webmaster talk

การจัดการเรียนการสอนตามนัยประกาศ ศธ. เมื่อ 26 ธันวาคม 2546

ไม่ได้ปิดเทอม พราะเขาปิดให้นักเรียนครับ ในอดีตพวกเราก็พอจะได้อาศัยหยุดพักบ้าง แต่ในยุคของการแข่งขัน ยุคของการปฏิรูปเราไม่ได้หยุด ดูเหมือนผมจะไม่ได้ไปเที่ยวพักผ่อนที่ไหนในช่วงเดือนเมษายนมาสามปีแล้ว มีปฏิทินงานเต็มตลอดเลย คงจะเฉพาะวันหยุดสงกรานต์นี่กระมังที่จะได้พักผ่อนกับครอบครัวบ้าง

krumontree pri training4วันที่อัพเดทหน้านี้คือ วันรองสุดท้ายของการจัดอบรมเพื่อนครู ผู้จะทำหน้าที่สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ในระดับประถมศึกษา (10 วันต่อเนื่องชนิดไม่มีวันหยุดเริ่มจาก 29 มีนาคมที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 7 เมษายนนี้) ก็มีเพื่อนทางอินเทอร์เน็ตส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาถามไถ่กันว่า หายไปไหนไม่ออกมาบ่นบ้างเลย?

วันนี้มาแล้วครับแต่คงไม่มีเรื่องบ่น มีแต่เรื่องจะมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น เรื่องแรกคือ การอบรมครูทางไกล ผ่านทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) ช่อง 75 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งจะเริ่มกันในวันที่ 12 เมษายน 2547 นี้ ทุกวันจันทร์และวันพุธ ช่วงเวลา 10.00 - 11.00 น. รายละเอียดคลิกดูในเมนูด้านซ้ายมือ (ครูมนตรีเสนอหน้าออกอากาศวันที่ 21 และ 26 เมษายน ครับ)

เรื่องที่สอง เอามาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะมีเพื่อนหลายคนในต่างโรงเรียนสอบถามกันมาว่า ที่โรงเรียนที่ผมสอนอยู่นี่ เขาจัดการเรียนการสอนสนองต่อประกาศของ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2546 อย่างไร? หลายๆ แห่งแปลความหมายผิดไปจนไม่สามารถจะทำการสอนได้เลย เพราะมันเกินกำลังจริงๆ (นักเรียนก็ไม่มากเท่าไหร่ แต่ห้องเรียน อุปกรณ์และสื่อ รวมทั้งครูนี่อัตคัตไม่พอเพียง ประเภทขาดแต่เกิน คือขาดในวิชาหลักๆ ล้นในวิชารองๆ)

krumontree pri training5 krumontree pri training8
krumontree pri training9 krumontree pri training6

 บรรยากาศการอบรมครูผู้สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับประถมศึกษา

ที่โรงเรียนผมก็เหมือนกันครับ เกินมากในบางส่วน ขาดมากๆ ในบางวิชา คราวนี้มาดูว่าเราจะจัดการเรียนการสอนกันอย่างไรดี? จากประกาศฉบับดังกล่าวนั้นบอกว่า

1. จุดเน้นการเรียนรู้

  • กลุ่มที่ 1 ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางวิชาการ และจำเป็นต่อการเรียนรู้ ต้องจัดสอนในแนวลึกและเข้มข้น
  • กลุ่มที่ 2 ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม และสุขศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคม
  • กลุ่มที่ 3 กีฬา ดนตรี ศิลปะ การงานอาชีพ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสุขภาพ บุคลิกภาพ และความถนัด

2. การจัดเวลาเรียน

  • ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 (ป. 1 - ป. 6) วันละประมาณ 5 ชั่วโมง โดยให้จัดให้เรียนกลุ่มที่ 1 จำนวน 3 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 จำนวน 1 ชั่วโมง และกลุ่มที่ 3 ในชั่วโมงสุดท้ายของวันตามลำดับ
  • ช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 (ม. 1 - ม. 6) วันละประมาณ 6 ชั่วโมง โดยให้จัดให้เรียนกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 จำนวน 1 ชั่วโมง และกลุ่มที่ 3 ในชั่วโมงสุดท้ายของวันตามลำดับ

ทั้งนี้ในแต่ละสัปดาห์ให้สถานศึกษาออกแบบตารางเรียนให้ครอบคลุมรายละเอียดของทั้ง 3 กลุ่ม

3. การประเมินผล ในกลุ่มที่ 3 ใช้เกณฑ์การประเมิน ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน โดยพิจารณาจากเวลาเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียน ในกรณีที่ผู้เรียนประสงค์จะลงทะเบียนเรียนตามกลุ่มสาระ ให้มีการตัดสินระดับผลการเรียน

4. กระทรวงศึกษาธิการ ต้องการให้ ครูทุกคนเอาใจใส่ ดูแล และสอนให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างเต็มที่ในเวลาเรียนปกติ และไม่ต้องมีการสอนพิเศษในสถานศึกษา

krumontree pri training3ที่เป็นปัญหา คือ การตีความในเรื่องการจัดเวลาเรียนครับ คิดไปเลยเถิดว่า จะต้องจัดช่วงเช้าเฉพาะกลุ่มที่ 1 เท่านั้น กลุ่มอื่นๆ ไปจัดตอนบ่ายๆ แล้วบอกให้ผมจินตนาการว่า เด็กทั้งโรงเรียนลงไปแย่งลูกฟุตบอล ลูกเดียวกลางสนามจะเป็นอย่างไร? สนุกซิครับ... ฮ่าๆ ผมนึกไปถึงสมัยเด็กๆ ที่แย่งลูกฟุตบอลแฟบๆ แตกแล้วแตกอีก เย็บแล้วเย็บอีก ตอนหลังต้องยัดด้วยฟาง

ตามประกาศของกระทรวงนั้นหมายความว่า อย่างนี้ (เอาช่วงชั้นที่ 1-2 เป็นตัวอย่าง ช่วงชั้นอื่นก็คิดแบบเดียวกัน)

  • ในหนึ่งวันมี 6 ชั่วโมง หักคาบพักไปหนึ่งเหลือเพียง 5 ชั่วโมง เป็นไปได้ไหมว่า ให้จัดวิชาในกลุ่มที่ 1 เรียนในภาคเช้า 3 ชั่วโมงนั้น อะไรก่อนหลังก็ได้ (ไม่ได้หมายความว่าวิชาละ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ภาคบ่ายเหลือ 2 ชั่วโมงให้จัดวิชาในกลุ่ม 2 และ 3 ลงไป
  • ถ้าไม่ได้ด้วยสภาพของจำนวนนักเรียน ห้องเรียน (ห้องปฏิบัติการ) และครูผู้สอน ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่พยายามให้อยู่ในเกณฑ์ กลุ่ม 1 (3 ชั่วโมง) - /พัก/ กลุ่ม 2 (1 ชั่วโมง) - กลุ่ม 3 (1 ชั่วโมง)
  • เมื่อไม่ได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม อาจจัดเป็น กลุ่ม 1 (2 ชั่วโมง) - กลุ่ม 2 (1ชั่วโมง) /พัก/ กลุ่ม 1 (1 ชั่วโมง) - กลุ่ม 3 (1 ชั่วโมง) ยังไม่ได้อีกก็เอากลุ่ม 3 ลงไปตอนเช้าในบางวันก็ได้ ตามสภาพที่เป็นจริงครับ

krumontree pri training1สำหรับผมที่ยุ่งยากและปวดหัวมากที่สุด คือ การแบ่งแยกเอารายวิชาคอมพิวเตอร์ ออกมาจาก กลุ่มการงานอาชีพ (ในอดีตกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรามี 2 คาบต่อสัปดาห์ มีครูจากงาน 4 งานและกลุ่มคอมพิวเตอร์อีกจำนวน 3 คน พอรับไหว) คราวนี้มาแยกออกให้กลุ่มการงานรับไป 1 ชั่วโมง คอมพิวเตอร์รับมา 1 ชั่วโมง สัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว (แถมท้ายอีก คือจัดให้ทุกคน ทุกชั้นเรียน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อ๊ากซ์ซซซซ์ จำนวนห้องเรียนเพิ่มขึ้น 4 เท่า ชั่วโมงเพิ่มอีก 3 เท่า อิกคิวซังเจ้าปัญญาก็ปวดหมองแหละครับ)

ส่วนกลุ่มการงานหรือครับ สบายและตกงานกันเป็นแถวครับ ได้คนละ 4-6 ชั่วโมง คอมพิวเตอร์ได้คนละนิดหน่อยเองแค่ 3 หารก็ประมาณ 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อคน (ไม่ได้พูดผิด นี่ตามตัวเลขยืนยัน) คราวนี้ก็ต้องหาทางเพื่อให้มีห้องและคอมพิวเตอร์สำหรับการสอนก่อน ทางแก้คือไล่ที่เพื่อนๆ สำนักงานที่อยู่ข้างๆ ออกให้หมดแล้วยึดชั้นล่างอาคารทำเป็นห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ขยับไปขยับมาได้รวมเป็น 6 ห้องพอดี (เปิดเครื่อง 8.30 น. ปิดเครื่องทีเดียวตอน 16.00 น. พอไหวได้ครบทุกชั้นทุกห้อง)

ห้องเปล่าๆ ไม่มีเครื่องจะทำอย่างไรดี? สุดท้ายก็ลงที่การเช่าเครื่องจำนวน 186 เครื่อง (31 เครื่องต่อห้อง) โดยการขอการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และนักเรียนทุกคนช่วยสนับสนุนการเช่าใช้ เพื่อตัดปัญหาเรื่องการดูแลรักษาเครื่องที่เคยมีมาตลอด (ประเภทสอนไป ไขควงก็ไขถอดซ่อมไปด้วย) ทุกคนได้ใช้เครื่องใหม่เหมือนกันหมด สัญญาเช่า 3 ปี หมดสัญญาก็เช่าใหม่ ได้เครื่องใหม่ ติดตั้งโปรแกรมใหม่ๆ ได้ตลอด ไม่มีขยะเทคโนโลยีหลงเหลือในโรงเรียนอีก

เครื่องเก่าในห้องเรียนจะเอาไปไหน? เอาออกนอกห้องเรียนทำเป็นตู้อินเทอร์เน็ตออนไลน์ 24 ชั่วโมงติดตั้งตามบริเวณทางเดิน ชานบันได ลานข้างหอประชุม หรือซุ้มพักผ่อน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้ทุกที่ รวมทั้งเป็นบริการสาธารณะกับผู้มาติดต่อ หรือเยี่ยมชมโรงเรียนได้ด้วย ผมได้เสนอโครงการ ผ่านทางคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (ของโรงเรียน) เห็นชอบแล้ว สมาคมผู้ปกครองและครู ชมรมผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นต่างๆ เห็นด้วยเพื่อพัฒนาลูกหลานเขาให้ทันโลกเทคโนโลยี (ต้องทำการเตรียมตัว Present ให้ครอบคลุม ตอบปัญหาผู้ปกครองทุกด้าน และแยกประชุมทีละระดับชั้น มีเอกสารให้ผู้ปกครองตอบแบบสอบถาม ยืนยันการเห็นชอบกับโครงการด้วย)

ถ้าจะมัวแต่รองบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลก็คงอีกนานโข หรือจะรอผ้าป่าจาก เด็กชายปึก แป้นปีก ก็คงอีกนาน (ก็โรงเรียนมีตั้งเยอะในประเทศนี้ กลัวแต่จะเอาเครื่องเก่าๆ จากโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง (Trade in เครื่องเก่ามาแลกเครื่องใหม่ ICT) มาให้เป็นขยะในโรงเรียนเท่านั้นแหละครับ

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาของครูผู้สอนกันบ้าง ผมใช้วิธีนี้ครับ ชวนพรรคพวกที่ว่างๆ งานจากกลุ่มสาระการงานนั่นแหละ มาอัพเดทตัวเองใหม่ โดยอาสาจะจัดการอบรมความรู้ให้ เพื่อทำการสอนในวิชาพื้นฐานก่อนจนกว่าจะเชี่ยวชาญ รวมทั้งหลอกล่อด้วยว่า มาช่วยผมนั่งในห้องแอร์นะ (อานิสงส์จากการทำให้บรรยากาศการเรียนดี ครูเลยได้เย็นไปด้วย) ถ้าใครจะสละทางโน้นมาช่วยผมเต็มตัว จะจัดการอบรมให้เข้มข้นจนเป็นมืออาชีพได้ใน 2-3 ปี คนเรามันเรียนทันกันได้ ได้ผลครับมาช่วยกันพอสมควรทีเดียว

ผมก็ยกตัวอย่างตนเองนี่แหละ ครูมนตรีไม่มีปริญญาด้านคอมพิวเตอร์สักใบ (สักวิชาด้วยซ้ำ) ก็ยังฝึกฝนเองจนเชี่ยวชาญได้ ไม่ใช่เรื่องยากถ้าคิดจะทำ และที่สำคัญยังเป็นการปฏิรูปโลกกว้างทางความคิดของเรา จากการที่ได้สัมผัสและเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปพร้อมๆ กับนักเรียน (หรือบางคนคิดจะไปท่องเที่ยวโลกอโคจรในไซเบอร์สเปซก็ไม่รู้นะ) แต่ช่างเถอะ อย่างไรก็ได้เพื่อนมาช่วยแล้ว สบายใจไปอีกเปลาะ

ตอนนี้ก็เหลือแต่เพียง การดำเนินงานปรับปรุงห้องเรียนให้ทันเปิดเทอมใหม่ เครื่องให้เช่ามีผู้เสนอตนมาบ้างแล้ว ครบตามที่ต้องการในเงื่อนไขที่รับได้ และหาวันเวลาว่างๆ จัดอบรมให้เพื่อนๆ ตามพันธสัญญาก่อนเปิดภาคเรียน

และยังเป็นภาระในการสร้าง บทเรียนออนไลน์ ใช้ในปีการศึกษา 2547 นี้อีก โชคดีที่เพื่อนครูหลายคนตอบรับ และเห็นความสำคัญในการพัฒนาส่วนนี้ แม้จะไม่ทันการตามที่ สพฐ. ต้องการก็ตาม (ก็มีเรื่องมากมายที่ครูต้องทำในระหว่างปิดภาคเรียน ไม่ได้ว่างงานอย่างเจ้านายคิดนะครับ... ขอบอก งานทั้งหลายก็จากการสั่งการของพวกท่านนั่นแหละ) ว่าแต่หน่วยงานข้างบนจะสนับสนุนงบประมาณ หรืออุปกรณ์ให้พวกผมได้ลุยต่อหรือเปล่า? อย่ามัวแต่นังรอบนหอคอยเก็บเกี่ยวผลสำเร็จที่ท่านไม่ได้ลงมือสักหน่อยไป โปรโมต หน้าบานนะครับ

ขวัญกำลังใจ ได้รับจนล้นแล้ว ขอเป็นทรัพย์สินช่วยเหลือพวกผมบ้างเถอะครับ เจ้านาย!!!! (เซิร์ฟเวอร์สักตัว สายสัญญาณความเร็วสูงแบบ Lead Line 256 K สักเส้น) แค่นี้ ครูมนตรี สู้ขาดใจนะขอรับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 7 เมษายน 2547