webmaster talk

seminar2007ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ มีโอกาสได้หยุดพักจริงๆ ก็ตอนหยุดสงกรานต์ ก่อนหน้าและหลังสงกรานต์ต้องดำเนินการฝึกอบรมให้กับเพื่อนครูและผู้สนใจอื่นๆ รวมทั้งในขณะที่เขียนเว็บหน้านี้ (26 เมษายน 2550) ก็ยังคงเป็นวิทยากรอยู่ที่โรงเรียน ก็เลยไม่มีหัวข้อที่จะเขียนเรื่อง (บ่น) สักเท่าไหร่

คิดว่าปีก่อนหน้าโน้นการสอบแอดมิสชั่นโกลาหลมาก น่าจะเป็นบทเรียนให้แก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องได้มากแล้ว แต่สุดท้ายปีนี้ก็ยังคงความโกลาหลอยู่เช่นเดิม และถึงขั้นมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองอีกด้วย

หลายๆ คนที่มีลูกต้องเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาปีนี้ จึงมีความรู้สึกหงุดหงิดและผิดหวังเช่นเดียวกับปีก่อน ในขณะที่วิธีการดั้งเดิมเมื่ออดีตที่เรียกกันว่า เอนทรานซ์ นั้นชัดเจน ไม่วุ่นวายอย่างนี้ หรือนี่คือผลพวงจากการปฏิรูปการศึกษา และการปรับเปลี่ยนวิธีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราได้ถกเถียงกันเสมอมาในเรื่องของมาตรฐานของโรงเรียนว่า มีความเท่าเทียมกันหรือไม่เพียงใด โรงเรียนใดปล่อยเกรดและกดเกรดนักเรียนบ้าง แต่ก็ไม่มีใครยอมรับความจริง

แนวโน้มในการใช้ผลการสอบโอเน็ต มาร่วมในการตัดสินการจบช่วงชั้น

exam studentsจากกรณีดังกล่าว จึงมีข่าวออกมาแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบในหลักการ การใช้ผลการทดสอบระดับชาติ (โอเน็ต) เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของการจบหลักสูตรในทุกช่วงชั้น โดยในปีการศึกษา 2550 จะเริ่มนำร่องชั้น ม.3 และม.6 ก่อน ซึ่งในระยะแรกจะใช้สัดส่วนโอเน็ต ร้อยละ 30 และผลการทดสอบระดับสถานศึกษา ร้อยละ 70 แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะนำคะแนนทั้งสองส่วนมาผสมผสานกันอย่างไร ซึ่ง บอร์ด กพฐ.ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่าง สทศ. กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และนี่จะเป็นตัวชี้บ่งในเรื่องของมาตรฐานโรงเรียนว่าเท่ากันจริงหรือเปล่า?

แม้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะไม่เห็นด้วย ที่จะนำผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ หรือโอเน็ต ไปผูกกับการจบช่วงชั้นของนักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ก็ควรจะหาวิธีการในการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เป็นมาตรฐาน ให้ทุกคนยอมรับความเป็นจริงให้ได้

สทศ. เสนอด้วยว่า ในปีการศึกษาหน้า ควรจัดสอบในทุกช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 ป.3 สอบ 2 วิชา คณิตศาสตร์ และภาษาไทย, ช่วงชั้นที่ 2 ป.6 สอบ 3 วิชา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์, ช่วงชั้นที่ 3 ม.3 สอบ 5 วิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และช่วงชั้นที่ 4 ม.6 สอบ 8 วิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา สุขศึกษา-พลศึกษาศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยีสารสนเทศ

เรื่องนี้มีเหตุผลทีเดียว เพราะการเรียนในโรงเรียนนั้น ปรากฏว่า มีนักเรียนและผู้ปกครองบางรายไม่สนับสนุนให้ลูกเรียนรายวิชาอื่นๆ อย่างเอาใจใส่ (ขอเพียงให้ผ่าน) แล้วหันไปเน้นในเรื่องการเรียนวิชาที่ต้องใช้สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่งเสริมการเรียนพิเศษอย่างบ้าคลั่ง โรงเรียนสอนพิเศษชื่อดังในกรุงเทพฯ แห่กันไปเปิดสาขาในต่างจังหวัดกันเพียบเลย... แล้วจะให้ผมคิดอย่างไร?

เมื่อ Open Source Software vs. Windows ถูกนำมาเป็นข้อต่อรอง

ผมได้อ่านข่าวๆ หนึ่งซึ่งอาจจะเป็นข่าวเล็กๆ ของใครบางคน แต่ดูมันจะมีอิทธิพลที่ทำให้ผมต้องเขียนถึงในวันนี้ ข่าวที่ว่าคือ "สหรัฐฯ ประกาศเลื่อนสถานะประเทศไทย จากประเทศถูกจับตามองเป็นถูกจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะมีผลต่อเรื่องการตัดจีเอสพี ประเทศไทยถูกประกาศเป็นประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์และสิทธิบัตรยา 1 ใน 12 ของโลก และจะถูกกดดันด้านภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา" เรื่องนี้บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กมากสำหรับการมองแคบๆ ใกล้ตัว เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ส่งออก

แต่หากมองไกลออกไปเราจะพบว่า มันจะส่งผลกระทบถึงพวกเราชาวบ้านได้แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น รายได้รวมของประชาชาติ ที่จะช่วยฉุดภาคเศรษฐกิจมหภาคของประเทศเดินหน้าจะหยุดนิ่งทันที อย่าลืมว่าผลผลิตของประเทศไทยที่ส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ถ้าเราถูกกีดกันทางการค้าส่งออกไม่ได้ ราคาพืชผลก็ตกต่ำ คนหาเช้ากินค่ำ ชาวไร่ชาวนาที่อยู่ในภาคการผลิตก็จะเดือดร้อนแน่นอน เศรษฐกิจตกสะเก็ด เม็ดเงินไม่หมุน พวกเราก็ต้องพลอยหน้าแห้งไปด้วยแน่ๆ

microsoft unlimited potentialและยังมีข่าวนี้อีก "ไมโครซอฟท์เปิดโครงการ "ไมโครซอฟท์ อันลิมิเต็ด โพเทนเชียล (Microsoft Unlimited Potential)" ใช้ชื่อย่อว่า UP จุดมุ่งหมายสำคัญมี 3 ประเด็นหลักคือ การพลิกโฉมการศึกษา การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และการสร้างงาน ซึ่งไมโครซอฟท์มองว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ประชากรโลกอีก 5 พันล้านรายเข้าถึงเทคโนโลยีได้"

โครงการที่น่าสนใจที่สุดในโปรเจค UP ที่มีอยู่กว่า 8 โครงการที่ไมโครซอฟท์จะพาเหรดเข้ามาแก้ปัญหาช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนไทยมี 2 โครงการ หนึ่งคือการเปิดตัวชุดซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียน ในชื่อ Microsoft Student Innovation Suite หรือ MSIS ประกอบด้วยไมโครซอฟท์เอ็กซ์พีสตาร์ทเตอร์อิดิชัน ไมโครซอฟท์โฮมแอนด์ออฟฟิศ 2007 ไมโครซอฟท์แมท 3.0 เลิร์นนิงเอสเซนเชียล 2.0 ฟอร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ และวินโดวส์ไลฟ์เมลล์เดสก์ทอป ซึ่งราคาจำหน่ายชุดซอฟต์แวร์นี้อยู่ที่ 3 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 105 บาท คาดว่าเวอร์ชันภาษาไทยจะสามารถวางจำหน่ายได้ในช่วง เดือนธันวาคม ปีนี้ โดยจะจำหน่ายให้กับรัฐบาลที่มีคุณสมบัติตามที่ไมโครซอฟท์กำหนด และมีจุดประสงค์ในการซื้อและมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้กับนักเรียนโดยตรง

Multi Pointโครงการที่น่าสนใจโครงการที่สองคือ โครงการวินโดวส์มัลติพอยท์ (Multi Point) เป็นการนำเทคโนโลยีพิเศษ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องมีเมาส์ได้มากถึง 50 ตัว จุดประสงค์คือเพื่อให้นักเรียนสามารถใช้งานและเรียนรู้ได้พร้อมๆ กัน แม้โรงเรียนไม่สามารถจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียนหนึ่งคนได้ เป็นผลงานการออกแบบของศูนย์วิจัยไมโครซอฟท์ประเทศอินเดีย

เคอร์เซอร์กว่า 50 ตัวที่วิ่งไปมาบนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวนั้น จะแสดงผลเป็นรูปสัตว์ที่ต่างชนิดกัน นักเรียนสามารถเลือกสัตว์ที่ชื่นชอบ และกำหนดชื่อลงบนเคอร์เซอร์แต่ละตัวได้ ถูกนำไปใช้เป็นโครงการนำร่องในประเทศอินเดีย และประเทศไทยเท่านั้นในขณะนี้ โดยทดลองใช้ที่โรงเรียนลุมพินีและกรุงเทพคริสเตียน

ข่าวหลังนี่บางคนบอก เป็นเรื่องที่ดีนี่ ครับคิดตื้นๆ ว่าราคาถูก เขาให้เราใช้มันน่าจะดี แต่พอมองออกไปในเงื่อนไขพบว่า จะจำหน่ายตามข้อตกลงบางประการเป็นพิเศษเท่านั้น แน่นอนเพื่อรุกเข้าไปยังเด็กเล็กวัยเรียน สร้างความคุ้นเคย จดจำ ติดใจ และต้องจำใจใช้มันเมื่อโตขึ้น หรือในวัยทำงานด้วยราคาที่สูงกว่ามากๆ (เพราะคุณไม่อาจปฏิเสธความคุ้นเคย) ณ เวลานั้นเราอาจจะต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดในด้านกฏหมาย และคงไม่มีโอกาสเห็นซอฟท์แวร์ผีรวมมิตรแผ่นละร้อยอีก

ในขณะที่ทางเลือกของซอฟท์แวร์เสรีที่เป็นโอเพ่นซอร์ส มีให้เราใช้งานกันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า มีหลากหลายโปรแกรมครอบคลุมการทำงานในชีวิตประจำวันของเราอย่างเพียงพอ วันนี้เราจึงเห็นความร่วมมือของ 2 องค์กรสำคัญจับมือกันในการส่งเสริมการใช้ Open Source Software ในโรงเรียนไทย คือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ แห่งประเทศไทย (SIPA) และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่จะช่วยกันผลักดันซอฟท์แวร์เสรีลงสู่โรงเรียน เพื่อจุดประกายให้เห็นว่า เรายังมีทางออกอีกมากในการพัฒนาด้านไอทีโดยไม่ต้องไปผูกติดกับการค้าใดๆ ก็ได้

ข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ชัดเจนแล้วครับ หลังจากที่ผมได้เดินทางไปร่วมประชุมจัดทำหลักสูตร เพื่อการอบรมขยายผลสู่โรงเรียน ที่โรงแรมบางแสนบีช จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยจะดำเนินการจัดอบรม ครูในโรงเรียนแกนนำจำนวน 100 โรงเรียน ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2550 นี้ที่โรงแรมรอแยล เบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพฯ

มนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 10 พฤษภาคม 2550