foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

develop education

ล่าสุดที่เข้ามาอัพเดทก็ตอนต้นปี 2566 นานไปเหมือนกันนะ ที่ไม่เขียน ไม่บ่น เพราะไม่รู้จะบ่นอะไรมากไปในเรื่องเดิมๆ ก็เห็นการพัฒนาไปในทางที่ดีบ้างนิดหน่อย เห็นเพื่อนครูหลายคนค่อนข้างพอใจ เสนาบดีที่อยู่ข้างบนก็ดูจะรับลูก รับฟังความคิดความเห็นทั้งจากครู จากสื่อ จากสังคมทั่วไปพอสมควร จนวันนี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ออกมาและจะเข้ามาบริหารประเทศชาติ แม้จะมีเหล้าเก่าในขวดใหม่อยู่ครึ่งค่อนขวดก็เถอะ ก็ได้แต่หวังว่าจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับบ้านเมือง แม้ในรายชื่อของเสนาบดีเสมาจะไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจกองเชียร์ชาวเสมามากนักก็ตาม รอดูผลงานกันก่อนค่อยว่ากันก็คงไม่สายกระมัง เดี๋ยวจะหาว่าติเรือทั้งโกลนไปอีก

เรื่องที่จะเอามาบ่นวันนี้ ที่ทนไม่ค่อยได้นักก็คงจะเป็นการแสดงความเห็นจากรูปข้างล่างนี้แหละ ที่เห็นแชร์กันมาในฟีดของเฟซบุ๊ค และมีคนแสดงความเห็นทั้งคัดค้านและที่ไม่เห็นด้วยมากมาย ก็เลยขอออกมาบ่นอีกครา แม้ว่า... ตัวผมได้หลุดพ้นออกจากวงการ "ครู" มานานหลายปีแล้วก็ตาม ขอมีส่วนร่วมบ้างนะ...

kruwandee

ต่อประเด็นนี้ อยากจะบอกเพื่อนครูทุกคนว่า หลักสูตร กว่าจะได้รับการปรับเปลี่ยนในแต่ละครั้งนั้น ได้มีการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์หลักสูตรกันมานานพอสมควร เมื่อเห็นปัญหาก็ระดมความคิดจากนักวิชาการ จากคุณครูผู้สอนในระดับต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ไปถึงโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทห่างไกล โดยเครือข่ายครูที่สังกัดในองค์กรต่างๆ มาประชุม ระดมความคิดเห็น วางแนวทางจนเป็นโครงร่างหลักสูตรที่คาดว่า จะแก้ปัญหาได้ แล้วให้นักวิชาการในแต่ละสายเขียนหลักสูตรออกมา จึงเชิญคุณครูผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณาแสดงความเห็น ตัดทอน เพิ่มเติม ปรับปรุง จนทุกฝ่ายลงความเห็นว่า น่าจะได้ผล จึงทำหลักสูตร "นำร่อง" เอาไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริงในทุกระดับ นำมาปรับปรุงอีกหลายครั้งทั้งในส่วนวัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล จึงประกาศให้นำมาใช้จริงครอบคลุมทั่วประเทศในอีกหลายปีต่อมา ไม่ใช่คิดวันนี้เปลี่ยนวันนี้นะครับ

วิทยาการคำนวณ (Computing science) คืออะไร ?

วิทยาการคำนวณ (Computing science) เป็นวิชาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้เด็กสามารถคิดเชิงคำนวณ (Computational thinking) มีพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technology) และมีพื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and information literacy) ซึ่งการเรียนวิชาการคำนวณ จะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การคิดให้เหมือนคอมพิวเตอร์เท่านั้น และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการคิดในศาสตร์ของนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและช่วยแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ครูหลายท่านเห็นชื่อวิชาและกลุ่มวิชาแล้วก็ตกอกตกใจ โรงเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนใช้ครบทุกคนจะทำอย่างไร? ไม่มีก็สอนได้ครับ เนื้อหาจริงๆ แล้วมันคือกระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน สามารถใช้บัตรคำ กระดานดำ หรือกระดาษว่างๆ สักแผ่นก็ได้ โดยการยกปัญหาขึ้นมาที่เกิดในชีวิตประจำวัน ระหว่างวันขึ้นมา แล้วให้นักเรียนร่วมกันระดมความคิดหาวิธีการแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์ให้ได้รับความสะดวก ได้ประโยชน์สูงสุดโดยใช้แรง เวลา และทรัพยากรให้น้อยที่สุด ในหลักสูตรพื้นฐานไม่ได้บอกให้คุณครูต้องสอนการโปรแกรมให้นักเรียนเป็น "โปรแกรมเมอร์" ผู้เชี่ยวชาญทางการเขียนโปรแกรมสั่งงานต่างๆ แต่ในอนาคตหากผู้เรียนมีความสนใจจะศึกษาต่อก็จะได้ประโยชน์จากการเรียนพื่นฐานนี้ เพราะจะทำให้เขามีกระบวนการคิดวิเคราะห์ การแยกแยะปัญหา และจัดการปัญหาเป็นลำดับไปจนสำเร็จ

ที่มาที่ไปของวิชาวิทยาการคำนวณ และความสำคัญว่าทำไมวิชานี้จึงต้องเรียน

เป้าหมายของวิชานี้ ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนที่เรียนจะต้องไปเป็นคนเขียนโปรแกรม หรือโปรแกรมเมอร์ แต่ต้องการเพิ่มทักษะคิดเชิงคำนวณสำหรับแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน สามารถมองได้ว่า ปัญหาใดสามารถแก้ด้วยระบบอัตโนมัติ(ขั้นตอน)ได้ ทำความเข้าใจว่าระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานได้ และที่สุดคือมีความรู้ที่จะควบคุมระบบอัตโนมัติได้ในเบื้องต้น ซึ่งทักษะที่ว่ามานี้ เป็นสิ่งจำเป็นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะไปเป็นคนในสายวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี หรือแม้แต่วรรณกรรม

เนื้อหาวิชาวิทยาการคำนวณ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ

  1. Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์) หัวใจหลักของวิชานี้ ให้ผู้เรียนสามารถคิดได้เป็นขั้นตอน นำการเขียนโปรแกรมมาเป็นเครื่องมือในการฝึกคิดเป็นขั้นตอน ตามแนวทาง Computational Thinking
  2. ICT (เทคโนโลยีสารสนเทศ) ให้ผู้เรียนสามารถรวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล นำข้อมูลมาประมวลผล และทำการตัดสินใจจากพื้นฐานของข้อมูลได้
  3. Digital Literacy (รู้เท่าทันดิจิทัล) ให้ผู้เรียนรู้ทันเทคโนโลยี ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยี สามารถสร้างสรรค์ผลงานบนเทคโนโลยีได้

ถ้าดูในเนื้อหาข้างต้น 3 ส่วน ก็จะเห็นว่า ก็นำมาจากเนื้อหาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเดิมๆ นั่นเอง เพียงแต่เน้นที่ "การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ" มากกว่าส่วนอื่นๆ และนำไปสู่เนื้อหาส่วนที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

computer science 2

ที่น่าสนใจมาก คือ การเรียนการสอนด้านวิชาเขียนโปรแกรมนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ในโลก ที่มีการเรียนสอนในหลักสูตรพื้นฐาน ประเทศอังกฤษเริ่มการสอนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ส่วนประเทศสิงคโปร์เพิ่งเริ่มสอนมา 6 ปี จึงอาจมองได้ว่า เป็นโอกาสในการต่อยอดพัฒนาความพร้อมบุคลากรสำหรับอนาคตในระยะ 10 ปีข้างหน้าของประเทศไทยได้

ต่อคำถามที่ว่า เด็กไม่มีความสามารถในการใช้โปรแกรมพื้นฐานนั้น เนื้อหาอยู่ในส่วนที่ 2 จัดไปได้ครับ โปรแกรมสำนักงาน หรือที่ชอบเรียกว่า Office นั้นสอนได้ทั้งในเวลาและนอกเวลา จัดเป็นการอบรมขั้นพื้นฐานให้ก่อนเปิดภาคเรียน 2-3 วันก็ได้เพียงพอแล้ว การได้ใช้งานบ่อยๆ จะทำให้เกิดความชำนาญได้ ขั้นเชี่ยวชาญหรือขั้นที่เรียกว่า Advance ก็มีใน Youtube เยอะแยะครับ

การสอนใช้โปรแกรมพื้นฐาน สามารถสอนแบบบูรณาการข้ามสายวิชาได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น ครูผู้สอนวิชาเกษตรกรรมมาบูรณาการกับครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ ด้วยการทำรายงานสักชิ้นหนึ่งตลอดภาคเรียน สมมุติว่าทำเรื่อง "รายงานผลการเพาะถั่วงอกจำหน่ายเป็นรายได้ระหว่างภาคเรียน" ก็ให้ครูเกษตรกรรมควบคุมการเพาะปลูก และสั่งให้ทำรายงานด้วย Word ใช้ Excel สอนให้ใช้จดบันทึกและคำนวณต้นทุน-กำไร ใช้ PowerPoint เพื่อให้นำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียนได้ โดยครูเกษตรกรรมให้คะแนนในผลการปลูก บำรุงรักษา การจำหน่าย การนำเสนอผลงาน ร่วมกับครูคอมพิวเตอร์ที่จะพิจารณาการใช้โปรแกรมอย่างถูกต้อง สวยงาม ให้ความรู้ผู้อื่นได้ win win กันทั้งครูเกษตรกรรม ครูคอมพิวเตอร์ และนักเรียนก็ได้ผลงาน(คะแนน)ในสองวิชาจากชิ้นงานเพียงชิ้นเดียว

รู้นะว่า อยากสอนแต่ Office ชนิดเจ้มจ้นเพื่อเอาไปแข่งขันงานศิลปหัตถกรรม ได้รับรางวัล ล่าใบประกาศก็แค่นั้นแหละ ไม่ได้ทำเพื่อนักเรียนสักนิด สนอง Needs นายล้วนๆ ไร้สาระจริงๆ เชียว

พวกที่อยากเปลี่ยน คือ ไม่อยากเปลี่ยน(กลัว) ไม่รู้เรื่องถ่องแท้ เขาให้ไปอบรมหลักสูตรก็หาเรื่องไม่ว่าง ไม่ไป อ่านในหนังสือเอาก็สอนได้(จริงหรือ?) แล้วจะทันโลกได้อย่างไร?

การออกแบบและเทคโนโลยี

การออกแบบและเทคโนโลยี  หมายถึง การลำดับความคิดหรือจินตนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ โดยการถ่ายทอดความคิด หรือจินตนาการออกมาเป็นข้อความหรือรูปภาพ แต่การถ่ายทอดออกมาเป็นรูปภาพ จะอธิบายและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงต้องอาศัยทักษะพื้นฐานในการวาดภาพ ประกอบด้วย เส้น รูปทรง พื้นผิว สี เป็นต้น เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดรูปทรง โดยเขียนเป็น ภาพ 2 มิติ ภาพ 3 มิติ และภาพฉาย ก่อนจะลงมือสร้าง หรือประดิษฐ์ชิ้นงานขึ้นมา

ต้องเข้าใจก่อนว่า เทคโนโลยี หมายถึง สิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่างๆ เข่น อุปกรณ์, เครื่องมือ, เครื่องจักร, วัสดุ หรือ แม้กระทั่งที่ไม่ได้เป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น กระบวนการต่างๆ เทคโนโลยี เป็นการประยุกต์ นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ และก่อให้เกิดประโยชน์ ในทางปฏิบัติ แก่มวลมนุษย์กล่าวคือเทคโนโลยีเป็นการนำเอาความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนที่เป็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์ คือ เทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสินค้ามีการซื้อขาย ส่วนความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษยชาติ มีการเผยแพร่โดยไม่มีการซื้อขายแต่อย่างใดกล่าวโดยสรุปคือ เทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นโดยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นฐานรองรับ

พอได้ยินชื่อหลักสูตรว่า "การออกแบบและเทคโนโลยี" ครูผู้สอนหลายคนก็จะออกอาการว่า "ยาก ฉันสอนไม่ได้ ไม่รู้จะสอนอะไร?" นี่เป็นการจำกัดความสามารถของตนเองโดยที่ยังไม่ได้เริ่มต้น ศึกษาทำความเข้าใจเลย เอาล่ะ! ผมจะแนะนำให้ท่านดูภาพนี้กันเลย "รถพระทำ" ผมเขียนถูกนะ หาใช่ให้ท่านมีความซาบซึ้งในหลักธรรมคำสอนจากพระคุณเจ้าแต่อย่างใด นั่นมัน "รสพระธรรม"

rod pra tam

นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของวิชา การออกแบบและเทคโนโลยี ที่เห็นผลในปัจจุบันนี้ "พระนรินทร์ ได้แรงบันดาลใจคิดทำขึ้นมาจากความขี้เกียจ คือต้องเก็บกวาดใบไม้ร่วงหล่นทุกวัน พื้นที่ก็กว้าง เก็บกวาดต้องใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ พระสงฆ์จะทำรูปเดียวก็ไม่ไหวเปลืองแรงงาน สร้างความลำบาก ความเสียเวลา กลายเป็นปัญหาไปเบียดบังเวลาศึกษาพระธรรมวินัยอีก เพราะว่าพระนรินทร์ เป็นพระที่บวชใหม่กำลังเรียนบาลี หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีกำหนดสอบปลายพรรษา จึงมีแนวความคิดสร้าง "รถพระทำ" เก็บกวาดใบไม้เศษขยะขึ้นมาแทนแรงพระสงฆ์ ได้ผลดี ทำงานเร็ว ไม่เปลืองแรงงานพระ เป็นที่ถูกใจของพระในวัด โดยเฉพาะพระครูอุทัยปริยัติคุณ เจ้าอาวาสวัดหนองน้ำส้ม ต.หนองน้ำส้ม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และพระรูปอื่นๆ ในวัดยิ่งนัก"

การสอนของครูก็คือ การทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนา ออกแบบเครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ให้สามารถใช้งานได้ง่าย ไม่เปลืองแรง ประหยัดเวลา ด้วยการออกแบบวาดภาพเป็น 2 มิติ 3 มิติ แล้วนำมาช่วยกันคิดระดมสมองปรับปรุงให้สามารถทำออกมาเป็นชิ้นงานจริง โดยการลงทุนที่ต่ำได้ประโยชน์สูงสุด มีความสวยงามน่าใช้ เป็นต้น ไม่เกินกำลังของครูหรอกครับ ขอแค่คุณครูศึกษาเนื้อหารายวิชาสักนิดหนึ่ง ปรึกษากับเพื่อนครูในต่างโรงเรียนบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มครูแกนนำของ สสวท. หรือผู้ที่ได้รับทุนเล่าเรียนใน "โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์" หรือ สควค.

การออกแบบและเทคโนโลยีเป็นฐานให้คนไทยสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้ (อีกมากมายในอนาคต)

ผลที่คาดหวังในการให้ผู้เรียนเรียนในวิชานี้ คือเป็นผู้รู้ เห็นปัญหาในชีวิตประจำวัน นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาให้ลุล่วง ทำให้ประหยัดเวลา ทุนทรัพย์และแรงงาน มีนักออกแบบ นักประดิษฐ ก้าวเข้าสู่การประกอบอาชีพ ธุรกิจ SME ที่จะช่วยเติมเต็มความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในอนาคต อย่าทอดทิ้งวิชาเหล่านี้เพียงเพราะ "ครูท้อแท้" ไม่แสวงหาและเรียนรู้เพิ่มเติมเลย

บ่นๆ ไปโดยอดีตคนเคยเป็นครู : ครูมนตรี โคตรคันทา
3 กันยายน 2566

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy