webmaster talk

สวัสดีปีใหม่ 2546

ขอลาทีปีเก่า เพื่อต้อนรับศักราชใหม่ 2546 เป็นการล่วงหน้าครับ เพราะจะขอหยุดพักสักหลายๆ วันในช่วงหยุดยาวนี้ พักผ่อนตอนสิ้นปีครับ คงไม่ได้ไปไหนขออยู่พักที่บ้านนี่แหละครับ ขอให้ทุกท่านสุขีมีโชคดีรับปีใหม่ พ้นภัยเศรษฐกิจกันโดยถ้วนหน้าครับ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคาพยาธิและอุบัติภัยทั้งหลายด้วยเทอญ...

คราวก่อนว่าจะส่งท้ายปีด้วยบทความเรื่อง การปฏิรูปการศึกษาเราเดินมาถูกทางกันหรือยัง? หรือเราจะเดินไปทางไหนดี? วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2545 แล้วอดคันไม้คันมืออยากจะพูด (เขียน) อีกไม่ได้ครับ เพราะเรื่องที่ว่านี่มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่บ่นไปเมื่อคราวก่อนพอดีเลยเชียว ทำให้ต้องอัพเดทในวันนี้แหละครับ...

พาดหัวข่าวกรอบเล็กมุมซ้ายล่าง " 'แม้ว' มึนเอนทรานซ์สูตรเหมือน'แกงโฮะ' หนุนเลียนแบบมะกัน" นายกฯ สวนปลัดทบวงมหาวิทยาลัยกลางที่ประชุม "หลักสูตรใหม่ เด็กไทยพัฒนา : หัวใจของปฏิรูปการศึกษา" เอ็นทรานส์แบบใหม่ 'แอดมิสชั่นส์' เหมือนแกงโฮะ อยากได้ระบบเหมือนอเมริกา จี้ ศธ. เน้นสอนเลข-อังกฤษเข้มข้น ให้ลดค่านิยมฮิตสถาบันมีชื่อเสียง

แอดมิสชั่นส์ (Admissions) คือระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยจะนำมาใช้แทนระบบสอบเอนทรานซ์ปัจจุบัน ในปีการศึกษา 2549 เป็นต้นไป ซึ่งจะสอดรับกับการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ที่จะเริ่มทยอยใช้จริงในปีการศึกษาหน้า (2546) ระบบเอนทรานซ์ใหม่เป็นอย่างไร? ท่านนายกฯ ถึงได้ระบุเป็นแกงโฮะ...

ระบบแอดมิสชั่นส์ นี้จะประกอบด้วยคะแนนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย (GPA/PR) รวมค่าน้ำหนักการพิจารณา 10% ผลสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติหรือ National Test ไม่ต่ำกว่า 20% คะแนนสอบวัดความถนัดทางการเรียนหรือ SAT และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นำมารวมประกอบการพิจารณารับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

นี่คือสาเหตุที่ท่านนายกรัฐมนตรีถึงกับทะลุกลางปล้องในขณะที่ปลัดทบวงฯ กำลังชี้แจง ว่า "ฟังแล้วเวียนหัว เด็กจะตายเร็วขึ้น เราต้องการลดภาระการสอบ แต่กลับเอาหลายอย่างมารวมกัน จะทำให้เด็กจะต้องกวดวิชามากขึ้น ระบบเก่าว่าแย่แล้ว ระบบใหม่แย่ยิ่งกว่า เพราะมันไม่ช่วยแก้ปัญหากวดวิชาเลย"

ไม่ว่าท่านนายกฯ ทักษิณ จะเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดก็ตาม แต่เสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้านที่ลูกกำลังเรียน ม.4 ในปีนี้ในโรงเรียนนำร่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหลายกำลังว้าวุ่นใจครับดังที่ผมบ่นไปในคราวก่อน จนถึงวันนี้ทิศทางนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากผมถึงอยากให้ท่านทั้งหลายฟันธงกันได้แล้วว่าจะเอายังไงกัน ผมเป็นครูน้อยก็ตอบปัญหาให้ความกระจ่างผู้ปกครองไม่ได้อยู่ดี

แม้ว่าท่านปลัดทบวงจะรีบชี้แจงว่า ระบบเอนทรานซ์ใหม่นี้จะไม่ได้มีการสอบมากขึ้น เพราะ National Test เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนใน 8 กลุ่มสาระวิชาอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการประเมินผลการเรียน จึงไม่น่าห่วงจะมีการกวดวิชามากขึ้น (การกวดวิชาเป็นเพียงกลุ่มของเด็กในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น)

ผมจะมองต่างมุมตรงเรื่องกวดวิชาเล็กน้อยนะครับ ขนาดหลักสูตรกลางตัวเดียวกันทั่วประเทศยังกวดวิชามากมายขนาดนี้ แล้วนี่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต่างคนต่างทำ เน้นกันไปตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของแต่ละท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกันแน่ๆ ยิ่งต้องกวดวิชา กวดให้หนักเพื่อให้ผ่านข้อสอบกลางระดับชาติ (เชื่อผมเหอะ) ที่แน่ๆ ก็คือ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละที่นั้นออกแบบมาให้เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง (โรงเรียน) เพราะแต่ละแห่งนั้นมีทรัพยากรทางการศึกษาที่แตกต่างกัน ทั้งอัตรากำลังครูที่ขาดแคลนในสาขาวิชาหลักๆ สื่อการเรียนการสอนที่ขาดแคลนหรือล้าสมัยจนน่าเวทนา (ครูเราเมื่อไหร่จะเลิกผักชีโรยหน้าเวลาผู้หลักผู้ใหญ่มาตรวจราชการเสียทีนะ บ่นให้ใครนี่?)

เรื่องการกวดวิชาไม่ใช่ของเด็กในเมืองกลุ่มเดียวแล้วครับ เด็กชนบทห่างไกลก็กวดวิชาเหมือนกัน (เชื่อหรือไม่? ว่าในโรงเรียนระดับจังหวัดใหญ่ๆ มีชื่อเสียงจะมีรถตู้รับส่งนักเรียนมารอรับ-ส่งนักเรียนจากต่างอำเภอเข้ามาเรียนมากกว่า 10 คัน) นักเรียนต่างอำเภอต้องนั่งรถเข้ามาเรียนกวดวิชาในเมืองในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเดี๋ยวนี้เขาตาสว่างกันแล้ว คนในชนบทก็มีความฝันที่จะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน

"...แม้ว่าจะชี้แจงแล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจ แนวความคิดยังแตกต่างกันอยู่..." ท่านนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "...แต่ผมขอฝากไว้ว่าจะคิดระบบใดก็ต้องมองให้รอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ให้ดูข้อดี ข้อเสีย บางทีเราคิดว่าเราทำเพื่อความเป็นธรรม เท่าเทียมกัน แต่อยากถามว่าเท่าเทียมจริงแค่ไหน มองครบกันทุกมิติหรือยัง? อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคนจนเรียนสักกี่คน ผมเห็นแต่นักศึกษาส่วนใหญ่ถือกระเป๋าหลุยส์วิตตอง"

ความคิดของ พ.ต.ท. ทักษิณ แล้วยังยืนยันแนวคิดว่า น่าจะมีการศึกษาระบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีมาตรฐานทางการเรียนและสามารถนำผลการเรียนไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยใดก็ได้ โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกเอง และยังห่วงเรื่องการสอนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น ด้วยการสอดแทรกเข้าไปในวิชาต่างๆ เด็กที่จบชั้น ม.6 ควรจะพูดภาษาอังกฤษได้ (ตรงกับที่ครูมนตรีคิดและบ่นไปอีกแล้วครับ ลองย้อนไปอ่านเรื่องเก่าๆ ดูซิ)

พูดถึงสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้วผมได้ทราบข่าววงในมาว่า ระดับตักศิลาที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเริ่มหยุดจำนวนรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี (Freeze = แช่แข็ง) ไว้ที่จำนวนหนึ่งมาสองสามปีแล้ว ทั้งๆ ที่ทรัพยากรของสถานศึกษานั้น (ทั้งจำนวนอาจารย์ อุปกรณ์ สถานที่) สามารถขยายการรับได้อีกมาก เพราะมัวไปคิดถึงแต่อัตราส่วนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก ว่าต้องมีเท่านั้นเท่านี้จึงจะศิวิไลซ์เหมือนต่างประเทศ มีอะไรเข้าใจผิดกันหรือเปล่า? หรือจะเห็นแก่รายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือศักดิ์ศรีที่คิดว่าจะได้รับการยกย่อง หรือจะขยายการรับปริญญาตรีให้มากขึ้นเพื่อให้ลูกหลานไทย ชาวไทยมีมาตรฐานการศึกษาสูงขึ้นดี?

ผู้ปกครองหลายรายบ่นให้ผมได้ยินว่า นี่ถ้ามหาวิทยาลัยทั้งหลายออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกันหมด คิดค่าเล่าเรียนกันเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองทั้งหลายคงได้อ่วมกันมากขึ้น ผมก็เลยปิ๊งขึ้นมาว่า อาจเป็นได้ที่จำนวนรับนักศึกษาอาจมากขึ้นจนไม่ต้องสอบแข่งกันวุ่นวายอย่างปัจจุบันก็เป็นได้ (ไม่อยากคิดว่าจะจริงนะครับ)

นอกจากการรับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ก็อยากให้ท่านผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องทั้งหลายได้หันกลับมาดูการรับนักเรียนในระดับ ม.1 และ ม.4 กันบ้างเถิด อย่าเอาปัญหาการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ไปกำกับชีวิตของคนบ้านนอก (ชนบท) อย่างพวกผม โปรดได้ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามความจริงด้วยเถิด คุณภาพการศึกษาจะได้เกิดเสียที เพชรดีต้องการช่างเจียระนัยฝีมือดีฉันใด นักเรียนบ้านนอกที่มีคุณค่าอย่างเพชรก็อยากให้ครูดีๆ ช่วยชี้ทางฉันนั้น ปล่อยให้เขาวัดกันด้วยฝีมือการเรียนรู้ แล้วปัญหาเด็กฝากต่างๆ จะบรรเทาลง ยิ่งตอนนี้กระแสการเมืองแผ่ซ่านลงไปในแวดวงการศึกษา (ถ้าไม่เชื่อผมไปดูแถวเว็บบอร์ดกรมสามัญศึกษานะครับ) จนหาความสามัคคีธรรมเป็นเอกฉันท์ไม่ได้แล้ว กลัวว่าอนาคตของลูกชาวนาจะได้เป็นชาวนาต่อไปครับท่าน (ผมก็ลูกชาวนาเหมือนกัน แต่ได้ดีเพราะมีครูดี พ่อแม่ดีมองเห็นแก่อนาคตของลูก สู้อุตส่าห์พากเพียรส่งเสีย จนมีวันนี้)

การพัฒนาคุณภาพของนักเรียน พัฒนาคุณภาพของโรงเรียนให้มีเท่ากัน ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษาที่เหมาะสมนั้นทำได้ (นโยบายเดิมทำโรงเรียนให้เท่ากันด้วยการปรับคุณภาพให้ต่ำลงเท่ากัน หรือเปล่า?) เรามาช่วยกันแก้ให้เป็นระบบกันดีกว่า ความเป็นธรรมจะได้เกิดขึ้นจริงๆ แม้ว่าลูกชาวนาจะได้ถือแต่ย่ามขาดหลุยส์วิตตองไปบ้างก็ตาม ขอบพระคุณครับถ้าจะมีบัญชาให้เปลี่ยนแปลงเป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวไทย...

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 27 ธันวาคม 2545