webmaster talk

แล้วเราก็ต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่ บนที่เก่า...

หลังจากการนำร่องของโรงเรียนแกนนำปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หนูตะเภารุ่นที่ 1) ได้งุมมะงาหราควานหาแก่นกันมาจนเข้าภาคเรียนที่ 2 ก็บังเกิดผลขึ้นแล้วครับว่าเดินผิดทางแน่นอน ต้องกลับไปตั้งหลักกันใหม่อีกรอบเพราะไม่เชื่อนักวิชาการ (เกินพอดี) อย่างพวกผมว่าเราน่าจะทำผิดพลาดกันแล้ว ผมเคยบ่นในที่นี้มาหลายรอบแล้ว

เพราะเราไม่มีแก่นยึดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนประเทศชาติต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่การศึกษาของเรากลับไปให้ต่างคนต่างทำเหมือนกับไปตั้งสำนักกันเอาเอง (นี่จะเพราะพวกเรานี่แหละที่เคยบ่นกันว่า ใครไม่รู้จัดทำหลักสูตร แล้วให้เรามาสอนไม่ตรงความต้องการเลย) ก็เลยได้ทำหลักสูตรกันเองจริงๆ ร้อยพ่อพันแม่ ใครถนัดทางไหนก็หามาใส่ ตรงนี้ไม่มีครูสอนเอาออกไป หรือไม่ก็ไปหาอ่านเอาเอง

คงไม่ต้องมีมาตรวัดอะไรเลยก็หลับตาชี้ชัดลงไปได้เลยว่า มั่วยิ่งกว่าแกงโฮะของนายกทักษิณอีก ปัญหามีอยู่เป็นพื้นฐานตั้งแต่การทำที่ไม่เข้าใจแน่ชัดว่า เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ต้องการอะไร? การสร้างแม่ไก่ที่กลายเป็นแม่ปู ที่ผมเคยบ่นไว้ และที่สำคัญคือขาดหลักยึดหรือแกนกลางของหลักสูตร เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมายนั้น แล้วผลสรุปก็ออกมาแน่นอนแล้วว่า จะต้องมีการจัดทำหลักสูตรแกนกลาง (ปริมาณ 70%) เพื่อให้แต่ละถิ่นที่เสริมหลักสูตรท้องถิ่นเข้าไปให้เต็มร้อย เรียกกันว่าอัตราส่วนหลักสูตรกลาง/ท้องถิ่นเป็น 70 : 30 ขออ้างเชิงสถิติจากการสำรวจของ สกศ. ที่น่าสนใจพบว่า ในโรงเรียนนำร่องจำนวน 231 โรง

  • ครูร้อยละ 61 มีความเข้าใจการจัดทำสาระหลักสูตรในระดับปานกลาง ร้อยละ 22 เข้าใจมาก และร้อยละ 17 เข้าใจน้อย
  • ส่วนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของครู มาเป็นการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น พบว่ายังมีจำนวนน้อย มีประมาณ 1 แสนคน หรือคิดเป็น 17% ของครูทั้งหมด 6 แสนคน โดยที่ส่วนใหญ่ยังสอนแบบเดิม

อย่าพึ่งท้อนะครับ ที่ผมออกมาแสดงความคิดเห็นนี่ไม่ได้มาซ้ำเติมใคร แต่มาให้กำลังใจทุกท่านโดยเฉพาะโรงเรียนแกนนำทั้งหลายนั่นท่านต้องเป็นหลักให้กับโรงเรียนน้องๆ ที่จะเริ่มทำ/ใช้หลักสูตรในภาคเรียนที่จะถึงนี้ เรายังมีเวลาปรับปรุงอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น ในทัศนะของผมเพื่อให้การดำเนินการครั้งนี้บังเกิดผล ทางส่วนกลางจะต้องเร่งทำแกนกลางออกมาให้เร็วที่สุด มีความเคลื่อนไหวอย่างไรจะรีบนำมาเสนออีกครั้งครับ ผมก็ยังมึนตึ๊บอยู่เลย!!!

"จากผลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนยังมีความกังวลในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งยังเข้าใจไม่ตรงกัน และจากการจัดฝึกอบรมครูที่ทำหลักสูตรนี้ ก็ยังพบว่า ครูจำนวนมากทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทาง กระทรวงศึกษาธิการได้หาทางแก้ไขแล้ว โดยจะออกประกาศเรื่อง การกำหนดรายละเอียดสาระการเรียนรู้แกนกลาง ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 เพื่อสร้างความชัดเจนขึ้น" ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสิริกร มณีรินทร์) กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว

elearning 03

การเตรียมความพร้อมสู่โลกการศึกษายุค e-Learning

ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ เป็นการรวบรวมมาจากการติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ครับ ทั้งทางหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนเพื่อนครูของเราให้ก้าวไปข้างหน้า (เพื่อนอยู่ข้างๆ แซวครับ "ครูส่วนใหญ่ไม่รู้จักเว็บไซต์ครูมนตรี แล้วใครจะบอก (ว่ะ!) ให้รู้นะ") ก็คงขอร้องเพื่อนครูที่เข้ามาสัมผัสเว็บไซต์แห่งนี้แหละครับ ช่วยกันป่าวประกาศหน่อย ถ้าใครไม่ก้าวไปข้างหน้าตกยุคจริงๆ นะจะบอกให้ ครูทุกคนต้องใช้เครื่องมือสื่อสารเป็น เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน เป็นครูสมัยใหม่ใช้ ICT ช่วยการสอนกัน ICT คืออะไร? น่าน!... ครูข้างๆ ผมนี่แหละถามขึ้นมา (คงไม่ใช่ไอแค๊กๆ นะ) ถ้าไม่ขยายความต่อเห็นทีจะขายหน้าแน่นอนครับท่าน

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies - ICT) นี่คือความหมายจริงๆ มีคำถามตามมาติดๆ อีกว่า เราต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการจัดการเรียนการสอนใช่ไหม? คำตอบคือ ใช่และไม่ใช่ครับ ครูมนตรีพูดน่า...ชะมัดเลย ก็จริงๆ เป็นอย่างนั้นครับ ICT มีการนำมาใช้ในการศึกษานานมาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตโน่น ที่เราเรียกกันว่า โสตทัศนูปกรณ์ นั่นไง ไม่ว่าจะเป็นของจริง ของจำลอง แผนที่ แผนภูมิ วิทยุ โทรทัศน์ มาจนถึงยุควิดีทัศน์ วีซีดี และปัจจุบันที่เราจะนึกถึงก่อนสื่ออื่นๆ คือ อินเทอร์เน็ต ครับ

พอได้คำตอบเพื่อนๆ ผมก็เลยได้ทีเสริมขึ้นมาทันที "เราไม่ตกยุคนี่นา ใช้อยู่เมื่อวานใช้แผนที่สอนนักเรียนอยู่เลย ฮ่าๆๆ" ครับทันสมัยมากกว่า Talk and Chalk "มือซ้ายจับหนังสือ มือขวาถือชอล์ก ถ้าไม่เขียนตามคำบอก ก็ให้ลอกจากกระดานดำ" จริงๆ แต่เราจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้แล้วครับ เมื่อลูกหลานเราใช้การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งการท่องเว็บ คุย (ภาษาวัยรุ่นต้อง แชท (Chat)) ข้ามโลก ส่งอีเมล์หาเพื่อนต่างแดน แต่ครูไทยจะรู้จักแต่อีแมวที่บ้าน (ด่าเก่งอีกต่างหาก) ไม่ได้แล้วต้องตามให้ทัน ส่งการบ้านทางอินเทอร์เน็ตกันได้แล้วครับคุณครู

จุดประสงค์หลักๆ ของการใช้สื่อหรือ ICT ในทางการศึกษานั้นไม่ได้ต้องการให้สื่อสอนแทนครู แต่ต้องการใช้เสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ เพราะวิทยาการก้าวหน้าเร็วมาก การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางจากแหล่งข้อมูลหลายๆ แหล่งย่อมเป็นผลดี คนที่เรียนอ่อนเรียนไม่ทันเพื่อนจะได้เรียนเสริมเพิ่มเติมในภายหลัง เรียกว่า ไม่ว่าเป็นใคร จะเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้ตามเวลาและโอกาสที่มี ขอนำความฝันของกระทรวงศึกษาธิการมาให้คุณครูทุกท่านได้ทราบกันดังนี้ครับ

  • สถานศึกษาทุกแห่งสามารถเข้าถึงและใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการจัดการเรียนการสอน
            ระดับมัธยมศึกษา ภายในปี 2546
            ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 80 ภายในปี 2547 และทั้งหมดภายในปี 2549
            เพิ่มประสิทธิภาพระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา
  • สถานศึกษามีห้องปฏิบัติการ Information Communication Technology (ICT) เพื่อการเรียนรู้
            ระดับประถมศึกษา อย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง
            ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อย่างน้อยแห่งละ 1 ห้อง
  • พัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ Courseware
            e-Book ปีละ 1,000 เล่ม
            e-Library ทุกเขตพื้นที่การศึกษา
            สถานศึกษาและหน่วยงานมี Website เพื่อการบริการและเรียนรู้
            สื่ออิเล็คทรอนิกส์ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
            ศูนย์รวมสื่อ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
  • หน่วยงานทางการศึกษาทุกแห่งใช้ ICT ในการบริหารจัดการและมีศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับ e-Government
  • ผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน มีความรู้ มีทักษะการใช้ ICT ในการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการและปฏิบัติงานตามมาตรฐานทักษะ ICT ที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนให้ได้ คราวหน้าค่อยคุยกันเรื่อง แนวทางการพัฒนาครู ต่อครับ...

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 27 มกราคม 2546