webmaster talk

การเรียนการสอนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ประโยชน์จริงหรือ?

ขอถือโอกาสนี้กลับมาคุยเรื่อง การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ อีกครั้ง เพราะอ่านข่าวการศึกษาในหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับเกี่ยวกับ การจัดการเรียนออนไลน์นำร่อง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย ผมคงไม่วิพากษ์ต่อความคิดนั้นว่าทำได้จริงหรือไม่เพียงใด?

ictเรื่องนี้ผมสาธยายมานานแล้ว ลองย้อนกลับไปอ่านเรื่องบ่นเก่าๆ ได้ และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 ธันวาคม 2546) ผมไปนั่งคุยในรายการวิทยุที่จัดประจำทุกวันอาทิตย์เกี่ยวกับ การศึกษาทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ประโยชน์จริงหรือ? โดยยกกรณีศึกษามาจากการสำรวจของ ABAC Poll พบว่า คนทำงานหนุนเรียนผ่านเน็ตถึงร้อยละ 71.5% มีเพียง 8.7% ที่ไม่เห็นด้วย จากกลุ่มตัวอย่าง 1500 คน ทั้งที่เป็นคนทำงานและนักศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เหตุผลของทั้งสองฝ่ายมีอย่างไรบ้าง

ฝ่ายที่เห็นด้วย บอกว่า "สะดวกในการเรียน ไม่เสียเวลาในการเดินทาง ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยก็ได้" (โดยเฉพาะบางหน่วยงานที่การลาไปศึกษาต่อเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียสิทธิประโยชน์หลายอย่าง)

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย บอกว่า "อาจไม่เข้าใจเนื้อหา ไม่สามารถถามตอบได้โดยตรง (ซึ่งไม่จริง) และไม่เชื่อในความซื่อสัตย์"

เรามามองกันที่ภาพรวมของประเทศกัน ในปีหน้า พ.ศ. 2547 จะมีการประกาศให้มหาวิทยาลัยของไทย จัดการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการศึกษา แข่งขันกับนานาอารยะประเทศ

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ความเชื่อถือของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยได้สัมผัสกับเทคโนโลยีการเรียนการสอนบนอินเทอร์เน็ตมาก่อน (แต่มักจะคุยว่า ข้ารู้แจ้งเห็นจริงซะเต็มประดา ประเภทนั่งหลับบนหอคอยงาช้างนั่นแหละ) เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนแล้วเน้อ แม้วบนดอยยังมีมือถือ ดูทีวีผ่านดาวเทียมแล้ว

เรื่องคุณภาพของการเรียนและคุณภาพของบัณฑิต เรื่องนี้ไม่น่าห่วงเลย ถ้าจะบอกว่าการเรียนแบบนี้ค่อนข้างรัดกุม และต้องการคนที่มีความสามารถสูงพอสมควร ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นเมื่อครั้ง รามคำแหง และ มสธ. เปิดดำเนินการใหม่ๆ ใครจะไปเชื่อว่าจะสำเร็จ แต่ทุกวันนี้เราก็เห็นแล้วว่า บัณฑิตที่จบจากทั้งสองสถาบันไม่ได้ด้อยคุณภาพกว่ามหาวิทยาลัยใดๆ เลย มันขึ้นอยู่ที่คนเรียนว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใดด้วย (เรียนแบบบังคับตัวเอง ไม่มีใครกำหนดแล้วสอบผ่านเป็นบัณฑิตได้นี่ไม่ธรรมดานะครับ)

ผมได้ลองเข้าไปดูต้นแบบในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทั้งในอังกฤษและอเมริกาแล้วพบว่า การกำหนดเกณฑ์รับสมัครผู้เรียนนี่สูงมาก ต้องสอบผ่าน GMAT 550 มีคะแนนเฉลี่ยสะสมปริญญาตรีไม่ต่ำกว่า 3.00 ถ้าเป็นนักศึกษาต่างชาติต้องสอบผ่าน TOEFL 575 ขึ้นไป

การเรียนแต่ละวิชาจะมีโมดูลการเรียนเป็นหน่วยๆ หรือบทที่ประกอบด้วยเนื้อหาที่เป็นข้อความ (text) สำหรับการอ่านทำความเข้าใจ มีตัวอย่างภาพสาธิตหรือการบรรยายของผู้สอนเป็นวิดีโอคลิปสั้นๆ ประกอบ จะมีการทดสอบย่อยในแต่ละหัวข้อเพื่อเก็บคะแนนสะสม (ทำแล้วย้อนกลับไม่ได้ หรือบางเรื่องอาจจะย้อนกลับไปศึกษาและทำใหม่ได้ 1 ครั้ง) จบหน่วยการเรียนแล้วจะต้องทำข้อสอบวัดผลหลังเรียน (Post Test) อีกครั้ง และต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะมีสิทธิเรียนในหน่วยต่อไป

เรื่องที่บอกว่า จะไม่สามารถถามตอบได้โดยตรงก็หมดห่วงไปได้ เขาจะมีตารางเวลานัดหมายออนไลน์ (Online Chat) สำหรับผู้เรียนและผู้สอน สามารถเข้าไปพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกัน หรือกับผู้สอนในประเด็นต่างๆ

นอกจากนั้น ยังมีเว็บบอร์ดสำหรับการถามข้อสงสัย (ในขณะที่ออฟไลน์) และระบบส่งคำถามและงานค้นคว้าผ่านทางอีเมล์อีกด้วย การจบการศึกษาบางแห่งต้องมีการสอบวัดอีกตามมาตรฐานที่กำหนด (อาจโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศของผู้เรียน กับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน) ซึ่งจะเป็นการประเมินคุณภาพของบัณฑิตได้แน่นอนขึ้น ลดความวิตกกังวลของบางท่านที่บอกว่า จะมีการเรียนและสอบแทนกัน

การเรียนโดยวิธีนี้ก็จะได้บัณฑิตคุณภาพไม่ต่างจากการเรียนในชั้นเรียนปกติ ยังจะมีค่าและศักดิ์ศรีกว่าประเภทสมองกลวง พกเอาความง่วงเหงาหาวนอนไปเรียนในชั้น หรือในมหาวิทยาลัย ณ โรงแรม ที่มีห้องเรียนแบบเพียบพร้อมด้วยน้ำชากาแฟ กินไป หลับไป ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ไปลอกงานมาส่ง ตกเย็นก็เลี้ยงดูปูเสื่อผู้สอน จนมีเรื่องเล่า (ที่เอาความจริงมาพูดเล่นๆ) ว่า เรามันเกรด A ชีวาส แบล็กเลเบิ้ล และอ่างอาบน้ำ บ้างก็เกรด A ผ้าไหมชุดใหญ่ ของฝากของกำนัลเพียบ

ถ้าเราเรียนหวังจะพัฒนาศักยภาพของสมองมากกว่าปริญญาบัตร การเรียนในรูปแบบใดก็ไม่น่ามีความแตกต่าง มีแต่จะสร้างช่องทางและโอกาสให้กับผู้คนในชาติมากขึ้นเท่านั้น ดีกว่าให้บริษัทหลายๆ แห่งที่รับบัณฑิตใหม่เข้าทำงานเขาบ่นเอาว่า รับคนมาทำงานหรือมาฝึกงานใหม่กันแน่ ไม่รู้เรื่องอะไรเอาเสียเลย? อยากจะให้เรามาวัดคุณภาพของคนกันที่การวัดที่คุณภาพของสมอง และความเชี่ยวชาญในการทำงานมากกว่าใบปริญญาบัตร

ผู้เรียนพร้อมที่จะเรียน มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาหลายแห่งได้พัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอน และเริ่มดำเนินการแล้ว แต่สิ่งที่อยากจะวิงวอนไปยังภาครัฐบาลก็คือ การทำให้ระบบการสื่อสารพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไปมีราคาถูก และครอบคลุมพื้นที่มากกว่านี้ เพื่อให้การเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ทำได้ง่ายๆ และสถาบันการศึกษาก็ไม่น่าจะเก็บค่าเล่าเรียนแพงกว่าการเรียนแบบปกติมากนัก

วันนี้ ผมและทีมงานได้เริ่มกันแล้วกับการพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อคนไทย ด้วยการลงทุนที่ต่ำกว่า (แต่ไม่อาจคุยได้ว่าดีกว่า) เพราะคุณภาพตรงนั้นวัดจากคุณภาพของสื่อที่ผู้สอนจะช่วยกันสร้างขึ้น และต้องลืมรูปแบบการสอนเดิมๆ ไปบ้าง เพราะสภาพการเรียนแตกต่างกันจากห้องเรียนธรรมดา คุณพร้อมที่จะก้าวไปพร้อมกับเราหรือยัง?

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 5 ธันวาคม 2546