foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

chuan 01

"ท่านนายกฯ คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง”

อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ชวน หลีกภัย ที่เคยเข้าเฝ้าฯ ถวายงานและรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มามากมายหลายครั้งตลอดช่วงที่เป็นนักการเมือง ซึ่งอยู่ในแวดวงทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ คือ เป็นอดีต ส.ส. มา 15 สมัย และงานด้านฝ่ายบริหาร ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.พาณิชย์, รมว.ศึกษาธิการ, รมว.ยุติธรรม รวมถึงอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นความประทับใจของตัวเองในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่มีต่อ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เช่น เรื่องการทรงงานหนักเพื่อประชาชนคนไทย รวมถึงพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวในช่วง 70 ปีแห่งการครองราชย์

โดย ”อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากผมเป็นนักการเมืองมานาน เป็นผู้แทนราษฎรมา 15 สมัย อยู่ในตำแหน่งสำคัญมามากมาย เริ่มตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ มอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชดำริและเกี่ยวข้องกับในหลวง ที่พระองค์ท่านทรงทุ่มเทงานเพื่อเกษตรกรมาก จึงมีโอกาสตามเสด็จเข้าเฝ้าฯ ในหลายโอกาส และในครั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทรงรับทราบว่า "ผมเป็นรัฐมนตรียังวัยวุฒิและประสบการณ์น้อย" ประสบการณ์ด้านเกษตรก็ไม่ใช่สายตรง โดยพระองค์ท่านทรงแนะนำตั้งแต่ต้นให้ศึกษาและเรียนรู้ได้จากคนที่มีความรู้ เพื่อจะทำงานให้เกิดประโยชน์ ผมก็ถือว่าเป็นพระคุณยิ่งใหญ่ที่ทรงให้คำแนะนำ

chuan 02

ทั้งนี้ ในระหว่างตามเสด็จ ได้เห็นความรอบรู้ของในหลวงตลอดมา และถือเป็นปราชญ์ที่รู้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ทฤษฎี แต่ทรงรู้ข้อเท็จจริง และเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ผมยอมรับว่า ในหลวงทรงครองราชย์มานานแล้ว ได้ทำงานโดยมีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจบ้าง มาจากการเลือกตั้งบ้าง หลายสิบชุด ดังนั้นในหลวงจึงได้เห็นการทำงานของรัฐบาล และรัฐมนตรีแต่ละคน แต่ละชุดยาวนาน เราจะเห็นว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในกระทรวง ทบวง กรม ตามวาระ แต่ในหลวงไม่เปลี่ยน ดังนั้นความรอบรู้และประสบการณ์ที่เก็บสะสมมายาวนาน ทำให้ท่านทะลุปรุโปร่ง ทุกเรื่อง แม้คนใหม่เข้ามาก็จะรู้ไม่เท่าพระองค์ท่าน

…ผมเคยเห็นรัฐมนตรีบางคนเสนอความคิดบางอย่างในครั้งที่เสด็จฯ มาทรงเปิดงานและดูโครงการบางเรื่อง ท่านยังทรงชี้ข้อเสนอนี้ว่าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ซึ่งผมเคยเตือนรัฐมนตรีหลายคนว่า หากไม่รู้จริง อย่าไปเสนอแนะ เพราะในหลวงหลับตามองเห็นทั้งหมด เพราะท่านอ่านแผนที่ได้หมด และรู้ว่าตรงไหนเป็นเนิน ตรงไหนควรสร้างอะไร ไม่ควรสร้างอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีที่เข้ามาจะต้องตระหนักตลอดเวลา ผมยังต้องให้เจ้ากรมแผนที่ทหารมาสอนการดูแผนที่ เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องแผนที่ ไม่เคยได้เรียนมา เพราะเมื่อเราตามเสด็จอะไรเวลาท่านรับสั่งอะไร หรือแม้ไม่ได้ถามเรา แต่เราก็ควรจะทราบว่าเรื่องนั้นเรื่องอะไร

อดีตนายกฯ ชวน กล่าวต่อไปว่า พระองค์ท่านทรงรู้แม้กระทั่งรายละเอียดที่เรานึกไม่ถึง เช่น การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ วันหนึ่ง ท่านทรงกางแผนที่ในกรุงเทพฯ และชี้ให้ดูว่าเส้นทางมันไปไหน โดยเฉพาะบริเวณถนนศรีอยุธยา หากมีสะพานข้ามไปจะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้นอย่างไร และท่านก็ชี้ว่า บ้านท่านนายกฯ อยู่ซอยหมอเหล็ง ซึ่งอยู่ตรงนี้ ท่านมองเห็นภาพหมด จนสุดท้ายถนนศรีอยุธยาก็เชื่อมต่อเส้นทางโครงการจตุรทิศ จนสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ นอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจแต่พระองค์ท่านติดตาม ครั้งนี้รับสั่งเรื่องเรื่องหนึ่ง อย่างเช่นการติดตามรายการข่าวบ้านเมืองของผู้ดำเนินรายการข่าว (ฟองสนาน จามรจันทร์) ซึ่งเป็นนักข่าวที่ผมรู้จัก แสดงว่าทรงติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอด และผมก็ได้มาแจ้งนักข่าวผู้นั้นทราบว่า ในหลวงทรงฟังคุณรายงานข่าวด้วยนะ ระวังด้วยนะเวลาพูดอะไร (หัวเราะ) ซึ่งนักข่าวผู้นั้นก็ตื่นเต้นมาก

…เรื่องบางเรื่องเป็นข่าวสารบ้านเมืองที่คนรู้ทั้งประเทศ แต่เวลามีเรื่องอะไรขึ้นมา และมีการวินิจฉัยจากองค์กรบางองค์กรที่ไม่ตรงตามสิ่งที่เกิดขึ้น พระองค์ท่านจะรู้ เราจะสังเกตพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในหลายครั้ง ที่ทรงย้ำเตือนบางเรื่อง เช่นยึดเรื่องความชอบธรรม เรื่องความถูกต้อง เรื่องความเคารพ หรือเรื่องกล้าตัดสินใจ ยึดคุณธรรม ศีลธรรม และกฎหมาย ทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้บ่อย แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงติดตามเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ตลอดเวลา

