ตกเครื่อง เรื่องใหญ่!

มีตั๋วอยู่กับตัว จะกลัวอะไร? ความคิดนี้ใช้ไม่ได้ครับ…

พอดีไปเห็นในกระทู้เด็ดพันทิปมา ตกเครื่องบินเนื่องจากเครื่องออกก่อนเวลา 20 นาที สามารถเรียกร้องสิทธิ์ได้ที่ไหนบ้างคะ” จาก สมาชิกหมายเลข 2144519 อ่านแล้วขำปนเศร้านะครับ มันเป็นความเข้าใจผิดของผู้โดยสารที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องของ “เวลา ความปลอดภัย” บนเที่ยวบิน ที่เป็นกฎสำคัญที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวด อย่าลืมว่า “ถ้าลอยพ้นพื้นดินไปแล้ว ทุกชีวิตมีความเสี่ยงต้องเชื่อมั่นในกัปตันผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมอากาศยาน” กันนะครับ เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟัง เพิ่มเติมจากตอนที่แล้ว Everyone can fly.

เมื่อหลายปีก่อน ครั้งยังละอ่อนเริ่มทำงานเป็นสจ๊วตใหม่ๆ กลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวที่อุบลราชธานี วันเดินทางกลับคุณพ่อคุณแม่มาส่งที่ สนามบินอุบลราชธานี รอขึ้นเครื่องเข้า กทม. เพื่อบินต่อไปดูไบ ตอนนั้นสายการบินแอร์เอเชียยังมีเที่ยวบินตรง อุบลราชธานี-ภูเก็ต ก็ได้พบกับเหตุการณ์ที่ขำไม่ออก ได้แต่สงสารกับครอบครัวนั้นมากๆ เรื่องมีอยู่ว่า

มีครอบครัวหนึ่งประมาณ 7 คน (พ่อ-แม่-ลูก 2 พร้อมหลานและตากับยาย) จองเที่ยวบินไปเที่ยวภูเก็ตกัน ได้จองที่พักในภูเก็ตไว้เรียบร้อยแล้ว เดินทางมาถึงสนามบินก่อนเวลาเที่ยวบินที่จอง 5 นาที (Departure 12.45 มาถึง 12.40 น.) ขึ้นเครื่องไม่ได้เพราะ Gate ปิดแล้ว ก็โวยวายกันใหญ่ เครื่องยังจอดอยู่นั่นไง ทำไมไม่ให้ขึ้น ตั๋วโดยสารก็มีอยู่ในมือนี่ เป็นที่โกลาหลแตกตื่น ผู้คนมามุงดูตามประสาคนไทย สุดท้ายจบที่ต้องซื้อตั๋วใหม่เดินทางในเที่ยวถัดไป…

จากที่ยืนฟังในระยะประชิดทราบว่า ทั้งครอบครัวตื่นเต้นกันมากโดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะได้นั่งเครื่องบินครั้งแรก จริงๆ แล้วก็ครั้งแรกทั้ง 7 คนนั่นแหละ ออกจากบ้านมาตั้งแต่ 10 โมงครึ่ง ลูกหิวเลยแวะโซ้ยส้มตำก่อน ไปสัมผัสทะเลและอาหารซีฟู๊ด ออกจากร้านตอนเที่ยงเป๊ะกว่าจะถึงสนามบิน และลากกระเป๋ามาถึงเคาท์เตอร์ก็เที่ยงสี่สิบ ตอนผ่านเข้ามาสนามบินเด็กๆ ยังชี้มือบอกนั่นไงเครื่องบินที่เราจะขึ้น แล้วก็ไม่ได้ขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

การเดินทางโดยเครื่องบินนั้น มีมาตรการรักษาความปลอดภัย การจัดการมากมาย ก่อนที่เครื่องบินจะทำการบินขึ้น (Take off) จากสนามบิน เช่น การจัดกระเป๋าสัมภาระใต้ท้องเครื่องให้เกิดความสมดุล การจัดผู้โดยสารให้นั่งในตำแหน่งต่างๆ บนเครื่องให้มีความสมดุลด้วยเช่นกัน (อ่านและชมคลิปจากเรื่อง Everyone can fly นะครับ) เราไม่สามารถวิ่งหิ้วกระเป๋ากระโดดขึ้นไปนั่งที่ไหนก็ได้อย่างรถโดยสาร รถทัวร์ รถไฟนะครับ การเดินทางจึงต้องไปเช็คอินก่อนเวลาเครื่องออก (Departure) อย่างน้อยก็ 1 ชั่วโมง เมื่อทำการเช็คอินแล้วจะได้ Boarding Pass (บัตรโดยสารขึ้นเครื่อง) ดังภาพล่างนี้

ที่ท่านต้องดูคือ Boarding Time (เวลาสุดท้ายในการขึ้นเครื่อง ประตูทางเข้าจะปิด) เป็นเวลาเท่าใด อย่ามาช้ากว่านี้ แม้ว่าเครื่องบินจะยังไม่เคลื่อนที่ออกไปจากที่จอด ก็ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้แล้ว ช่วงเวลานี้ลูกเรือจะทำการตรวจสอบความปลอดภัย นับ/ตรวจสอบจำนวนผู้โดยสาร ปิดประตูเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นจะทำการเฉลี่ยน้ำหนักสัมภาระใต้ท้องเครื่อง ตรวจสอบอุปกรณ์และพร้อมแจ้งให้กัปตันทราบ เพื่อขออนุญาตทำการบินจากหอควบคุม แล้วขึ้นบินตามเวลาบิน (Departure) ที่ระบุในกรอบสีแดง

การขึ้นบินช้ากว่าเวลาที่กำหนด จะเกิดความเสียหายต่อทั้งสายการบินนี้ และสายการบินอื่นๆ เพราะต้องใช้หลุมจอดในการทำการบินในเที่ยวต่อไป สายการบินที่ทำการบินช้ากว่าเวลาที่ระบุ จะต้องจ่ายเงินให้กับทางสนามบินซึ่งไม่ใช่ราคาถูกๆ ยิ่งเป็นสนามบินใหญ่ๆ ที่เที่ยวบินขึ้นลงหนาแน่นก็ยิ่งจะกระทบ ค่าทำการบินในแต่ละเที่ยวนับแสนบาท และทำให้ล่าช้าติดต่อกันเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ เสียหายทางด้านเศรษฐกิจจำนวนมาก

มาที่กระทู้ต้นเรื่อง จากรูปขอย่อความดังนี้ “สวัสดีค่ะ วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์ตกเครื่องสายการบิน… เนื่องจากเครื่องออกก่อนเวลา …. ตามตารางเวลาเครื่องออกเวลา 17.05 น. เราไปถึงเวลา 16.00 น. เช็คอิน จากนั้นออกมาเดินเตร็ดเตร่ด้านนอกจนเวลา 16.45 น. เลยรีบไปเข้าเกตถึงเวลา 16.55 น. ประตูเกตปิดแล้ว…”

กรณีนี้ เจ้าของกระทู้ผิดเต็มประตูนะครับ เช็คอินไปแล้วทำไมไม่ดูที่ Boarding Pass ว่าประตูปิดเวลาเท่าไหร่ต้องมาก่อน นี่มาช้ามาก เพราะสายการบินนี้เขาจะระบุไว้ในตั๋วโดยสารเลยว่า ต้องมาเข้าเกตก่อนเวลาออก 15 นาที (ในกรอบสีเขียว เป็นตัวอย่างคนละเที่ยวบินนะครับ จะเห็นว่าเวลาออก 17.00 น. แต่ต้องขึ้นเครื่อง 16.20 น. และก่อนเวลาออก 15 นาที)

การที่สายการบินจะต้องรอคุณคนเดียวเนี่ยเสียหายมากนะครับ นี่คือคำตอบของกัปตัน (ไม่ใช่เที่ยวบินนี้นะ) “ในกรณีนี้ผู้โดยสารมีสัมภาระด้วย แสดงว่าก่อนหน้าที่ gate จะปิด มีการประกาศเรียกจนนาทีสุดท้ายแล้วครับ เพราะสายการบินไม่อยาก off load ผู้โดยสารที่มีสัมภาระ เพราะจะเสียเวลา กว่าจะนำสัมภาระกลับไปคืนผู้ โดยสารได้ ส่วนเรื่องเครื่องออกก่อนเวลา ผมคิดว่าเครื่องออกตรงเวลาครับ ออกจากงวงช้างแล้วแต่ยังไม่ take off แต่เจ้าหน้าที่ภาคพื้นใช้คำว่าประมาณ 10 นาที เพราะไม่ได้ดูเวลาในตอนนั้น เพราะต้องรีบไปเปิด gate อื่นต่อ เลยต้องใช้คำว่าประมาณ ซึ่งคำว่าประมาณของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน แต่ในกรณีนี้ไม่ว่าจะตอบว่ากี่นาทีก็ไม่มีผลแล้ว เพราะผู้โดยสารไม่สามารถขึ้นเครื่องได้แล้วครับ หรืออีกกรณีที่คิดว่าเป็นไปได้คือเวลาของผู้โดยสารกับเวลาหน้า gate ไม่ตรงกัน เครื่องบินต้องออกจากงวงช้างตามเวลา เพื่อให้เครื่องบินลำอื่นมาเทียบต่อ ถ้าออกช้ากว่าเวลาที่กำหนดจะต้องจ่ายค่าเทียบงวงช้างซึ่งแพงครับ คิดเป็นนาทีครับ”

จำไว้เสมอว่า “คุณต้องดูเวลา Boarding Time ไม่ใช่ Departure Time นะครับ บทเรียนนี้เรียกร้องอะไรไม่ได้นะครับ ต้องเสียทั้งเงินค่าตั๋วเดิม และตั๋วใหม่ และเวลาที่ล่าช้าในการเดินทางออกไปอีก ถ้านัดคนมารอรับที่ปลายทางเขาก็อาจมีอารมณ์เสียเพิ่มแน่ๆ ทุกครั้งที่เดินทางจำให้ขึ้นใจ Boarding Time และ Gate ทางออกต้องเป๊ะ ไม่งั้นจะเสียหายมากมายเลยทีเดียว บางที Gate แต่ละช่องมันไกลกันมากวิ่งไปก็ไม่ทันนะครับ… ยิ่งสนามบินดอนเมืองนี่ต้องระวัง เปลี่ยน Gate แบบอยู่คนละทางเลย บ่อยมาก เช็คอินเสร็จอย่าหนีไปไหน อย่าใส่หูฟังเดี๋ยวไม่ได้ยินการแจ้งเปลี่ยน Gate ตกเครื่องนะขอบอก

การเตรียมตัวขึ้นเครื่อง

  • ผู้โดยสารแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางตัวจริง ที่ออกโดยหน่วยงานของราชการให้กับพนักงานที่ประตูทางออก
  • ประตูทางออกขึ้นเครื่องจะปิดรับขึ้นเครื่อง 15 นาทีก่อนเวลาเครื่องออก กรณีผู้โดยสารมาแสดงตนหลังเวลาปิดรับขึ้นเครื่อง ทางบริษัทขอสงวนสิทธิ์ไม่รับผิดชอบทุกกรณี

ปัญหาผู้โดยสารมาช้าจนตกเครื่องบิน เนื่องจากทุกสายการบินกำหนดเวลาปิดประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Gate) ซึ่งจะปิดก่อนเวลาเครื่องออก 10-30 นาที (แล้วแต่สายการบิน ขนาดเครื่องบิน เส้นทางบินเป็นภายในประเทศ หรือต่างประเทศ) เพื่อให้พนักงานตรวจเช็กจำนวนผู้โดยาร ทำเอกสารตามที่ ICAO กำหนดส่งให้ทางสนามบินต้นทางปลายทาง

ทำไมประตูเครื่องบินต้องปิดก่อนเครื่องออกก่อนเวลาออกเดินทางจริง ?

แม้ว่าหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยจะไม่ได้มีกฏหมายในการกำหนดว่า ประตูเครื่องบินจะต้องปิดก่อนเวลาออกเดินทางกี่นาทีอย่างชัดเจน แต่โดยส่วนใหญ่สายการบินจะกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนเวลาเล็กน้อย เพื่อใช้เวลาในการดำเนินการเอกสารขั้นสุดท้าย ก่อนออกเดินทาง โดยทั่วไป พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะเริ่มนับจำนวนผู้โดยสารบนเครื่องบิน (Passenger Headcount) เพื่อยืนยันตัวเลขผู้โดยสารให้ตรงกับเจ้าหน้าที่หน้าทางออกขึ้นเครื่องอีกครั้ง

จากนั้น เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ประจำทางออกขึ้นเครื่องจะต้องนำเอกสารยืนยันจำนวนผู้โดยสาร และเอกสารต่างๆ ตามภาคผนวก 9 (Annex 9) ที่กำหนดโดย องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ไปส่งให้กับนักบิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคำนวนร่วมกับน้ำหนักสัมภาระและสินค้า (Cargo) ที่ถูกใส่ไว้ใต้ท้องเครื่อง ซึ่งข้อมูลส่วนนี้นักบินจะใช้ในการคำนวนความเร็วในการวิ่งขึ้น–ลงจอด จุดศูนย์ถ่วงของเครื่องบิน (Center Of Gravity) เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการบิน

นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมนำกระเป๋าของผู้โดยสารที่เช็กอินแล้ว แต่ไม่ได้เดินทางออกจากที่เก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่อง ตามข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยที่ระบุว่า ‘สัมภาระทุกชิ้น’ ต้องมีเจ้าของเดินทางด้วยเสมอ ”

เช็กอินแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตกเครื่อง

ปัจจุบันแม้หลายสายการบิน เปิดให้ผู้โดยสารสามารถเช็คอินออนไลน์ด้วยตัวเองได้ล่วงหน้า 24-48 ชั่วโมง หรือบางแห่งอาจล่วงหน้าได้นานนับสัปดาห์ แต่การเช็กอินอาจไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่า เที่ยวบินจะออกเดินทางไม่ได้หากเราไม่ได้แสดงตัว หรือต้องรอจนกว่าเราจะมาขึ้นเครื่องนะครับ

ดังนั้นสิ่งที่จะสามารถยืนยันได้ดีที่สุดว่า จะได้เดินทางแน่ๆ คือ การเผื่อเวลาในการเดินทางอย่างเพียงพอ และไปรอที่หน้าประตูทางออกขึ้นเครื่องตามเวลา และเงื่อนไขที่แต่ละสายการบินได้กำหนดไว้ข้างต้น พร้อมกับหมั่นสังเกตหน้าจอแสดงเที่ยวบิน และการประกาศจากพนักงานภาคพื้นดิน เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Gate) ได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลด้านความคับคั่งการจัดจราจรในลานบินให้ได้สะดวก รวดเร็ว นั่นเอง

คราวนี้ฝากถึงคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศนะครับ ถ้ามีผู้โดยสารมาช้า มาไม่ครบเขาจะเรียกชื่อ (Final Call จะเรียกประมาณ 3 ครั้ง ก่อนถึงเวลา Gate ปิด 5 นาที 3 นาที และ 1 นาทีตามลำดับ) แล้วชื่อคนไทยนี่แหม่ๆ คนชาติอื่นเขาอาจจะอ่านไม่ถูกต้องตามสำเนียงภาษาไทยนะ การสะกดชื่อควรให้เป็นพ้องเสียง อย่าเอาตามการสะกดอักษรไทย เช่น ชื่อ อมรรัตน์ ก็ Amonrat พอแล้วบางคนเอาซะครบ Amonratana เวลาเขาเรียกก็นั่งทำตาแป๋วไม่ขานรับ ก็เขาเรียก A-mon-rat-ta-na (อะ-ม่อน-รัด-ตะ-นา) เลยเรียกเป็นชื่ออื่นไม่ใช่ อมรรัตน์

บางคนถึงกับตกเครื่องเพราะไม่รู้ว่าเขาเรียกตัวเองก็มี เช่น “Final call form Singapore Airline flight SG-457, a passenger name Mr. An-Ant hurry up to gate 34 now.” เดาสิครับเขาเรียกชื่อใครเอ่ย มิสเตอร์แอ่น-แอ้นท์ คนไทยครับ (ไม่ต้องเดา คุณอนันต์ ไงล่ะ) ใครเป็นมือใหม่ใช้บริการเครื่องบิน เชิญอ่านต่อที่นี่ ครับ 🙂 😛 😀

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)