webmaster talk

คนไทยกับการอ่านและเขียนหนังสือ

ประเทศไทยของเราเคย "รณรงค์ส่งเสริมการรู้หนังสือ" เมื่อหลายปีก่อน จนประกาศกันไปทั่วว่า คนไทยทุกคนอ่านออกเขียนได้ แต่วันนี้เราได้พบความจริงประการหนึ่งว่า คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือได้แต่ไม่เป็น (ไม่เป็นภาษาที่ถูกต้องสื่อสารได้ใจความ) จนมีการออกหนังสือสั่งการให้ครู (อีกแล้วครับท่าน) สอนและสอบวัดความรู้ด้วยการเขียนตอบ (อัตนัย) แทนการเลือกตอบ ก. ข. ค. ง. (ปรนัย) ผลก็คือ ครูสบายมากขึ้นกว่าเดิมครับ ตรวจคำตอบง่ายมากจริงๆ อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน เพราะในกระดาษคำตอบว่างเปล่าไม่ต้องอ่านให้ยากไงครับ

กรรมของเวรจริงๆ แต่นี่คือสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกจริงๆ เพราะลูกศิษย์ผมอธิบายให้ผมเข้าใจไม่ได้ว่า อนาคตเขาอยากจะเป็นอะไร ทำไม? ถึงอยากจะเป็น เลยมีเรื่องคุย (บ่น) อีกแล้ววันนี้ 

คนไทยกับการอ่านและเขียนหนังสือ

วันนี้ได้มีโอกาสนั่งชมรายการโทรทัศน์ชื่อ "บ่ายนี้มีคำตอบ" ทางช่อง 9 อสมท. เป็นการสนทนาของพิธีกร กับท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.สิริกร มณีรินทร์) และท่านเลขาธิการสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ เรื่องการส่งเสริมการอ่านหนังสือสำหรับคนไทย เลยมีไฟขอแจมด้วยคนผ่านทางหน้าเว็บไซต์นี้

ผมเห็นด้วยกับท่านรัฐมนตรี และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ทางผู้ชมได้สอบถามปัญหาแ ละให้ข้อเสนอแนะกันเข้าไป แต่มีข้อคิดเห็นบางส่วน ที่อยากจะร่วมเสนอประเด็นด้วยอีกคน ตามประสาคนร่วมสมัย (ผ่านยุคการเรียนรู้มาหลายแบบ ไม่อยากใช้คำว่าโบราณครับ ตั้งแต่การใช้กระดานชนวนมาจนใช้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน) บางครั้งครูเราก็เห่อหรือถูกบังคับให้เห่อตามกระแสนิยมมากเกินไปจนลืมความจริงบางอย่างไปจนน่าเสียดายครับ

บทอาขยานกับการท่องสูตรคูณ

ยุคสมัยของการเห่อ "เครื่องคิดเลข" จนทำให้นักเรียนในยุคปัจจุบันห่างเหิน "สูตรคูณ" ไม่มีสุนทรียรสในบทกวีและคำกลอนใดๆ เพราะไม่รู้จักบทอาขยาน สมัยผมเป็นเด็กนักเรียนก็มีความกดดันมาก ในการที่จะต้องท่องจำสูตรคูณและบทอาขยานให้ได้ เลิกเรียนทุกๆ วันเรามีภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียน ถูและขัดพื้นห้องเรียนให้มันวับ (สมัยนั้นเป็นพื้นกระดานที่เราจะต้องลงแว็กซ์ด้วยการต้มน้ำมันก๊าดกับขี้ผึ้งมาถูพื้นเดือนละครั้ง) การถูพื้นจะใช้ลูกมะพร้าวแห้งมาตัดครึ่ง เฉาะกะลาแข็งบริเวณขอบออกเล็กน้อย เพื่อให้เปลือกมะพร้าวทำหน้าที่คล้ายแปลงถูพื้น แล้วนำไปขัดพื้นห้องด้วยการถูให้มันวับ สนุกมากครับด้วยการนั่ง หรือยืนบนกะลาแล้วให้เพื่อนลากไปทั่วห้อง ปากก็จะท่องสูตรคูณหรือบทอาขยานกัน

ความภูมิใจนี้ยังคงอยู่ ทุกครั้งที่นั่งดูลูกหลานทำการบ้าน แล้วสามารถให้คำตอบการบวกลบคูณหารได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกดเครื่องคิดเลข เป็นผลมาจากการท่องสูตรคูณเมื่อหลายสิบปีก่อน จนเจ้าลูกชายถามว่า "พ่อรู้ได้ไง? เร็วจริง"

ส่วน "บทอาขยาน" ก็ทำให้เรามีจิตใจที่อ่อนโยน รับทราบความงดงามในภาษา ทำให้การสื่อสารด้วยถ้อยคำของเรามีลีลาที่งดงามยิ่งขึ้น ถึงวันนี้ผมยังขอบพระคุณคุณครูเก่าๆ ทุกท่านที่ทำให้ผมได้มีความสามารถในการใช้ภาษา และถ้อยคำต่างๆ ได้ดีในระดับหนึ่งอย่างทุกวันนี้

ห้องสมุดแหล่งความรู้หรือสุสานหนังสือ?

จุดอ่อนของการศึกษาไทย คือ "การขาดแหล่งค้นคว้าและอ้างอิง" ผมอดสะท้อนใจไม่ได้ทุกครั้งที่ขับรถผ่านที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน (ซึ่งถูกสร้างขึ้ยสมัยรณรงค์ให้คนไทยเรียนรู้หนังสือได้ 100% เมื่อหลายปีก่อน) บัดนี้ไม่มีร่องรอยของหนังสือใดๆ นอกจากที่วางหนังสือพิมพ์และวารสารที่เก่าคร่ำคร่า พังเพราะถูกทำลายหรือเพราะมดปลวก หนังสือหายไปไหนหนอ? ไม่มีใครดูแลใส่ใจ

ย้อนไปดู "ห้องสมุดประชาชน" ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่คลังความรู้ แต่เป็นสุสานของหนังสือเก่าๆ ที่มีใครไม่รู้มานั่งเฝ้าอย่างไม่แยแส ไม่อยากพูดว่ามีบรรณารักษ์อยู่ในสถานที่เช่นนั้นหรอกครับ เพราะดูจากความเอาใจใส่ในหน้าที่ ดูแลสถานที่และการบริการแล้วไม่ใช่แน่นอนครับ นอกจากระบุได้เพียงคนเฝ้าสถานที่ ระบบการจัดเก็บต่างๆ ไม่มี หาหนังสือไม่พบ ไม่มีการยืมออกแต่ไม่รู้ว่าวางอยู่ที่ไหน อยากให้เปลี่ยนแปลงจังเลยครับ

วันหนึ่งดูสารคดีน่ารู้จำไม่ได้ว่าช่องไหน พูดถึงห้องสมุดเด็กในเมืองๆ หนึ่งที่เขาออกแบบไว้ให้เด็กๆ ได้เขามาอ่านหนังสือกัน ใครใคร่นั่งก็นั่ง ใคร่ใคร่นอนก็นอนตามความต้องการ หนังสือมีหลากหลาย สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือสำหรับเด็กออกมา จะต้องส่งไปให้ห้องสมุดแห่งนี้จำนวนหนึ่ง สิ่งที่ผมฝันไม่ถึงกับแยกเป็นเอกเทศอย่างนั้น แค่มีมุมหนังสือดีๆ ใหม่ๆ น่าสนใจของคนแต่ละวัยได้ศึกษาหาความรู้ แน่นอนว่าต้องมีมุมหนังสือเก่าที่มีคุณค่าอยู่ด้วย

การสร้างคนให้รักการอ่าน ต้องเริ่มจากสิ่งที่เขาชอบก่อน เพื่อให้เกิดนิสัย จากนั้นจึงขยายไปยังหนังสืออื่นๆ ที่มีคุณค่าเพิ่มพูนความรู้ อาจจะเริ่มจากที่บ้าน ที่โรงเรียนและที่ห้องสมุดต่างๆ "

การส่งเสริมการรักการอ่าน ต้องเริ่มจากที่บ้าน พ่อแม่ต้องช่วยเหลือในการสร้างนิสัย อาจเริ่มต้นที่การ์ตูนที่เด็กสนใจก่อน โดยพ่อแม่ต้องกลั่นกรองเนื้อหา อธิบายชี้แนะสิ่งที่ปรากฏในหนังสือนั้น (สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร) ถ้าเราจะหาหนังสือที่ดีเลิศสำหรับเด็กร้อยเปอร์เซนต์คงจะยากยิ่ง เพราะสิ่งที่ดีเลิศกลับไม่มีสิ่งที่เด็กๆ อยากอ่านเลย (ขาดแรงจูงใจ) มีคำพูดของนักการศึกษาท่านหนึ่งว่า "การที่เราจะสอนว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเลว เหมือนการบอกว่าหนังสือนั้นดี หนังสือเล่มนั้นไม่ดี โดยที่ไม่เคยมีใครเห็นตัวอย่างของสิ่งไม่ดีเลย การเปรียบเทียบนั้นก็ไร้ผล" ก็น่าจะจริงครับ สิ่งใดควรไม่ควรพ่อแม่ ครูอาจารย์ต้องชี้แนะแล้วครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 19 พฤศจิกายน 2545