foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

lookingThai education 01

ผ่านปีใหม่มาแล้ว 1 เดือน ข่าวคราวด้านการศึกษาของไทยก็ยังคงหนีออกจากหลุมดำไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้คำว่า "ปฏิรูป ปฏิวัติ" ก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ไม่หลุดพ้นไปไหน จะเรียกว่า "วังวน" หรือ "หลุมดำ" ทางการศึกษาก็คงจะไม่ผิดนัก นโยบายที่เพียงเป็นการตอบสนองความต้องการเจ้านาย และคำหวานที่โปรยออกมาแล้วก็ทำไม่ได้ สั่งเหมือนสั่งขี้มูกยังไงยังงั้น เอาตัวอย่างมาสิจะได้ชัดเจน "การสอบวัดผลระดับชาตินั่นปะไร ให้สอบตามความสมัครใจ ใครใคร่สอบ สอบ ใครไม่อยากวัดตัวเองก็ไม่ต้องสอบ" แต่... ในความเป็นจริง เจ้านายที่สิงสถิตย์บนสำนักเขตกลับต้องการ "ตัวเลขอันสวยหรูเพื่อรายงาน" จึงสั่งการลงมายัง ผอ.(ผัวอีอ้อย) ให้ดำเนินการให้ได้ปริมาณสูงสุด โรงเรียนใดไม่ทำการตามที่สั่ง การประเมินเลื่อนขั้นย่อมมีปัญหาตามมา ไม่บอกก็รู้ใช่ไหม?

lookingThai education 03

นับตั้งแต่ "คุณโคขวิด" เอ้ย! "โควิด-19" มาแพร่ระบาดกันทั่วโลกนี่ก็เข้าปีที่ 3 แล้วยังไม่จางหายสักที นักเรียนไม่ได้เรียนกันตามปกติอย่างที่เคยเป็น ครูก็ไม่ได้สอนในชั้นเรียนตามปกติ บางแห่งนี่เหมือนโรงเรียนร้างไร้เสียงจอกแจก จอแจ มานานมากๆ บางแห่งก็ได้เปิดเรียนกันกระปริดกระปรอย ได้แค่สองสามวันก็ต้องปิดอีกเพราะการระบาดของไวรัสร้ายที่ไม่สิ้นสุดและรวดเร็วกว่าเดิม จนเซ็งกันทั้งครูและนักเรียน รวมทั้งผู้ปกครองที่เริ่มเบื่อหน่ายกันแล้ว ห่วงหน้าพะวงหลังทั้งการทำมาหากินที่ฝืดเคือง มีผลกระทบทั้งสินค้าขึ้นราคา ข้าวยากหมากแพง แล้วยังจะต้องห่วงในสุขภาพเด็กๆ กันอีก

จากการหยุดชะงักของการจัดการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ สะท้อนให้เห็นปัญหา ขยะที่สะสมอยู่ใต้พรมที่ถูกกวาดซ่อนไว้มาอย่างยาวนาน ได้ถูกพัดกระจัดกระจายปลิวว่อน แม้จะมีผู้พยายามจะเก็บซ่อนเอาไว้อย่างไรก็ไม่ทันการ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้รีบทำการแก้ไขมาจากทุกภาคส่วน ทั้งจากตัวครูเอง ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนนักวิชาการด้านการศึกษาทั่วประเทศ มีบทเรียนหลายอย่างที่เกิดขึ้นฉับพลัน ที่ทำให้เกิดการปรับตัวแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน จากหน้ามือเป็นหลังมือ ชนิดที่เรียกว่า "ไม่ทำ ไม่ได้" จนทำให้สิ่งที่ผมเคยพยายามชักชวนเพื่อนๆ ครูกระทำในอดีตอย่างยากลำบาก กลับกลายมาเป็น "เร่งรีบ กระทำทันที" ก็คือ "การเรียนออนไลน์" นี่แหละครับ เดี๋ยวเรามาดูกันหน่อยว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

1. การจัดการเรียนการสอนออนไลน์

Oline Learning เป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินในวงการศึกษาไทยเลยทีเดียว ไม่ว่าคุณครูท่านนั้นจะเป็น ครู Gen X, Y, Z หรือครูกลางเก่า กลางใหม่ หรือใหม่ถอดด้าม ต่างก็ต้องมาทำการสอนออนไลน์เสมอกันเลยทีเดียว ไม่สามารถอ้างได้ว่า "ฉันมันครูรุ่นโบ (ไม่ใช่ติด 'เทอร์โบ' นะ แต่เป็น 'โบราณ') ทำไม่เป็น ให้รุ่นน้องๆ สอนเหอะ" แบบนี้โดนไม่เลื่อนขั้นแน่นอน และเป็นยุคที่ครูเราพะรุงพะรังกันน่าดู จากที่เคยแต่งตัวสวยๆ สะพายกระเป๋าแบรนด์เนม ปัจจุบันน้าน...! ต้องมี กระเป๋าแล็ปท็อป ถุงผ้าที่ได้จากการที่ไปอบรมมา ม้วนกระดาษสื่อ อุปกรณ์ พร้อมสิ่งยังชีพต่างๆ (ปิ่นโต ข้าวห่อ น้ำชา/กาแฟ) ถ้าครูชายก็จะเท่ห์มากกว่าเพราะพี่แกจะมีเป้สะพายหลัง แต่ก็พะรุงพะรังมากพอๆ กันนั่นแหละท่านผู้อ่าน

lookingThai education 04

จากเหตุการณ์นี้ทำให้คาดกันว่า "การพัฒนาการจัดการศึกษาออนไลน์" โดยเฉพาะทางฝั่งผู้สอน (ครู อาจารย์ สถานศึกษา) จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ความสนใจในการที่จะพัฒนาวิธีการสอน การสร้างสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ จะมีมากขึ้นแน่นอน ถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะลดลง โรงเรียนสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติแล้ว แต่ครูที่ผ่านสถานการณ์ของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์มาคงจะเห็นหนทางในการเพิ่มวิธีการจัดการเรียนรู้แบบอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางในการทบทวนเนื้อหาสาระให้กับผู้เรียนที่เรียนไม่ทันในชั้นเรียนปกติได้ด้วย

2. ความขาดแคลนทรัพยากรการจัดการศึกษา

เรื่องนี้คงไม่ต้องจินตนาการมาก "ครู" อย่างพวกเรานั้นได้ชื่อว่าเป็น "นักสำรวจดีเด่นระดับชาติ" ไม่ว่าใครต้องการข้อมูลอะไร ก็ล้วนส่งลงมาถึงมือครูดำเนินการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น จำนวนประชากร ข้อมูลสุขภาพ ยาเสพติด การเลือกตั้ง ฯลฯ แล้วยิ่งการสำรวจที่เกี่ยวกับผู้เรียน ทรัพยากร เพื่อการจัดการศึกษานั้น เราทำกันมาทุกภาคเรียน ทุกปีการศึกษา แต่... หน่วยเหนือก็เพียงให้สำรวจ สำรวจ และสำรวจ ก็ไม่เคยเห็นหน่วยเหนือที่ว่าดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างไร? สำรวจแล้วเอาข้อมูลนั้นไปไหน ทำอะไร เพื่ออะไรกันหนอ

lookingThai education 05

พอการระบาดของเจ้าโควิด-19 มากระทบเข้าจังๆ กับการจัดการศึกษาจึงทำให้รู้ว่า "ความขาดแคลนทรัพยากรจัดการศึกษา" นั้นมีมากมายมหาศาลเพียงใดไม่เฉพาะแต่ทางสถานศึกษา ครูผู้สอนเท่านั้น แต่รวมถึงผู้เรียนและผู้ปกครองด้วย

  • สถานศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย คงต้องแยกกันตามขนาดและสถานที่ตั้ง ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ๆ ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่ เรื่องอุปกรณ์สำหรับการจัดการศึกษาทางไกล เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ชุดรับสัญญาณดาวเทียม โทรทัศน์ สำหรับสัญญาณการถ่ายทอดการเรียนทางไกล คงมีปัญหาน้อยกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก และสถานที่ตั้งที่อยู่ในชนบทห่างไกลปืนเที่ยง ซึ่งบางแห่งนั้นอย่าว่า แต่อินเทอร์เน็ตเลย สัญญาณโทรศัพท์ก็มีน้อยอ่อนๆ หรือไม่มีกันเลยทีเดียว
  • ครูผู้สอน ก็อย่างที่บอกแหละครับ ครูเราส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ในการสื่อสารอย่าง 'โทรศัพท์มือถือ' กันแทบทุกคน แต่ใช่ว่าทุกคนจะใช้มันเป็นเครื่องมือในการจัดการสอนทางไกลได้ (ก็เคยแต่ใช้รับ-ส่งโทรศัพท์ เล่น Facebook, Line กันบ้างเท่านั้น) จะให้มาสอนออนไลน์ทันทีปุ๊บปั๊บก็ลำบากอยู่ จริงๆ ก็เรียนรู้และทำได้ไม่ยากหรอกถ้าใส่ใจสักนิด จนสถานการณ์บีบบังคับให้ทำก็ทำกันได้แทบจะทุกคนแล้วในวันนี้ แต่...
    - ในกรณีที่ครูผู้สอนต้อง WFH (Work from Home) ใครจะช่วยสนับสนุนค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการจัดการเรียนการสอนนี้
    - โทรศัพท์เครื่องเดียว หรือโน้ตบุ๊คเครื่องเดียว เพียงพอไหมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ มันก็พอกล้อมแกล้มได้แหละ แต่เอาเข้าจริงถ้าจะให้ได้ผลสุดๆ มันต้องมีหลายๆ อย่างเข้ามาช่วยด้วย เช่น เครื่องพีซี หรือแล็ปท็อปสักเครื่องเพื่อถ่ายทอดครูผู้สอนและส่งสื่อการเรียนไปยังผู้เรียน เช่น คลิปวีดิโอ ไฟล์นำเสนอ ใบความรู้ ใบงาน หรือการสร้างแบบทดสอบต่างๆ มีเครื่องแท็ปเล็ตสักเครื่องเพื่อใช้ดูการแสดงผลในการสอนว่าเป็นอย่างไร ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องเพื่อการสื่อสารออนไลน์กับผู้เรียนในรูปแบบอื่นๆ เช่น Facebook, Line หรือแม้แต่กับผู้ปกครองในขณะนั้นๆ ด้วย (ที่น่าเศร้าคือ ณ เวลาที่ครูกำลังสอนก็ยังมีบรรดาเจ้านายหน่วยเหนือที่คอยติดต่อเข้ามาด้วยเหตุอื่นๆ อีกมากมายด้วย มันน่า... ไหมล่ะ)

lookingThai education 06

  • ผู้เรียน นักเรียน นักศึกษา ปัญหาใหญ่เลยทีเดียว เพราะผู้ที่มีเครื่องมือในการเรียนอย่างโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ตนั้นมีน้อยมากครับ ถ้าเป็นนักเรียน-นักศึกษาที่อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปจะมีเครื่องมือใช้งานเกินกว่า 50% แต่ถ้าระดับต่ำกว่านั้นจะมีเครื่องมือเหล่านี้น้อยมากๆ ถ้ามีก็มักจะเป็นเครื่องราคาถูกคุณภาพต่ำ จนอาจจะไม่สามารถสื่อสารสองทางได้ ถึงแม้จะได้ก็จะเจอปัญหาสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่จำกัดอีก หรือมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่คุณภาพแย่เอามากๆ จนไม่สามารถเรียนได้เลยก็มี
  • ผู้ปกครอง ก็ได้รับผลกระทบเรื่องความขาดแคลนไม่ต่างกัน และดูเหมือนจะมากกว่าใครๆ ด้วย เพราะในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ การประกอบอาชีพก็ฝืดเคืองแล้วยังต้องมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอีก จากการต้องสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานซ้ำเข้าไปอีก นับตั้งแต่ต้องดูแลการเรียนของเด็กๆ ที่ต้องอยู่บ้านเพื่อการเรียนทั้งแบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือโทรทัศน์ และที่เรียนจากใบความรู้ ใบงานที่ทางโรงเรียนดำเนินการจัดหาส่งมาให้ตามลำพัง ก็ด้วยสาเหตุที่ผู้ปกครองก็ต้องทำมาหากินประกอบอาชีพ บางครอบครัวมีโทรศัพท์เครื่องเดียว ลูกมีหลายคน เรียนหลายระดับชั้น โทรทัศน์ก็มีเครื่องเดียวต้องหาเพิ่ม ซึ่งมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน และอื่นๆ อีกมากมายสุดจะบรรยายแล้ว

จนมีคำถามไล่หลังมาว่า "ที่ให้ครูสำรวจ รายงาน มามากมายหลายปีนั้น ไหนล่ะจานดาวเทียม โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการเรียนการสอน มันอยู่ไหน?" สำรวจทำไม เพื่ออะไร เสียเวล่ำเวลามากี่ชาติแล้ว?

สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด

คำถามใหม่หมาดมาจากผู้ที่ไปสอบครูผู้ช่วยในคราวนี้ (ความจริงก็ทุกครั้งที่มีการสอบแข่งขันล่ะนะ) เมื่อนักการศึกษาทั้งหลายในโลกหล้าต่างก็ทราบว่า "คนเราไม่เท่ากันในทุกๆ เรื่อง แต่ละคนมีความสนใจใคร่รู้ แสวงหา เรียนรู้ในสิ่งที่ตนชอบ เชี่ยวชาญในสิ่งที่ตนสนใจ" แล้วทำไมตอนสอบแข่งขันเพื่อเข้าสู้ระบบราชการ จึงวัดด้วยเครื่องมือหรือเกณฑ์เดียวกันล่ะ?

  • ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ก็ต้องวัดความสามารถด้านภาษาไทย ใช่
  • ครูผู้สอนวิชาภาษาต่างประเทศใด ก็ต้องวัดความสามารถด้านภาษาต่างประเทศนั้น ใช่
  • ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ก็ต้องวัดความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ใช่
  • ครูผู้สอนวิชาใดๆ ก็ควรวัดความสามารถของการสอนหรือความรู้และวิชานั้นๆ ใช่

แต่... ไม่ใช่

  • อยากได้ครูสอนวิชาดนตรี แล้วต้องให้สอบผ่านความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ ได้คะแนนสูงๆ โดยไม่วัดความรู้ความสามารถด้านดนตรีสักอย่างเลย
  • อยากได้ครูสอนการเล่นกีฬา ก็เช่นเดียวกันนั่นแล...

lookingThai education 02

เพราะ... ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า คนที่สนใจด้านใดเป็นพิเศษก็มีความสามารถด้านนั้นๆ สูง ความรู้ด้านอื่นๆ ก็รู้บ้างแหละ แต่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญพอที่จะเอามาวัดแข่งขันกันให้สูงพอๆ กับคนที่เขาเรียนด้านศาสตร์วิชาการนั้นๆ มาเป็นแน่แท้ แต่การสอบคัดเลือกเข้าทำงานของประเทศไทยนี้มันเหมาะสมเพียงใด ฝากไว้ให้คิดกันหน่อยนะครับท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย

lookingThai education 07

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy