webmaster talk

วันนี้ขอนำเรื่องราวในบ้านเรามาเล่าสู่กันฟังใน "มุมมองของผม" ที่มีต่อแนวทางการจัดการศึกษาของชาติในอีก 4 ปีข้างหน้าของรัฐบาลทักษิณ 2/1 ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ยังไม่ทราบว่าใครคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาจะว่าอย่างไร? ด้วยซ้ำ ก็ได้แต่คาดหวังน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

taksin"วันนี้ผมมาที่นี่คุ้มจังเลย ได้เรียนรู้ อะไรเยอะ" คำพูดที่ออกจากปากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังจากนั่งเป็นประธาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาชาติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 ที่โรงแรมโซฟิเทลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก ที่มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั่งเป็นประธาน แต่การประชุมครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีความแตกต่างจากทุกๆ ครั้ง เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ "การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการปฏิรูปการศึกษา" แต่เป็น "การประชุมเชิงปฏิบัติการ   เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการศึกษาชาติ" และถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญ ที่ผู้นำประเทศแสดงอาการชัดเจน ถึงความพึงพอใจกับข้อมูลที่ได้รับฟังจากปากของผู้ปฏิบัติโดยตรง จำนวน 150 คน ซึ่งมีทั้งผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษา

การเลือกผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ผมไม่ทราบที่มาที่ไปนะครับว่า เลือกอย่างไร ใช้เกณฑ์ไหน ก็ได้เห็นรายชื่อบางส่วนจากทางเว็บไซต์ สพฐ. แบบประกาศด่วนที่สุดก่อนการประชุมไม่กี่วัน และมีรายชื่อว่างแบบปลายเปิด ให้ทางเขตเลือกไปเพิ่มเติมให้ครบด้วย (แหม.. ช่องว่างนั้นดันไม่มีที่เขตผม เผื่อจะได้ไปแสดงความคิดเห็นกับเขาบ้าง อดเลย... พูดแบบว่าจะมีคนเขาเลือกให้ไปยังงั้นแหละ)

ausie 11เนื้อหาของการประชุม หลายท่านก็คงได้อ่านกันบ้างแล้ว จากหนังสือพิมพ์ จากการสรุปที่ปรากฏบนเว็บไซต์หลายแห่ง ปัญหาที่พอจะสรุปออกมาได้ในประเด็นของนักเรียนนั้นน่าสนใจมากทีเดียว เช่น ต้องการ ครู อาจารย์ที่เข้าใจ สนใจเด็ก และมีจำนวนเพียงพอที่จะจัดการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระวิชา ต้องการสื่อการสอน ทั้งคอมพิวเตอร์/อินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ต้องการอาคารเรียน ห้องเรียนที่เพียงพอ รวมไปถึงหนังสือเรียนที่ดี มีราคาถูก อยากให้จัดโรงเรียนสำหรับ "ผู้พิการ" ให้มากกว่าที่มีในขณะนี้   และโรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญกับการรับเด็กพิการเข้าเรียนร่วม รวมถึงปัญหาที่ครูบางคนให้งานมากจนไม่มีเวลาพักผ่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ

แต่ที่น่าสนใจที่สุดและไม่น่าเชื่อว่า จะเป็น ข้อเสนอจากนักเรียน คือ ต้องการให้มีการรื้อฟื้นไม้เรียว เพื่อรักษาวินัยในการเรียนของนักเรียนด้วยกัน อยากให้มีการสอบแบบอัตนัยมากขึ้น เพราะจะช่วยให้นักเรียนเขียนและอ่านได้มากกว่าการสอบแบบปรนัย ตลอดจนอยากให้นำรูปแบบตกแล้วซ้ำชั้นมาใช้อย่างจริงจัง เพราะอย่างน้อยจะเป็นการฝึกวินัย และความรับผิดชอบของนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนบางคนไม่ค่อยสนใจเรียน เพราะเรียนบ้างไม่เรียนบ้างก็ผ่าน และที่ครูเจ็บสุดๆ คือ หากสอบตก ครูบางคนก็ให้ซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน หรือให้จ่ายเงินเหมือนกับการซื้อเกรด ก็สอบผ่านได้แล้ว

ausie 12ส่วนเสียงสะท้อนจากฝ่ายครู ผมอ่านดูแล้วดูจะห่วงเรื่องตัวเองมากไปหน่อย ผมว่ามันวนอยู่แต่ใน เรื่องยศ เรื่องตำแหน่ง (อาจารย์แปดร้อยจำพวกที่เถียงกันอยู่นั่นแหละ) เรื่องเงินเดือน เรื่องหนี้สิน ซึ่งบางอย่างมันเกิดจากตัวครูเองเป็นผู้ก่อขึ้น หน้าใหญ่ใจกว้าง จมไม่ลง ทำนองนั้นครับ เลยพอกหางหมูขึ้นไปเรื่อยๆ (ผมก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้อยู่แต่ก็ฉากออกได้ไม่ยากหรอกครับ คือ มีหนี้เหมือนกัน แต่ผมรู้กำลังของผมว่ามีเท่าไหร่? จะทำอย่างไร? จำได้ไหมครับ "เป็นครูบ่กู้แต่ระเบิด" สุภาษิตในวงเหล้า) ที่สำคัญครูไม่ต้องการโอนไปอยู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ซึ่งเรื่อง การถ่ายโอนการศึกษาให้กับ อปท. เหมือนมีการส่งสัญญาณจากนายกทักษิณว่า จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. กำหนด ขั้นตอนและกระจายอำนาจ ในส่วนที่กำหนดระยะเวลาการถ่ายโอนโรงเรียนให้กับ อปท. เหมือนเป็นการบังคับ  ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความพร้อม จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จากนี้ไปให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันดูแลโดยที่ยังไม่ต้องถ่ายโอน เมื่อมีความพร้อมแล้วค่อยมาพูดเรื่องนี้กันอีกที

ด้านพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง อยากให้มี "การอบรมและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กให้กับครู" ทั้งอยากเห็นโรงเรียนรัฐบาล เน้นการสอนภาษาอังกฤษ เหมือนโรงเรียนเอกชนที่มีครูต่างประเทศมาสอน (ทั้งๆ ที่อยากใช้บริการฟรี โรงเรียนจะระดมทุนเพื่อดำเนินการก็ออกมาเต้นเหย็งๆ คัดค้าน) ต้องทำความเข้าใจเรื่องเรียนฟรีเสียใหม่ แล้วให้ชัดเจนว่า "รัฐสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคน ด้วยงบประมาณรายหัว หากต้องการสิ่งพิเศษเพิ่มเติม ชุมชน ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการระดมทุนสนับสนุนการศึกษา" เลิกเสียทีเรื่องเรียนฟรีใน พ.ร.บ. ก็บอกไว้ชัดเจน (จ้างฝรั่งที่มีดีกรีเป็นครูสอน ไม่ใช่ฝรั่งซำเหมามาเที่ยวนี่เดือนหนึ่งอย่างน้อยๆ ก็เดือนละสามถึงห้าหมื่นบาทนะครับท่าน บ่แม่นเดือนละหกเจ็ดพันคือครูไทยอัตราจ้างเด้อ)

ครับทุกสิ่งที่ได้พูดกันในที่ประชุมในครั้งนี้ผมก็ได้แต่หวังว่า ความเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และท่านทั้งหลายเหล่านั้น จะไปปรากฏในนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาและคณะ จะนำไปปฏิบัติสมกับที่นายกรัฐมนตรีได้ปรารภไว้ ส่วนความเห็นของผมนั้น อยากให้รัฐบาลลดขนาดของโรงเรียนลงให้อยู่ในระดับนักเรียนไม่เกิน 1,000 คน บุคลากรครู-อาจารย์เจ้าหน้าที่สัก 50 คน เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัว มีทรัพยากรเพียงพอต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ไม่ใช่การเล่นเก้าอี้ดนตรี แล้วเราจะสามารถรับประกันคุณภาพทางการศึกษาได้อย่างที่หวัง ส่งเสริมครูให้เป็นมืออาชีพที่แท้จริง ไม่ต้องไปกำหนดค่าจ้างเงินเดือนหรอกครับ ถ้าครูดีมีฝีมือประกันคุณภาพได้ ชุมชนจะทุ่มงบซื้อตัวมาสอนในโรงเรียนของตน (ผมอยากให้เป็นเหมือนสโมสรฟุตบอลในยุโรปที่ซื้อตัวนักเตะนั่นแหละ) ผู้บริหารโรงเรียนก็จะต้องมีการสมัครเข้ารับการคัดเลือกจากชุมชน ถ้าไม่ดีก็ปลดไป ผู้บริหารนักวิ่งไร้ฝีมือเชิงบริหาร จะถูกยกเลิกและสูญพันธ์ไปในที่สุด ลองคลิกไปอ่านเรื่องเก่าที่เคยเล่าไว้เมื่อปี 2546 ซิครับ

boythaiระหว่างที่เขียนบทความนี้ ก็ได้ดูโทรทัศน์ไปด้วยเลยมีเรื่องมาคุยครับ คุณพระช่วย รายการทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวีครับ ผมติดตามมาโดยตลอด และก็ชื่นชมมากที่สุดในบรรดารายการวาไรตี้โชว์ เพราะความเป็นไทย สำนึกไทยที่นำเสนอนั้นมันช่างประทับใจเหลือเกิน อยากให้ครู-อาจารย์ได้แนะนำนักเรียนให้ได้ดูกันมากๆ ครับ

นอกจากความรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมแล้ว ความงามทางภาษาจากการแข่งขัน การนำเสนอเรื่องราวที่มาที่ไปของวรรณคดี การแสดงต่างๆ อันทรงคุณค่าจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ได้เห็นถึงการแสดงออกของเยาวชนลูกหลานไทยแล้ว ผมอดชื่นชมไม่ได้เลยต้องบอกกล่าวกัน ณ ที่นี้ว่าคุ้มค่าจริงๆ วันนี้ได้ความคิดเรื่องการอนุรักษ์ดนตรีไทยครับ "เราต้องให้โอกาสเด็กเขาได้แสดงออก ในรูปแบบของสากลบ้าง ด้วยเครื่องดนตรีไทย สำเนียงไทยแต่ใช้อย่างสากล" อย่างที่ วงบอยไทย และวงกำไล ได้แสดงให้เห็นวันนี้ เหมือนวงดนตรีหญิงล้วนของจีน ที่นำดนตรีจีนมาเล่นเพลงคลาสสิกของเบโธเฟ่น โมสาร์ทได้อรรถรสไปอีกแบบ ลองติดตามดูนะครับแล้วท่านจะชื่นชมอย่างผม

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 7 มีนาคม 2548