webmaster talk

ยุทธการสร้างแม่ไก่ ไฉนกลายเป็นนิทานเรื่องแม่ปูกับลูกปู (ตอนที่ 1)

วันนี้อยากจะบ่นเรื่อง แม่ไก่หรือแม่ปู ครับ เพราะผมมีความรู้สึกอึดอัดกับการขยายผล การปฏิรูปการศึกษา ที่ดูสะเปะสะปะไร้ทิศทาง ไปกันคนละทิศคนละทาง (ดูเหมือนจะสวนทางกับที่นักการศึกษาหญ่ายๆ ท่านพูดปลอบประโลมใจนะครับ แต่ไม่ผิดหรอก นี่เป็นมุมมองของครูบ้านนอกที่กำลังปฏิบัติครับ ไม่ได้นั่งเทียนอยู่บนหอคอยงาช้าง)

ระบบปฏิบัติในประเทศของเรานี่มันแปลกๆ ลักลั่นยังไงพิกลเหมือนกันครับ จะขยายแนวคิดหรือทำอะไรก็ตาม ท่านก็ประชุมหาแนวคิดแนวทางกันในห้องแอร์ เขียนข้อบัญญัติว่า จะต้องดำเนินการตามแนวทางนี้ 1, 2, 3 ไหนใครจะรับไปทำ ดำเนินการแล้วรายงานผลมา เวลาผ่านไปก็จะได้เวลาแถลงข่าวความสำเร็จกัน เยี่ยมมาก!

จะมีสักเรื่องไหมนะที่ท่านผู้รู้ (คงแก่เรียน) จะไปเริ่มคิดที่บ้านในชนบทกับพวกผมแบบจับเข่าคุยกัน ปัญหามีอะไรบ้าง ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว สำเร็จไหม? ถ้ายังไม่สำเร็จน่าจะลองทำอย่างนี้บ้างนะ เริ่มกันที่นี่เลย ถ้าที่นี่สำเร็จลองขยับเข้าไปในเขตใกล้เมือง (ศิวิไลซ์นิดหน่อย) ดูซิ ปัญหาเดียวกันแก้อย่างไรดี สำเร็จไหม? ถ้าสำเร็จค่อยสรุปเป็นหลักการทฤษฎีนำไปปฏิบัติกันทั่วประเทศ (อยากให้เกิดรูปแบบนี้มากครับท่าน!)

คราวนี้ก็มาถึงนิทาน "แม่ปูสอนลูกปู" ครับ ระบบการทำงานในแวดวงราชการมันเป็นอย่างนี้แหละ มีคนคิด สรุป ตั้งกฎเกณฑ์แล้วก็สั่งขยายผลให้ปฏิบัติกันเลย ไปล้มเหลวตายกันไปในดาบหน้าโน่น เขาทำกันอย่างนี้ครับ

  • ยุทธการสร้างแม่ไก่ ขั้นตอนแรกเขาก็จะทำการสร้างแม่ไก่ก่อน ด้วยความหวังว่าแม่ไก่ที่ดีจะออกไข่ และฟักไข่เป็นลูกเจี๊ยบที่ดีมีคุณภาพ สร้างบุคลากรไก่ที่ดีต่อไป
    ความคิดดีแต่ผิดพลาดครับ เพราะแม่ไก่ส่วนใหญ่มักจะกลายพันธุ์กลายเป็นแม่ปู (ไปเสียฉิบ เหตุผล โปรดติดตามกันต่อไป)
  • แม่ไก่ไปขยายผลต่อ ขั้นตอนที่สองเมื่อเสร็จสิ้นการหัดฟักไข่แล้ว (แม่ไก่บางตัวเหยียบไข่แตกตั้งแต่ตอนหัดฟักแล้ว) ก็ออกไปขยายผลต่อยังไก่ละอ่อนในที่ห่างไกล ไก่ละอ่อนที่ไม่เคยพบกับความศิวิไลซ์ ก็มักจะหลงเชื่อแม่ไก่อย่างสนิทใจ ถ้าบังเอิญได้พบเจอแม่ไก่คุณภาพไก่ละอ่อนเหล่านั้นก็จะฟักไข่ ฟูมฟักลูกเจี๊ยบได้ดี
    แต่ไก่ละอ่อนที่ได้พบกับแม่ไก่กลายพันธุ์เป็นแม่ปูนี่สิ (ส่วนใหญ่เสียด้วย) ก็มักจะเดินตุปัดตุเป๋ตามอย่างแม่ปูจนเหยียบไข่กระจายไม่ได้ลูกเจี๊ยบสักตัวครับ
  • ไก่ละอ่อนขยายพันธุ์ ตอนนี้แหละครับที่มันเละเทะกันมาก เพราะความเข้าใจและขยายความกันคลาดเคลื่อน จากกิ้งก่าตัวเล็กเกาะบนกิ่งไม้แห้งผิงแดดเช้าอุ่นๆ จากคนหนึ่งเล่าสู่คนหนึ่งไปเป็นทอดๆ กลายพันธุ์ไปเป็นกิ้งก่าคอแดง กิ้งก่ายักษ์ จนกลายเป็นมังกรพ่นไฟได้ในที่สุด

มันพลาดกันตรงไหนหรือวิธีการนี้? ตรงเลือกแม่ไก่ไงครับ แม่ไก่ที่ถูกเลือกมักจะเป็นการเลือกจาก "ระบบสายงาน" (ที่คิดว่าน่าจะเชี่ยวชาญ) มารับการฝึกฝน แต่บังเอิญว่า แม่ไก่ในกลุ่มนี้เป็นแม่ไก่ที่มีคุณภาพ วิสัยทัศน์สักเท่าไหร่ มั่นใจได้อย่างไรว่า จะตั้งใจเอาความรู้ไปถ่ายทอดได้สักกี่มากน้อย ขอยกตัวอย่างผมเองนี่แหละ เป็นไก่ละอ่อนครับถูกส่งไปรับทราบวิธีการฟักไข่จากแม่ไก่ ในขณะที่แม่ไก่กำลังก้มหน้าก้มตาอ่านเอกสารเล่มหนาให้ไก่ละอ่อนฟังนั้น ก็มีไก่ละอ่อนตัวหนึ่งขัดจังหวะแม่ไก่ขึ้นว่า "ผมอ่านหนังสือภาษาไทยออก อ่านเองได้ ทฤษฎีเหล่านี้จะศึกษาเพิ่มเติม แต่ตอนนี้อยากรู้วิธีฟักไข่จริงๆ โดยเฉพาะไข่บ้านเรานี่จะทำอย่างไร?"

เท่านั้นแหละครับ แม่ไก่ของเราก็ออกอาการเสียหน้าเล็กน้อย แต่จะยอมรับว่าไม่เข้าใจเหมือนกันก็ไม่ได้ ก็เลยหันมาทางผมซึ่งเป็นไก่ละอ่อน (ที่บังเอิญแม่ไก่เชื่อมั่นว่าผมคงจะตอบได้เพราะอยู่ในเขตเทศบาล) และพูดว่า "ครูมนตรี ว่าไงเรื่องนี้ วิธีไหนดีที่สุด?"

อ๊ะ! ได้อย่างไรกัน (ผมคิดในใจ) แล้วตอบสวนด้วยความมั่นใจว่า "ไม่ทราบครับ เพราะผมไม่ได้มาในฐานะแม่ไก่ (วิทยากร) ตอนนี้คิดว่าจะมารับสิ่งใหม่ๆ ถ้าแม่ไก่ไม่รู้ผมก็จะกลับละครับ เสียเวลา" วงแตกซิครับงานนี้ เอาไว้ขยายความต่อคราวหน้าครับ... ผมมีเกร็ดประสบการณ์จากแม่ไก่เพื่อนบ้านของเรามาเล่าสู่กันฟังอีกเพื่อเปรียบเทียบกับแม่ไก่บ้านเรา (อย่าดูถูกเขาว่าต่ำต้อยล้าหลังนะครับ พูดภาษาบ้านเดียวกับผมเข้าใจอีกด้วย)

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 25 กันยายน 2545

[ อ่านต่อ สร้างแม่ไก่ แต่ไดแม่ปู ตอน 2 ]