webmaster talk

หนูจะรอ... แม้จะนานแสนนาน...

classroomเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากที่ตนได้พาคณะผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทาง พ.ต.ท.ทักษิณ มีความต้องการให้นักเรียนทั่วประเทศได้มีโอกาสใช้อินเตอร์เน็ตทุกคน ซึ่งต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอีก 250,000 เครื่อง และนายกฯ ทักษิณ ยังได้สั่งการให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ติดตั้งระบบโทรศัพท์ใน 10,000 โรงเรียน ที่ยังไม่มีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ ส่วนการจัดหาคอมพิวเตอร์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2549

ดังนั้น ภายใน ปีการศึกษา 2549 นักเรียนwmpทุกคนจะต้องได้ใช้อินเตอร์เน็ต โดยในอนาคตนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องมีคอมพิวเตอร์ใช้ในสัดส่วน 1:25 จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 1:70-80

การทำให้คนรู้จักโลกกว้างทางการศึกษา มองเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพสุจริต ด้วยการทุ่มงบประมาณลงไปที่การศึกษานั้น เกิดผลดีในระยะยาวมากกว่าการทุ่มเงินละลายแม่น้ำไปกับการแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะหน้า ผมยังคงยืนยันและเห็นด้วยกับคำกล่าวของ คุณลุงประยงค์ รณรงค์ (ชาวบ้าน ปราชญ์ ป. 4 ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซปีนี้) ที่บอกว่า "ถ้าคนจนยังไม่รู้ตัวว่าตนเองจน ต่อให้รัฐบาลทุ่มเงินนับแสนล้านบาท ก็ไม่มีทางทำให้คนไทยหายจนได้" คำตอบนี้อยู่ที่การศึกษาใช่ไหมครับ?

คิดใหม่ ทำใหม่ กับนโยบายการศึกษาของชาติ นี่ดูจะไม่เข้าท่าเสียแล้วล่ะครับ มันเหมือนพายเรือในอ่างวนไปวนมาจริงๆ ลองอ่านข่าวนี้ดูซิครับ นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้า การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ว่า คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการพัฒนารูปแบบ และกระบวนการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ศึกษาและพบว่า

หลักสูตรปี 2544 กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ไว้กว้างมาก มีความซ้ำซ้อน ไม่ชัดเจน และยังไม่ครอบคลุมองค์ความรู้ และวิทยาการใหม่ๆ นอกจากนี้ ครูและบุคลากรในสถานศึกษาส่วนใหญ่ ขาดความเข้าใจการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียนตามจุดเน้นของหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้น ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหา ได้กำหนดโครงสร้างหลักสูตรที่ระบุจำนวนชั่วโมง /หน่วยกิตทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งสาระการเรียนรู้พื้นฐาน สาระการเรียนรู้เพิ่มเติม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มุ่งพัฒนาด้านวิชาการควบคู่คุณธรรม จริยธรรม และเน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมกีฬา ดนตรี โดยมีจุดเน้นดังนี้

  • ช่วงชั้นที่ 1 ระดับ ป.1-3 เน้นภาษาไทย คณิตศาสตร์ ร้อยละ 50 ของเวลาเรียนทั้งหมด ส่วนกลุ่มสาระอื่นๆ ให้จัดในลักษณะบูรณาการผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายอีกร้อยละ 50
  • ช่วงชั้นที่ 2 ป.4-6 เน้นภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ร้อยละ 60 ส่วนกลุ่มสาระอื่นๆ ให้จัดลักษณะบูรณการกิจกรรมการเรียนรู้อีกร้อยละ 40 และควรจัดให้เรียนรู้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ควบคู่ด้วย
  • ช่วงชั้นที่ 3 ม.1-3 มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระเพื่อสำรวจความถนัด ความสนใจ และเลือกเรียนเพิ่มเติมตามความถนัดความสนใจ โดยให้เรียนภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 50 ส่วนวิชาสังคมศึกษา ศิลปะ สุขศึกษา และพลศึกษา การงานอาชีพ รวมร้อยละ 35 และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนประมาณร้อยละ 15
  • ส่วนช่วงชั้นที่ 4 ม.4-6 มุ่งให้ผู้เรียนเตรียมตัวเข้าสู่การเรียนเฉพาะทางเพื่อการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพ โดยให้จัดเรียนทุกกลุ่มสาระเพื่อเป็นพื้นฐานประมาณร้อยละ 30 และเลือกเรียนตามความถนัด ความสนใจ ประมาณร้อยละ 55 และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ประมาณร้อยละ 15"

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็ถึงบางอ้อว่า การถอยหลังเข้าคลอง (ย้อนกลับมาใช้หลักสูตร 2533) แบบไม่เสียหน้าเขาทำกันอย่างนี้นี่เอง ปล่อยให้ครูผจญชะตากรรมกับการนั่งเทียนเขียนหลักสูตร (ความจริงก็ลอกสลับหน้าสลับหลังนั่นแหละ) มาตั้ง 3 ปี ได้หลักสูตรชนิดใหม่ไม่เคยปรากฏในโลกมากกว่าหมื่นหลักสูตร แล้วเราก็ตั้งต้นกันใหม่อีกรอบ หรือนี่คือ กระทรวงไม่ทำจริง เรายังศึกษาอยู่ แม้จะศึกษามาแล้วกว่าร้อยปี คงได้บ่นกันไปอีกยาวล่ะครับเรื่องนี้

คราวนี้เรามาพูดถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์กัน หลายหน่วยงานพยายามผลักดันให้เป็นจริง หลายคนพูดถึงและฝันถึง แต่การเกิดขึ้นจริงยังมีปัญหาและอุปสรรคมากมายที่ต้องแก้ไข จากการทดลองปลุกปั้นมานานนับปีทำให้ได้พบสัจธรรมว่า "การจะให้ครูสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์เองนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ เสียแล้ว" แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ ยังคงทำได้ด้วยการเปลี่ยนกระบวนยุทธ์เสียใหม่ ต้องกำหนดบทบาทบุคลากรเพื่อสร้างทีมงานกันใหม่เพื่อให้ได้สื่อที่มีคุณภาพ

  • นักออกแบบการสอน ฟังชื่ออาจจะไม่คุ้นแต่ภาระกิจของเขาคือ คิดหาวิธีการสอนที่เหมาะสม (การสอนที่ไม่ได้เห็นหน้าปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนโดยตรง) กับการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กำหนดกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้เรียน รวมทั้งออกแบบวิธีการวัดและประเมินผล (อาจเป็นครูผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นก็ได้)
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา แน่นอนส่วนนี้คงต้องเป็นครูผู้สอนในแต่ละระดับชั้น เป็นผู้วางแผนและเรียงลำดับของเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักสูตร ค่าคะแนนในการประเมินผล ประสานความคิดกับนักออกแบบการสอนเพื่อให้ได้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมออกมา
  • นักเทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นผู้คิดออกแบบสื่อเพื่อใช้ในระบบให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ ช่วยปรับปรุงวิธีการให้สอดคล้องเหมาะสมร่วมมือกับนักออกแบบการสอนและผู้เชี่ยวชาญเนื้อหา รวมทั้งเป็นผู้ผลิตสื่อเหล่านี้ออกมาทดสอบใช้งาน ต้องมีความสามารถทั้งในด้านการออกแบบกราฟิก เว็บไซต์และสื่ออื่นๆ
  • ผู้เชียวชาญด้านเทคนิคระบบ เป็นผู้ดูแลแก้ไขปัญหาในการใช้งานระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หาวิธีการ/เครื่องมือช่วยทำให้งานของบุคลากรทั้งสามฝ่ายข้างต้นประสบผลสำเร็จ

ความสำเร็จของการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์จึงต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง มีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ จะให้แต่กำลังใจและคำยกย่องชมเชยนั้นคงไม่ได้เสียแล้ว ที่สำคัญทีมงานที่ว่านี้ต้องประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว มองเห็นเป้าประสงค์ข้างหน้าเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่อยากให้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนกับที่หน่วยงานต่างๆ กำลังทำกันอยู่ (ตั้งโครงการให้มีงบประมาณ แล้วช่วยกันผลาญด้วยการประชุมบนโรงแรมหรู ผลจะออกมายังไงฉันไม่รู้ แบบนี้เลิกทำกันเสียที ภาษีของผมด้วยเหมือนกันนะครับ)

อย่ามัวแต่หลงดีใจกับสิ่งที่เขากำลังมาล่อเพื่อสร้างคะแนนเสียง จนลืมลูกหลานเยาวชนไทยที่รออยู่นะครับ คงได้แต่บ่นกันไปตามประสาผู้น้อยที่แบกภาระหนักอึ้งอยู่บนบ่า ขอภาวนาให้งานเอกสารน้อยลงเสียที ถ้าใช้ไอทีจริงต้องลดภาระงานลงได้ อย่าให้เป็นสาระพัดอี (e-?????) ที่นิ่งสนิทเพื่อเอาไว้โชว์อย่างเดียวนะครับ พบกันใหม่คราวหน้าครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 18 ตุลาคม 2547