foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

Thai e-Learning 2005 : การเสวนาเรื่อง การจัดทำอีเลิร์นนิ่งในประเทศไทย

suandusit 02วันนี้ผมเดินทางไปร่วมงานเสวนาเรื่อง การจัดทำอีเลิร์นนิ่งในประเทศไทย : Thai e-Learning 2005 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มาครับ ก็ได้รับฟังความคิดเห็นจากท่านผู้รู้ ในแวดวงการศึกษาไทยเรา ที่พยายามทำเรื่องนี้กันอยู่ บางส่วนก็ดูจะเป็นเรื่องเพ้อฝันกันอยู่เลย (ถ้าผู้พูดคือนักบริหาร มีหรือจะยอมรับว่าหน่วยงานข้าพเจ้ายังไปไม่ถึงไหน)

แต่ในส่วนวงการคนทำนั้นบอกได้เลยว่า หนทางในวันข้างหน้านั้นยังอีกยาวไกลมากนัก เราขาดตั้งแต่การสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บังคับบัญชา หน่วยเหนือขึ้นไปอีกหลายชั้น คนทำงานนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหน่วยกล้าตายที่เสียสละแรงกายแรงใจทำกันทั้งนั้น เว้นแต่ฟากทางสถาบันการอุดมศึกษาที่มีทุนสำหรับการวิจัย และพัฒนาให้กับผู้ดำเนินการจัดทำค่อนข้างมาก ส่วนในฝั่งการศึกษาขั้นพื้นฐานนี่บอกได้เลยว่า ยังมืดมน

ผมได้ร่วมฟังในช่วงเช้าในหอประชุมใหญ่ พอตอนบ่ายแยกกลุ่มออกไป ในห้องประชุมใหญ่เป็นการเสวนาของระดับอุดมศึกษา ห้องประชุมเล็กอีกแห่งเป็นการระดมความคิดของคนทำในฝั่งการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนเอกชน ผมอยู่ในกลุ่มนี้ครับ สรุปคร่าวๆ คือ ผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ที่มาร่วมในวันนี้สนใจในการจัดทำ แต่ดูเหมือนจะมืดมนในแนวทางที่จะดำเนินการ ทั้งกำลังคนและกำลังงบประมาณมากทีเดียว ผมและเพื่อน (ครูพูนศักดิ์ แห่งบ้านไทยกู๊ดวิวดอทคอม) ก็ได้แต่ให้กำลังใจและรับเป็นที่ปรึกษาช่วยระบายความอึดอัดให้ได้เท่านั้น งานเขามี 2 วัน (17-18) แต่ในวันที่ 2 เป็นเรื่องของทางฝั่งพ่อค้าขายสินค้า ก็เลยถอยทัพกลับเพราะอยู่ไปก็ไม่มีปัญญาซื้อระบบเขาหรอกครับ ใช้ Open source ดีกว่า เพราะประหยัดงบประมาณและพัฒนาต่อยอดได้ครับ

student 011ระหว่างนั่งเครื่องบินกลับอุบลฯ ได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2548 แล้วสะดุดตาและสะดุดใจกับคอลัมน์ "ขอเวลานอก" ตรงพาดหัวว่า "ใครคือจำเลยของความล้มเหลวทางการศึกษา" แสดงความคิดเห็นโดยคุณชัชรีวรรณ ไชยวัฒน์ น่าสนใจยิ่งจนผมยังหาคำอธิบายและคำตอบที่จะเพิ่มเติมข้อมูลเสริมได้ อ่านเลยนะครับ (ขอบคุณเจ้าของบทความและหนังสือพิมพ์มติชนครับ)

"ประเด็นปัญหาร้อน ที่ผู้ปกครอง และนักเรียนแสดงความคิดเห็นกันมากมาย เกี่ยวกับ ระบบแอดมิสชั่นส์ คือการกำหนดสัดส่วนคะแนน GPAX และ GPA มากเกินไป เพราะผู้ปกครองและนักเรียนส่วนหนึ่งยังไม่เชื่อมั่นในด้านคุณภาพการสอนและการวัดประเมินผลของโรงเรียนว่า จะมีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั้งประเทศ"

เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษา มีนักวิชาการได้แสดงความคิดเห็นว่า "ถ้ารอให้โรงเรียนทุกโรงมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน ก็ต้องรอเต่ามีหนวด" ฟังแล้วราวกับว่า สิ่งที่ทุกคนคาดหวังไม่มีทางเป็นจริงได้ หลายคนเชื่อว่ามีบางโรงเรียนปล่อยเกรดช่วยเหลือนักเรียนอย่างไม่ถูกต้อง บางคนไม่มั่นใจคุณภาพการเรียนการสอนของครู บางคนไม่มั่นใจคุณภาพและความยุติธรรมในการวัดประเมินผล ผู้ปกครองบางคนมองว่า กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ทำอะไรเลยที่เห็นเด่นชัดว่า กำลังดำเนินการให้โรงเรียนมีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

มีนักเรียนได้แสดงความคิดเห็นว่า "สาเหตุที่ทำให้เด็กกวดวิชาไม่ได้มีเพียงปัจจัยเดียว คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่มีสาเหตุอื่นด้วย อาจเป็นเพราะว่าครูอาจารย์ไม่สามารถสื่อสารเนื้อหาการเรียนการสอน ให้เด็กเข้าใจได้เต็มที่ หรือเนื้อหาหลักสูตรแน่นมากเกินไปจนเด็กเรียนไม่ทัน เลยต้องไปกวดวิชาเพิ่มเติม หรือว่านักเรียนจำเป็นต้องกวดวิชาเพื่อทบทวนเนื้อหาการเรียน หรือนักเรียนจำเป็นต้องกวดวิชาเพราะการเรียนการสอนในห้องเรียนยังไม่เพียงพอ"

ทำไมผู้ปกครองและนักเรียนจึงไม่มั่นใจความยุติธรรม และคุณภาพของคะแนนเฉลี่ยสะสมที่โรงเรียนเป็นผู้จัดทำ ทำไมผู้ปกครองจึงสนับสนุนให้ลูกหลานกวดวิชาเพิ่มเติม คำตอบก็คือ ผู้ปกครองและนักเรียนไม่มั่นใจในมาตรฐานคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน แล้วใครล่ะที่ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนขาดความมั่นใจ ใครที่เป็นผู้ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับนักเรียนที่สุดในการจัดการเรียนการสอน ก็คงหาคำตอบได้ไม่ยากกว่า คือ ครู

ครูหนึ่งคนสอนนักเรียนห้าสิบคนต่อหนึ่งชั้นเรียน แล้วครูห้าแสนคนจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนักเรียนกี่คน นั่นคือ เยาวชนทั้งหมดของประเทศ ครูดำเนินการอย่างไรกับการปั้นนักเรียน ทำไมผลของการปั้นจึงออกมาบิดเบี้ยว ไม่เป็นที่พอใจของพ่อ-แม่และสังคม ครูซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการสร้างสถาปัตยกรรมมนุษย์ทำหน้าที่เต็มที่หรือเปล่า มีฝีมือและมีใจรักในอาชีพของตนเองหรือเปล่า เราอาจสรุปในขั้นแรกว่า จำเลยของความล้มเหลวทางการศึกษาน่าจะเป็นครูนั่นเอง

ก่อนจะตัดสินว่า "ครู" คือจำเลยของความล้มเหลวทางการศึกษา ขอให้ทุกคนมองโฟกัสไปที่คนกลุ่มอาชีพครู และลองตั้งคำถามดูว่า

  • มีผู้ปกครองร้อยละเท่าไรที่ใฝ่ฝันอยากให้ลูกประกอบอาชีพครูในโรงเรียน
  • มีนักเรียนร้อยละเท่าไรที่ใฝ่ฝันอยากเป็นครู
  • นักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดของคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ได้รับการชื่นชมเท่าเทียมกับคณะอื่นๆ หรือไม่?
  • มีนักเรียนร้อยละเท่าไรที่เลือกคณะศึกษาศาสตร์/คณะครุศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง และ
  • มีนักศึกษาร้อยละเท่าไรที่เรียนจบคณะศึกษาศาสตร์/คณะครุศาสตร์แล้วตัดสินใจประกอบอาชีพครูด้วยใจรัก

จากคำถามดังกล่าว เราพอจะสรุปได้ว่า มีคนกลุ่มค่อนข้างใหญ่ที่จำใจเป็นครู เพราะความสามารถ ความถนัด และโอกาสที่มีขีดจำกัด ซึ่งต้องขอบคุณสวรรค์ที่ยังมีคนกลุ่มนี้อยู่บ้าง เพื่อวงการการศึกษาไทย ขั้นตอนต่อไปเราจะช่วยกันศึกษาว่า คุณครูห้าแสนคนผู้ตกเป็นจำเลยของความล้มเหลวทางการศึกษา มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้างในแต่ละวัน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินเพื่อหาทางแก้ปัญหาความล้มเหลวทางการศึกษา

  • ครูอาจารย์มีหน้าที่พิเศษกี่หน้าที่ นอกเหนือจากการสอน เช่น งานธุรการ งานพัสดุ งานการเงิน งานประชาสัมพันธ์ งานสหกรณ์โรงเรียน งานโภชนาการ งานแผนงาน งานประเมินคุณภาพโรงเรียน งานปกครอง งานบริการ งานยาเสพติด งานกิจกรรมภายในโรงเรียน งานกิจกรรมภายนอกโรงเรียน งานตามนโยบายเร่งด่วน ฯลฯ
  • ครูอาจารย์สอนวันละกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานหน้าที่พิเศษกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจารย์ต้องทิ้งห้องสอนเพื่อไปประชุมตามปฏิทินงานและประชุมด่วน อบรมสัมมนากี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเหลือเวลาเตรียมการสอนและตรวจงานนักเรียนวันละกี่ชั่วโมง
  • ครูอาจารย์รู้สึกว่าโดยส่วนใหญ่แล้วตนเองได้เตรียมพร้อมเนื้อหา ความรู้ เทคนิคการสอน สื่ออุปกรณ์ และสภาพอารมณ์อย่างดีก่อนเข้าห้องสอนหรือไม่
  • ครูอาจารย์มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตรและการวัดประเมินผลอย่างลึกซึ้งในฐานะครูมืออาชีพหรือไม่ครูอาจารย์ทำผลงานเลื่อนระดับหรือไม่ ใช้เวลาเพื่อการจัดทำเอกสารวันละกี่ชั่วโมง เป็นเวลานานกี่เดือน มีผลกระทบต่อเวลาการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งสภาพอารมณ์ จิตใจ และร่างกายมากน้อยเพียงใด
  • ครูอาจารย์มีความเชื่อว่าครูทุกคนที่ทำผลงานเลื่อนระดับเป็นระดับ 8 ระดับ 9 เป็นผู้ที่ครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนยอมรับด้านความสามารถในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เสียสละเพื่อประโยชน์ของนักเรียนและโรงเรียนอย่างต่อเนื่องหรือไม่ (ก่อนและหลังการเลื่อนระดับ)
  • ครูอาจารย์มีความเชื่อมั่นศรัทธาในความสามารถของผู้บริหารด้านการบริหารงานวิชาการ ซึ่งเป็นงานหัวใจหลักของโรงเรียนหรือไม่ และ
  • ครูอาจารย์มีความศรัทธา มั่นใจ เข้าใจนโยบายของผู้บริหารหรือหน่วยเหนือ และรู้สึกว่าตนเองสามารถปฏิบัติตามได้อย่างดี รู้สึกถึงความมั่นคงแน่นอนต่อนโยบายนั้นมากน้อยเพียงใด

ถ้าผลการสำรวจออกมาเป็นดีหมด ก็แสดงว่าหลายคนเข้าใจผิดไปเองว่าการศึกษาล้มเหลว เลิกวิตกกังวลกันได้แล้ว แต่ถ้าผลสำรวจออกมาไม่ดี พบว่าครูใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำภาระงานอื่นๆ ท่านผู้ปกครองก็ควรจะรับรู้ว่า ได้เอาลูกหลานไปฝากไว้ในมือครูหลายคนที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม ยับเยิน ท้อแท้ หมดกำลังใจ จิตวิญญาณครูปลิวหายกู่ไม่กลับ และยิ่งครูที่เลือกอาชีพนี้เพราะจำใจต้องเลือก

แล้วใครล่ะที่ควรรับผิดชอบต่อความล้มเหลวนี้ น่าจะเป็นผู้สั่งการ ผู้วางนโยบาย ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่มีความจริงจังและจริงใจต่อการแก้ปัญหา น่าจะมีการทบทวน Job description หน้าที่ของครูใหม่ ท่องไว้ในใจก่อนว่า ครูดีเอาไว้สอน

ผู้เขียน (คุณชัชรีวรรณ) หวังว่า "วันหนึ่งครูจะได้ใช้เวลาทั้งหมดที่มีอยู่ในแต่ละวัน เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ด้วยขวัญและกำลังใจที่ดี ส่วนเรื่องที่อยากเห็นคนใฝ่ฝันเป็นครูมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องที่ทำใจได้แล้วว่า คงอีกหลายยุคสมัย หรืออาจไม่มีเลย"

ผมขออนุญาตเอาไปรวบยอดคุยต่อกันในคราวหน้านะครับ ตอนนี้รู้สึกเมาหมัดมากเลย ตั้งแต่เริ่มเดินทางไปเข้าร่วมการเสวนาเรื่อง Thai e-Learning 2005 แล้วมาโดนน็อกด้วยคำถามข้างบนนี่จากหนังสือพิมพ์เลยตั้งตัวไม่ทันครับ ท่านใดมีความคิดเห็นอย่างไรต่อบทความข้างต้น ไม่ว่าท่านจะเป็นครูหรือไม่ก็ตาม ก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงความคิดเห็นกันได้ครับทางกระดานข่าว หรือส่งอีเมล์ไปถึงผมก็ได้ครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 17 พฤษภาคม 2548

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy