webmaster talk

รำลึกถึงวันวาน... ผ่านเหตุการณ์ใน พ.ศ. นี้

teacher childในวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา หลายๆ ท่านคงได้รับฟังกระแส พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นมิ่งมงคลยิ่งที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ทรงห่วงใยในอนาคตของบุตรหลาน เยาวชนไทยใน พ.ศ. นี้ ทั้งเรื่องการเที่ยวเตร่ในแหล่งบันเทิง การเสพสิ่งเสพติดต่างๆ ซึ่งตกอยู่ในวังวนแห่งความชั่วร้ายและจะทำลายอนาคตของชาติบ้านเมืองในวันข้างหน้า

เราจะโทษใครดี?... [ ครู | นักเรียน | ผู้ปกครอง | สังคม | หลักสูตร | กรรมแต่ปางก่อน ]

ความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้เยาวชนทุกคนเป็นคนดี แต่บัดนี้ก็มีภาพสะท้อนออกมามากมายแล้วว่า เยาวชนของเราเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่ ในหน้าหนังสือพิมพ์และจอโทรทัศน์มักจะมีข่าวใหญ่ให้เห็นเสมอ ถึงการกระทำความผิด (หลักกฏหมาย) และศีลธรรม จนพ่อแม่ผู้ปกครองอิดหนาระอาใจ สดๆ ร้อนๆ ก็ใกล้ๆ ตัวผมนี่แหละ นักเรียน ม. 1 ม. 2 เปิดห้องโรงแรมมั่วสุมเล่นไพ่ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเบียร์ และต่อไปจะทำอะไรยังไม่แน่ เพราะโดนรวบเสียก่อน (ห้องข้างๆ เขาหนวกหูรำคาญเสียงดัง โทรแจ้งตำรวจ) พลันก็มีคำถามตามมาทันทีว่า "ทำไม? ครูไม่ดูแล" นั่นนะซิ!

ถามแบบนี้ก็ตอบได้ไม่ยากหรอก เพราะผม (ครู) อยู่ ร.ร. (โรงเรียน) ไม่ได้อยู่ รร. (โรงแรม) เลยไม่เห็น เด็กไม่มาให้เห็นหน้าเลยที่โรงเรียน แต่ดันไปโผล่ที่โรงแรม จะให้ทำอย่างไร?

คงต้องช่วยกันแล้วล่ะครับ ตั้งแต่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์และสังคมรอบข้าง กรณีศึกษาข้างบนนั่นมีคำอธิบายได้ว่า

  • พ่อ-แม่ เลี้ยงลูกกันอย่างไร? เท่าที่ผมได้สอบถามจากเด็กบางคนในกลุ่มพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนที่อยู่นอกเขตพื้นที่บริการของเรา (บางคนอยู่ต่างจังหวัดห่างจากที่เกิดเหตุมากกว่า 100 กิโลเมตร) มาอาศัยอยู่ตามบ้านเช่าหรือหอพัก (เถื่อน) ทั้งหลายที่มีมากมายราวกับดอกเห็ด ได้รับเงินรายสัปดาห์บ้าง รายเดือนบ้าง เหงา ว้าเหว่ ไม่รู้จะพึ่งใคร นอกจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม จนมีการนัดมั่วสุมที่บ้านเช่า หอพัก ตอนหลังเจ้าของที่พักเขากวดขันมากขึ้น เลยต้องไปเปิดห้องในโรงแรมชั้นสอง (ราคาถูก)
    ส่วนตัวหัวโจกนำทีมเจ้าความคิดไปเปิดห้องพักเป็นเด็กในเมือง (ลูกข้าราชการมีสีซะด้วย) แต่ดูเหมือนจะขาดความอบอุ่น เพราะกลับบ้านทีไรพ่อกับแม่แตกความสามัคคีถึงขั้นลงไม้ลงมือกันบ่อยๆ
  • สังคมรอบข้าง (ผู้ประกอบการ) ก็มีส่วนด้วย ตั้งแต่ความอยากได้เงินจนลืมนึกถึง "จริยธรรม" ในการประกอบการ เด็กในวัย 13-14 ปี มาเปิดห้องพักทั้งหญิงและชายได้อย่างไร (เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ บอกว่า เด็กเขาจะมาติวก่อนสอบกัน) ผมก็ไม่เข้าใจว่า การติวนี่ต้องใช้โรงแรมหรือ? แล้วต้องสั่งเหล้าเบียร์ไปเป็นอุปกรณ์ประกอบการติวด้วย? ไม่ใช่ขวดสองขวด แต่นี่นับได้เป็นลังเลยเชียว (ทราบภายหลังว่าโดนข้อหาขายสุราให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย)
    ทำนองเดียวกับร้านเกมทั้งหลาย ที่เห็นๆ อยู่ว่ายังอยู่ในคราบนักเรียนเวลา 9 โมงเช้า ก็ยังเปิดให้เล่นกันเต็มหลังร้าน (หน้าร้านมี 4-5 เครื่อง ให้พวกธรรมดาเล่นบังหน้าไว้) สิ่งเหล่านี้ก็ต้องมีการกวดขันกันบ้างแล้ว
  • ครู-อาจารย์ ก็มีส่วนด้วย ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ที่ตั้งใจก็โดยการคาดโทษเอาผิดโดยไม่ถามหาสาเหตุ หรือสืบดูข้อเท็จจริง จ้องจะจัดการวางอำนาจลูกเดียว เรียกว่าใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ เด็กกลัวลนลาน (สะใจครู) นานเข้าจากกลัวกลายเป็นเกลียด และหนีเรียนในที่สุด ที่ไม่ตั้งใจก็อย่างเช่นการเปิดช่องว่าง ถ้าเธอไม่อยากมาเรียนก็ไม่ต้องมาเรียน ฉันไม่ได้อยากสอนเธอนักหรอก (อันนี้ได้ยินมากับหูบ่อย) ก็เลยเหมือนการชี้โพรงให้กระรอกไปเลย

มองดูละครแล้วย้อนดูตัว.... ยิ้มเยาะเล่นหัว...

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุดเดี๋ยวนี้กลับเป็น "สื่อสารมวลชน" มากกว่าอย่างอื่น บางเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่กลับถูกประโคมให้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ติดตามกัน (ไม่รู้เพื่อการสะใจใคร?) ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นมีมากขึ้น อยากลอง อยากทำตาม ทำให้เกิดเรื่องราวที่ไม่คาดคิดมากขึ้นหลายๆ เหตุการณ์ในสังคม คดีที่เกิดขึ้นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นเยาวชนมากขึ้น และระดับอายุของผู้กระทำผิดเริ่มลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย ตั้งแต่การเสพสารเสพติด การข่มขืนกระทำชำเรา รวมทั้งการอนาจารอื่นๆ

อยากยกกรณีตัวอย่างของโทรทัศน์ที่เสนอละครแบบ "สะท้อนชีวิตชาวบ้าน" (วัยรุ่นเรียก แบบบ้านๆ วัยเก๋าเรียก น้ำเน่า) หลายเรื่องที่นำเสนอพฤติกรรมของเยาวชนแก่แดดออกสู่สาธารณะ ตั้งแต่การจับกลุ่มตั้งแก๊งค์ เที่ยวกลางคืน เสพสุรายาเมาและโทรมหญิง แม้ผู้จัดละคร (รวมทั้งสถานี) จะอ้างว่า เสนอพฤติกรรมของคนเลวที่ตอนสุดท้ายก็ได้รับผลกรรมที่ก่อทุกเรื่อง น่าจะสอนคนให้ทำดีได้ แต่เชื่อผมเถอะ คุณเสนอบทบาทของความเลวร้ายสะใจคนดูกว่า 10-20 ตอน ตลอดระยะเวลา 2-3 เดือน ที่ทำให้คนดู (เยาวชน) จำติดตา จนอยากเลียนแบบ ในขณะที่คุณเสนอบทบาทการได้รับผลกรรมของการกระทำแค่ 3 นาทีในตอนสุดท้าย สิ่งไหนมันน่าจดจำมากกว่ากัน?

children2สิ่งที่เราพบเห็นกันในวันนี้คือ เยาวชนของเราขาดความเอาใจใส่ในการเรียนมาก นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ผมอยากนำเสนอและให้ทุกท่านลองวิเคราะห์กันดู ว่าเท็จ-จริงแค่ไหน?

ความล้มเหลวของระบบการจัดการศึกษา ด้วยการอ้างของนักวิชาการ (ที่ข้ามน้ำข้ามทะเล) ไปเล่าเรียนเขียนอ่านยังต่างประเทศ กลับมาแล้วไม่ได้มองถึงรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง ต้องการแก้ไขให้ศิวิไลซ์เหมือนประเทศอื่น จนลืมบริบทด้านสังคม และวัฒนธรรมของไทย ผนวกกับลมปากของนักการเมือง ที่ไม่เคยสัมผัสกับการจัดการศึกษาของไทย กำหนดนโยบายเพื่อสนองฐานคะแนนเสียงของตน มองเห็นภาพการสร้างกำลัง (สมอง) คน เหมือนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เมื่อขึ้นสายพาน การผลิตแล้วต้องไม่ตกหล่น (สอบตกไม่ได้ ครูผิดอีกแล้ว) แล้วใครได้ใครเสียกันแน่?

สิ่งที่ขาดไปในหลักสูตรยุคปัจจุบัน (ครูรุ่นใหม่อาจจะไม่ทราบ แต่รุ่นเก๋าคงจะจำได้ อันนี้ไม่เกี่ยวว่าเป็นครูยุคพัฒนาหรือไม่? นะครับ) ที่พอจะมองเห็นก็คือ

  • เรื่องของการวัดและประเมินผล ไม่ทราบว่าเป็นนโยบายบ้าบอของใครคิดขึ้นมา (ผมก็จำไม่ได้) ที่ต้องการให้นักเรียนเรียนผ่านทุกคน ไม่มีการซ้ำชั้น คนหนึ่งเรียนและทำงานส่งครูจนครบได้เกรดหนึ่ง อีกคนไม่สนใจเรียน หนีเรียน ติดศูนย์แต่พอแก้ตัวนิดๆ หน่อยๆ ก็ผ่านได้เกรดหนึ่งเหมือนกัน ใครเข้มเต็มประสิทธิภาพเด็กนักเรียนตกไม่ผ่านการประเมินดันถูกเพ่งเล็ง ทั้งๆ ที่เขามีมาตรฐานในการวัดผลดีเยี่ยมและมีความตั้งใจจะให้ศิษย์ได้ดี
    ผมยังอยากเห็นการประเมินที่ต้องซ้ำชั้น ถ้าเด็กเรียนอ่อนจริงจนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการเรียน (ข้อนี้พูดหลายครั้งแล้ว) ไม่ต้องกลัวว่านักเรียนจะตกจนล้นโรงเรียน ไม่มีที่จะเรียน ข้อนี้รับรองได้ว่าจะมีการพัฒนาทำให้คนเป็นยอดนักสู้ในการเรียนได้ (ยังจำสมัยตกซ้ำชั้น ม. แปดกันได้ไหมครับ รุ่นเก๋าๆ คงจำได้ดี) มันมีพลังแห่งความมานะพยายามอย่างยิ่งยวด ไหนจะไม่ทันเพื่อน ไหนจะอายรุ่นน้อง ทำให้ต้องสู้ตายโว้ย! จนทุกวันนี้
  • เรื่องของการท่องสูตรคูณและอาขยาน มันหายไปไหนหมดแล้ว? เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีเครื่องคิดเลข ไม่มีนาฬิกาดิจิตอล หรือโทรศัพท์มือถือ เยาวชนของเราแทบจะคิดเลขในใจไม่ได้ คูณเลขไม่เป็น ผมยังยืนยันว่า การท่องสูตรคูณทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ไปได้ดี และไม่ทำให้คนสิ้นคิดเอาแต่ท่องจำแน่นอน การท่องบทอาขยานจะทำให้เกิดความรักและความงามทางภาษาทั้งไทยและอังกฤษ ช่วยให้เขาได้รู้จักว่า ภาษาที่สละสลวยใช้กันอย่างไร?
    และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้กลับมาคือ การเขียนเรียงความทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เยาวชนสมัยนี้อย่าว่าแต่เขียนเลยแม้การพูดก็ยังใช้ภาษามั่วปนเปจับต้นชนปลายไม่ถูก อธิบายสิ่งที่เป็นความต้องการของตนออกมาไม่ได้ด้วยซ้ำ ถ้าครูออกข้อสอบแบบอัตนัยนี่ตรวจง่ายกว่าปรนัยเยอะ เพราะเขาจะไม่มีคำตอบใดๆ เลยให้ตรวจนะซิครับ
  • เรื่องของจริยธรรม คุณธรรมและหน้าที่พลเมือง เดี๋ยวนี้จะมีวิชาที่สอนเรื่องเหล่านี้เป็นการเฉพาะน้อยมาก (แบบว่าเขาเอาไปบู (บูรณาการ) จนไม่เห็นร่องรอยด้วยซ้ำ) ซึ่งจริงๆ แล้ว คนไทยทุกคนต้องรู้จักสิทธิ หน้าที่ และข้อกฏหมายเบื้องต้น เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข มีสัมมาคารวะ มิตรไมตรีต่อกัน เอาเข้าจริงเวลาที่เราได้ยินมาว่า ต้องเพิ่มเติมวิชาพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นๆ นั้น เรากลับได้พบว่าสิ่งที่เพิ่มเติมคือ กระพี้ของศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่แก่นแท้ซึ่งเป็นธรรมะจริงๆ เราเรียนเรื่องประวัติศาสดามากกว่าแก่นของคำสอนที่สอนให้คนเป็นคนดีหรือเปล่า?
    ทุกศาสนามีแก่นที่ความรักและเป็นมิตรไมตรี ทำดีละเว้นชั่ว (แต่ผมได้พบเห็นครูต่างสำนักในโรงเรียนเดียวกันทะเลาะกันออกบ่อย จนได้แยกห้องกันอยู่คนละอาศรม ทั้งๆ ที่สอนให้นักเรียนประพฤติธรรม เป็นคนดี รักและสามัคคีกันแท้ๆ)

คงต้องเริ่มแก้ไขกันอย่างจริงจังในวันนี้ ไม่ต้องทำแบบไฟไหม้ฟาง (เพราะเห็นมาประกาศออกมาตรการปลายเหตุกันเป็นแถว ทั้งกระทรวงมหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข) เราต้องแก้กันที่ต้นเหตุของปัญหา จึงได้เสนอมุมมองของครูไทยคนหนึ่งในวันนี้ ถือว่าเป็นการบ่นส่งท้ายปีก็แล้วกันนะครับ เราน่าจะมีสิ่งดีๆ มอบให้กับเด็กและเยาวชนไทยในวันเด็กปีหน้า

ปีหน้าก็เลือกตั้งใหม่ จะได้คนใหม่หรือคนเก่าก็ไม่รู้ อาจจะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ก็ได้ ท่านใดมีอำนาจวาสนาจะสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผมบ่นไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ก็ขอได้ทำเถิด ไม่ต้องกลัวว่าจะล้าหลังถอยหลังเข้าคลองหรอกครับ ถ้าไม่แก้เสียแต่วันนี้ ปล่อยให้ถึง 4 ธันวาคม 2548 เราคงจะได้รับฟังพระราชดำรัสที่กล่าวถึงอนาคตลูกหลานไทยอีกแน่ๆ ต้องช่วยกันเพื่อพ่อหลวงของเราแล้วล่ะครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 9 ธันวาคม 2547