หลายเรื่องที่เรายังสงสัย?

ลูกเรือเมื่อเดินทางไกลเขานอนบ้างไหม?

ทั้งแอร์และสจ๊วตต่างก็เป็นมนุษย์นั่นแหละครับ เมื่อเดินทางไกลมากๆ ในเที่ยวบินตรงมากกว่า 12 ชั่วโมงก็ต้องมีการนอนหลับพักผ่อนเหมือนกัน เคยสงสัยกันไหมเขาไปนอนกันที่ไหนเหรอ ก็เห็นเดินไปมาอยู่ตลอด…

ภาพตัวอย่าง ให้เห็นลักษณะการบริการ

การทำงานบนเครื่องบิน บรรดาลูกเรือทั้งหมดก็ต้องมีการให้บริการผู้โดยสารบนเครื่อง ตั้งแต่การแนะนำที่นั่ง การให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งลักษณะการให้บริการก็จะแตกต่างกันไปตามคลาสของชั้นโดยสาร เช่น ชั้นประหยัด (Economy class) ก็จะให้บริการอาหารเครื่องดื่มบนเครื่องหลังจากเครื่องไต่ระดับไปถึงเพดานบินปรกติ ให้บริการรวดเดียวครบทุกที่นั่ง (ถ้าเที่ยวบินระยะสั้นๆ นี่บรรดาสจ๊วตและแอร์โฮสเทสเขาจะเรียกว่า บริการแบบเซิ้ง มือเป็นระวิงรัวๆ เลยทีเดียว ถ้าเที่ยวบินไกลหน่อย ระยะบินเกินกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไปก็จะไม่เร่งรีบนัก)

ชั้นประหยัดของสายการบินเอมิเรตส์ (อย่าไปเทียบกับโลว์คอสบ้านเรานะ)

ชั้นธุรกิจของเครื่อง A380 ของสายการบินเอมิเรตส์

สำหรับชั้นธุรกิจ (Business class) การบริการก็จะมีระดับขึ้นมาอีก ตั้งแต่ที่นั่งที่กว้างขวางขึ้น ปรับเอนได้มาก สบายด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก เป็นสัดส่วน ทั้งอาหาร/เครื่องดื่มมีให้เลือกสรรมากขึ้น การบริการที่ดีเป็นไปตามลำดับขั้นที่ฝึกฝนมา (จ่ายแพงกว่านี่) ยิ่งถ้าเป็นชั้นหนึ่ง (First class) นี่ยิ่งได้รับบริการที่ดีสุดๆ กำหนดเวลารับประทาน เลือกอาหาร/เครื่องดื่มได้มากมายกว่า พนักงานบริการบนเครื่องจะต้องผ่านการสอบ การอบรม และมีประสบการณ์อันยอดเยี่ยมในชั้นประหยัด และธุรกิจมาแล้ว การเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มจะเป็นขั้นตอนจุกจิกมากมายกว่า

First class สะดวกสบายแลกกับการจ่ายที่มากกว่านะครับ

ในการเดินทางถ้าใช้เวลาเกินกว่า 6 ชั่วโมง ลูกเรือจะต้องได้หยุดพักผ่อนร่างกายที่สถานีปลายทาง 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น เที่ยวบินดูไบ – กรุงเทพฯ – ซิดนีย์ – กรุงเทพฯ – ดูไบ เมื่อเริ่มทำงาน เดินทางออกจากสนามบินดูไบมายังสนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ ใช้ระยะเวลา 6 ชั่วโมง ก็จะได้หยุดพักที่กรุงเทพ ฯ 24 ชั่วโมง มาถึงตีสองวันนี้ ก็จะมาทำงานอีกทีตอนตีสองวันรุ่งขึ้น ไปกับเครื่องบินลำใหม่ (แทนที่ลูกเรือชุดที่หยุดพักในกรุงเทพฯ) เดินทางไปซิดนีย์ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ก็จะหยุดพักที่ซิดนีย์ 24 ชั่วโมง โดยมีลูกเรือชุดที่ลงพักก่อนหน้าเรามารับช่วงต่อ สลับชุดลูกเรือกันแบบนี้ ถ้าระยะเวลาช่วงสั้นอย่างนี้ลูกเรือก็ไม่จำเป็นต้องนอนบนเครื่อง เพียงแค่นั่งพักสลับกันออกมาดูแลผู้โดยสาร ที่หยุดพักก็เมาส์มอยด์กันไปตามระเบียบ

ห้องนอนแบบแคปซูล จะนอนก็ต้องรัดเข็มขัดเพื่อความปลอดภัยนะ

ในกรณีที่เดินทางไฟลท์ยาวบินตรง (ไม่แวะพักระหว่างทาง) เช่น ดูไบ – ซิดนีย์ม ดูไบ – ริโอ เดอ จาเนโร หรือ กรุงเทพฯ – นิวยอร์ค ซึ่งจะบินใช้เวลา 14 ชั่วโมง และ 16 ชั่วโมงตามลำดับ หลังจากให้บริการผู้โดยสารตามปรกติแล้ว ก็จะสลับเปลี่ยนกันไปหลับนอนพักผ่อน ผลัดละ 3-4 ชั่วโมง ที่นอนก็จะเป็นแบบแคบซูล เพราะบนเครื่องมีที่จำกัด ดูเอาตามรูปเลยแล้วกัน (จะแตกต่างกันไปตามขนาดของเครื่อง และผู้ผลิตด้วยนะว่าเป็น Airbus หรือ Boeing หรือเครื่อง TU ของรัสเซีย)

ห้องนอนแบบเตียงสองชั้นก็มีเหมือนกัน

ห้องนอนแคปซูลอีกแบบหนึ่ง

นี่ก็ห้องนอนอีกแบบ รู้แล้วนะว่าเขาพักผ่อนกันที่ไหนอย่างไร

สำหรับที่นั่งพักผ่อนเมาส์มอยด์กัน ก็จะเป็นห้องครัวล่ะ คุยด้วยกินไปด้วย (แต่บางคนก็ไม่ทานมากนัก เขารักษาหุ่นกัน แต่ลูกเรือต่างชาติมักจะเสร็จเจ้า “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่ผมซื้อขึ้นไปทุกครั้งที่บินมากรุงเทพฯ เหอะ! ไม่เห็นชีบ่นกลัวอ้วนเลยอ๊ะ ได้แต่บอกว่า อาร๊อยม๊ากๆ เลยปอ… 555) อาชีพการบริการก็อย่างนี้ ต้องทำด้วยใจเหนื่อยก็ต้องทนครับ

สำหรับนักบินในไฟลท์ระยะไกลๆ จะใช้นักบินมากกว่า 2 คน อาจจะ 3-4 คนตามระยะทาง ก็จะมีที่พักเป็นห้องนอนกว้างขวาง พร้อมระบบเอ็นเตอร์เทนพร้อมสรรพ อยู่หลังห้องนักบิน หรือเหนือห้องนักบินแล้วแต่แบบของเครื่องบินครับ

เคยสงสัยไหมเวลาเครื่องขึ้น-ลงถึงต้องเปิดหน้าต่าง

หลายๆ คนสงสัยเมื่อเวลาเดินทางโดยเครื่องบิน ทำไมลูกเรือชอบเดินบอกว่า “กรุณาเปิดหน้าต่างด้วยนะครับ/ค่ะ” ก่อนอื่นเลยขออธิบายก่อนว่า เครื่องบินมีส่วนที่นักบินควบคุมอยู่ คือส่วนหน้าสุดของเครื่องบิน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีกระจกมองข้าง (แบบรถยนตร์) ที่จะเห็นด้านข้างหรือแม้แต่จะส่องเห็นลำ ข้างหลัง แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีการติดตั้งกล้องรอบๆ ตัวเครืื่องบินทั้งบน ล่าง และข้างไว้ในรุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย อย่างเครื่อง Airbus A380 ต่อให้ล้ำสมัยที่สุดของนวัตกรรมการบิน ในเครื่องบินรุ่นที่มีการติดกล้องไว้แล้ว ก็ไม่เท่ากับการมองเห็นด้วยตาเปล่าหรอกครับ

ภาพจากกล้องบนแพนหางเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ

ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด คือ ช่วงเครื่องบินขึ้นและลง (Take off & Landing) จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเปิดหน้าต่างไว้ตลอดในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถช่วยสังเกตุความผิดปกติ หรือสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นจากภายนอกเครื่องบิน เช่น เกิดเพลิงไหม้ที่เครื่องยนต์ ซึ่งห้องนักบินอยู่ในส่วนหน้าไม่สามารถมองเห็นได้ และไม่สามารถเห็นเหตุการณ์ได้เร็วกว่าผู้โดยสารที่นั่งริมหน้าต่าง หรือบริเวณปีกเครื่องบินเกิดความผิดปกติ หรือเมื่อเกิดกรณีลงจอดฉุกเฉินนั้น ผู้โดยสารและลูกเรือจะได้ช่วยกันสังเกตุภายนอกตัวเครื่องบินได้ว่า การลงจอดเป็นผิวน้ำหรือทางลาดชัน และจะได้ประเมินการช่วยเหลือ และไปยังทางออกฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย เมื่อลงมาจากเครื่องบิน เป็นต้น ดังนั้นการเปิดหน้าต่าง เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติภายนอกเครื่องบิน ท่านผู้โดยสารเมื่อพบเห็นจะได้รีบแจ้งลูกเรือได้อย่างทันท่วงที

หน้าต่างเครื่องบินนอกจากจะดูวิวทิวทัศน์ยังเอาไว้ดูสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

มีหลายๆ ท่านสงสัยอีกว่า หน้าต่างเครื่องบินทำไมดูเหมือนจะบอบบางจังเลย แต่แท้จริงแล้วนั้น หน้าต่างผู้โดยสารบนเครื่องบินทำจากแผ่นอะคริลิก (Acrylic) ที่ถูกยืดออกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงประกอบด้วย สามชั้นหลัก คือชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน โดยชั้นนอกและชั้นกลางจะยึดติดกันด้วยแถบยาง ชั้นในมีไว้เพื่อป้องกันผู้โดยสารทำความเสียหายกับวัสดุชั้นกลาง ไม่ได้มีไว้เพื่อความปลอดภัย และไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อโครงสร้าง แม้แต่การเกิดรอยขีดข่วนก็ไม่ได้ทำให้ความแข็งแรงของหน้าต่างลดน้อยลง แต่จะทำให้คุณภาพในการมองทะลุผ่านกระจกด้อยลงมาก จากเหตุนี้เองจึงทำให้ต้องเปลี่ยนกระจกหน้าต่างทุก 3 ปี

นำมาเล่าสู่กันฟังครับ เมื่อโดยสารเครื่องบินครั้งต่อไปจะได้ไม่สงสัยอีก แล้วเจอกันบนเครื่องนะครับ…

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)