foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

ccp education

copy 01ไม่ใช่ทฤษฎีใหม่อะไรหรอก เป็นแค่คำย่อที่พวกเขาใช้กัน และบรรดาคุณครูทั้งหลายก็คงจะได้ประจักษ์กันแล้ว เป็นเรื่องที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าแห่งยุคสมัย แต่เป็นการนำมาใช้โดยขาดการไตร่ตรอง เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอน เกิดการลอกเลียนที่ขาดจิตสำนึกซึ่งอาจมีผลกระทบต่อศีลธรรม จริยธรรม และการเป็นพลเมืองดีในอนาคตของเยาวชนชาติไทย หรือ อาจจะเยาวชนทั้งโลกก็อาจเป็นได้

ตอนแรกผมก็นึกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็มักจะทำ จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งจาก กระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็น กรรมการตัดสินผลงาน การจัดทำสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ ๑ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ถึงได้ซึ้งถึงหลักทฤษฎีและนิยามของ CPP ที่แพร่หลายในหมู่เยาวชน และอึ้งยิ่งขึ้น เมื่อได้รับการยืนยันจากบรรดานักเรียนและนิสิตหลายๆ คนที่ใช้หลักการนี้จัดทำผลงานส่งประกวด และส่งครู-อาจารย์เพื่อเอาคะแนนในการเรียน

อ่านไปแล้ว เริ่มงงไหมครับกับศัพท์เฉพาะคำนี้ CPP คงต้องเฉลยสักหน่อยแล้วล่ะ จึงจะไปถึงบางอ้อพร้อมกัน...

CPP = Copy Paste & Print

เฉลยคำตอบกันเลย CPP มาจากคำสามคำที่คนใช้คอมพิวเตอร์คุ้นเคย และใช้งานกันประจำ C มาจาก Copy การสำเนา P1 มาจาก Paste วางลงในตำแหน่งที่ต้องการหรือในเอกสารใหม่ P2 มาจาก Print ส่งผลงาน Output ออกไปในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นเอกสารรายงาน ผลงานอื่นๆ เช่น เว็บเพจ แผ่นพับ ใบปลิว ฯลฯ

control cut copy paste

ครูที่สั่งให้นักเรียนทำรายงานส่ง ในอดีตนักเรียนอาจจะต้องไปคว้า (ยืม) หนังสือจากห้องสมุด เพื่อนำมารวบรวม เรียบเรียง หรือลอกไปตรงๆ เขียนลงบนกระดาษรายงานส่งครู แน่นอนว่าวิธีการนี้ให้ผลดี ที่นักเรียนได้อ่านในขณะที่เขียน ความรู้พอที่จะส่งผ่านจากสายตา สู่สมองได้บ้างไม่น้อยก็มากล่ะ แต่พอเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแพร่กระจายเข้าสู่โรงเรียน สถานศึกษา ในบ้านเรือนมากยิ่งขึ้น ทำให้ห้องสมุดย้ายจากห้องสี่เหลี่ยม ตู้และชั้นหนังสือมากมาย ไปสู่เครือข่ายไซเบอร์ในยุคดิจิตอล ซึ่งทำให้การทำรายงานหรือสร้างงานเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลถูกแสดงผลบนจอ และแน่นอนข้อมูลแบบดิจิตอลนี้สามารถจะคัดลอกไปสู่สื่ออื่นๆ ได้ง่ายๆ เพียงแค่นิ้วมือคลิกบนแป้นคีย์บอร์ดและเมาส์

copy paste 02 "ผิดด้วยหรือ? ที่ผมจะคัดลอกข้อความเหล่านั้นมาใช้ มันแตกต่างจากอ่านหนังสือ แล้วมาเขียนทำรายงานอย่างไร? วิธีนี้ง่ายและสะดวกไม่ต้องมานั่งพิมพ์ด้วยซ้ำ..." คำถามในใจคุณ

ไม่ผิดหรอกครับ ถ้าเราจะลอกอย่างมีวิจารณญาณ ลอกมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสำนวนภาษาของเรา (แต่.. ยังคงอ้างอิงที่มาของข้อความเหล่านั้น ว่ามาจากแหล่งใด ใครเขียน) เราอาจจะเพิ่มเติมองค์ความรู้ ข้อเท็จจริง ที่ค้นพบ ค้นหาได้จากแหล่งอื่นๆ ลงไป เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ใช้วิธีการคัดลอก วางต่อๆ กันโดยไม่มีการเชื่อมคำ หรือประโยคให้สละสลวย บางทีพอนำมาต่อกันจากหลายๆ แหล่งกลับสร้างความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเลยก็มี เพราะความหมายมันเพี้ยนไปเลย เหมือนการเว้นวรรคคำที่ผิดของข้อความนี้ "วิตามิน กินแล้วแข็ง แรงไม่มี โรคภัยเบียดเบียน" ฟังแล้วความหมายเปลี่ยนไปชนิดไม่กล้าจะกินวิตามินเลยนะ นี่คือตัวอย่างที่พบ

ที่สำคัญ การลอกมานั้นจะต้องมีการอ้างอิงที่มาด้วยว่า นำมาจากที่ใด เพื่อให้เครดิตแก่ต้นฉบับที่แท้จริงอันเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้น ลองสังเกตง่ายๆ ถ้าคุณนำข้อความหรือคำที่คุณสนใจไปค้นหาจากเว็บไซต์ค้นหาอย่าง Google แล้วระบุให้แสดงผลเฉพาะเว็บที่เป็นภาษาไทย คุณจะพบสิ่งที่เหมือนกันทั้งประโยคหรือย่อหน้า หรืออาจมีภาพประกอบที่เหมือนกัน มากมาย จนไม่อาจตัดสินใจได้ว่า ใครลอกใคร ตัวไหนคือต้นฉบับจริงๆ กันแน่ เพราะต่างก็ไม่อ้างที่มาเหมือนกัน ซ้ำร้ายกว่านั้น พิมพ์ตกพิมพ์หล่นที่ตรงไหน ก็เหมือนกันทุกที่เสียด้วย

ในการตัดสินสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ ๑ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อช่วงวันที่ 19-21 มกราคม ที่ผ่านมานั้นพบว่า มีผลงานจำนวนมากที่คัดลอกเนื้อหา และภาพประกอบมาโดยตรงแบบคำต่อคำ รูปต่อรูป แต่ไม่อ้างอิงที่มาว่าเอามาจากไหน บางชิ้นงานนั้นลอกมาจากเว็บเดียว โดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไขเลยก็มี รายละเอียดอื่นๆ อ่านได้จากความเห็นของกรรมการ เผื่อใครคิดจะส่งผลงานในปีต่อไปจะได้ทำให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น "ส่งผลงานอย่างไรให้ได้รับรางวัล"

copy paste 03 ในปัจจุบันนี้ ข้อมูล บทความ เนื้อหาทางวิชาการบนเว็บไซต์ภาษาไทยมากกว่าร้อยละ 50 มีการคัดลอกกันไปมา โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาที่ไป ที่พบเห็นมากหน่อยคือ บนเว็บไซต์สถาบันการศึกษา โรงเรียนต่างๆ ของพวกเรานี่แหละ เท่าที่สอบถามก็ได้ความว่า อยากให้นักเรียนในโรงเรียนได้ค้นหา เรียนรู้ อ้างอิงได้เร็วกว่าออกไปยังเว็บเครือข่ายข้างนอก เลยลอกๆ มารวมไว้... Laughing

ไม่ใช่เหตุผลที่ดีนักนะครับ เพราะที่ลอกๆ มานี่ท่านไม่ได้อ้างอิงต้นตอที่มาว่า มาจากไหน ใครเขียน (ทำไว้) นักเรียนท่านก็จะอ้างอิงผิดๆ คืออ้างที่มาว่า มาจากเว็บของท่าน ซึ่งไม่จริงสักหน่อย ผมแนะนำว่าท่านควรกลับไปแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง ด้วยการระบุที่มาที่ไป และเหตุผลในการนำมาใช้งานไว้ดีกว่าครับ ดังนี้

เรื่อง บั้งไฟไปดวงจันทร์
(ที่มา : www.knowhow.com, วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในเครือข่ายในโรงเรียน ลดการใช้แบนด์วิธเครือข่ายที่มีอยู่น้อย สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดอ่านที่เว็บที่มา)

ถ้าเป็นแบบนี้ได้ ความรู้บนห้องสมุดดิจิตอลของเราก็จะมีคุณภาพในทางวิชาการมากขึ้นครับ และจะเป็นการส่งเสริมให้ลูกศิษย์ของเรารู้จักและเคารพสิทธิของผู้อื่น รู้จักการอ้างอิงในรูปแบบที่เป็นทางการ เป็นสากล ช่วยลดปริมาณขยะข้อมูลบนเครือข่ายลงไป และถ้าเป็นการจัดทำเพื่อการประกวดแข่งขัน รับรางวัลในการทำสื่อการเรียน โอกาสที่จะได้รับรางวัลก็มีสูงมากขึ้น เพราะเรายอมรับในลิขสิทธิ์งานของคนอื่นนี่แหละ ไม่ได้ลอกแต่ใช้ในการอ้างอิงเนื้อหา นำมาปรับปรุงเรียบเรียงให้น่าติดตามเรียนรู้มากขึ้น

ขอเสนอนิยามใหม่ให้กับคุณครูนำไปเผยแพร่และใช้กันแทนครับ จาก CPP เป็น CPEP กันดีกว่า

CPEP = Copy Paste Edit & Print

Copy มาแล้วก็จัดการ Paste ลงไป แล้วทำการปรับปรุง แก้ไขให้เหมาะสม Edit ก่อน จึงทำการส่งออก Print

children more

ค่านิยมในการศึกษาของคนไทย ฤาไม่เคยเปลี่ยน

ประเทศไทยเรา มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษามายาวนาน แต่ดูเหมือนเราจะยังไม่เปลี่ยนแปลงค่านิยมในการศึกษามากนัก สังคมไทยเราในระยะ 20-30 ปีมานี้เป็นสังคมการบริโภคนิยม เป็นผู้เสพความทันสมัย (ตามค่านิยมที่สังคมกำหนด เช่น ต้องมีนั่น มีนี่ จึงจะเป็นที่นับหน้าถือตา ท่านไปจินตนาการต่อเอาเองครับ) จึงทำให้เราแสวงหาเงินตราเป็นที่ตั้ง เพราะเงินตราทำให้สามารถเสพในสิ่งที่สังคมยกว่าดีได้สะดวกมากขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มองว่า ลูกเราต้องเรียนเพื่อเป็นแพทย์ หมอ พยาบาล วิศวกร ฯลฯ จึงจะมีรายได้สูง สามารถเสพสุขตามค่านิยมในสังคมได้

ทั้งๆ ที่ลูกก็ไม่ได้อยากร่ำเรียนอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็นสักเท่าไหร่? เพราะลูกก็มีสมอง มีความคิดของตนเอง มองดูพ่อแม่ที่มีรายได้ดี ร่ำรวยจากการเป็นหมอ แต่หาความสุขไม่ได้ นอนหลับฝันดีตอนตีหนึ่งมีโทรศัพท์แจ้งว่ามีคนไข้หนักก็ต้องรีบไปทำงาน (ข้ออ้างคือ จรรยาบรรณแพทย์) ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำทั้งในโรงพยาบาลและคลีนิก จะไปเที่ยวกับลูกก็หาเวลายาก ลูกไม่อยากเป็นหมออย่างพ่อแม่ แต่ก็โดนบังคับให้ไปเรียน ครูที่ปรึกษาก็พยายามช่วยนักเรียนพูดคุยกับพ่อแม่แต่ไม่เป็นผล (ตัวอย่างนี้ จากลูกศิษย์คนหนึ่งในโรงเรียน ที่สอบได้ทุนไทยพัฒน์ไปศึกษาต่อสาขา วิทยาศาสตร์ถึงระดับปริญญาเอก (เป็นนักวิจัย) แต่ถูกพ่อแม่บังคับให้สละสิทธิ์เพื่อไปเรียนหมอขอนแก่น)

ทำให้ประเทศไทยเราขาดนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ดีในอนาคต ไปแล้วหนึ่งคน นี่ถ้าเขาเรียนเก่งอยากเป็นครู อยากไปเรียนครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สงสัยได้ตัดพ่อ ตัดลูกกันแน่ๆ เลย แล้วประเทศของเราจะพัฒนาไปได้อย่างไร? เมื่อ... มีแต่คนที่หาที่จะไปเรียนต่อไม่ได้แล้ว สอบที่ไหน คณะไหนยอดนิยมก็ไม่ได้แล้ว จึงตัดใจเลือกเรียนศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ลองจินตนาการต่อไปอีกว่า ถ้าเขาไม่ชอบสายอาชีพนี้แต่จำเป็นต้องทำ ผลที่เกิดกับเยาวชนของชาติไทยจะเป็นอย่างไร?

ยกตัวอย่างครอบครัวผมนี่แหละ... "แม่เขาอยากให้ลูกชายเป็นหมอบ้าง เพราะในครอบครัวเรา ตระกูลเรา ไม่มีใครมีอาชีพหมอสักคน เผื่อปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ป่วยจะได้มีคนดูแล..." คำตอบจากลูกชายทำให้แม่ต้องคิดใหม่เลยทีเดียว

"แม่ น้องไม่อยากเป็นหมอ อาชีพที่น่ารังเกียจ น้องไม่ได้หมายถึงหมอเป็นคนน่ารังเกียจนะ แต่งานที่หมอทำต่างหากที่ทุกวันต้องเจอแต่เลือด หนอง บาดแผล ความพิกลพิการ คนป่วยใกล้จะตาย มันศิวิไลซ์ตรงไหนแม่ น้องไม่ชอบ ไม่อยากพบสิ่งเหล่านี้ทั้งวัน ให้คนที่เขาชอบเลือกเถอะ..." ทุกวันนี้ ลูกสาว-ลูกชายผมจึงเลือกอาชีพที่เขาชอบร่ำเรียนอย่างมีความสุขไปทั้งคู่

game boy ครั้นหันกลับมามองลูก (ศิษย์) ในปัจจุบัน ก็กลุ้มใจแทนพ่อแม่ ผู้ปกครอง เสียจริง ทำไมพวกเขาจึงได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายเช่นนี้ ยิ่งข่าวสารทันสมัย มีช่องทางติดต่อ ศึกษาหาความรู้ได้กว้างไกล พวกเขากลับไม่มีอะไรอยู่ในสมอง นอกจาก.. แสวงหาความบันเทิงไปวันๆ นักเรียนชายก็บ้าเกมคอมพิวเตอร์ นักเรียนหญิงก็บ้าเอ็ม บ้าฮิห้า (Hi-5 ไม่ใช่ผมไม่รู้จักและอ่านไม่ถูกนะ) วุ่นอยู่กับเอ็มพีสาม โทรศัพท์มือถือ และบางส่วนก็ล้ำหน้าด้วยการถ่ายคลิปเอามาโชว์ มาอวดกัน (ร้อยทั้งร้อยที่ว่อนในอินเทอร์เน็ต พวกเขาเอามาโชว์กันเอง ไม่มีใครแอบถ่าย หรือหลุดมาจากไหนหรอก)

นี่อีกไม่กี่วันก็จะพ้นสภาพนักเรียน ม.6 แล้ว แต่บางคนก็รักโรงเรียนกันจริง ยังเหลือเกรดศูนย์อยู่ยังกับทะลายหมาก (ถ้าทะลายมะพร้าวมันนับจำนวนง่ายไป) บางคนไม่รู้จักแม้กระทั่งผมที่เป็นครูสอนวิชานั้น ในเทอมต้นที่ผ่านมา (เพราะมันมาเรียนครั้งเดียวตลอดเทอม) เดินเข้ามาถามผมได้ ครูมนตรีอยู่ไหมครับ? (ผมเลยถามกลับไปว่า มีธุระอะไรกับครูหรือ? ครูไปราชการ พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่) จริงๆ แล้วหมอนี่คงไม่รู้จักครูทั้งโรงเรียนนั่นแหละ เพราะผมขอดูใบแจ้งติดตามผลการเรียนแล้วกลุ้มใจแทน มีศูนย์อยู่ 24 รายวิชาครบทุกกลุ่มสาระ พลศึกษายังติดศูนย์เลย เอาเข้าไป...

บ่นให้ฟังครับ... ผมว่า สถานการณ์อย่างนี้น่าจะเป็นกันทั่วประเทศ ก็คงต้องบอกกล่าวกันว่า ผู้ปกครองอย่าหวังพึ่งครูให้ช่วยลูกของท่านเลย เพราะขนาดลูกครูเองแท้ๆ ก็ใช่จะรอดจากเหตุการณ์เช่นนี้ คงต้องช่วยกันให้มากขึ้น ในหนึ่งวันลูกไปโรงเรียนถึง 8 ชั่วโมงหรือเปล่า? แล้วอีก 16 ชั่วโมงที่เหลือท่านได้ดูแลเขามากน้อยเพียงใด พ่อ-แม่ ผู้ปกครองคงต้องลดอายุลงมาคลุกคลีกับเขาให้มากขึ้น และลืมเสียทีว่า สมัยที่พ่อ-แม่ยังเป็นเด็กนั้นล้าสมัยยิ่งนัก ทีวีก็อาจจะไม่มี วิทยุเอเอ็ม โทรศัพท์ในบ้านก็ยังมีไม่ทั่ว ตอนนี้ดำนา เกี่ยวข้าวยังพกมือถือไว้ขอเพลงจากสถานีวิทยุชุมชนได้ มันเปลี่ยนไปแล้ว...

ขอให้โชคดีมีความสุขนะครับ ผ่านปีใหม่ไปแล้ว 1 เดือนพอดี... Laughing

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy