หลังจากที่สุขใจได้ไปเวียนเทียนบนบุโร พุทโธ อธิษฐานจิตกันแล้ว คณะของเราก็เดินทางด้วยรถบัสคันเดิม กลับเข้าสู่ย็อกจาการ์ต้า ระหว่างทางผ่านตลาดชุมชนที่ขายผลไม้ประจำถิ่น คือ สละ แหล่งปลูกใหญ่อยู่ที่นี่ มีผลใหญ่เปลือกบาง เนื้อหนา เมล็ดเล็ก รสชาติดีมากครับ หวานอมเปรี้ยวนิดๆ ใครมีกระเป๋าน้ำหนักน้อยๆ สามารถซื้อหาเป็นของฝากกลับเมืองไทยได้ เขามีชะลอมไม้ไผ่ใส่ให้สามารถโหลดขึ้นเครื่องได้ขนาด 5-7 กิโลกรัม ราคาแค่กิโลกรัมละหมื่นเอง (ไม่แพงถ้าคิดกลับเป็นเงินไทยประมาณ 30 บาท) ไม่รู้ชาวบ้านเขาจะกำไรหรือขาดทุนนะครับเพราะลงไปชิมกันเยอะ
จากนั้น เราเดินทางต่อเข้าสู่ตัวเมือง แวะชมวังสุลต่าน องค์ที่ 10 กัน ที่นี่เป็นที่พำนักของสุลต่าน ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนบ้านพัก (ไม่ได้เข้าชม) ส่วนท้องพระโรง (ที่ประชุม) ส่วนต้อนรับอาคันตุกะ ที่เก็บของที่ระลึกจากอาคันตุกะ ที่มาเยือนในยุคต่างๆ อายุนับร้อยๆ ปี
สุลต่าน (อังกฤษ: Sultan, อาหรับ: سلطان Sulṭān) เป็นชื่อตำแหน่งในหมู่ชนอิสลาม ซึ่งมีความหมายในทางประวัติศาสตร์มากมาย รากคำมาจากภาษาอาหรับซึ่งมีความหมายว่า "ความแข็งแกร่ง" "อำนาจ" หรือ "การปกครอง" มาจากคำนามกริยาว่า سلطة sulṭah หมายถึง "อำนาจ" ต่อมาใช้เป็นชื่อตำแหน่งของผู้ปกครองประเทศมุสลิม ซึ่งมีอำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ (ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังผู้ปกครองอื่นใดที่เหนือกว่า) บางครั้งก็ใช้เรียกผู้ปกครองแว่นแคว้น ที่มีอำนาจภายในระบอบการปกครอง ต่อมายังพัฒนาความหมายไปอีกมากมายในหลายบริบท ราชวงศ์หรือดินแดนที่ปกครองโดยสุลต่าน จะเรียกชื่อว่า sultanate (อาหรับ: سلطنة)
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ปัจจุบัน สุลต่าน ในอินโดนีเซียมีบทบาทในฐานะผู้นำชุมชน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเท่านั้น แต่ก็มีบทบาทในการให้ความเห็นในการบริหารเมือง เสนอชื่อผู้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเมืองได้ ในอดีตอินโดนีเซียจะมีสุลต่านในเมืองต่างๆ มาก แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง สุลต่านในย็อกจาการ์ต้าพระองค์นี้เท่านั้นที่ยังมีบทบาทอยู่ เนื่องจากคุณธรรม จริยาวัตรที่ปฏิบัติมาตั้งแต่องค์ก่อนๆ นั้นสร้างความเลื่อมใสศรัทธาต่อผู้คน ชาวเมืองเป็นอย่างมาก
ยามใดที่มีภัยพิบัติ องค์สุลต่านจะช่วยเหลือบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้คนไม่เลือกชั้นวรรณะมาโดยตลอด มีความซื่อสัตย์ และความสามารถในทางบริหารบ้านเมือง (ซึ่ง สุลต่าน องค์ที่ 9 นั้นเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศ) ตำแหน่ง สุลต่าน จะสืบทอดโดยสายเลือดเป็นทอดๆ โดยลูกชายคนแรก แต่สุลต่านองค์ปัจจุบันไม่มีทายาทชาย (มีลูกสาว 5 คน แต่งงานไปแล้ว 4 คน ยังเหลืออีกหนึ่ง แต่ไม่ได้พบว่า คนสุดท้องนี่หน้าตาเป็นอย่างไร) ตำแหน่งสุลต่านองค์ที่ 11 คงจะเป็น น้องชายของพระองค์ บรรยากาศในวังสุลต่านนั้นเย็นสบาย มีต้นไม้ร่มรื่น ภายในวังก็ไม่ได้เคร่งครัดอะไรเหมือนบ้านชาวบ้านหรือคหบดีทั่วไป
ในตอนเช้าเราไปชมศาสนสถานยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ บุโรพุทโธ ตอนบ่ายได้เวลาไปชมความยิ่งใหญ่ของ ศาสนสถานของพราหมณ์-ฮินดูกัน นั่นคือ ปราสาทพรัมบานัน (Prambanan) คือเทวสถานในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในเขตชวากลาง ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตาไปทางตะวันออกประมาณ 18 กิโลเมตร ตัววัดนั้นสร้างขื้นเมื่อราวปี พ.ศ. 1390 แต่หลังจากสร้างเสร็จได้ไม่นาน ตัววัดก็ถูกทอดทิ้งและถูกปล่อยให้ทรุดโทรมตามกาลเวลา จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) จึงได้มีการเริ่มบูรณะวัดขึ้นมา การบูรณะของสิ่งก่อสร้างหลักสิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953)
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ต่อมา (27 พฤษภาคม 2006) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ทำให้ปราสาททั้งหมดพังลงมา และได้รับการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง (ยังไม่เสร็จสิ้น) ในปัจจุบัน พรัมบานันถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลก และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในศาสนสถานในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ตัววัดโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและความใหญ่โตของปรางค์ซึ่งมีความสูงถึง 47 เมตร (ลักษณะปราสาทต่างจากในเขมรที่สร้างด้วยหินทราย ที่นี่จะเป็นหินภูเขาไฟ)
![]() |
![]() |
หลัง จากการชมปราสาทเสร็จ ทางออกก็จะผ่านแหล่งขายของที่ระลึก (เหมือนบังคับเข้าทางเดียว ออกทางเดียว) ซึ่งจะมีคนขายที่คอยตามตื้อแบบน่ารำคาญมากๆ ทั้งขายตุ๊กตาแกะสลักจากไม้ จากหิน เสื้อยืดที่ระลึก ผ้าพันคอ รูปภาพ/หนังสือ/ดีวีดี พอรู้ว่าเราเป็นกรุ๊ปทัวร์ไทยก็จะส่งเสียง ร้อยบาทๆ กันเซ็งแซ่เลย ที่นี่ต้องต่อรองแบบหักคอเลยนะครับ เพราะจากการนำเสนอ 4 อันร้อยบาท อาจจะปิดการขายที่ 12 อันร้อยบาทได้เลย ทุกที่ในอินโดนีเซียเป็นแบบนี้ เขาเรียกกันว่า ตลาดปราบเซียน (ไม่รู้ใครหมู ใครเซียน จะรู้ก็ต่อเมื่อขึ้นบนรถแล้วเอามาอวดกันนั่นแหละ กติกาของกรุ๊ปเราคือ จะเอาของที่ระลึกออกจากถุงบอกราคาได้ก็ต่อเมื่อรถบัสเคลื่อนตัวออกจากสถาน ที่นั้น ไม่งั้นมีโดดลงไปซื้ออีก)
เรา พักค้างคืนที่ย็อกจาการ์ต้าหนึ่งคืนที่ Jogjakarta Plaza Hotel ที่นี่เป็นโรงแรมเก่าดูที่ไหน ดูจากต้องจ่ายค่าใช้งานอินเทอร์เน็ตครับ คืนนี้จ่ายไป 50,000 Rp กับ 2 ชั่วโมง สัญญาณไม่ดีเท่าไหร่ในห้อง เลยต้องลากเก้าอี้มานั่งใช้อยู่หน้าห้องพักเลยล่ะ เพื่ออัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค รุ่งเช้าบินกลับบาหลีอีกครั้ง โดยสายการบินอินโดนีเซียแอร์เอเซีย (เป็นทริปที่นั่งเครื่องบินในประเทศ 2 เที่ยว ระหว่างประเทศ 2 เที่ยว ไฮโซมาก)
ถึงบาหลีเราเดินทางไปชมแหล่งผลิตผ้าบาติก (Bali Bidadari Batik) ชมขบวนการผลิตที่ซับซ้อน ได้เห็นฝีมือการเขียนลวดลายด้วยขี้ผึ้ง (Wax ชาวบาหลีเรียก klowong) ลงบนผ้าอย่างชำนิชำนาญ ไม่มีการร่างลวดลายลงบนผ้าก่อน ผ้าบาติกที่ได้แต่ละผืนจึงเป็นหนึ่งเดียวในโลก แม้จะลวดลายเหมือนกันแต่การเขียนด้วยมือสดๆ จึงไม่เหมือนกันแบบที่ใช้กระบวนการพิมพ์ลายด้วยเครื่องจักร การเขียนลายจะเป็นการถมพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้ติดสีด้วยขี้ผึ้ง จากนั้นนำไปย้อมสีเคลือบสีป้องกันไม่ให้สีอื่นมาติดแล้วเขียนลายทับอีกครั้ง หากผืนผ้ามีหลายสีก็เขียนลายทับหลายครั้ง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
สีที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าบาติกบาหลีจะมี สีน้ำเงิน น้ำตาล และสีเหลืองสด เป็นหลักซึ่งถูกเรียกว่า สีแห่งชีวิต แต่ก็อาจมีการเขียนลายสีอื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้าเพิ่มเติมได้
![]() |
![]() |
จากนั้นเราเดินทางไกลขึ้นไปทางตอนเหนือของ เกาะบาหลี เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ปากปล่องภูเขาไฟ ชมทะเลสาป ที่ภูเขาไฟบาทูร์ (Mt. and Lake Batur) การเดินทางผ่านทางแคบๆ ลัดเลาะขึ้นไปสู่ยอดเขา สองข้างทางยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ ไร่พืชผลทางการเกษตรต่างๆ ผ่านหมู่บ้านที่เป็นสไตล์บาหลีแท้ๆ (ชั้นเดียว มุงหญ้า มีรั้วเป็นเอกลักษณ์ และมีวัดเล็กๆ ในทุกบ้าน (เหมือนบ้านเรามีศาลพระภูมิ เจ้าที่ หรือที่สักการะทุกบ้าน) มีวัดของหมู่บ้านใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมส่วนรวม
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ตามรายทางจะเห็นร้านขายแท่นที่บูชา รูปแกะสลักหิน พระพุทธรูป รวมทั้งงานแกะสลักไม้เป็นระยะๆ รวมทั้งโรงงานแกะสลักบานประตู หน้าต่าง แผ่นใหญ่ๆ มากมายด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ อยากได้มาแต่งบ้านแต่สู้ราคาค่าขนส่งกลับเมืองไทยไม่ไหว (ราคาเฉพาะไม้แกะสลัก เทียบกับเมืองไทยแล้วถูกมากอย่างขนาดบานประตูในเมืองไทยน่าจะอยู่ที่ เจ็ด/แปดหมื่นบาท ที่โน่นอยู่หมื่นต้นๆ เอง แต่การขนส่งมาเมืองไทย การขออนุญาตนำเข้ายุ่งยากและราคาคงพอๆ กับบ้านเราเลยทีเดียว) แต่ที่อยากได้เป็นพวกรากไม้ที่แกะสลักเป็นรูปสัตว์ เช่น ม้า กวาง ทำได้สวยท่วงท่าสง่างามมาก (ถ่ายภาพไม่ทัน เพราะรถบัสไม่จอด ถนนแคบถ้าจอดแล้วกีดขวางทางมาก)
![]() |
![]() |
ภูเขาไฟบาทูร์ที่เราไปนี่ยังไม่ดับนะครับ เคยปะทุมาครั้งหนึ่งเมื่อปี 2006 จนเกิดเป็นปล่องใหม่ที่เห็นในภาพ จากนั้นเรากลับลงมาผ่านวัดชื่อ Pura Tirtha Embul ที่ว่ากันว่ามีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างโดยพระอินทร์ จึงมีคนมาเคารพกราบไหว้ รวมทั้งมาอาบน้ำที่บ่อศักดิ์สิทธิ์นี้กันคับคั่ง ทางออกจากวัดเหมือนเดิมครับ "ตลาดปราบเซียน" อีกแล้วครับท่าน
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ช่วงเย็นก็ไปรับประทานอาหารทะเลตำหรับ บาหลีอีกแล้วที่ Jimbaran beach อาหารคล้ายกันกับที่ทานาล็อท แต่จะดีกว่าหน่อยในเรื่องความสด และบรรยากาศที่นั่งบนชายหาดกันเลยทีเดียว กรุ๊ปทัวร์ของเราไม่อดตายเพราะขนอุปกรณ์สำหรับการตำส้มตำไปครบครัน ทำให้ลื่นคอขึ้นเยอะทีเดียว คืนนี้พักที่บาหลีโรงแรมเดิม Best Western Kuta ที่นี่ Wi-fi ฟรีครับ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
รุ่งเช้า เราไปชมระบำบาร็อง (The Barong and Kris Dance) ซึ่งเป็นเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างความเลว (Rangda = a mythological monster) กับความดี (Barong = a mythological animal) ลักษณะเป็นละครประกอบดนตรีพื้นเมือง เครื่องดนตรีลักษณะจะเป็นฆ้องราง ทำหน้าที่กำเนิดเสียงแบบอังกะลุงที่เราเห็นในเมืองไทย (ซึ่งน่าจะมีรากหรือที่มาจากแหล่งเดียวกัน) ไม่ค่อยประทับใจในการแสดงมากนักครับ
จากนั้นเราเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียน SMP Negeri 9 Denpasar เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (เกรด 9) โรงเรียนในอินโดนีเซียโดยทั่วไปก็จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแบบนี้ มีนักเรียนประมาณพันกว่าคน ครูประมาณ 40-70 คน เปิดสอนสัปดาห์ละ 6 วัน (จันทร์ - เสาร์) แต่เรียนจากแปดโมงเช้าถึงแค่บ่ายโมงเท่านั้น การเรียนการสอนเหมือนกับบ้านเราในอดีต (สมัยไม่มีกลุ่มสาระการเรียนรู้) จะสอนภาษาอินโดนีเซีย ภาษาอังกฤษ เป็นหลัก แล้วมีภาษาที่สามเป็นทางเลือก (เฉพาะในบาหลีจะเพิ่มภาษาถิ่นบาหลีอีกหนึ่ง) พอรู้ว่าคณะเรามาจากเมืองไทย เด็กๆ สามารถทักทายด้วยคำว่า "สวัสดี" ได้เหมือนกัน
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
เรื่องการแต่งตัวของเด็กก็อย่างในภาพนะ ครับ ทรงผม (อันนี้ต้องพูดถึง เพราะเป็นประเด็นไร้สาระในการศึกษาไทยมาก) เด็กชายก็รองทรง เด้กหญิงถ้าไว้ผมยาวก็รวบ มัดหรือถักเปียอย่างในรูป สำหรับเรื่องเกกมะเหรกเกเรก็ไม่ต่างจากบ้านเราหรอก ยังไม่เลิกเรียนก็หาทางไปหลอกยามประตูหนีเรียนเหมือนกัน (โรงเรียนมีทางเข้าทางเดียว กำแพงสูงออกทางอื่นไม่ได้) ส่วนใหญ่เด็กๆ จะใช้จักรยานปั่นมาโรงเรียนกัน คุณภาพการศึกษาของเขาก็ไม่เท่าไหร่ครับ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพขาดความพร้อมพื้นฐาน (ได้ทราบจากทางผู้บริหารโรงเรียนว่า ขาดแคลนในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา สื่อ และปัจจัยมากทีเดียว) เรามีเวลาค่อนข้างจำกัดครับประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องรีบไปรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อเช็คอินกลับประเทศไทยในช่วงบ่าย
สำหรับท่านที่สนใจจะไปเที่ยวให้สนุก ผมแนะนำว่า ไปกันเป็นกลุ่มเล็กดีกว่าครับ 6-8 คน มีคนที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีสักหนึ่งคน จองที่พัก พาหนะเดินทาง และมัคคุเทศน์ท้องถิ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้ (เท่าที่ค้นหายังไม่เจอที่พูดไทยได้ครับ) เดินทางจากประเทศไทยไปบาหลี แล้วเที่ยวตามโปรแกรมที่ผมเดินทางได้ครับ กรุ๊ปเล็กเราจะสามารถแวะในที่ที่เราสนใจได้ดีกว่ากรุ๊ปใหญ่ๆ หรือจะจองเฉพาะที่พักและเครื่องบินแล้วไปซื้อทัวร์ที่โรงแรมที่โน่นก็ได้ จะมีบริการเที่ยวแบบวันเดียววัฒนธรรม ดำน้ำ เล่นเซิร์ฟ หรือประเภทขาลุยก็มีบริการครับ ไปเปิดหูเปิดตาพักผ่อนบ้างก็ดีนะครับ อย่าโหมกับงานจนเสียโอกาสแสวงหากำไรในชีวิต...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)