อดีตนายกฯ กล่าวด้วยว่า ในหลวงท่านจะทรงทราบว่าคนไหนเก่ง หรือไม่เก่ง เช่น นายอำพล เสนาณรงค์ สมัยทำงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยมีพระราชดำรัสกับผมว่า ท่านอำพลเป็นคนมีความรู้ ซึ่งต่อมาเมื่อท่านเกษียณ ก็มาเป็นองคมนตรี และผมก็เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ทราบว่าคุณอำพลเป็นคนที่มีความรู้จริงๆ แสดงว่าในหลวง มองคนที่มีความรู้หรือไม่รู้จากการที่ท่านได้มีคนมาช่วยงานเสมอ

chuan 04

ถึงตรงนี้ “อดีตนายกฯ ชวน“ เล่าให้ฟังว่า ในช่วงคุณแม่ถ้วน หลีกภัย ป่วย ผมเป็นนายกรัฐมนตรี วันหนึ่งไป ไปรับเสด็จ โดยปกติท่านต้องไปที่งาน แต่ท่านทรงแวะเข้ามาที่ผม และคำแรกที่รับสั่งก็คือว่า “ท่านนายกฯ คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง” ตอนนั้นผมขนลุกเลย แสดงว่าทรงติดตามและให้ความสำคัญกับคนอื่นๆ ผมก็ไปบอกแม่ถ้วนว่า “แม่ พระเจ้าแผ่นดินถามถึงแม่” (หัวเราะ) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และบันทึกในความทรงจำของผมเอาไว้ ไม่มีลืมเลือน

“อดีตนายกฯ” กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ความประทับใจอีก คือ ทรงเข้าใจผู้ร่วมงาน กล่าวคือ โดยปกติ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะได้สายสะพายและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายในจุลจอมเกล้าด้วย ผมเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้ เนื่องจากตอนนั้นมีสถานการณ์บ้างอย่างเกิดขึ้นในฝ่ายตุลาการ มีวันหนึ่ง รับสั่งด้วยพระองค์เองเมื่อผมเข้าเฝ้าฯ ในงานว่า “คุณชวนยังไม่ได้เครื่องราชฯ เราไม่เคยคิดว่าจะรับสั่งเรื่องนี้นะ” ผมก็เลยกราบบังคมทูลขณะนั้นเลยว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นนักการเมืองพระเจ้าค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับสายสะพาย 4 เส้นถือว่าสูงสุดของนักการเมือง ไม่ปรารถนาอะไรมากกว่านี้ ฉะนั้นเครื่องราชฯ ที่พระองค์ท่านรับสั่งถึงข้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระราชทานให้ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทใกล้ชิดจะดีกว่าพระเจ้าค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นนักการเมือง ไม่มีความจำเป็น ซึ่งวันนั้นในหลวงก็ตรัสกลับว่า “เมื่อคุณชวนพูดอย่างนี้ ฉันก็สบายใจ แต่คนอื่นไม่เป็นอย่างนี้”

chuan 07สำหรับเรื่องนี้ไม่ได้จบแค่นี้ เมื่อผมพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน วันหนึ่ง นายวิษณุ เครืองาม (อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) ก็โทร.มาว่าให้ผมเตรียมตัวไปรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เนื่องจากพระองค์รับสั่งด้วยพระองค์เองว่า “ให้คุณชวนเขาด้วย เพราะคุณชวนยังไม่ได้” ซึ่งถือเป็นความผูกพันส่วนตัวที่ได้ทำงานใกล้ชิดพระองค์ท่านในตำแหน่งหน้าที่

“อดีตนายกฯ ชวน” กล่าวต่อว่า ผมมีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยในหลายโอกาส เช่น เสด็จฯ ต่างจังหวัด บางครั้งก็มีเลี้ยง ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ต้องร่วมโต๊ะเสวย ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ที่รับประทานเป็นอาหารไทยทั่วไป เช่น แกงจืด ข้าว ไม่ค่อยมีแกงเผ็ด แกงไตปลาไม่มี (หัวเราะ) และผมจะต้องนั่งติดกับพระที่นั่งของในหลวง โดยพระองค์ท่านจะอยู่ทางขวา ผมก็จะมีเศษกระดาษเอาไว้จด เพราะระหว่างรับสั่งอะไรบนโต๊ะเสวยเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ ซึ่งผมจำได้ไม่หมด บางครั้งในหลวงก็ทรงทักว่า คุณชวนจดเอาไว้ด้วยเหรอ ผมก็ทราบบังคมทูลว่า ข้าพเจ้าจำได้ไม่หมด ในหลวงก็ทรงพระสรวล

พระองค์ทรงเล่าเรื่องสมเด็จย่า ที่พระองค์ทรงเรียกว่าแม่ พระองค์ท่านชอบเล่าการเรียนสมัยเด็ก เวลาไปเอาของใครมาแม่ไม่ยอม เวลาใครให้ของมา ต้องซักแล้วซักอีกว่าไปเอามาได้อย่างไร ต้องมีการชี้แจงว่าพระองค์ไปทำอะไรมาให้เขา จึงได้ของตอบแทนมา

ผมเคยกราบบังคมทูลถามว่า สมัยเด็กที่พระองค์ทรงเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ ภาษาหลักคือฝรั่งเศส พระองค์ตอบว่า ใช่ ผมก็ทราบบังคมทูลว่า แล้วภาษาอังกฤษพระองค์ท่านเรียนอย่างไร พระองค์ท่านก็รับสั่งว่า ก็ฟังของสำนักข่าว BBC ซึ่งอย่าลืมว่าสมัยนั้นความพร้อมในการส่งพระราชทรัพย์ไม่ได้มีความพร้อมอย่างสมัยนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องได้มาง่ายๆ ฉะนั้นสมเด็จย่าจึงได้ประหยัด อย่างเช่นอีกเหตุการณ์ผมเคยตาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอนท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไปเยือนยุโรป และสมเด็จย่ารับสั่งให้ผมติดตามไปด้วย โดยได้เช่าเครื่องบินลำเล็กไปกราบบังคมทูลเยี่ยมสมเด็จย่า ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ก็ทรงอยู่กับสมเด็จย่า ก็ทำข้าวผัดอเมริกันมาเลี้ยงพวกเรา ในห้องแคบๆ ซึ่งสมเด็จย่าก็เตือนว่า เวลาเดินระวังหน่อยนะ เดี๋ยวชนโต๊ะฉัน ผมก็โครมเข้าให้ (หัวเราะ) เพราะห้องแคบจริงๆ และพระองค์ท่านก็อยู่อย่างประหยัด

“นายชวน” กล่าวต่อไปว่า พระองค์ท่านทรงมีความเป็นศิลปินอยู่ วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าฯ และรับสั่งว่า เห็นคุณชวนไปนครวัดนครธม แล้วไปดูรูปแกะสลัก และรับสั่งถึงผมว่า “มีความสุขนะ เราศิลปินด้วยกัน” ซึ่งรับสั่งอย่างนี้เลยนะ แต่เรื่องภาพต้องเรียนว่าผมมีสมุดเล็กๆ ติดตัวเสมอ เช่นภาพของพระองค์ท่าน ที่เสด็จฯ วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 2540 ผมกลับมาเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ประธานรัฐสภาจะนั่งติดกับพระองค์ท่าน พระองค์ท่านจะนั่งประทับหน้าสมเด็จพระสังฆราช ในการถวายภัตตาหารเพล ผมก็นั่งถัดจากประธานรัฐสภา ผมก็นำสมุดเล่มเล็กๆ มา เห็นในหลวงทรงด้านข้าง ก็เลยสเกตช์รูปง่ายๆ ซึ่งรูปนี้มีคนเคยขอไปลงถวายพระพร และให้เงินมาหนึ่งแสนบาท และผมก็ถวายเข้ามูลนิธิของพระองค์ท่าน

chuan 03

อีกทั้งเวลามีประมุขจากต่างๆ ประเทศมา เช่น ประธานสภาประเทศลาว ในหลวงก็ทรงเลี้ยงอย่างดี และออกไปดูโขนข้างนอก จากนั้นก็ทรงขึ้นรถและไปประทับในวัง ผมยังจำได้ก็เลยสเกตช์เหตุการณ์ไว้เล็กน้อย ซึ่งเหมือนกับการจดเหตุการณ์ที่ต้องจดเป็นตัวหนังสือหมด ก็จดเป็นรูปบ้าง คือผมเชื่อว่าเมื่อเราจำอะไรเยอะๆ ไม่มีทางสามารถจำได้หมด ผมก็เป็นประเภทช่างจด แต่ไม่ได้จดทุกเรื่อง จดเฉพาะหัวข้อที่สำคัญ แต่หากจดเป็นรูป ก็จะบอกได้หมดว่าเกิดอะไรขึ้น พระองค์ท่านก็คงจะทราบ วันหนึ่งเมื่อประธานสภาประเทศลาวกลับไปแล้ว หันมาถามว่า นายกฯ วันนี้ได้กี่รูป (หัวเราะ) ซึ่งบางครั้งก็ต้องระวังไม่ได้สเกตช์ทุกเหตุการณ์ เดี๋ยวจะถูกตำหนิ วิจารณ์ได้ว่าไม่มีสมาธิระหว่างปฏิบัติหน้าที่

“อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย” กล่าวว่า ในช่วงนั้นในหลวงทรงมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤติหลายครั้ง หากมีโอกาสผมมักเล่าให้ประชาชนฟังระหว่างผมปราศรัย ให้เห็นว่าหากในหลวงไม่ทรงลงมาแก้ปัญหาหลายครั้ง บ้านเมืองจะเกิดวิกฤติอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อผมเป็นนายกฯ และผมเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง และเป็นนายกฯ คนแรกที่อายุน้อยกว่าพระองค์ท่าน เพราะนายกฯ ก่อนหน้าผมส่วนใหญ่มีอายุมากกว่าพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือใครก็ตาม หรือเช่น พล.อ.เปรม และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้น

ซึ่งพระองค์ทรงทราบว่า ผมเป็นคนที่ผ่านประสบการณ์มาน้อยกว่า ผมมีความรู้สึกว่า ทรงมีความเมตตาให้คำแนะนำในหลายเรื่อง เช่น ทรงนำแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะที่จริงแล้วการนำแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ นั้น เวลาสื่อสารไม่ได้ใช้ภาษาไทย ผมภาษาต่างประเทศก็ไม่เก่ง แต่ถ้าสนทนาเป็นภาษาอังกฤษพอจะติดตามได้บ้าง แต่ผู้นำประเทศหนึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศส ไม่มีทางรู้เรื่องเลย เรียกว่าภาษาที่สื่อสารมาเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาผม เชื่อหรือไม่เมื่อพระองค์ทรงสนทนาเสร็จ หันมาที่ผมรับสั่งว่าคุยกันเรื่องอะไร เพราะทรงทราบว่าผมไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ)

นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเรียนว่า พระองค์ทรงทำการบ้านตลอดเวลา ผู้นำที่เข้าไปพบ พระองค์ทรงรู้ประวัติ รู้การทำงาน ทุกคนเมื่อออกมาก็รู้สึกตื่นเต้น ประทับใจว่าในความรอบรู้ และหันมาถามผมว่า ทรงรู้เรื่องนั้นได้อย่างไร

ทั้งนี้ ระหว่างที่ผมเป็นนายกฯ ครั้งแรก สิ่งแรกที่ผู้นำประเทศมักจะพูดชื่นชมประเทศไทยก็คือ ชื่นชมในหลวงว่า พระองค์ท่านทรงเป็นประมุขของประเทศที่ประชาชนมีความสามัคคีและมีความสุข ไม่มีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา ”

...ต่อมาผมเป็นนายกฯ ครั้งที่สอง เมื่อนำแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ในหลวง และชื่มชมในหลวงมากเป็นพิเศษ ที่ทุกคนจะต้องพูดถึง คือ การที่ไทยส่งทหารไปติมอร์ตะวันออกเพื่อรักษาความสงบในภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ทราบ แต่แท้จริงในต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก

“อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย” บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ต่อไปว่า ในระหว่างเป็นนายกฯ ยังมีความประทับใจ คือ การสร้างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งตอนเริ่มโครงการ ในหลวงทรงเป็นห่วง เพราะมีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ และเป็นโครงการแรกที่เวนคืนที่ดินแพงกว่าค่าก่อสร้าง ซึ่งตอนนั้นมีเสียงตำหนิและวิจารณ์ ซึ่งพอทราบว่าในหลวงทรงประหยัด ทุกอย่างมีเหตุมีผล เป็นที่มาของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่ขณะเดียวกันท่านก็เคยรับสั่งว่า ยอมขาดทุนเพื่อให้ได้กำไรวันข้างหน้า ถึงอยากจะย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องขี้เหนียว ไม่ใช่เรื่องลงไปแล้วต้องได้ทุกอย่าง บางอย่างอาจไม่ได้ แต่ผลที่ได้ตามมาคุ้มเกินคุ้ม

เหมือนโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เริ่มตั้งแต่ผมเป็นนายกฯ ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2535-2538 ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า วันที่โครงการนี้สำเร็จ สังเกตพระองค์ท่านทรงประทับที่นี่ยาวนาน เหมือนกับสิ่งที่พระองค์ท่านคิดเอาไว้สำเร็จแล้ว และนั่นคือคำตอบ "ขาดทุนเพื่อกำไร" หรือยอมจ่ายค่าเวนคืนที่ดินที่แพงกว่าปกติ แต่ในที่สุดเมื่อสร้างเสร็จปีแรกความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม มันลดลงไปเกือบหมด เกินคุ้ม ที่คำนวณเป็นตัวเงินไม่ได้แล้ว จนกลายเป็นแหล่งเก็บน้ำอย่างทุกวันนี้

“นี่คือสิ่งที่พระองค์คิด และคนอื่นก็คิดอย่างพระองค์ท่านยาก เพราะความรอบรู้มีไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านมองปัญหาของพี่น้องประชาชนต่อเนื่องยาวนานมา รัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่เข้ามาอาจจะคิดใหม่หรือเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในที่สุดไม่มีอะไรยั่งยืนเท่ากับที่พระองค์รับสั่ง

วันนี้ลองย้อนกลับไปดูในหลายโครงการของพระองค์ท่าน หากไม่เกิดจากพระราชดำริ โครงการต่างๆ อาจจะเกิดยาก แต่ท่านพระองค์ก็ทรงเตือนทุกคนว่าอย่าไปคิดว่ามันเกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคนที่ร่วมกันทำ"

...พระราชดำรัสพระองค์ท่านเป็นสิ่งสำคัญ กว่าที่จะออกมาเผยแพร่ ท่านทรงคิดหมดแล้วจะออกมาเป็นเช่นใด เหมือนที่เราได้ยินว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” สิ่งนี้เป็นพระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512 และพระองค์ท่านได้ทรงเตือนลูกเสือเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต้องทำเพื่อประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ให้ตระหนักบ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่ได้เป็นคำสอนรัฐบาลหรือรัฐมนตรี

...สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์รู้สัจธรรมความจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะวันข้างหน้า จะต้องมีคนดีและคนไม่ดีอยู่ต่อไป แต่ขอให้ยึดหลักส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง อย่าให้คนไม่ดีมีอำนาจ แล้วก็เป็นจริง เมื่อคนไม่ดีมีอำนาจ บ้านเมืองจะเสื่อมถอยลงไป ถือเป็นความจริงที่พระองค์ท่านได้เห็นมาตลอดชีวิต

“ดังนั้นคำแนะนำหรือพระบรมราโชวาททั้งหลาย ถือว่ามีคุณค่า และสืบสานพระราชปณิธานต่อไป โดยเฉพาะทรงย้ำเสมอว่าให้ทุกคนกล้าอยู่บนความถูกต้อง” อดีตนายกฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงเน้นย้ำ

”อดีตนายกฯ” ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า เคยรับสั่งกับเนติบัณฑิตว่า กฎหมายของเราดีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการคือนักกฎหมายที่ต้องกล้าตัดสินใจ วินิจฉัยบนหลักความถูกต้อง เที่ยงตรง เพราะพระองค์ท่านเห็นบ้านเมืองมาหมด ติดตามข่าวสารบ้านเมืองว่าอะไรเกิดขึ้น จนมาถึงพระราชดำรัสที่ว่า ตนเองจะมีความสุขก็ต่อเมื่อบ้านเมืองเป็นปกติ มีความเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองจะเป็นอย่างนี้ได้ ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองและประชาชนทบทวนตัวเองว่ามีหน้าที่อะไร แล้วทำหน้าที่นั้นด้วยความสุจริตและเที่ยงตรง

เพราะแท้จริงแล้วบ้านเมือง คนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ตรงไปตรงมา ปัญหาก็จะไม่เกิด คือจุดสำคัญที่เราได้เห็นพระองค์ท่านให้คำแนะนำ และทรงยึดสิ่งนี้ต่อเนื่องยาวนานมา 70 ปีที่ครองราชย์อย่างมั่นคง

ในหลวงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

“นายชวน” กล่าวว่า จะนำคำสอนของในหลวงไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านในทุกโอกาส อย่างเช่นคำแนะนำของในหลวงทรงปฏิบัติไม่ให้คนอ่อนแอ เราไม่เคยเห็นท่านส่งเสริมให้แจกนั่นแจกนี่ แต่ทรงไปแนะนำว่าเรื่องนั้นต้องทำอย่างนี้นะ เพื่อให้รายได้เพิ่มขึ้น ต้องทำอาชีพที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ต้องทำเกษตรกรรมที่สามารถมีรายได้ตลอดทั้งปี หรือสรุปว่า สอนให้คนช่วยเหลือตัวเอง ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มาจากชีวิตพระองค์ท่านเอง ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง จะได้อะไรมาหรือซื้ออะไรสักอย่าง

…เช่นเครื่องดนตรี สมเด็จย่าบอกว่าต้องเก็บเงิน แล้วสมเด็จย่าให้ส่วนหนึ่งถึงจะซื้อได้ ไม่ได้ฟุ่มเฟือย เงินทุกบาทที่ในหลวงใช้ ที่ทรงเพื่อพระองค์เองหรือเพื่อประชาชน ท่านรู้ความสำคัญ ท่านเคยไปรับฟังกับกรรมการสมาชิกสหกรณ์ที่เชียงใหม่ ซึ่งผมเคยตามเสด็จฯ ไป สหกรณ์แห่งนั้นขาดทุนและคงมีเรื่องไม่ถูกต้องในการปฏิบัติ ก็ทรงเตือนกับสมาชิกสหกรณ์ว่า ทุกบาทนี่คือเงินภาษีชาวบ้าน ไม่ใช่เงินที่จะนำมาแจกอะไรกัน

จะเห็นได้ว่า เมื่อครั้งทรงรับฟังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ช่วงแรกๆ จะรับสั่งเรื่องคนมาขอกู้เงิน กู้ไปแล้วก็หมดเกลี้ยงก็มาขอกู้ใหม่ กับกู้เพื่อนำไปทำในสิ่งที่ดี พวกที่นำไปใช้ฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักเศรษฐกิจพอเพียง ท่านก็จะทรงเตือนเรื่องพวกนี้เสมอ บางคนไปตีความต้องกล้าลงทุน กล้าเสี่ยง หากไปเชื่อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คือจะไม่กล้าลงทุนอะไร อันนี้ไม่จริง เพราะต้องขาดทุนไปก่อนเพื่อไปกำไรในวันข้างหน้า ไม่ใช่ว่าลงไปแล้ว ได้กำไรเลย ไม่ใช่ ก็จะเห็นว่าทุกอย่างมีคำตอบที่อธิบายได้

...ผมก็โชคดีเพราะอยู่นานและอยู่หลายตำแหน่ง ก็ได้ติดตามตลอดมา ผมเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่นานที่สุด 6 ปีกว่า ก็ได้เห็นหลายโครงการที่ท่านทรงเริ่มต้นและทำจนจบ เลยได้มองเห็นความต่อเนื่องโครงการของในหลวง ผมก็คิดว่าความรอบรู้ของพระองค์ท่าน คือแบบอย่างที่ดีที่สอนให้ทุกคนต้องเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเอง ผมก็แนะนำหลายคนว่าเราเป็นนักการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามแบบอย่างในหลวงท่าน คือรู้ให้มากและรู้ให้กว้าง ไม่ใช่ชาวบ้านเป็นอย่างไร ไม่รู้เลย แต่ในหลวงท่านดูแผนที่ แล้วท่านรู้เรื่องพวกนี้ ว่าตรงไหนเป็นที่ราบ ที่ลุ่ม ที่เนิน

ดังนั้นคนที่จะทำงานการเมืองก็ต้องรู้ปัญหาชาวบ้านให้มากๆ แต่ละอาชีพล้วนต้องอาศัยความเป็นอาชีพทั้งสิ้น ความเป็นมืออาชีพ เช่น ทหารก็ต้องเป็นมืออาชีพ ดูแลความมั่นคงประเทศได้ ตำรวจก็ต้องมืออาชีพ ดูแลความปลอดภัยประชาชนได้ นักการภารโรงก็ต้องมีความเป็นมืออาชีพในการดูแลพื้นที่โรงเรียนให้ได้ ทุกคนต้องมีเกียรติและมีความเป็นมืออาชีพทั้งสิ้น นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมืออาชีพที่จะเรียนรู้ปัญหาชาวบ้าน

“อดีตนายกฯ” เน้นย้ำว่า สำหรับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต พวกเราคงเห็นแล้วว่า ตอนหลังทรงมีรับสั่งหนักว่า ใครโกง ขอให้มีอันเป็นไป แสดงให้เห็นว่าทรงเห็นเหมือนกันว่าบ้านเมืองมีทุจริตเกิดขึ้นมากในแวดวงการเมือง ข้าราชการ ซึ่งความจริง เมื่อทรงมีพระราชดำรัสก็ทรงเตือนทุกครั้ง ตอนหลังเมื่อทรงมีรับสั่งอย่างไม่เป็นทางการ ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่จะทรงรับสั่งในวันที่ 4 ธันวาคม ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปีหนึ่งวัน ที่ทรงมีพระราชดำรัสกับประชาชนทั่วประเทศมายาวนาน จะเห็นได้ว่า ทรงมีรับสั่งถึงเรื่องพวกนี้ ใครโกงขอให้เป็นไป แสดงให้เห็นว่าทรงจะให้ทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ว่ามันมีความสำคัญ และบ้านเมืองยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่

chuan 06

บทบาทของในหลวงต่อการคลี่คลายวิกฤติการเมืองในช่วงต่างๆ

เราได้สอบถาม ”อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย” ถึงบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงบ้านเมืองเกิดวิกฤติการเมืองหลายครั้ง เช่น 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 ซึ่ง “อดีตนายกฯ ชวน” กล่าวว่า ความจริงแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจอะไรท่านไว้ในการที่จะมาทำอะไรด้วยพระองค์เอง ก็จะทรงใช้อำนาจต่างๆ ผ่านทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่เมื่อยามมีวิกฤติ สถาบันทั้งหลายไม่สามารถคลี่คลายเหตุการณ์ได้ บารมีของพระองค์ท่านคือสิ่งที่ทำให้เหตุการณ์สงบ เพราะบุคคลที่ทรงเรียก มีรับสั่งให้มาคุยด้วย ถ้าไม่เชื่อ ไม่ยอม ใครจะไปทำอะไรได้ แต่ทั้งหมดก็ด้วยพระบารมี ที่ทุกคนก็รู้ว่าเมื่อทรงมีรับสั่งอะไรมา คือสิ่งที่เป็นความจริงที่ต้องปฏิบัติ ก็ทำให้บ้านเมืองเราสงบหลายครั้ง แต่นี่คือสิ่งที่คนทั่วไปก็รู้อยู่แล้ว

ผมก็ขอกราบเรียนว่า สิ่งที่คนทั่วไปอาจลำดับต่อเนื่องได้ยาก แต่ในฐานะเป็นนักการเมืองที่อยู่ในเหตุการณ์มายาวนาน ตั้งแต่ พ.ศ.2512 ที่ผมเป็น ส.ส.สมัยแรกมาตั้งแต่ช่วงนั้น ผมก็เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอด ก็สามารถบอกได้ว่า ที่จริงแล้ว ช่วงที่บ้านเมืองมีวิกฤติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ความไม่สงบที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียต่อเนื่องมายาวนาน จนสมัยก่อน ทุกปี จะมีวันที่เรียกกันว่า “วันพระราชทานเพลิงศพวีรชน” ที่จะรวบรวมศพ กระดูกของผู้เสียชีวิตมาพระราชทานเพลิงศพ โดยในหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์จะทรงเสด็จฯ ตอนนั้น นั่นคือความสูญเสียของยุคนั้น อย่างที่จังหวัดตรัง บ้านผม คนจะเห็นผู้ก่อเหตุตีเข้ามาถึงหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ห่างไปไม่ถึง 1 กิโลเมตร แล้วมีผู้เสียชีวิต ก็เป็นการเกิดเหตุที่ต่อเนื่อง จนเกิดความวิตกกังวลกันมากในเวลานั้น ว่าเมืองไทยจะไปรอดหรือไม่

...หากเราจำได้ ตอนนั้นในประเทศกลุ่มอินโดจีนมีเหตุการณ์ต่างๆ วุ่นวายไปหมด ทหารสหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกไป ประเทศในกลุ่มอินโดจีนก็มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนั้นมีการคาดหมายถึงขั้นที่ว่าประเทศไทยจะต้องล้มไป ตามหลักทฤษฎีโดมิโน เราเป็นประเทศหนึ่งในอินโดจีน ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านเราเหล่านั้น ต่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง กระแสนิยมต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตอนนั้นก็รุนแรง ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ที่สุดประเทศไทยอาจจะไปไม่รอด มีการพูดจากนักวิชาการต่างประเทศ หรือคนที่ดูแลความมั่นคงกลุ่มหนึ่ง ก็เชื่อว่าประเทศไทยอาจจะไปไม่รอด ที่สุดอาจต้องล้มตามไป

ประเทศไทยกับวิกฤติทฤษฎีโดมิโน:

“นายชวน” เล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 2518 อาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เราไปถวายสัตย์ปฏิญาณที่เชียงใหม่ ในหลวงไม่สบายพระทัย สมเด็จย่าออกมารับพวกเรา ก่อนถึงเวลาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ สมเด็จย่าก็รับสั่งให้ฟังว่า เหตุการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยเรียบร้อย ในหลวงก็ทรงเป็นห่วงบ้านเมือง พูดง่ายๆ ตามประสาชาวบ้านก็คือ ในหลวงทรงไม่สบายใจ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในอินโดจีนแบบฉับพลันในขณะนั้น เช่น ลาว ก็ได้มีผลกระทบมาถึงคนไทย มีพี่น้องชาวลาวส่วนหนึ่งอพยพลี้ภัยทางการเมืองมาประเทศไทย แต่ในที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ในอินโดจีน ประชาชนเริ่มเห็นแล้วว่า แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงนั้นคือการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการเปลี่ยนระบบ

ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ที่จะเปลี่ยนสถานะของในหลวง เพราะตลอดระยะเวลาก่อนหน้านั้น ในหลวงอยู่ในหัวใจคนไทยแล้ว ทรงเสด็จฯ ไปทั่วประเทศ และทรงทำโครงการต่างๆ ยาวนาน ก่อนที่พวกเราจะเข้ามาในการเมืองแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้สะสมความรู้สึกที่เป็นบวกให้กับในหลวงเราเรื่อยมาโดยลำดับ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น จนวันหนึ่ง ถ้าจะตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลงแบบเพื่อนบ้านเอาไหม สถานะในหลวงต้องเปลี่ยนไป คือคนเขารับไม่ได้

คนไทยเกือบทั้งหมด ยกเว้นแต่คนที่คิดจะเปลี่ยน รับไม่ได้ การรับไม่ได้อันนี้ เราดูได้จากการเลือกตั้ง ในปี พ.ศ.2519 ทุกอย่าง เป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ว่าการเปลี่ยนแปลงจากปี 2518 เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง ปี 2519 ระบบสังคมนิยมก็เริ่มตกไปอย่างรุนแรง ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ เพราะคนรับไม่ได้ที่จะเปลี่ยนไปแบบที่บอก

“อดีตนายกรัฐมนตรี” ระบุว่า คิดว่าที่ประเทศไทยรอดมาได้ โดยไม่ต้องเป็นแบบทฤษฎีโดมิโน เพราะบารมีของพระองค์ท่าน ซึ่งคนที่จะพูดโยงเรื่องนี้ได้คงยากหน่อย เว้นแต่คนที่ตามมานาน ซึ่งหลังปี พ.ศ.2550 มีการเชิญอดีตนายกฯ คือ ผม นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน และคุณบรรหาร ศิลปอาชา ไปพูดที่ตึกสหประชาชาติ ในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ในสภาวะวิกฤติ” หลังพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจ ผมนำเรื่องนี้ไปพูดในที่ประชุม เพราะผมรู้ว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนรวบรวมต่อเนื่องยาวนานเท่าผม เพราะผมอยู่ยาวนานมาตลอด นานกว่าคนอื่น ผมก็เล่าให้ที่ประชุมวันนั้นฟังว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องวิกฤติภายในอย่างเดียว แต่หมายถึงวิกฤติการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่วิกฤติทำนองว่า รัฐบาลนี้ล้ม รัฐบาลนี้อยู่ รัฐบาลนี้ไป แต่เรื่องนี้เป็นวิกฤติว่าจะล้มไปทั้งระบบตามทฤษฎีโดมิโนหรือไม่ด้วย จนในที่สุดได้หักล้างคำพยากรณ์ที่ว่าประเทศไทยเราจะล้มไปตามทฤษฎีโดมิโน

บทสรุปในประเด็นนี้ “อดีตนายกรัฐมนตรี-ชวน” กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดเป็นเพราะอะไร ก็เพราะคนไทยไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของในหลวงได้ เพราะคนไทยผูกพันกับในหลวงยาวนาน อันนี้อาจไม่เห็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนสร้างเขื่อน สร้างตึก แต่มันเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่สามารถรักษาประเทศไทยไว้ได้อย่างวันนี้ ที่เรายังรักษาสถาบันกษัตริย์ รักษาระบบการปกครองไว้ได้อย่างมั่นคง อันนี้คือประเด็นหลักที่ผมคิดว่ายังไม่มีใครพูดถึงกัน

วันที่ผมไปพูดวันนั้น ผู้ใหญ่หลายคนที่ไปฟัง ก็บอกว่าเขานึกไม่ถึง และคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็นึกไม่ถึง คือไม่สามารถลำดับเรื่องได้ แบบที่ผมลำดับเรื่อง

บทบาทของพระองค์ท่าน ในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หรือช่วงหลังเหตุการณ์ พ.ค. ปี 2535 ?

ที่จริงก็มีพวกเราพูดเรื่องแบบนี้ไปมากแล้ว ผมไม่อยากพูดซ้ำอีก อย่างเหตุการณ์ตอน 14 ตุลาคม 2516 ก็เพิ่งผ่านพ้นมา ก็มีผู้เคยผ่านเหตุการณ์ มาพูดกัน ที่ก็ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง เช่นเดียวกับ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งผมก็อยู่ในเหตุการณ์ช่วงนั้น ผมก็เห็นว่าข้อมูลที่ออกมาในช่วงหลัง มีทั้งใกล้เคียง คลาดเคลื่อน แต่ว่าหลังเหตุการณ์ในขณะนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ลงมามีบทบาท หลายคนคงนึกออกว่าอย่าง หลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็ทรงเสด็จฯ ออกมาดูแลชาวบ้าน แต่ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่อำนาจที่พระองค์ท่านจะทรงทำได้ แต่ความที่ทรงมีพระบารมี ก็สามารถขอใครได้ว่า อย่าทะเลาะกัน เมื่อเกิดความเสียหายเกิดขึ้น ส่วนรวมไม่ได้อะไรเลย ทุกฝ่ายก็ไม่ได้ คนที่ทะเลาะก็ไม่ได้ พระราชดำรัสเหล่านี้ ก็ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งหลายก็ต้องยอมถอยกันมา เพื่อที่จะให้ความวุ่นวายสงบลงไปได้

อันนี้คือบทบาทสำคัญที่พระองค์ท่านได้เป็นที่ยอมรับ อย่างนานาชาติก็ยอมรับกันว่าหากพระองค์ท่านไม่ทรงลงมา บางเรื่องจะไม่จบอย่างนี้

ในหลวงทรงเป็นนักประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ

“อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย” กล่าวต่อไปว่า ในเรื่อง “ประชาธิปไตย” ตอนผมไปสหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีคนถามเรื่องสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ผมขอเรียนว่า ในหลวงเป็นนักประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ ทรงเป็นผู้รอบรู้ทั้งในทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เราจะเห็นว่าทรงรับฟังเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตย ผมมีโอกาส ก็ไปอ่าน พระราชดำรัสวันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาแต่ละปี เพื่อดูว่าทรงมีรับสั่งเรื่องพวกนี้ว่าอย่างไร ก็ได้เห็นว่าทรงเน้นให้สภาฯ หลังจากที่เลือกตั้งเสร็จมาแล้ว ภาระหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องทำอย่างไร ก็ทรงมีรับสั่งไว้เสมอ

ถึงประเด็นนี้ “อดีตนายกฯ ชวน” เล่าย้อนเกร็ดทางการเมือง ที่น่าสนใจให้ฟังประกอบการสัมภาษณ์ว่า ผมก็เคยนำมาใช้ เช่น ตอนที่สภาฯ จะมีการตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นมีการจะฉวยโอกาส วันที่ในหลวงให้มีการเปิดประชุมสภาฯ แล้ววันเดียวกันจะให้ประชุมสภาฯ ต่อเลยตอนบ่าย เพื่อจะให้เลือกนายกฯ คือจะทำแบบรีบร้อน โดยอ้างพระราชดำรัสว่า จะทำอะไรก็อย่าให้ชักช้า แต่ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องพวกนี้ ก็ไปดูพระราชดำรัส ก็พบว่าได้ทรงบอกด้วยเช่นกันว่า การจะทำอะไรก็ต้องมีความรอบคอบด้วย ทำให้ผมได้ทักท้วงในที่ประชุมสภาฯ วันนั้นว่า ได้ทรงมีรับสั่งว่าอย่าให้ชักช้า แต่สิ่งที่จะทำนั้น ก็ต้องมีความระมัดระวัง และรอบคอบด้วย เขาไม่มาเปิดประชุมสภาฯ ครั้งแรกตอนเช้า แล้วจะเลือกนายกรัฐมนตรีกันทันทีหรอก แต่ที่ทำก็เพื่อจะตั้งนายกรัฐมนตรี ผมอภิปรายไป ประธานในที่ประชุมก็อึ้งเลย เพราะไม่นึกว่า ท่านอ้างพระราชดำรัส แต่ผมก็อ้างพระราชดำรัสเหมือนกัน ผมก็บอกว่าท่านประธานอ่านไม่ครบ บอกแค่ว่าอย่าให้ชักช้า แต่ท่านไม่อ่านตอนท้าย

อันนี้คือเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ที่ผมอยากบอกว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่ทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะมีคำอยู่คำหนึ่ง คือ The King can do no wrong พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่ผู้ใดล่วงละเมิดมิได้ พูดง่ายๆ คือ พระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่ผิด ในระบอบประชาธิปไตย แต่เราก็ไม่เคยได้ยิน กษัตริย์ชาติไหน ที่พูดว่า The King can do wrong พระเจ้าแผ่นดินก็ทำผิดได้ มีแต่ในหลวงของเราองค์เดียวที่กล้าพูดสิ่งนี้

ตรงนี้จะขอเล่า แต่อาจไม่ครบถ้วน ตามที่ท่านเคยมีพระราชดำรัส ท่านเคยตรัสไว้ว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่มีเราเป็นประมุขนั้น จะมีหลักสำคัญประการหนึ่ง กษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด The King can do no wrong ของเราที่บอกว่า ในหลวงทรงสวนสิ่งนี้ ก็คือวันที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสกับบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ท่านทรงรับสั่งในวันนั้นแบบนี้ครับว่า มีตำราที่เขาอ้างกันเสมอ The King can do no wrong นี้ เป็นการดูถูก The King อย่างมาก เพราะว่า The King นี้ทำไมจะ do wrong ไม่ได้ แต่ว่า The King ทำ wrong ได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด ข้าพเจ้าเป็น The King แล้วขอบอกว่า do no wrong does no wrong เราก็เห็นด้วยกับเขา

...คือพูดง่ายๆ พระเจ้าแผ่นดินก็คน ทำผิดได้ แต่สำหรับ พระองค์ท่าน does no wrong พระองค์ท่านไม่ทำผิด นี่คือสิ่งสำคัญมากที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านยึดหลักความถูกต้องเป็นสำคัญ ความถูกต้องตามกฎหมาย ความถูกต้องตามแนวหลักการปกครองแผ่นดินโดยธรรม ที่ทรงยึดทศพิธราชธรรม แต่ภายใต้กฎหมายของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ ที่ยกเว้นให้กับพระเจ้าแผ่นดินนั้น แท้จริงแล้ว ที่ท่านไม่ทำผิด เพราะท่านไม่ทำ ไม่ใช่เพราะกฎหมายยกเว้นให้ท่าน

เมื่อพูดถึงจุดนี้ “อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย” พูดด้วยน้ำเสียงเน้นย้ำว่า อันนี้คือสิ่งสำคัญ คือความเป็นนักประชาธิปไตยที่ผมคิดว่ามีความหมายอย่างยิ่งในการให้ทุกคนได้ตระหนักรับรู้ว่า การทำอะไรโดยยึดหลักกฎหมาย ยึดหลักความถูกต้อง คุณธรรม และศีลธรรมเป็นหลัก คือหลักที่ผู้บริหารทุกคนต้องปฏิบัติ และนักประชาธิปไตยต้องยึดหลักอันนี้ แล้วปัญหาจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะทำแบบนี้ได้ ทุกคนก็ต้องทบทวนตัวเองให้ได้ว่า แต่ละคนมีหน้าที่ทำอะไร แล้วก็ทำหน้าที่นั้นด้วยความเที่ยงธรรม ซื่อตรง ปัญหาบ้านเมืองก็จะไม่เกิด

chuan 05

หลักคำสอนสำคัญที่สุดที่คนไทยควรศึกษา และนำไปใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

ในภาพรวม ประเทศได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่หรือผู้บริหารปัจจุบันนี้ หรือคนที่ทำงานอะไรก็ตาม ก็ต้องคิดว่าบ้านเมืองไม่ได้ผ่านมาแบบนี้ได้ โดยทุกคนนั่งเฉยๆ แต่มันผ่านความถูกความผิด ความสำเร็จ ความล้มเหลวกันมา แต่เมื่อมองภาพรวมของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ไทยไม่ได้รองใคร

เพราะฉะนั้นในยุคสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มา 70 ปี บ้านเมืองไทยเปลี่ยนไปมาก ผมในฐานะคนต่างจังหวัดรู้ดีในเรื่องนี้ ผมอายุป่านนี้แล้ว ผมได้เห็นตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก จนมาถึงตอนนี้ สิ่งที่ผมเคยเห็นตั้งแต่ตอนนั้นมาถึงตอนนี้ มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว มันเป็นความเจริญด้านวัตถุและความเจริญด้านต่างๆ ซึ่งความเจริญเหล่านั้น ในหลวงท่านทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการให้คำแนะนำ ซึ่งสิ่งที่ท่านทรงให้คำแนะนำนั้น ล้วนมีคุณค่าและมีผลต่อบ้านเมืองในระยะยาว

สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่อง การสร้างคน ที่เรารู้กันในขณะนี้ว่า เราสร้างคนเพื่อมารับผิดชอบบ้านเมืองในวันข้างหน้า คนรุ่นก่อนที่มีทั้งคนดี คนไม่ดี ก็ล้มหายตายจากกันไป คนรุ่นใหม่ขึ้นมา หากเราไม่สร้างคนดี คนเก่ง ขึ้นมา บ้านเมืองก็พัฒนาไปไกลไม่ได้ ซึ่งในหลวงทรงมองสิ่งเหล่านี้ด้วยปัจจัย ที่ทรงมอบให้หลายเรื่อง อย่างที่ผมยกตัวอย่างมา เช่น เรื่องอาหาร เรื่องปลา ใครจะไปคิดว่าพระองค์ท่านจะส่งคนไปเรียนด้วยทุนของพระองค์ท่าน ทุนมหิดล ทุนในหลวง ถึงตอนนี้กี่คนแล้ว เกือบทั้งหมด 99.99 เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้ได้ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง มาทำงานให้กับบ้านเมือง และเป็นคนมีความรู้จริงๆ ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองเราพัฒนามายาวไกล

…เรามองทางบวก ประเทศเราไปในทางที่ดีมากมาย แต่เราก็มีเรื่องลบ ที่ก็เหมือนกับทุกประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดจากระบบ แต่มันเกิดจากการกระทำของตัวบุคคล ระบบไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเสียหาย แต่ตัวบุคคลทำให้บ้านเมืองเสียหาย อันเกิดจากการไม่รอบรู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันเกิดจากความไม่บริสุทธิ์ใจ ความไม่สำนึกในเรื่องหน้าที่ เหล่านี้คือเงื่อนไขที่ทำให้เรามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แล้วก็กระทบกับประเทศของเรา

ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากระบบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่มันเกิดจากพฤติกรรมของบุคคลบางกลุ่ม บางเหล่า เท่านั้นเอง ก็เหมือนที่พระองค์ท่านทรงเคยมีรับสั่งว่า บ้านเมืองเรา มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ซึ่งหากเรายึดแนวพระองค์ท่าน คือส่งเสริมให้คนดี ได้ปกครองบ้านเมือง คนดีจะไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย จะถูกต้อง เร็วหรือช้า สำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่บ้านเมืองจะไม่เสียหาย พระราชดำรัสทุกเรื่อง ก็คือเกราะที่ดีงามต่อประเทศชาติ

“อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย” สรุปในตอนท้ายว่า ผมคิดว่า สถาบันการศึกษาก็ดี คนไทยทั้งหลายก็ดี จะต้องรวบรวม และอ่านแนวพระบรมราโชวาทของท่านบ่อยๆ เพื่อจะได้เป็นข้อเตือนใจ แต่ต้องไม่ใช่การท่องจำ แต่ไม่นำไปทำ เหมือนอย่างที่ท่านทรงแนะเรื่องความพอเพียง ที่มีการไปตีความให้เสียว่า ขี้เหนียว ไม่กล้าลงทุน ไม่เสี่ยง แล้วจะรวยได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ คือเสี่ยงได้ แต่ต้องเสี่ยงด้วยความรู้ ไม่ใช่เสี่ยงแล้วตาย แต่ต้องเสี่ยงโดยรู้ว่าเสี่ยงแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าเสี่ยงโดยไม่รู้ ก็จะมีวิกฤติเกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้มันคือคุณค่า ความยิ่งใหญ่ที่ได้ทำงาน โดยส่วนตัวผมก็ภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสรับใช้พระองค์ท่านในเรื่องต่างๆ ที่เป็นหน้าที่ของเรา สิ่งที่เราปฏิบัติก็เป็นแนวที่พระองค์ท่านรับสั่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบในหน้าที่ ก็จะทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร

ถ้าเรามีหลักที่ดีงามตามแนวพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวง ผมก็เห็นว่า ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรก็ตาม ก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้ทั้งสิ้น “

คือคำพูดปิดท้ายจาก "อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ชวน หลีกภัย"

บทสัมภาษณ์ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่อง "พ่อแห่งแผ่นดิน ในความประทับใจของอดีตนายกฯ"
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอ็กซ์ไซท์ ไทยโพสต์ ฉบับพิเศษ วันที่ 21ตุลาคม 2559

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy