foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

fast track

มื่อวาน (17 สิงหาคม 2562) ได้โพสต์ลงใน Facebook Fanpage Krumontree ด้วยเรื่อง น่าสนใจของารจัดกิจกรรมการเรียนทางวิชาการ ของโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้กับเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนในการศึกษาต่อในอนาคต ซึ่งแต่เดิมนั้นเรามักจะคุ้นเคยกับการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3 สาย คือ สายวิทย์-คณิต (เน้นการเรียนทางด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์) สายศิลป์ (เน้นการเรียนทางด้านภาษาศาสตร์) และสายลูกครึ่ง ศิลป์-คำนวณ (เรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์บ้างแต่ไม่มากเท่าสายแรก และเรียนทางด้านภาษาอีกครึ่งแต่ไม่เท่าสายที่สอง) ซึ่งผลปรากฏว่า เมื่อไปสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว หลายคนเพิ่งมาทราบว่ามันไม่ใช่ทางของตนเอง หรือรู้ตัวตอนที่จะเลือกคณะที่ชอบแต่ดันเรียนมาผิดสาย มีคะแนนในกลุ่มวิชาในคณะที่ต้องการมาไม่เพียงพอตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงเกิดมีการทิ้งที่นั่งในมหาวิทยาลัย (ซิ่ว) มาสอบใหม่ในปีต่อไป หรือบ้างก็ทนเรียนไปแบบจำยอมจนจบในสาขานั้นด้วยความรู้สึกอึดอัดขัดข้อง ล้มเหลวไปก็มี

FB Krumontree

เมื่อผมอ่านบทความจาก "เว็บไซต์เด็กดี" ที่ไปสัมภาษณ์ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบในการสอน และนักเรียนที่เลือกเรียนตามโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีและน่าจะนำมาต่อยอดในโรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทย ก็มีผู้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร มีการแชร์ออกไปบ้าง เพื่อเป็นการขยายความในเรื่องนี้อีกครั้ง ผมจึงขอนำมาขยายประเด็นต่อ เพื่อช่วยกันคิดรูปแบบที่เหมาะสมนำไปใช้ในบริบทของโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ และโรงเรียนขนาดเล็กในต่างอำเภอ ต่างตำบล เอาไปขยายต่อยอดกันอีกที

ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ไหน?

โรงเรียนตัวอย่างเป็นโรงเรียนเอกชน เก่าแก่ มีชื่อเสียง กรุงเทพคริสเตียน (BCC) มีศิษย์เก่าและสมาคมผู้ปกครองที่เข้มแข็ง มีตัวป้อน (นักเรียน) ที่เข้ามาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ทางบ้านจะมีฐานะค่อนข้างดี สามารถสนับสนุนลูกๆ ในกิจกรรมการเรียนของโรงเรียน ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนในระดับที่เรียกว่า เกือบ 100% กันเลยทีเดียว ความเข้มแข็งตรงนี้ ทำให้ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินงาน ให้ประสบผลสำเร็จได้ง่าย กอร์ปกับโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีทรัพยากรเอื้อต่อการทำโครงการนี้ ทั้งแหล่งความรู้ วิทยากร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สามารถประสานความร่วมมือได้ง่ายกว่า

future jobs

ครานี้มามองที่โรงเรียนอื่นๆ ที่คิดจะนำโครงการนี้ไปปรับใช้บ้าง จะเจออุปสรรคอะไรที่ทำให้ไม่เกิดความสำเร็จ หรือไม่สามารถไปต่อได้ ในที่นี้ขอพูดถึงเฉพาะกรณีของโรงเรียนรัฐบาลที่มีมากมายที่สุด และกระจายตัวออกไปในทุกพื้นที่นะครับ อุปสรรคที่สำคัญมีอะไรบ้าง?

ระเบียบปฏิบัติทางราชการ

เป็นเรื่องแรกๆ ของปัญหาเลย "ระเบียบราชการ" ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น การกำหนดตำแหน่งหาครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาอยู่ในโรงเรียน ต้องเข้าใจตรงกันนะว่า คนเก่งๆ เหล่านี้เขามักจะไปอยู่ที่องค์กรเอกชน ซึ่งให้รายได้มากกว่า ใครจะอยากมาทำงานราชการที่ได้เงินเดือนพอๆ กับค่าแรงขั้นต่ำเล่า (คนงานในบริษัทรับเหมาลูกสาวผม แค่ก่ออิฐตรง ฉาบปูนได้ก็รับวันละ 500-600 บาทแล้วครับ) เราจึงขาดกำลังคนที่จะมาเป็นที่ปรึกษาเฉพาะทางให้เด็กได้ การจะจ้างด้วยเงินเดือนสูงๆ ก็ติดขัดระเบียบ (แต่แปลกใจที่จ้างคนต่างชาติได้ในระดับ 30,000-50,000 บาท/เดือนได้ แค่มันพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เรื่องทักษะการสอนและความรู้รายวิชาด้อยมากๆ วันไหนไม่มีอินเทอร์เน็ต ขาดเพื่อนกู(เกิ้ล)คือตายไปเลย) อย่าพูดเลยเรื่องเงินมันหนักใจจริงๆ แค่เรื่องเดียวก็ตัน มึนตึ๊บมืดแปดด้านแล้ว

ขาดผู้บริหารที่เป็น "นักวิชาการ"

ในยุคหลังๆ นี่การเข้าสู่ตำแหน่งบิหารโรงเรียนรัฐบาล เป็นประเภท "สอบเข้ามาเป็น ผอ." อ่านกฎระเบียบ ตอบข้อสอบได้ตรงจุด ตอบคำถามกรรมการสัมภาษณ์ได้ ก็ผ่านเข้าสู่ระบบ ไปอบรมก็ไม่ได้สร้างความตระหนักในการพัฒนาเด็กมากนัก ไปเน้นเรื่องการบริหารงบประมาณ (เพราะประเทศเราค่อนข้างมี "ชื่อเสีย" กับการใช้งบประมาณกันทุกกระทรวง ทบวง กรม) ไม่อยากให้ทำผิดกฎ ระเบียบ แต่ก็เป็นการชี้ช่องให้กับคนบางคนได้ ทำให้เราขาด "ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการศึกษา" มาเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญวิชาการหายาก ไม่ใช่ไม่มีนะ แต่มันหายาก ส่วนใหญ่จะไปเชี่ยวชาญงานด้านการเงิน ปูกระเบื้อง ทาสี ปลูกต้นไม้ ทุบของเก่าสร้างขึ้นใหม่ทั้งที่มันยังใช้การได้ดี (ด้วยข้ออ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมในการเรียน)

future jobs2

ในสมัยผมบรรจุเป็นครูใหม่ๆ ผู้ที่จะเป็นผู้บริหารโรงเรียนสมัยนั้น (ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ) ส่วนใหญ่จะมาจากครูที่เก่งในด้านการจัดการเรียนการสอน เป็นนักวิชาการในโรงเรียน มีความประพฤติดี มีคุณธรรม ก็จะถูกสนับสนุนส่งเสริม (มีแมวมอง) ให้ได้เข้ารับการอบรมเป็นผู้บริหารโรงเรียน ไต่เต้าจากการเป็นผู้ช่วยฯ ให้ครบทั้ง 4 ด้าน (วิชาการ การเงิน-บัญชี ปกครอง และบริการ) ก่อนจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งครูใหญ่ มีผลงานก้าวหน้าเลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ ในที่สุด แต่ปัจจุบันอ่านหนังสือมาก จำได้แม่น กาถูกก็ได้เป็น "ผอ. (ผัวอีอ้อย)" แล้ว ดังนั้นการมองไปที่การพัฒนาผู้เรียนจึงเป็นแค่คำหรูๆ หรือวาทะกรรมเท่านั้น

ระดับเขตพื้นที่ขึ้นไปก็ไม่มองจุดนี้เหมือนกัน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ล้วนแต่สรรหาโครงการบ้าบอ ที่สนองต่อเจ้านายในกรม เจ้ากระทรวง ให้เกิดผลทันตา ภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีการศึกษา เพราะท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้มั่นใจในเก้าอี้นั่งของตัวเองมากนัก ก็เลยต้องการแต่ตัวเลขหรูๆ เอาไปอวดกันในที่ประชุม อวดนายเพื่อจะได้ขยับไปที่สูงขึ้น โดยลืมไปว่า

กล้วยไม้ออกดอกช้า ฉันใด    การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราใด งามเด่น   งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้ว แสนงาม "

มล.ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ขาดการแนะแนวที่ดี เป็นระบบ

นับเป็นจุดอ่อนของหลายๆ โรงเรียนในประเทศนี้ ที่ขาด "ครูแนะแนว" ที่เป็นครูแนะแนวจริงๆ ร่ำเรียนมาทางด้านนี้ตรงๆ และเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอน การงานการประกอบอาชีพ ความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ "ครูอะไร จบสาขาไหนก็ได้" ที่มีชั่วโมงสอนน้อยๆ ก็ถูกแต่งตั้งให้มาเป็น "ครูแนะแนว" ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบก็จะทำหน้าที่หาข่าว/ประกาศที่เรียนต่อในสถาบันต่างๆ มาติดบอร์ดประชาสัมพันธ์ ซึ่งตัวครูเองก็ไม่รู้ว่า สาขานี้ผู้เรียนจะต้องถนัดอะไร ชอบเรียนอะไรแบบไหนเป็นพิเศษ จบมาแล้วจะมีงานทำไหม ตลาดแรงงานปัจจุบันเป็นอย่างไร?

"การแนะแนว" นั้นจริงๆ แล้ว "ครูทุกคน" ก็สามารถแนะแนวได้ (บ้าง) ถ้าครูผู้นั้นจะแสวงหาประสบการณ์ พบปะกับผู้คนมากหน่อย สอบถามศิษย์เก่า ผู้ปกครองนักเรียนที่ประกอบอาชีพต่างๆ จนประสบผลสำเร็จ มองดูแนวทางอาชีพในสังคมที่เปลี่ยนแปลง เอามาเล่าให้กับนักเรียนฟัง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้พวกเขาค้นหาตัวเองให้พบว่าชอบ และอยากเป็นอะไรในอนาคต แนะแนวได้ว่า อาชีพที่ดีมีรายได้ไม่ได้มีเฉพาะแพทย์หรือหมอเท่านั้น อาชีพอื่นๆ ก็มีอีกมากมาย ถ้าคุณครูสนใจลองสอบถามเพื่อนกู (Google) ดูก็ได้ครับว่า อาชีพและตลาดแรงงานปัจจุบันเขากำลังต้องการอะไร อาชีพอะไรที่กำลังเอาท์ ถ้าสนใจต้องเรียนรู้อย่างไร เตรียมตัวอย่างไร ให้เด็กๆ รู้ตัวตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา (ป. 4-6) เลยยิ่งดี

guidance

การแนะแนวต้องไม่ทำเฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น ผมพบว่า มีนักเรียนที่เคยสอนหลายคนอยากเรียนและประกอบอาชีพหนึ่ง แต่ไปเรียนไม่ได้เพราะผู้ปกครองไม่เห็นด้วย ผู้ปกครอง พ่อ-แม่ก็สำคัญไม่แพ้กัน ครูต้องเข้าใจในบริบทนี้ และส่งต่อความเปลี่ยนแปลงในอาชีพยุคปัจจุบันไปยังผู้ปกครอง เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงให้ผู้ปกครองได้สนับสนุนให้ลูกหลานได้เรียนในทางที่เขาถนัดและชอบ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ต้องไปเรียนสายวิทย์-คณิต ต้องเรียนหมอ เรียนวิศวะ ตามที่พ่อ-แม่ชอบ หรือประกอบอาชีพนี้อยู่ ผมมีตัวอย่างเล่าให้ฟังว่า ความชอบ(ศักดิ์ศรี)ของพ่อแม่ไม่ไดส่งผลดีต่อลูกเลยครับ ถ้าเราเข้าใจเขา "ลูกเรา" จะประสบผลสำเร็จ

"เรียนสถาบันนี้พ่อ-แม่เรียนจบมา"

เรื่องที่หนึ่ง  เป็นเรื่องของเพื่อนผมนี่แหละ พ่อและแม่นั้นจบจากโรงเรียนมัธยมปลายที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง (จนได้รักกันตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลาย) เรียนจบได้ไปต่อมหาวิทยาลัย พอจบมาได้ประกอบอาชีพเป็นศึกษานิเทศก์และครูผู้สอนในโรงเรียน มีลูกชายเรียนจบประถมศึกษาจากโรงเรียนมีชื่อ แล้วมาสอบเข้าเรียนในโรงเรียนที่พ่อ-แม่จบมา (ซึ่งทั้งสองมีความภาคภูมิใจมากที่ลูกทำได้) แต่... เกิดความล้มเหลวกับลูกตอนเรียน ม. 2 ผลการเรียนติด 0, ร. มส. มาเพียบ เลยดุด่าลูกเป็นการใหญ่ ผู้พ่อก็เลยมาปรึกษากับผมด้วยความกลัดกลุ้ม

ผมแนะนำด้วยความหวังดีว่า "อย่าดุด่าลูกเลย เดี๋ยวจะคุยกับลูกให้ แล้วทำตามคำแนะนำผมนะ" เดาได้ไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้น เด็กจึงล้มเหลวทั้งๆ ที่เป็นเด็กเรียนดีมาตลอด (ท่านที่พบปัญหานี้ ลองศึกษาดูนะครับ)

"ลูก... ทำไมไม่เรียนล่ะครับ" ผมถามเด็กในวันถัดมา ซึ่งคำตอบนั้นทำเอาผมอึ้งไปชั่วขณะ "พ่อครับ (เด็กเรียกผมแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร) ผมเรียนที่โรงเรียนอนุบาลก็อยู่ห้องเดียวกับไอ้กล้า ตั้งแต่ ป. 1 ถึง ป. 6 ผมก็แพ้มันมาตลอดไม่เคยสอบได้ที่ 1 สักที พอมาเรียนที่นี่ ผมก็ได้อยู่ห้องเดียวกับไอ้กล้าอีก ทั้งสองเทอมใน ม. 1 ผมก็แพ้มันอีก ผมไม่อยากเรียนที่นี่แล้วครับ" ผมถึงกับไปไม่เป็นเลยทีเดียว "อือม์ แล้วลูกจะไปเรียนโรงเรียนอื่นไหม?"

คุยกันสักพักก็ได้ข้อสรุป เด็กไม่อยากเรียนที่นี่ และไม่อยากไปเรียนโรงเรียนอื่นด้วย เพราะอายที่จะบอกเพื่อนไหม่/เพื่อนเก่าถึงเหตุผลที่ลาออกจากโรงเรียนเดิม พ่อกับแม่ก็ไม่อยากให้ลูกไปอยู่จังหวัดอื่นกับญาติอีก ผมจึงให้คำแนะนำว่า ให้เด็กอยู่บ้านอ่านหนังสือ สมัครเรียน กศน. เพื่อสอบเทียบ ม. 3 พ่อกับแม่ตกลงทำตาม เด็กสามารถเรียนจบ ม. 3 พร้อมเพื่อน และไปสอบเรียนต่อที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ ปัจจุบันเรียนจบด้าน ปิโตรเคมี ทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท ปตท.

guidance 2

"ทำอาชีพของพ่อ-แม่นี่แหละ"

เรื่องที่สอง เรื่องนี้เป็นเรื่องของพ่อที่เป็นหมอ แม่ก็เป็นหมอ ลูกก็เรียนในโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ก็ฟังดูดีนะเพราะเด็กก็เรียนเก่งมาก ความหวังของพ่อ-แม่คือ ลูกต้องเรียนแพทยศาสตร์เท่านั้น ให้เหมือนพ่อกับแม่ แต่ลูกไม่ได้คิดอย่างนั้น ลูกไม่ได้อยากประกอบอาชีพแพทย์เลย พ่อ-แม่ก็หมดหนทางที่จะบีบบังคับก็มาปรึกษากับผมว่า "ควรทำอย่างไรดี ทำไมลูกถึงไม่ชอบ"

คำตอบที่ผมได้รับคือ "อาชีพของพ่อ-แม่มันไม่ได้มีความสุขเลยครับคุณครู อย่างวันคล้ายวันเกิดผม พ่อกับแม่และพี่สาวชวนไปทานข้าวที่ร้านแห่งหนึ่ง เพิ่งจะสั่งกับข้าวไปยังไม่ทันมาขึ้นโต๊ะสักจาน ก็มีโทรศัพท์ดังขึ้นมาที่เครื่องพ่อซึ่งคุยสักพักก็บอกแม่และผมว่า ทานกันไปก่อนนะพอต้องไปผ่าตัดด่วนมีคนไข้อุบัติเหตุ อาหารเพิ่งมา 2 อย่าง ก็มีโทรศัพท์ที่เครื่องแม่อีก แม่บอกทานกันไปก่อนเดี๋ยวแม่ไปโรงพยาบาล มีคนไข้รอทำคลอดด่วน ผลสุดท้ายวันนั้น ผมได้ฉลองวันเกิดกับพี่สาว 2 คนแล้วกลับบ้าน คุณครูว่าผมควรจะทำอาชีพนี้อยู่อีกหรือครับ"

เด็กคนนี้เก่งครับ หลังจากผมได้คุยทำความเข้าใจกับคุณหมอทั้งสองท่านแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ลูกเลือกและทำตามใจชอบ เขาสอบทุนเล่าเรียนหลวงสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ที่สหราชอาณาจักร ตอนนี้ยังเรียนระดับปริญญาเอกปีสุดท้ายแล้ว

KID DREAM

"อาชีพหมอเป็นอาชีพไม่ศิวิไลซ์"

เรื่องที่สาม เรื่องนี้ลูกชายผมเองครับ เริ่มที่ลูกสาวก่อนในตอนเรียน ม. 4 เธอก็บอกว่า "ต้องการเป็นสถาปนิก" ผมก็สนับสนุนตามฝันเขาให้เรียนในศาสตร์ที่จำเป็นกับเขา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ศิลปะ (การวาดเส้น Drawing) เข้าค่ายสถาปัตย์กับรุ่นพี่ที่ ม.ศิลปากร ช่วง ม. 5 แล้วเธอก็ทำตามฝันได้ทั้งติดสอบโควต้าสถาปัตย์ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ แต่ก็ไม่เอา มาเอนทรานซ์เข้าสถาปัตย์ที่ ม.ธรรมศาสตร์แทน ปัจจุบันประกอบอาชีพสถาปนิกและรับเหมาก่อสร้าง

ส่วนผู้น้องไปเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ แม่อยากให้เรียนสายวิทย์ จะได้สอบคณะแพทยศาสต์ แต่ลูกชายกลับตอบว่า

"อาชีพหมอมันไม่ได้ศิวิไลซ์นะแม่ มันน่ารังเกียจ ไม่ได้ว่าหมอเป็นคนน่ารังเกียจนะ แต่งานที่ทำพบแต่เลือด หนอง น้ำลาย เสมหะ คนป่วยร่อแร่ใกล้ตาย มันไม่ใช่สิ่งที่น้องอยากเป็นเลย" นั่นทำให้ยอมลูกให้เลือกเรียนสายศิลป์-คำนวณ จนจะจบ ม. 6 อยู่แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบว่า "อยากเป็นอะไร มีอาชีพอะไร" สมัยนั้น นิเทศศาสตร์ เป็นสาขาที่ฮิตมาก เจ้าลูกชายก็อยากเรียนเหลือเกินคงเพราะเห่อดาราหน้าจอ

guidance 3

ผมก็เลยให้เหตุผลว่า "ถ้าน้องอยากเป็นดาราหน้าจอ อยากเป็นผู้ประกาศข่าว พิธีกร ที่ประสบผลสำเร็จนั้น คนที่เขาเป็นก็ไม่ได้เรียนจบทางนี้นะ ดู๋ สัญญา คุณากร ก็จบสถาปัตย์ จุฬาฯ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ก็จบนิติศาสตร์ รามคำแหง เรียนนิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่จะไปเป็นคนเบื้องหลัง เขียนบท กำกับเวที ฯลฯ ไม่ค่อยได้ออกจอหรอก นิสัยแบบน้องนี่ต้องเรียนวิชาที่ต้องอยู่กับผู้คนเยอะๆ บริหารจัดการผู้คนมากกว่า เลือกเรียน รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เถอะ จะได้ใช้วิชาภาษาอังกฤษที่ตัวชอบและมีอยู่แล้วได้คุ้มค่า"

ลูกชายตกลงเลือกตามพ่อบอก แม้จะไม่ตรงใจนัก จนได้แอดมิชชั่นรุ่นแรกได้ที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผ่านไป 1 ปี (ได้เรียนแต่วิชาพื้นฐานเหมือนๆ กันหมดกับเพื่อน) ก็มาบอกไม่ชอบจะขอซิ่วไปสอบใหม่ แต่ผมต่อรองขอให้เรียนปีสองที่มีวิชาเอกเสียก่อน ถ้าไม่ชอบไม่ถูกใจจริงๆ ยอมให้ซิ่วได้ตามต้องการ ผลก็คือ... พอพ้นเทอมแรกเท่านั้นก็โทรศัพท์มาบอก "พ่อ ถูกทางแล้ว คณะนี้ที่พ่อเลือกให้ ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ได้เขียนบรรยาย ได้โต้แย้งแสดงความคิดกับอาจารย์ สนุกมาก" ปัจจุบัน ไปทำงานเป็น "สจ๊วต (Steward)" ที่สายการบิน Emirates ไม่ได้เป็นทูตหรือสายงานการทูตในความหมายการรับราชการ แต่เป็น "ทูตทางวัฒนธรรม" ที่เจอผู้คนมากมายหลายสัญชาติในแต่ละเดือน สนใจอาชีพนี้เอาไปแนะนำลูกศิษย์ [ อ่านเลยครับ : P'Por Make a Dream to Fly ]

"การแนะแนว" จึงเป็นเรื่องสำคัญในโรงเรียน ที่ครูทุกคนควรให้ความใส่ใจได้สร้างทัศนคติที่ดีในอาชีพ สร้างความฝัน สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับลูกศิษย์ได้ค้นพบตัวเองตั้งแต่เยาว์วัย โรงเรียนจึงควรจัดหาให้มี "ครูแนะแนว" ที่เข้าใจบริบทในสหวิชาชีพ แม้จะไม่ได้ครูที่ตรงสายงานก็ควรจะส่งไปเข้ารับการอบรม เพิ่มพูนประสบการณ์ให้มากขึ้น เลือกคนที่มีใจรักในการทำหน้าที่แนะแนวให้มากที่สุด ไม่ใช่เลือกเพราะมีคาบว่างมาก สาขานี้มีครูเยอะเกินไปแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบนี้ก็จะมีแต่ความล้มเหลวปรากฏอยู่เช่นเดิม

เราจะทำให้สำเร็จต้องเริ่มจากตรงไหน?

มองตัวเราครับ! ต้องมองที่บริบทของโรงเรียนเราที่เป็นอยู่ สังคมชุมชนรอบข้างเราเป็นเช่นไร อุปสรรคที่มี และโอกาสความเป็นไปได้เรามีแค่ไหน อย่า! มองว่าทุกคนจะประสบผลสำเร็จได้อย่าง คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ต้องคิดว่าเราจะประสบผลสำเร็จได้แบบบ้านๆ ต้องมองที่ชุมชนใกล้ตัวของเราก่อน ทำการ สำรวจ หรือทำ SWOT เพื่อความเป็นไปได้ที่มีอยู่จริงกันครับ

SWOT

ถ้าเราทำการสำรวจตามหลัก SWOT ภายในองค์กรของเรา ก็จะพบหนทางจัดการโครงการ "การจัดการเรียนแบบ Track" ให้กับนักเรียนทุกคนได้ โดยไม่ต้องไปเลือก Track แบบที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเขาทำนะครับ แม้ว่ามันจะเป็นเทรนด์อาชีพสมัยใหม่ก็ตามที เพราะตัวป้อนและบริบทของเราแตกต่างกันนั่นเอง ลองดู Track ของเขา (1-15)

รายชื่อ Track ทั้งหมด (ข้อมูลอัปเดตล่าสุด โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ส.ค.2562)

  1. แพทยศาสตร์ และกลุ่มสาขาสาธารณสุขศาสตร์
  2. วิศวกรรมศาสตร์ชีวภาพ
  3. วิศวกรรมศาสตร์
  4. วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์
  5. วิศวกรรมการบินและอวกาศ
  6. สถาปัตยกรรมศาสตร์
  7. บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ บัญชี
  8. สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์
  9. อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์
  10. ศิลปกรรมศาสตร์ จิตรกรรม ประติมากรรม
  11. นิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล
  12. ศิลปะการอาหาร
  13. วิทยาศาสตร์การกีฬา
  14. ดนตรี - นิเทศศิลป์ SCA
  15. ดุริยางคศิลป์ (เปิดปีหน้าแน่นอน)
  16. หัตถกรรมและผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น
  17. เกษตรกรรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์
  18. เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร

ถ้าเราทำไม่ได้ทั้งหมดก็เลือกมาบางส่วนบาง Track ได้ แล้วเพิ่มส่วนที่เราจะทำและมีโอกาสเป็นไปได้อย่างเช่น Track 16-17 ดูก็ได้ เพราะเรามีต้นทุนอยู่แล้ว เช่น มีที่ดินทำกินของผู้ปกครองนักเรียน มีช่างหรือปราชญ์ผู้รู้ในท้องถิ่น ที่สามารถจะขอความร่วมมือในการเป็นวิทยากร สถานที่ฝึกปฏิบัติหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ จากการสอบถามเพื่อนร่วมอาชีพในหลายๆ ที่ก็พอจะพบสาเหตุแห่งปัญหาหลักๆ คือ 4M นี่แหละ

  • MAN หรือ คน เป็น M ตัวแรกที่ดูจะมีปัญหาหนักที่สุด เพราะถ้า "ทรัพยากรบุคคล" ไม่พร้อม ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ความล้มเหลวมาแน่ แม้จะมีอีก 3M มาครบเพียงใดก็ตาม และ M ตัวแรกนี้จะพุ่งเป้าไปที่ "ผู้บริหาร" ก่อนเป็นหลัก เพราะถ้าหัวไม่กระดิกแล้ว หางจะดิ้นทุรนทุรายไป ก็มีแต่จะขาดเสียหายเหมือนหางจิ้งจกเท่านั้น
  • MONEY หรือ เงิน ตัวที่สองจะเป็นตัวเสริมให้การปฏิบัติลุล่วงได้ จะมากหรือน้อยนั้น ไม่ใช่ปัจจัยที่รับประกันว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะยังขึ้นอยู่กับ "คน" ที่จะทำการบริหารจัดการเงินนี้ให้บรรลุเป้าหมาย แม้เงินจะน้อยแต่ถ้าคนที่เป็นผู้บริหารหรือทีมมีบารมีมากพอ ที่จะแสวงหาความร่วมมือในการดำเนินงานได้ ก็มีพลังพอที่จะผลักดันให้งานโครงการสำเร็จได้
  • MATERIAL หรือ วัสดุ หรือ วัตถุดิบ หรือ ตัวป้อน (นักเรียน) ที่จะเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิตได้ตามที่คาดหวัง ผู้บริหารหรือทีมงานจะต้องมองเห็นอย่างชัดเจนว่า วัตถุดิบนี้จะสามารถผลักดันให้เกิดผลผลิตเช่นไร จึงจะคุ้มค่ากับเงินและแรงงานที่ลงไป
  • METHOD หรือ Management หรือ วิธีการปฏิบัติ  ซึ่งการดำเนินงานตามโครงการจะต้องทำตามขั้นตอน วิธีการที่วางไว้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

guidance 4

คงต้องบอกว่า "ระบบราชการ" บ้านเรามันเป็นระบบ "ประสานงา" ถ้าไม่ได้ประโยชน์ตรงๆ โต้งๆ จะไม่ทำเอาเสียเลย มีแค่วาทกรรม "ความร่วมมือ บูรณาการ ประสานสัมพันธ์" แต่ข้างหลังถือมีดพร้อมเสียบได้ทุกเมื่อ ถ้าเราเลิกกับวาทะกรรมพวกนี้เสีย ช่วยกันแสวงหา น. หนู มาเข้าร่วมการทำงานก็จะเกิด "การประสานงาน" ระหว่างภายในองค์กรด้วยกันเอง กับชุมชน และหน่วยงานภายนอก ก็จะสามารถขจัดปัญหาการขาด M ตัวใดตัวหนึ่งในการทำงานได้

มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษา ในแต่ละท้องถิ่นก็มีมากโขอยู่ ผู้รู้ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เพียบ สถานประกอบการด้านอาชีพต่างๆ ก็มีเยอะ เพียงแต่หน่วยงานทางการศึกษาไม่สามารถประสานขอความร่วมมือได้ ด้วย M ตัวแรก คือ "ผู้บริหาร" และ "ทีม" มองภาพไม่ออก คิดไม่รอบด้าน ภาษาบ้านๆ ก็บอก "ไม่เก่งและกว้างขวางในทางชุมชน"

มีหน่วยงานราชการ องค์กรภายนอก และเอกชนมากมาย พร้อมจะให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือกับทางสถานศึกษา ขอให้บอกให้เขาเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ และแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติงาน แต่ส่วนใหญ่แล้ว "โรงเรียนมักจะไปขอแต่เครื่องดื่มในงานเฉลิมฉลอง มากกว่าจะขอสิ่งอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์เพื่อเด็กๆ ลูกหลาน" ข้อความนี้พูดตรงกันทั้งเพื่อนผมที่ทำธุรกิจ และเถ้าแก่น้อย (ลูกศิษย์) ที่ไปสานต่ออาชีพให้ครอบครัวเล่ามาครับ

guidance 5

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy