foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

thai edu now 01

เกือบ 2 ปีแล้วที่มีการระบาดของไวรัสร้าย 'Covid-19' ที่ทุกๆ ประเทศในโลกนี้ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย เศรษฐกิจ ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน รวมทั้ง 'การศึกษา' ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดิน จากหน้ามือไปจนถึงหลังเท้า เด็กๆ จำนวนมากทั่วโลกก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ไปเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ ต้องเรียนออนไลน์ หรือเรียนผ่านช่องทางอื่นๆ ตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทย 'โควิด-19' ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง มีคนจำนวนมากมายต้องอยู่ในสภาพตกงาน ธุรกิจมากมายล้มระเนระนาด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหารปิดกิจการจำนวนมาก ช่วงหลังๆ ธุรกิจการก่อสร้างก็กระทบเพราะการระบาดในไซต์งานจำนวนมาก ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องหลั่งไหลกลับบ้านเกิด นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่เราพบเห็นอย่างจริงจัง กระทบมาถึงการศึกษา ที่ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ นักเรียนนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ ท่ามกลางสารพัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเรียน และได้ก่อผลกระทบอีกมากมาย ทั้งการขาดอุปกรณ์การเรียนอย่างเครื่องมือสื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และแม้แต่สัญญาณการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การช่วยเหลือจากภาครัฐที่กระท่อนกระแท่นไม่ทั่วถึง สำรวจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล่าช้า วิธีการสารพัดปัญหา 108 มาให้ครูและบุคลากรแก้ไขกันรายชั่วโมง เฮ้อ!

นั่นคือมุมมองในฟากฝั่งโรงเรียนในสังกัดรัฐ พอหันไปดูโรงเรียนเอกชนบ้าง เมื่อสัก 10 ปีก่อนเราเคยเห็นกันว่า 'โรงเรียนเอกชน' ที่ดีมีคุณภาพจะเติบโตต่อเนื่องเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจ น่าลงทุน เพราะผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอต่างก็ต้องการให้บุตรหลานของตน ได้รับการจัดการศึกษาที่ดีกว่า จะเห็นได้ว่ามีโรงเรียนเอกชนที่ใช้หลักสูตรนานาชาติเปิดมากขึ้นทั้งในส่วนกลางและหัวเมืองใหญ่ๆ

thai edu now 02

โรงเรียนเอกชน ขาดสภาพคล่อง ส่อแววปิดกิจการ เลิกจ้างครู

ตามที่เราได้รับรู้กันว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดครั้งนี้ นอกจากปัญหาวิกฤติคุณภาพการศึกษาจากการเรียนออนไลน์แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้คือ มีการปิดตัวลงของสถานศึกษาเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลาง จากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้ และบางส่วนไม่ยอมจ่าย เนื่องจากไม่ได้มีการจัดการศึกษาตามที่คาดหวัง (เด็กไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน กิจกรรมหลายๆ อย่างที่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาไปไม่ได้ใช้ แต่ค่าใช้จ่ายในการจ้างครู และค่าดำเนินการอื่นๆ ยังคงมีอยู่) ทำให้เกิดภาระมากมายถึงกับมีการลดเงินเดือนครู และบางแห่งถึงกับเลิกจ้างครูไปก็มาก ขณะนี้มีรายงานว่า มีการเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 20,000 คน และหากไม่มีการแก้ปัญหา คาดว่าจำนวนเลิกจ้างอาจแตะ 35,000 คน ในภาคเรียนที่จะถึงนี้

“เมื่อโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาอ่อนแอลงอย่างมาก ประเทศย่อมอ่อนแอลง และผลกระทบจะยาวนานกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ หรือวิกฤติการเมืองใดๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเร่งด่วน จะมีสถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐาน ทั้งระดับปฐมวัย จนถึงมัธยมของเอกชน ปิดกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก” เป็นคำกล่าวของ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาแห่งชาติ และอดีตประธานอนุกรรมการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ

การเรียนออนไลน์ ทำให้เราเห็นปัญหาอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่?

วิกฤตครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นอะไรมากมายที่ซ่อนอยู่ "ใต้พรมการศึกษาไทย" มันเปิดออกมาโดยไม่สามารถปัดกวาดไปซุกไว้ได้อีก จำเป็นที่เราจะต้องแก้ไขกันอย่างจริงจังเสียที

1. อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

เราพบความจริงได้ว่า ไม่เฉพาะในเด็กวัยปฐมศึกษาตอนต้นเท่านั้นที่ยังอ่านภาษาไทยไม่ออก เขียนไม่คล่อง แต่มีเด็กที่หลุดมาจากระดับประถมศึกษาจะด้วยวิธีการผลักหรือจะว่า 'ถีบหัวส่ง' มาจนถึงชั้นมัธยมจำนวนไม่น้อยเลยที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ จากการที่ต้องหยุดเรียนที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ หรือจะเป็นผ่านใบงานที่เรียกซะโก้ว่า 'On-hand' นั้นทำอะไรไม่ได้เลย ยิ่งไม่มีครูคอยจี้ คอยบอก ไม่มีเพื่อนนั่งข้างๆ ให้ถาม ไม่มีพ่อ-แม่ ผู้ปกครองคอยช่วยเหลือเพราะต้องออกไปทำมาหากิน หรือที่อยู่บ้านก็ไม่มีความรู้พอที่จะบอกจะสอนได้ ผลกรรมจึงตกอยู่ที่เด็กกลุ่มนี้เต็มๆ จะโทษใครดีล่ะ?

thai edu now 03

เมื่ออ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ไม่คล่องการจะทำใบงานจึงเป็นเรื่องน่าเบื่อมากๆ เพราะไม่รู้จะทำอะไร ก็ไม่เข้าใจว่าในกระดาษนั้นมีคำสั่ง ความหมายว่าอย่างไร แม้จะมีคนมาอ่านให้ฟังมาบอกว่าให้ทำอะไร แต่การเขียนไม่ได้ทุกอย่างจึงว่างเปล่า ไม่ประสบผลสำเร็จใดๆ เลย

2. ทักษะการคิดคำนวณไม่มี

จริงๆ แล้วเรื่องนี้เราพอทราบกันมานานแล้วล่ะว่า พื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยไม่ได้ดีนัก ไม่ค่อยมีเหตุมีผล ไม่มีทักษะด้านการคิดที่เป็นระบบ ซึ่งส่งผลให้มีกระบวนการคิดและแก้ปัญหาต่างๆ อ่อนด้อยไปด้วย คณิตศาสตร์มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิด ทําให้มนุษย์คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน ตลอดจนมีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ นอกจากนั้น คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่นๆ อีกหลายแขนง

คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สําคัญและจําเป็นอย่างยิ่งสําหรับทุกคน เพราะช่วยพัฒนาความคิดของเด็กให้เป็นคนคิดอย่างมีเหตุผล มีระเบียบ มีความละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ รวมทั้งมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถแก้ปัญหาให้สําเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์วิศวกรรม การแพทย์ และอื่นๆ ต้องอาศัยคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือสําหรับการเรียนรู้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือที่จําเป็นในการดํารงชีวิตประจําวันของเด็กทั้งหลาย อย่างเช่น การซื้อขาย การใช้เวลาเล่น การเดินทาง และอื่นๆ (สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

3. ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลง

เด็กที่ต้องอยู่บ้านนานๆ ขาดการพบปะได้ละเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ไม่มีกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่จำเป็น ทั้งการมีทักษะร่วมกันอยู่ในกลุ่มด้วยการเป็นผู้นำ หรือเป็นผู้ตาม ให้ความเคารพปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบกฏเกณฑ์ต่างๆ จึงขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไป ยิ่งต้องอยู่ในโลกออนไลน์ที่ทำให้เกิดการคิดในโลกเสมือน ซึ่งอาจทำให้มีบทบาทที่สร้างขึ้นเองได้โดยไม่มีใครขัดแย้ง ตนเองเป็นใหญ่ เป็นวีรบุรุษ เกิดความก้าวร้าวไม่ยอมรับความคิดของบุคคลอื่นๆ หรือหากจิตใจอ่อนแอก็อาจถูกชักจูงไปในทางที่เสียหายได้ง่าย

ข่าวเศร้าของเด็กบ้านเราจากการเรียนออนไลน์ที่น่าสงสารคือ ถูกหลอกให้เชื่อง่าย เชื่อการโฆษณา ติดแบรนด์ เข้าทำนอง "รายได้ต่ำ รสนิยมสูง" พ่อแม่ก็ประสบปัญหาเรื่องอาชีพและรายได้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องตกงานหรือลดค่าจ้าง ค้าขายไม่ได้ดังเดิม แต่ลูกก็อยากได้โทรศัพท์ แท็ปเล็ตยี่ห้อดัง เพื่อใช้เรียนออนไลน์ จนฆ่าตัวตายเพราะไม่ได้ iPhone, iPad ตามที่หวังด้วยพ่อแม่ไม่มีเงินซื้อให้

thai edu now 05

การที่เด็กไม่สามารถคิด วิเคราะห์แยกแยะได้ หลงเชื่อในสิ่งที่เป็นค่านิยมอันล้นพ้นตัว จึงเกิดความสูญเสียมากมายล่าสุด คือการโกงซื้อมือถือมือสองแล้วไม่ได้อะไร เสียใจเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก ทั้งๆ ที่หากเขาคิดวิเคราะห์ได้ว่า มือถือมือ 1 ที่ดีๆ พร้อมสำหรับเรียนออนไลน์นั้น ด้วยเงิน 5,000 บาทที่ได้มาจากแม่นั้นซื้อมือถือในฝั่ง Android ดีๆ ลื่นๆ ได้แล้วจากร้านค้าใกล้บ้านที่มีการรับประกันสินค้า แต่ดันไปเชื่อคำรับรองจากแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่รู้จักกับ iPhone ตกรุ่น ที่ไม่มีอยู่จริง และไม่ได้รับของ หรือบางรายได้สิ่งอื่นๆ ทั้งบะหมี่สำเร็จรูปหรือเศษโลหะก็มี (ในภาวะลำบากอย่างนี้ 'คนโกง' ก็มีมากมายหลายรูปแบบจริงๆ ต้องระวังกันนะครับ อย่าโลภ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ กันเลย ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่ายดายดอกนะ)

ไม่เพียงเท่านี้นะครับ ยังรวมถึงความรู้ด้านภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขอนามัย สังคมศาสตร์สำหรับทุกระดับในการศึกษาขั้นพื้นฐาน อ่อนแอลงหมด ซึ่งต่อจากนี้ไปโรงเรียนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ต้องใช้เวลาเสริมสร้างทักษะชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป เด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา และจะมีความอ่อนแอในวิชาพื้นฐานต่างๆ อีกมาก ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และประเทศไทยเราจะขาดกำลังคนที่มีความรู้พื้นฐาน ความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่างๆ

thai edu now 04

สิ่งที่ทางกระทรวงศึกษาธิการน่าจะต้องทำ และดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การจัดตารางการเรียนการสอนใหม่ เพื่อให้เด็กสามารถตามบทเรียนที่ขาดพร่องไป จากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน ในวิชาที่ต้องใช้ทักษะเหล่านี้ ในภาคปฏิบัติในชั้นเรียน โดยจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาและคณิตศาสตร์ และตัดชั่วโมงเรียนของวิชาที่จำเป็นน้อย หรือสามารถเรียนรู้ในภายหลังได้ออกไปก่อน การวางนโยบายการศึกษาระยะยาวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ อย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นบทเรียน เราต้องพร้อมในการจัดการเรียนการสอนทั้งในระบบโรงเรียน และซ่อมเสริมอุดช่องว่างทันทีเมื่อมีความจำเป็นต้องมีการเรียนออนไลน์ อย่าใช้หลักสูตรเดียวทุกสถานการณ์อย่างปัจจุบัน ลดนโยบายเพ้อฝันสั้นๆ ประเดี๋ยวประด๋าวเอาใจนักการเมือง เพราะการศึกษาต้องใช้เวลาในการสร้างไม่ใช่ทำได้ด้วยเวลาแค่ข้ามคืน

กล้วยไม้มีดอกช้า            ฉันใด
การศึกษาเป็นไป             เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวไร        งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น...      เสร็จแล้วแสนงาม ”

อย่างที่ผมจั่วหัวไว้ในภาพบนสุดว่า "108 ปัญหาการศึกษาไทย ที่ยังรอ... การแก้ไขนั้น เราต้องการนโยบายระยะยาวไม่ขายฝัน และนักการศึกษาที่แท้จริงมาแก้ไขปัญหานี้" เราจะเห็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือ KPI ที่จะบอกว่าเราทำสำเร็จในแต่ละช่วงนั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี (ระยะช่วงชั้น) และเมื่อเรานำมาวิเคราะห์และแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติให้เห็นผลจริงๆ ต้องอย่างน้อยอีก 2-3 ปี การที่นักการเมืองจะมาพล่ามว่า จะปฏิวัติ ปฏิรูปการศึกษาใน 2-3 ปีจึงเป็นเรื่องเพ้อฝันเชื่อถืออะไรไม่ได้ ดังที่เราตั้งเป้าปฏิรูปการศึกษามาแล้วย้อนหลังไปกี่สิบปีแล้ว ก็ไม่สำเร็จเสียที เพราะการทำแบบนักการเมืองที่จะหาเสียงเพียงระยะเลือกตั้งนั่นไง เราจึงได้แต่ ปะ-ติ(ด)-ลูบ-คลำ-การศึกษา ตามนโยบายรายวันไม่สิ้นสุดเสียที

เราอาจจะมีวิธีการมากมายในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ แต่วิธีการแบบ "ครูเนาวะรัตน์ ถาวร" แห่งโรงเรียนบ้านหนองแก ครูบรรจุใหม่ที่จบเอกพละ เคยติดศูนย์ในวิชาภาษาอังกฤษทุกตัวในช่วงมัธยมปลาย ที่มีประสบการณ์จากการคุมสอบ O-net แล้วนักเรียนถามว่า “จะทำข้อสอบอย่างไรดี ในเมื่ออ่านไม่ออก แปลไม่ได้เลย” ครูก็ตอบไปว่า “ให้เลือกคำตอบข้อที่ยาวที่สุด” เมื่อการสอบครั้งนั้นผ่านไป ครูก็กลับมาถามตัวเองว่า "เธอเป็นครูแบบไหนกัน ถึงได้บอกนักเรียนไปแบบนั้น" และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูเนาวะรัตน์เริ่มมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และค้นหาวิธีการสอน โดยมีเป้าหมายคือให้นักเรียนสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้จริง

จนกระทั่งพบว่า การเรียนแบบ "Phonic" และอาศัยการสะกดคำภาษาอังกฤษคล้ายภาษาไทย โดยใช้สีและสัญลักษณ์ตัวเลขมาช่วยแยกประเภทตัวอักษรที่เป็นสระ พร้อมทั้งใช้ภาพสื่อความหมายของคำศัพท์นั้นๆ จะทำให้นักเรียนอ่าน-เขียน-แปล ศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นคำบัญชีพื้นฐานกว่า 1,200 คำ ได้อย่างคล่องแคล่วเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และมีเวลามากพอที่นักเรียนจะได้พัฒนา Grammar-Tense-Conversation ในช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลายได้

ซึ่งผลที่ได้คือ โรงเรียนบ้านหนองแก อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ขึ้นแท่นสอบ O-net ได้คะแนนสูงสุดในจังหวัดสระแก้ว 5 ปีซ้อน (2559 - 2563) และคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศเกือบ 2 เท่า กลายเป็นโรงเรียนต้นแบบที่มีนวัตกรรมด้านการสอนเป็นเลิศ และมีนักการศึกษาและผู้บริหารจากสถานศึกษาเดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วประเทศ ปรบมือให้สิครับ นี่คือ "ครูไทย" แบบอย่างที่เราต้องการ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ 24 กันยายน 2546

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy