีการร้องเรียนกันมากมาย โรงเรียนเรียกร้องเงินบริจาคจริงหรือผู้ปกครองประมูลกันเอง? ผมในฐานะคนที่อยู่ในระดับล่าง คนปฏิบัติ เห็นอยู่ทุกปี บางปีก็เข้าไปนั่งอยู่ระหว่างกลางวงนั่นด้วย ก็อยากจะบอกท่านทั้งหลายว่า

  1. ปัญหาแบ่งเขตพื้นที่ ปัญหาของใคร? คนในเมืองหลวงหรือชนบท ถ้าเมืองหลวงแล้วชนบทเกี่ยวข้องอะไร ทำไมต้องจำกัดเขตด้วย ระยะทางในต่างจังหวัด 100 กิโลเมตรเดินทางได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อเทียบระยะของเมืองหลวงแค่ 5 กิโลเมตร การแบ่งเขตทำให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง?
                ปัญหาเช่าทะเบียนบ้านเพื่อเป็นเจ้าบ้าน 2 ปี ด้วยค่าเช่าเท่าที่สำรวจพบคือ 50,000 บาทต่อ 2 ปี หรืออาจมากกว่า แล้วแต่ความดังของโรงเรียนละแวกนั้น เพื่อให้ได้สิทธิในการเป็นเด็กเขตพื้นที่หรือบ้านใกล้ ได้สิทธิเข้าเรียนเลยหรือได้จับสลาก ถ้าพลาดก็ยังเหลือสอบอีกรอบ แล้วปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน?
                ปัญหาอยู่ที่คนอยู่ในพื้นที่ตัวจริงเขาไม่ยอมรับ เขาเกิดที่นั่น เรียนในโรงเรียนละแวกนั้น แต่ตอนประกาศผลนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือก ปรากฏว่า นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกมีโรงเรียนเดิมจบมาจากไหนไม่รู้ ข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า พ่อแม่ที่รักลูกจะกระเตงลูกไปเรียนที่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัดในระดับประถมศึกษา ด้วยสาเหตุพ่อแม่ไปทำงานที่นั่น
                วิธีแก้ปัญหา ยกเลิกการแบ่งเขตพื้นที่ไปเลยถ้าทำได้ ถ้าไม่อยากเลิก ทางออกจะต้องกำหนดทางเลือกให้โรงเรียน "พิจารณาจากหลักฐานอื่นประกอบ" เช่น การสำรวจความเป็นจริงจากการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ปกครอง การชำระภาษีอากร (โดยเฉพาะการเก็บภาษีการศึกษาที่เคยบ่นไปหลายรอบแล้ว) หลักฐานการจบการศึกษาต้องอยู่ในโรงเรียนในเขตพื้นที่หรือใกล้เคียง จากพยานบุคคลที่โรงเรียนยอมรับและเชื่อถือได้ หากตรวจสอบพบว่าเป็นการย้ายโอนเพื่อรับสิทธิต้องมีบทลงโทษด้วยการมีโทษปรับภาษีการศึกษาจำนวนกี่เท่า (ก็กำหนดลงไป) ทั้งผู้ย้ายเข้ามารับสิทธิและผู้ยินยอมให้ใช้สิทธิ (เจ้าของบ้านตัวจริง)

  2. ยกเลิกวิธีการจับสลาก นี่เรากำลังจะสอนให้เด็กมีความคิดว่า สิทธิหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือสิ่งของต่างๆ จะต้องได้ด้วยการเสี่ยงดวงตั้งแต่อนุบาล ประถมและมัธยม อย่างนั้นหรือ? (ยังคงเหลือมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ให้จับสลาก) เรากำลังปลูกฝังอะไรให้เขา การคัดเลือกในวิถีทางธรรมชาติ จะต้องเป็นการคัดเลือกเพราะความโดดเด่นในสายพันธุ์ การเอาชนะความแห้งแล้ง ภูมิอากาศ อุณหภูมิ จึงจะงอกและแตกหน่อเป็นต้นใหญ่
                การศึกษาก็น่าจะมีวิธีการคัดเลือกด้วยวิธีการนั้น นั่นคือการผ่านการคัดกรองด้วยวิธีที่ยุติธรรม และจากความสามารถของเขา (ไม่ใช่การเสี่ยงดวงมา) ผลจากการทำสำรวจในสองปีการศึกษาที่ผ่านมา จากจำนวนผู้ปกครองนักเรียนที่มาสมัครเข้าเรียน ม. 1 ในโรงเรียนที่ผมทำงานอยู่พบว่า ร้อยละ 90 ต้องการให้ใช้วิธีการสอบเข้าเรียนต่อในอัตราส่วน พื้นที่บริการ : พื้นที่ทั่วไป = 30 : 70

  3. ปัญหาการฝากเด็กที่เข้าเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี นี่คือปัญหาหนักอกที่โรงเรียนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทำไมหรือ? บอกได้เลยว่าเด็กฝากประมาณร้อยละ 40 เป็นเด็กในพื้นที่ที่จับสลากไม่ได้ สอบได้คะแนนต่ำไม่อยู่ในจำนวนที่จะรับ เขาต้องการเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรม อีกร้อยละ 60 คือที่อยู่นอกเขตพื้นที่ สอบได้คะแนนดีแต่อยู่ต่ำกว่าจำนวนรับ และที่พ่อแม่ผู้ปกครองวาดหวังจะให้ลูกได้รับโอกาสดีๆ จึงต้องแข่งขันกันฝากเข้ามา
                การฝากก็มีระบบฝากจากบรรดาหัวคะแนนนักการเมือง จากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่จะสามารถให้คุณให้โทษกับผู้บริหารโรงเรียนได้ (คงไม่ต้องระบุนะครับ) ด้วยนามบัตร บันทึกข้อความ ตลอดจนหนังสือสั่งการลงนามกันแบบลายมือสดๆ ผู้ปกครองถือมาแล้วยังสำทับด้วยแฟกซ์มาอีก ไม่พอโทรศัพท์แย็บผู้บริหารจนจะน็อคคาโทรศัพท์ไปเลยก็มี (แต่เวลาพูดออกหน้ากล้องต่อหน้านักข่าวก็ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันจะเอาผิดผู้บริหารโรงเรียน)
                ที่ไม่มีกำลังหนุนหลังแบบนั้นก็ต้องใช้วิธีเสนอบริจาคเข้าไป พูดกันตรงๆ ฝากกันเป็นพันคน รับได้แค่ร้อยจะให้เลือกอะไร เอาผู้มีอำนาจไว้เพื่อความสบายใจ แล้วชาวบ้านจะพิจารณาจากอะไรถ้าไม่ใช่เงิน เพราะตอนนี้โรงเรียนแต่ละแห่งได้รับการจัดสรรงบประมาณมาน้อยนิด น้อยยังไม่เท่าไหร่ แต่จ่ายช้านี่ซิลำบากมาก งบประมาณภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545 ที่ผ่านมาพึ่งได้รับแค่ 40% โรงเรียนต้องบริหารด้วยการเป็นหนี้ค่าวัสดุ ค่ากระดาษสอบ ค่าน้ำ ค่าไฟจนทุกวันนี้ ถ้าไม่เชื่อผมลองไปอ่านในเว็บบอร์ดกรมสามัญศึกษาดู แล้วผู้บริหารระดับสูงจะหูตาสว่างว่า ครูน้อยผู้ปฏิบัติเขาอึดอัดใจเพียงไร?

ที่ว่ามายืดยาวนั่นก็เพราะจะเกี่ยวพันกับโรงเรียนในฝัน จริงๆ โครงการสวยหรูฝันกลางวันใต้ร่มมะม่วงเดือนเมษายนหน้าโรงเรียน เมื่อกิ่งไม้หักลงข้างๆ สะดุ้งตื่นแล้วจะรู้ความจริงว่า ฝันไป ถ้าแก้ปัญหาข้างต้นได้เรื่องโรงเรียนในฝันก็ทำได้ อย่างเตรียมอุดมศึกษาเปิดสอบคัดเลือกเข้าเรียน ผู้ปกครองส่งลูกหลานไปสอบ เมื่อสอบไม่ได้เขาก็กลับไปที่ตั้งเดิมไม่ได้โวยวายอะไร เพราะยอมรับในความสามารถของลูกตัวเอง แต่ถ้าเตรียมอุดมเปิดให้จับสลากเมื่อไหร่ ผมก็จะไม่ยอมเหมือนกัน ถ้าลูกเข้าเรียนไม่ได้ เพราะผมยังเชื่อมั่นว่าลูกผมต้องแข่งขันอย่างยุติธรรมได้            

อีกเรื่องหนึ่งคือ โรงเรียนกวดวิชาจำเป็นหรือไม่? อันนี้หยิบประเด็นมาจากคำถามของผู้ปกครองนักเรียนที่ถามมาว่า หลักสูตรของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนนี้ไม่เพียงพอที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือ? จึงสู้โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้ บางแห่งขนาดเปิดให้จองที่เรียนเพียงไม่ถึงสามนาทีเต็มแล้ว อือม์จะตอบอย่างไรดี?

ล้ววันนี้เราก็ยังคงถกกันอยู่ในเรื่องเดิม การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะไปทางไหนดี? ทำตามความคาดหวังของนักคิดที่วาดฝันถึงความสำเร็จ รุ่งโรจน์ ของเยาวชนในอนาคตข้างหน้า หรือจะทำตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ที่ยังคำนึงถึงการเดินทางสู่ตักศิลามหาวิทยาลัย

ผมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อหลายวันก่อนก็ปลงครับ ขอลอกคำพูดของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง มาให้อ่านเลย "ผมรู้สึกเป็นห่วงว่าถ้าไม่ดูแลให้ดี หลักสูตรยังไม่ชัดเจน ผู้สอนไม่เข้าใจ ความหวังในการปฏิรูปเด็กคงทำได้ยาก ทั้งหลักสูตรขั้นพื้นฐานจะต้องสัมพันธ์กับการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วย โดยต้องปรับระบบการคัดเลือกหรือระบบเอ็นทรานซ์ เพราะหากไม่ปรับระบบเอ็นทรานซ์ เมื่อเด็กเรียนถึง ม.5 ม.6 ก็จะกลับไปเรียนแบบเดิม คือเน้นเนื้อหาวิชาเพื่อจะได้ทำข้อสอบของทบวงมหาวิทยาลัยได้ ส่วนฝ่ายอุดมศึกษาก็เป็นห่วงว่า ในหลักสูตรใหม่ไม่ปรากฏวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ว่าจะดูผลการเรียนวิชาเหล่านี้จากที่ใด"

นายจาตุรนต์กล่าวและว่า "เรื่องการเอ็นทรานซ์ จะต้องให้ระดับอุดมศึกษาและขั้นพื้นฐานมาหารือร่วมกันอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อ มหาวิทยาลัย เป็นไปตามความต้องการของระดับอุดมศึกษาฝ่ายเดียว"

ผลที่ตามมาก็คือ ครูจะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาตามที่คาดหวังได้เลย ถ้าฝ่ายตักศิลาไม่ยอมนั่งลงจับเข่าคุยกันในเป้าหมายให้เป็นที่ตกลงในจุดหมายปลายทางได้

ขอบ่นอย่างนี้นะครับ ตอนนี้หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการโดยท่านนักวิชาการทั้งหลายได้วางไว้เพื่อให้นักเรียนเรียนดีมีสุข คิดเป็น แก้ปัญหาได้นี่ รู้สึกว่าจะเดินเป็นเส้นขนานกับความต้องการในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่สำนักตักศิลาอยู่ครับ ถ้าอ่านความเห็นของท่านจาตุรนต์ข้างบนนั่นก็คงจะมองออก แอดมิสชั่นที่จะรับนักเรียนในปี 2549 เข้ามหาวิทยาลัยยังห่างไกลความฝันการปฏิรูปอยู่มากโข ลองไปอ่านจากที่นี่น่าจะมีคำตอบได้ครับ

ครูมนตรี     
บันทึกไว้เมื่อ : 26 เมษายน 2546
 
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy