รอคอยด้วยความหวัง

ช่วงเวลาต่อจากนี้คือ ช่วงเวลาที่ “มืดมน” สำหรับอุตสาหกรรมการบินทั้งโลก จากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 นั้นทำให้หลายสายการบินประสบปัญหาอย่างหนัก จากความต้องการเดินทางทางอากาศที่หายไปอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สายการบินต่างก็ปฏิเสธการเพิ่มจำนวนฝูงบิน หรือคาดการณ์ไว้แล้วว่า เครื่องบินของตนที่เคยมีอยู่จะพอให้บริการไปอีกสักพักใหญ่ๆ ตัวอย่างเช่น

กาตาร์แอร์เวย์ (Qatar) ได้ออกมาประกาศว่า ตนจะไม่รับมอบเครื่องบินใหม่ไปจนถึงปี 2022 ในประเทศไทยเราเอง CEO ของสายการบิน Thai AirAsia ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เครื่องบินที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเพียงพอสำหรับการทำการบินไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ดังนั้น เมื่อเครื่องบินมีจำนวนเท่าเดิม นักบินที่มีเท่าเดิม ก็เพียงพอต่อการให้บริการในอนาคตต่อจากนี้สักพักใหญ่แล้ว สายการบินเองก็จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหานักบินเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายฝูงบินเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทำให้การเปิดสอบต่างๆ ทั้ง Student, Cadet Pilot หรือ Qualified Pilot ของแต่ละสายการบินทั่วโลก น่าจะลดลงอย่างมากในอนาคตต่อจากนี้ ซึ่งกว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวนั้นก็คงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ คนที่อยากเป็นนักบินเอง หรือ แม้แต่สนใจเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินก็อาจจะต้องรอไปอีก ที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่รู้เมื่อไรเลยก็ว่าได้

เมื่อเครื่องบินก็ไม่เพิ่ม ผู้โดยสารก็ยังไม่มาก พนักงานที่มีอยู่เดิมก็แทบจะล้นงาน จนต้องหมุนเวียนสลับวันกันทำงาน เพื่อให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน เงินเดือนก็ต้องลดลงจากเดิมตั้งแต่ 20-50% ก็ต้องยอมๆ กันไป เราต้องรอด! นี่ขนาดว่าได้ไปบินมาแล้วสองไฟลท์ ก็ยังใจไม่ดี… ตุ๊มๆ ต๊อมๆ อยู่นะครับ อยากบินกลับบ้านสนามบินในไทยก็ยังไม่เปิด หิวส้มตำจะแย่แล้วล่ะ โชคดีที่ขุ่นแม่และพี่สาวส่งทุเรียนภูเขาไฟมาให้ชิมพอหายอยาก แต่ค่าส่งนั้น…!!! จะแพงกว่าทุเรียนไปสักสามเท่าได้มั๊ง ขอบคุณนะครับ

พวกเราก็ได้แต่ปลอบโยนกันและกันครับว่า เมื่อไรจบจากวิกฤตโรคระบาดนี้ ก็ขอให้ทุกอย่างกลับมาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้เราได้มีโอกาสทำตามฝันให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ในช่วงเกณฑ์อายุของเรานี้ ไม่ใช่แค่นักบินเท่านั้น แต่รวมถึงทุกอาชีพในอุตสาหกรรมการบินทุกสายงานเลย สำหรับใครที่ยังรักในอาชีพต่างๆ ก็ขอบอกว่าอย่าท้อ จงรอคอยด้วยความหวังและศรัทธาว่า วันหนึ่งเราจะก้าวไปให้ได้ ขอให้มีความคิดบวกไว้เสมอ และเตรียมตัวเองให้พร้อม เพื่อที่ว่าหากโอกาสนั้นกลับมาไวกว่าที่เราคิด เราจะได้คว้าโอกาสนั้นได้เลยในทีเดียว เป็นกำลังใจให้ทุกคน ที่กำลังทำตามฝันอยู่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในลำดับตรงไหนของความสำเร็จนะครับ

เรื่องของสายการบินที่มีปัญหาก็ไม่ใช่เฉพาะ “การบินไทย” ของเราเท่านั้นที่จำเป็นต้องล้ม เพื่อให้ฟื้นยืนขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมนี้ทั้งโลก สายการบินไทยไม่ได้ล้มลงเพราะ โควิด-19 แต่ซวนเซจะล้มมาแล้วหลายปี จากการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ทั้งจากการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ มีการเมืองภายในขององค์กร มีเหลือบที่คอยสูบเอารายได้ออกไปลับๆ มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากตำแหน่งที่ไม่สร้างรายได้ พอมาเจอมรสุมโควิด-19 ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน จึงทำให้ทุกคนพร้อมใจกัน “กดดัน” เพื่อให้การบินไทยต้องล้มลง เพื่อผ่าตัดองค์กรขนานใหญ่ ให้กลับมายืนได้อีกในวันข้างหน้า ด้วยมาตรฐานของการบริการ และชื่อเสียงที่มีอยู่เดิม หากสามารถผ่าตัดองค์กรให้เล็กลง ออกจากใต้ปีกรัฐบาล มาบริหารอย่างบริษัทเอกชนมืออาชีพ ก็คาดว่าในระยะ 7-10 ปีต่อจากนี้ “สายการบินไทย (TG) จะกลับมาผงาดได้อีกครั้งหนึ่ง

และแล้ว NokScoot ก็อำลาน่านฟ้าจากสถานการณ์โควิดเป็นรายแรก

อยากจะเล่าถึงสายการบินหนึ่ง ที่โดนผลกระทบหนักทั้งก่อนและหลังโควด-19 ระบาด เรียกว่า ซวยซับซวยซ้อน 3 เด้ง คือ สายการบิน Cathay Pacific ของฮ่องกง

Cathay Pacific รู้จักกันดีในนามเป็น “สายการบินแห่งชาติของฮ่องกง” ที่มีเส้นทางการบินรับ-ส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้า (Cargo) ครอบคลุมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เป็นสายการบินที่ได้รับรางวัล “สายการบินยอดเยี่ยม” จากการจัดอันดับของ Skytrax ถึง 4 ปี คือ ในปี ค.ศ. 2003, 2005, 2009 และล่าสุด 2014 และยังเป็นสายการบินสำหรับขนส่งสินค้า (Cargo) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองเพียงแค่ Emirates Airlines และ Qatar Airways เท่านั้น

และจากการที่ “ฮ่องกง” เป็นจุดสำคัญของการค้าโลกแห่งหนึ่ง จึงทำให้ Cathay Pacific ยิ่งมีความสำคัญในฐานะสายการบินแห่งชาติของฮ่องกง ที่มีฐานการบินในจุดสำคัญเช่นนี้ แต่ใครจะไปคิดว่า “ความซวย” จะมาพร้อมๆ กันถึง 3 เด้ง 3 ปัจจัย เลยทีเดียว..

ปัจจัยที่ 1 การประท้วงใหญ่ในฮ่องกง

เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ ต่อต้าน พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปี 2019 ทำให้ “ฮ่องกง” กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความปลอดภัย และไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว นักธุรกิจจากทั่วโลก เท่านั้นยังไม่พอ สายการบิน Cathay Pacific ยังตกเป็นเป้าโจมตีของชาวฮ่องกงเองอีก เมื่อสายการบิน “ไล่พนักงาน” ที่เข้าร่วมการประท้วงในฮ่องกงออกจากงาน จนเกิดเป็นกระแส “แบน Cathay Pacific” ของชาวฮ่องกง

ทำให้ใน ปี 2019 จำนวนผู้โดยสารของสายการบินลดลงจากปีก่อนหน้า 10% โดยเฉพาะเส้นทางการบินระหว่างฮ่องกง กับ จีนแผ่นดินใหญ่ จำนวนผู้โดยสารลดลงมากถึง 26% และเส้นทางบินระหว่าง ฮ่องกง กับ อเมริกาเหนือ ก็มีจำนวนผู้โดยสารลดลง 7.5%

ปัจจัยที่ 2 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน

สงครามการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ก็เริ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2019 เช่นกัน จากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนสูงขึ้นอีก และยังมีการห้ามบริษัทของคนอเมริกันทำการค้ากับบางบริษัทในจีน (เช่น กรณีแบน Huawei) ทำให้เกิดความตึงเครียดในการค้าโลกขึ้น โดยเฉพาะฮ่องกง ที่เป็นจุดศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย และของโลก จึงส่งผลให้รายได้จากการบริการขนส่งสินค้าต่างๆ ทางอากาศ (Cargo) ของปี 2019 ลดลงมากถึง 16%

ผลประกอบการของ Cathay Pacific หลังเจอมรสุมอย่างหนักในช่วงครึ่งปีหลัง

  • ปี 2018 Cathay Pacific มีรายได้ 443,400 ล้านบาท กำไร 11,000 ล้านบาท
  • ปี 2019 Cathay Pacific มีรายได้ 427,000 ล้านบาท กำไร 6,700 ล้านบาท

ปัจจัยที่ 3 การระบาดของไวรัสโควิด-19

เหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงยิ่งกว่าปัจจัยที่ 1 และ 2 เสียอีก เมื่อเกิดการระบาดไปทั่วโลกของโควิด-19 ผู้โดยสารที่เคยใช้บริการหายไปเกือบหมด เพราะเส้นทางบินระยะสั้นที่ทำเงินส่วนใหญ่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อรัฐบาลจีนสั่งชัทดาวน์ประเทศจึงเกิดผลกระทบกับสายการบิน Cathay Pacific และบริษัทสายการบินต้นทุนต่ำในเครือ รายได้จากการส่งสินค้าทางอากาศก็ลดลงเช่นกัน จากห่วงโซ่การผลิตที่มีปัญหาทันที (โรงงานในจีนประกาศยุติการผลิตจากการระบาดของโรค) ทำให้ Cathay Pacific ที่จากเดิมอ่อนแออยู่แล้ว ทรุดหนักเข้าไปอีก

ในที่สุด เมื่อรวมความซวย 3 เด้งเข้าด้วยกัน Cathay Pacific ก็ไปต่อไม่ไหว บริษัทต้องประกาศเพิ่มทุน และเจรจาให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ จนรัฐบาลฮ่องกงต้องอัดฉีดเงิน 120,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างบริษัท โดยจะมีคนของรัฐบาลเข้าไปเป็นบอร์ดบริหาร 2 คน ก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะทำให้ Cathay Pacific รอดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้หรือไม่ ที่แน่ๆ ตอนนี้จากบริษัทเอกชนก็กลายมาเป็นรัฐบาลถือหุ้น (ตรงข้ามจากสายการบินไทยของเรา)

แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เห็นว่า ถ้าเราต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือที่เราเรียกว่า “Black Swan” ความสำเร็จอันสวยหรูในอดีตที่ผ่านมา ก็ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้เลย ก็ได้แต่ภาวนาให้ทุกสายการบินฟื้นตัวได้เร็ววัน เพื่อทำให้ฝันของหลายๆ คนยังอยู่ สู้ต่อไปนะ…

(Black Swan ถ้าแปลตรงๆ ก็แปลว่า หงส์ดำ แต่สำหรับในโลกการเงินแล้ว มันหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน จนสู่การล้มครืนในแวดวงการเงินโลก อย่าง วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ฟองสบู่ดอทคอม เหตุการณ์ 9/11 และวิกฤตซับไพรม์ ท่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากที่นี่)

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)