webmaster talk

ได้เวลาของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการศึกษามากขึ้นแล้ว ณ วันนี้ ทั้งที่ออกมาในเชิงนโยบายจากหน่วยเหนือ จากข้อจำกัดที่ทวีมากขึ้นตั้งแต่สัดส่วนความไม่สมดุลระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน โดยเฉพาะเท่าที่ทราบข่าวมาว่า ในช่วง 19 มกราคมนี้ จะมีผู้ยื่นเรื่องขอยกธงขาวออกไปก่อนกำหนดจำนวนมากทีเดียว

Technologyการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้ในการศึกษามากขึ้น มีผู้นำเสนอรูปแบบการเรียนรู้ผ่านทางเครือข่ายออนไลน์กันมากขึ้น (รวมทั้งที่นี่ด้วย) ในช่วงสัปดาห์หน้า (24-25 ม.ค.) ผมจะไปร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ มศว.ประสานมิตร ในเรื่องการจัดทำสื่อออนไลน์นี่แหละครับแต่เป็นการนำเอาระบบของต่างประเทศเข้ามาใช้งาน (ซึ่งเป็นระบบเปิด Open Source ให้ใช้งานได้ฟรีเหมือนกัน แต่ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการลินุกส์ อาจจะลำบากหน่อยสำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย) ผมสมัครเข้าร่วมปฏิบัติการในฐานะผู้ดูแลระบบ แล้วจะนำมาคุยให้ฟังว่าเหมาะสมกับพวกเราหรือไม่อย่างไร? (เพราะคำว่า ใช้ได้ฟรี! นี่แหละทำให้ต้องไป แต่ต้องลงทะเบียนเข้าสัมมนานะครับ)

เมื่อมีทางเลือกมากขึ้น ครูเราก็คงต้องเลือกในสิ่งที่ดีเหมาะสมกับเรามากที่สุด (เหมือนภาพประกอบนั่นแหละครับ เล็งเอาเองก็แล้วกัน) สัปดาห์ที่แล้วไปดูงานในโรงเรียนใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ มาครับ (สวนกุหลาบและบดินทร์เดชา) ได้เสวนากับเพื่อนครูหลายๆ ท่านก็เลยได้ทราบว่า ทางกรุงเทพฯ มีหลายบริษัทได้นำเอาระบบการจัดการเรียนออนไลน์มาเสนอให้โรงเรียนใช้ฟรีในปีแรกๆ โดยครูต้องช่วยกันสร้างเนื้อหา (Content) กันขึ้นมาใช้เอง ปีต่อๆ ไปผู้เรียนต้องจ่ายเงินค่าเรียน (เท่าที่ทราบประมาณ 600 บาท/คน) ซึ่งผมก็สงสัยอยู่ว่า แล้วสิ่งที่ครูช่วยกันสร้างขึ้นมาก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทไปแล้วหรือ?

สำหรับเว็บไซต์ครูมนตรีนี่ทุกอย่างฟรีนะครับ เนื้อหาที่ครูสร้างก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของครูผู้สร้าง (ข้อนี้ผมรับรองด้วยเกียรติครับ ท่านรับไปเต็มๆ ผมไม่ยุ่ง ถ้าให้เนื้อหาผิดไปครูผู้สร้างก็รับผิด (และแก้ไข) ด้วยนะ) ตอนนี้ผมเปิดโอกาสให้ท่านที่สนใจจะร่วมสร้างเนื้อหาได้เข้ามาสร้างบทเรียน แบบทดสอบรายวิชาต่างๆ แล้วครับ สนใจก็คลิกไปอ่านรายละเอียดและสมัครกันมาได้ (ผมขอรับท่านที่พร้อมจะสร้างงานและเปิดใช้ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ก่อนนะครับ ส่วนท่านที่ยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้ทันก็ใจเย็นๆ ดูลาดเลาก่อนก็ได้ครับ)

ในช่วงนี้ข่าวที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดก็คงเป็นเรื่อง การสอบเอนทรานซ์กับการใช้ค่า GPA ว่าอันไหนจะดีหรือไม่ดีกว่ากัน ก็มีการกล่าวรายละเอียดกันมากแล้ว ติดตามได้จากข่าวล่าในวงการศึกษาในเมนูซ้ายมือนะครับ อีกเรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกคือ การสอบวัดผลในระดับชาติ (National Test) เพื่อวัดและประเมินความรู้ของนักเรียนในช่วงชั้นต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงชั้นที่ 2 และ 3 จะมีผลต่อการเข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม. 1 และ ม. 4 ปีนี้ด้วย โปรดติดตามข่าวอย่ากระพริบตาทีเดียว

ถ้าทุกอย่างเตรียมการมาดีพอ ถูกต้องตามขั้นตอนและเป็นไปตามที่คาดหวัง เราก็จะได้รู้กันเสียทีว่ามาตรฐานการจัดการเรียนรู้ของทุกโรงเรียนมีเท่าเทียมกันจริงหรือไม่? และยังจะส่งผลสะท้อนขึ้นไปยังค่า GPA ที่จะใช้ในการรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งผลที่ได้ก็จะเป็นการยืนยันว่าเราจะใช้ GPA 100% สำหรับการรับนักศึกษาตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดได้หรือไม่?

ก็ได้ยินข่าวเรื่อง มาตรการในการจัดสอบวัดผลระดับชาติมาหลากหลาย ทั้งที่มีความเชื่อมั่นต่อการวัดผล แต่ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเป็นทางไม่ค่อยเชื่อนะครับ นับตั้งแต่การเตรียมติว (เคี่ยวเข็ญ) เพื่อให้นักเรียนผ่านการเกณฑ์ประเมินสูงๆ เพราะให้เกรดเฟ้อไว้มาก (กลัวผลมันฟ้อง) มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองถึงกับเอ่ยปากว่า ต้องให้กรรมการดำเนินการสอบทำงานข้ามโรงเรียนกันเลยทีเดียว ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าทำได้

จะได้ตัดปัญหาเรื่องข่าวลือให้แซดในขณะนี้ที่ว่า มีการเตรียมหาวิธีทำให้มาตรฐานที่อยู่ในรับผิดชอบของตนสูงขึ้นสอดคล้องต้องกันกับผลการเรียน ทำต่อไปอีกสักหน่อยก็จะเห็นผล และสามารถประเมินมาตรฐานเปรียบเทียบได้ว่า เกรด 4 ที่นั่นกับเกรด 2 ที่โน่น เท่ากันหรือต่างกันจริง ผมอยากให้ค่ามาตรฐานที่ได้ในแต่ละปีของแต่ละโรงเรียนเมื่อนำไปคูณกับค่าเฉลี่ยของ GPA ในแต่ละปีที่แต่ละโรงเรียนมีแปรผลออกมาเป็นมาตรฐานโรงเรียนระดับต่างๆ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ครูและชุมชนตระหนักร่วมกันในการช่วยกันพัฒนาความสามารถของบุตรหลานสู่มาตรฐานสากลกันโดยไม่อิดเอื้อน

ส่งท้ายวันครูที่ผ่านมา (ผมได้แต่อ่านหนังสือพิมพ์ครับ ไม่ได้ไปร่วมงานเพราะติดการเดินทางไปดูงาน) เห็นข่าวยาหอมให้คุณครูไทยทั่วหน้าก็ดีใจด้วยครับ (เมษานี้ขออย่าให้เป็นเมษาฮาวายที่นัดแล้วไม่มานะครับ) จะได้มีกำลังสู้ต่อไปของคนที่ไม่ได้สมัครเข้าโครงการจำใจจาก ส่วนท่านที่มุ่งมั่นออกไปก็ขอให้ประสบผลสำเร็จในอาชีพใหม่ (ทั้งออกไปเลี้ยงหลานหรือทำธุรกิจ) ส่วนผมก็คงต้องทำหน้าที่ต่อไปอีกสักเฮือก

ตอนแรกก็กะจะอำลาเหมือนกันถ้ามีเงื่อนไขที่ดี แต่พอจะไปรับใบสมัครมาเขียนเห็นรุ่นพี่ๆ ไปเข้าคิวส่งเรื่องชนิดต้องประทับวันที่และเวลากำกับก็ถอดใจครับ (เพราะผมแพ้ท่านตั้งแต่อายุตัว อายุราชการ และวันยื่นเรื่องซะแล้ว) อีกทั้งผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านทัดทานไว้ว่า ถ้าอยู่ต่อไปจะยังประโยชน์ต่อการศึกษาได้อีกมาก เพราะผมดูจะมีความตั้งใจจริงในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกการศึกษาสมัยใหม่ น่าจะเป็นกำลังสำคัญช่วยเพื่อนๆ ในการเปลี่ยนแปลงยุคไอทีได้อีกมาก ก็เลยยอมถอยมาตั้งหลักพิจารณาอีกรอบ

ในโอกาส วันครู นี้ก็ขอให้สิ่งดีงามทั้งหลาย รวมทั้งความรักและศรัทธาของบรรดาผองศิษย์ ได้เป็นพละกำลังหนุนส่งให้กับเพื่อนครูผู้ร่วมอุดมการณ์ทุกท่านจงประสบแต่ความสุข สำเร็จในสิ่งที่หวังตลอดไปนะครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 18 มกราคม 2547