webmaster talk

แล้วเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก็เป็นจริงจนได้... ณ วันนี้!

new citizenเมื่อแรกเริ่มการปฏิรูปการศึกษาก็มีข่าวถึง การจะปรับเปลี่ยน "การรับนักศึกษาเข้าเรียน" ในมหาวิทยาลัย (Entrance = เอ็นสะท้าน กลัวสอบไม่ได้) นัยว่าเพื่อลดแรงกดดันของนักเรียน โดยหันไปใช้ค่า GPA/PR มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินและพยายามเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่ฟากตักศิลา (มหาวิทยาลัย) ไม่ได้มีความเชื่อมั่นในมาตรฐานที่หลายคนตั้งไว้สวยหรูเลย ผู้ปกครอง /นักการศึกษาหลายท่านก็คาดกันว่า ถ้ายังคงระบบนี้ไว้ผู้ที่จะเดือดร้อนคือ ตัวนักเรียนและผู้ปกครอง เพราะคงต้องวิ่งรอก เดินสายสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วยการรับตรงกัน เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็อยากได้เด็กหัวกะทิด้วยกันทั้งนั้น (แต่ระบบการคัดเลือกที่นำเอาค่า GPA/PR มาคิดด้วย มหาวิทยาลัยมองว่าจะได้เด็กที่มีคุณภาพถึงมาตรฐานที่ต้องการ เพราะอาจมีการปล่อยเกรดเพื่อยกระดับค่า GPA/PR และยังไม่ได้มีระบบวัดมาตรฐานมากำกับ)

ปีนี้เริ่มกันแล้วครับ...

การสอบตรงพ่นพิษ แค่เปิดนำร่องปี '48 ก็แข่งกันดุเดือด เด็ก ม.6 วิ่งรอกสมัครมหาวิทยาลัยรัฐ รับแค่พันคนแต่แห่สมัครถึงสองหมื่นแปด ต้องเสียค่าใช้จ่ายหนักเดือนละหมื่นห้า มหาวิทยาลัยเอกชนร้องจ๊าก ยอดนักศึกษาวูบหนัก ต้องอัดแคมเปญสู้ ทั้งขายเป็นกลุ่ม ลด แลก แจก แถม และงัดกลยุทธ์เคาะประตูบ้าน อัดงบฯ โฆษณาเพิ่มถึง 10% แล้ว นักวิชาการหวั่น ยิ่งสร้างโอกาสเด็กรวย ชี้ต่างคนต่างทำจะเกิดวิกฤตแรงงานครั้งใหญ่ "

student 07นั่นคือพาดหัวข่าวในเซ็กชั่นการศึกษาของหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้ผมต้องมานั่งคิดทบทวนในวันนี้อีกรอบ เพราะในจำนวนสองหมื่นที่ว่านั่นรวมหลานสาวผมคนหนึ่งไว้ด้วย แม่รับราชการไม่สามารถนำพาลูกไปสอบได้ ต้องอาศัยยายอายุหกสิบกว่านำหน้าเข้ากรุงเทพฯ ไปสอบวัดดวงซึ่งยังไม่แน่ว่าจะสมหวังหรือไม่? แล้วปีหน้า ก็ถึงคิวไอ้ลูกชายคนเล็กผมก็ต้องลงสนามเหมือนกัน ก็เลยอดหวาดวิตกไม่ได้ว่า ต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ในการตะลอนสอบหลายๆ ที่ ดูสถิติกันหน่อย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับ 1,190 คน มีผู้สมัครทั้งสิ้น 19,099 คน มีอัตราส่วนการแข่งขันสูงถึง 1:16 ขณะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดรับ 1,145 คน แต่มีผู้สมัครทั้งหมด 25,000 คน อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:21 ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงนักศึกษากันอย่างรุนแรง ที่โดนหางเลขไปด้วยก็คงเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

แม้เป้าหมายในการเปิดสอบตรงของมหาวิทยาลัยรัฐนั้น มีความพยายามในการคัดเลือกเด็กให้เหมาะสมกับความต้องการของมหาวิทยาลัยมากที่สุด แต่การทำแบบต่างคนต่างทำของแต่ละมหาวิทยาลัย มีผลกระทบอย่างยิ่งกับตัวนักเรียนและผู้ปกครองในระดับมากถึงมากที่สุด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ก็คือ เด็กต้องวิ่งรอกสอบทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายจากการสอบตามมา เฉลี่ยต่อคนประมาณ 12,000-15,000 บาท เพราะแค่ค่าใบสมัครหลักสูตรนานาชาติก็ปาเข้าไปถึง 500 บาทแล้ว

มหาวิทยาลัยมองแต่เพียงว่า ต้องการเลือกเด็กที่เก่งที่สุด มีคุณภาพที่สุดให้ตัวเอง แต่หากพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะเห็นว่าไม่ได้อยู่ที่คุณภาพหรือการแก้ไขปัญหาระบบเอนทรานซ์ แต่ยิ่งเกิดช่องว่างระหว่างเด็กรวยกับเด็กจนมากยิ่งขึ้น ทำให้คนมีเงินมีโอกาสมากขึ้น และจะกลายเป็นมะเร็งร้ายของระบบการศึกษาไทยต่อไปในอนาคตแน่นอน

ปัญหานี้ยังไม่มีคำตอบ... ดูเหมือนว่าเรากำลังจะหลงทิศหลงทางกันไปในดงทึบ ของการปฏิรูปการศึกษาที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงเลย ณ วันนี้ การปฏิรูปไปเน้นหนักที่การปรับเปลี่ยนกำลังคนหาที่นั่งให้ตนเอง แย่งกันตะกายเข้าสู่แท่งโน้นแท่งนี้ ใครจะได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ทะเลาะกันเละ ออกมาโวยวายกันเพียบ มีชมรม สมาคมปกป้องพรรคพวกข้าพเจ้าเกิดขึ้นมากมาย (บางสมาคมยังชอบอ้างเอาพวกกระผมครูน้อยๆ นี่ว่าตั้งท่านทั้งหลายเป็นตัวแทนซะอีกแนะ ขอบอกว่ายังไม่เคยตั้งใครนะครับ อย่าโมเม) แทนที่การปฏิรูปนั้นจะมีผลลงไปยังเยาวชน ไปยังชุมชนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปล่าเลยครับ... ตอนนี้ปฏิรูปตำแหน่งกันยังไม่เสร็จไม่ลงตัว อีกนานซักเท่าไหร่ที่การปฏิรูปการศึกษาจะยกสังคมรอบข้างไปเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้เสียทีหนอ...

ศ.น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า "ตอนนี้การปฏิรูปการศึกษาเป็นแต่เพียงเรื่องของการพูดคุยในเรื่องอำนาจ เรื่องตำแหน่งแล้วก็เรื่องจัดการแท่งต่างๆ แต่จริงๆ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาต้องลงไปที่การเรียนรู้ของประชาชนทั้งในระบบและนอกระบบ ถึงจะได้ผลดีต่อประชาชนต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง"

ในมาตรา 81 ระบุว่า รัฐต้องสนับสนุนให้การจัดการศึกษาเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยรวมถึงโรงเรียนหลายแห่งก็นำไปใช้เป็นคำขวัญ เป็นวิสัยทัศน์ แต่ในทางปฏิบัติจะจบแค่วิสัยทัศน์หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สนับสนุนในเรื่องของการศึกษาพลเมือง ซึ่งยังไม่ได้ทำ

การศึกษาพลเมืองเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นพื้นฐานของประชาสังคม หมู่บ้าน ตำบล ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกัน เราจำเป็นจะต้องมาคุยกันในเรื่องนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้และจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนพวกเราทุกคนมีหน้าที่ต้องสนับสนุนเรื่องการศึกษาพลเมือง มิฉะนั้นจะต้องเจอปัญหาเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็น การเมืองน้ำเน่า การคดโกง ความเห็นแก่ตัว สำนึกสาธารณะ อยู่เรื่อยไป

เรื่องของ "พลังแห่งชีวิต" ทอล์คออฟเดอะทาวน์ในวันนี้

ท่ามกลางความขัดแย้งทางภาคใต้ ที่หลายๆ คนมองว่า อาจเป็นปัญหาระหว่างมุสลิมกับพุทธ พอพลังแห่งชีวิตของศาสนาคริสต์แทรกเข้ามาในประเทศตอนนี้ ก็เลยเป็นที่จับตากันไปใหญ่ว่า พลังแห่งชีวิตกำลังอาศัยจังหวะนี้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ประกอบกับการใช้รูปแบบการเผยแพร่ที่แปลกกว่าศาสนาอื่นด้วยการยิงสปอร์ตทางทีวีถี่ยังกับโฆษณาสินค้า เลยทำให้หลายๆ คนสงสัยว่า ทั้งหมดทั้งปวงนี้เพื่ออะไร

power lifeล่าสุด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานขอความร่วมมือกรมประชาสัมพันธ์ ให้สั่งแบนงดเผยแพร่สปอต โฆษณา หนังสือเผยแผ่คริสต์ศาสนาพลังแห่งชีวิต และไปฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่า เป็นการโฆษณาเกินจริง นี่ก็เรียกว่า อาการน้ำลายฟูมปากแบบ Go So Big (ไปกันใหญ่แล้วจริงๆ)

การมองโลกที่คับแคบเช่นนี้ก็มีด้วย ทำไมเราไม่เปิดใจให้กว้างหน่อยว่า ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคำสอนให้คนประพฤติดี ทำดี รักและเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ผมไม่ได้มองว่า การแจกหนังสือเล่มนี้จะทำให้พุทธศาสนาล่มสลายได้เลย หากจะล่มก็ล่มเพราะคนในวงการพุทธศาสนานี่เองแหละ ที่ทำลายความรัก เคารพและศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน แข่งกันเข้าไปกับการสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่สุดในโลก (อยู่ทำกิจกรรมอะไรกันกี่คน ปีหนึ่งใช้กันกี่วัน) เอาเงินจำนวนพันล้านนั้น มาเผยแผ่ให้คนเข้าใจให้ถึงแก่นพระพุทธศาสนาไม่ดีกว่าหรือ?

นี่เป็นแค่กลยุทธ์ทางการตลาดธรรมดาเท่านั้นเอง แต่ก่อนพระเจ้า (ป้ายเหลืองๆ) อยู่ตามปลายยอดต้นไม้สูงริมทาง (ที่ผมตอบคำถามลูกไม่ได้ว่าใครเอาไปติดทำไมสูงจัง?) พอเขาลงมาออกทางสื่อหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์เข้าเท่านั้นแหละ สะดุ้งเลยเชียว บางทีพระพุทธศาสนาน่าจะเผยแผ่เชิงรุกกันได้แล้ว อย่างน้อยๆ ก็น่าจะทำให้ปัญหาสังคมของคนยุคนี้เบาบางลง เพราะความยับยั้งชั่งใจ กลัวผิดบาป อย่าเอาแต่เสกน้ำมนต์ ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เรี่ยไรสร้างสิ่งสมมุติที่ไม่มีคุณค่าอยู่อีกเลย มาสร้างจิตใจคนไทยให้เข้มแข็งเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีกันดีกว่า

อย่าลืมเสียล่ะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุไว้ว่า "ประชาชนชาวไทยมีสิทธิ เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาที่ตนเองเคารพศรัทธา" ต้องเปิดใจให้กว้างในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องโหดร้าย ไม่ต้องกลัวว่าชาวไทยจะเปลี่ยนไปเป็นคริสต์กันหมด มีพระบางรูปให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์พูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่า รูปแบบที่เขาทำเป็นตัวอย่างที่ดี พุทธศาสนามีคำสอนที่ดีมากๆ แต่คนสอนคนฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่เอาวิธีการแบบนี้ไปสอนทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมก็นับถือพุทธศาสนา นับถือคำสอนและศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ก็ไม่เห็นว่าเรื่องนี้เสียหาย กลับชื่นชมที่ผู้ที่ศรัทธาศาสนานั้นๆ จะขมักเขม้นในการเผยแผ่ศาสนาของตนเอง สำนักพระพุทธศาสนาน่าจะออกมาทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างนี้บ้าง จะไม่ดีกว่าไปอิจฉาในกลยุทธ์ของเขาหรือครับ?

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 12 พฤศจิกายน 2547